นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Gunkul Spectrum ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม กับวิสัยทัศน์พลังงานกับองค์กรรุ่นใหม่ที่กำลังร่วมผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคของ Decentralized Power System
พลังงานทั่วโลก..กำลังจะก้าวสู่ยุคความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานทั่วโลกจากน้ำมันไปสู่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีกก้าวส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พลังงานไฟฟ้าจะเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่มีผลเปลี่ยนแปลงและสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
Passiongen ได้สัมภาษณ์ นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ผู้บริหารรุ่นใหม่จาก GUNKUL SPECTRUM ที่จะมาฉายภาพอนาคตพลังงาน และก้าวต่อไปของประเทศไทยให้เข้าใจอย่างง่ายๆ รวมถึงโอกาสของธุรกิจว่า ถ้าโลกก้าวไปอย่างนี้ โอกาสธุรกิจจะอยู่ตรงไหน
“ถามว่ามองภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร นุ๊กมองว่า Energy landscape กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่นุ๊กบอก ต่อไปโซลาร์จะเป็นพลังงานหลัก”
หลายคนถามว่าจะเป็นพลังงานหลักได้อย่างไร? มันเกิดข้อจำกัดตั้งหลายอย่าง แท้จริงแล้วเป็นได้เพราะโซลาร์เป็นพลังงานที่ทั้งถูกและสะอาด และแบตเตอรี่กำลังจะเข้ามาช่วยเสริมให้โซลาร์แข็งแกร่งขึ้น อีกประการหนึ่ง ในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ในปีที่ผ่านมา ณที่ประชุมนั้น นายกได้ให้สัญญากับที่ประชุมนานาชาติว่า ประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน 10 ปีข้างหน้าลง 40%
การลดก๊าซเรือนกระจกนี้ เซ็กเตอร์ที่จะลดได้มากที่สุดคือพลังงาน เพราะพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 70% ของทั้งประเทศ ถ้าจะแก้จึงต้องแก้ที่พลังงาน แล้วจะแก้อย่างไร แก้โดยการที่ทำโครงข่ายไฟฟ้าต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
ช่วยขยายความให้เข้าใจ
ปัจจุบันกริดหรือโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงทุกคนด้วยกัน วันนี้มีแหล่งพลังงานมาจากหลายแหล่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานที่มาจากฟอสซิล และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ตรงนี้ถ้าจะทำตามแผนที่ท่านนายกได้ให้คำสัญญากับนานาชาติ เราต้องพิจารณาเปลี่ยนพลังงานฟอสซิลเหล่านี้ให้เป็นพลังสะอาดในกริดให้หมด
หลายคนถามว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นวาระที่ต้องรอให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่านี้? ประเทศไทยยังไม่ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้…จริงๆมันไม่ใช่ วันนี้เรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกธุรกิจแม้กระทั่ง SMEs ทำไมถึงพูดเช่นนั้น นั่นเพราะ ปัจจุบันประเทศไทยมีการเชื่อมโยงธุรกิจและการค้ากับทั่วโลก เราไม่ได้อยู่โดยไม่ยุ่งกับใคร เรามีการลงทุนจากต่างประเทศเยอะมาก เรามีการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าเรายังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะถูกโดนมาตรการกีดกันต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแบนสินค้าส่งออก หรือมาตรการทางด้าน Carbon Credit และ Carbon tax ซึ่งผลดังกล่าวจะกระทบกับทุกองค์กร ไม่ใช่แค่บริษัทขนาดใหญ่แต่กระทั่งเอสเอ็มอีก็จะได้รับผลกระทบด้วย…ถามว่าโดนเพราะอะไร? บริษัทเอสเอ็มอีแห่งหนึ่งสส่งออกอาหารไปยุโรป เอสเอ็มอีนี้ใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายการไฟฟ้าที่บางโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน เอสเอ็มอีนี้ก็จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกไปโดยปริยาย และจะต้องอยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษี
ถ้าเอสเอ็มอีนี้ไปขายของให้กับกลุ่มประเทศยุโรป ประเทศยุโรปอาจจะแบน หรือเรียกให้เอสเอ็มอีนั้นหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับส่วนที่ปล่อยออกไป แน่นอนว่าจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นุ๊กว่าเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับเรื่องสิ่งแวดล้อมตอนนี้แยกกันไม่ออก มันเป็นเรื่องที่ต้องทำขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงจากวันนี้ที่เราเป็นฟอสซิลเบสเยอะๆ มาเป็นพลังงานสะอาดลด 40% ภายใน 10 ปีต้องติดตั้งโซล่าเซลล์เยอะขนาดไหน บอกเลยว่าอย่างน้อยต้องเติบโต 10 เท่านับจากวันนี้ซึ่งเยอะมาก ประเทศไทยมีพลังงานหมุนเวียนจากหลายแหล่ง แต่แหล่งที่มีศักยภาพมากที่สุดที่ทุกคนยอมรับคือ โซลาร์เซลล์ เพราะฉะนั้นประเทศเราจะต้องติดโซลาร์กับเยอะมาก ซึ่งจะรอภาครัฐลงทุนอย่างเดียวหรอคงไม่ใช่ ต้องเป็นเรื่องของภาคเอกชนและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน ส่วนภาครัฐต้องออกนโยบายเพื่อรองรับการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐาน
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ติดโซลาร์รูฟ
วันนี้ถ้าคนพูดถึงโซลาร์แปลกไหมที่คนจะใช้คำพูดเดียวกันคือ “โซลาร์แพง แต่โซลาร์ก็คุ้ม” มันคืออะไร…ทำไมคนไม่ตัดสินใจสักที โซลาร์จริงๆ ราคามันลดลงมาเยอะมากแล้วเมื่อเทียบกับการช่วงแรก หลายคนเริ่มบอกว่าถึงจุดที่คุ้มค่าแล้ว แต่มันยังมีกำแพงอะไรบางอย่างอยู่ที่ทำให้โซลาร์ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเหมือนการติดตั้งอินเตอร์เน็ต หรือการเปลี่ยนแพคเกจมือถือ วันนี้คนยังมองโซลาร์เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนเยอะ ถึงคุ้มทุนช้าเพราะมีอายุการใช้งานถึง 25 ปีถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ 7 ซึ่งหลายคนบอกว่านานแต่ว่าหลังจากปีที่ 7 ใช้ไฟฟรีนะ เพราะฉะนั้นวันนี้อาจจะต้องมีโปรเจ็คส์ไฟแนนซิ่ง มาข่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง
หมายความว่าวันนี้ แต่ละบ้านคงไม่อยากจะจ่ายเงินแสนบาทเพื่อประหยัดบิลค่าไฟฟ้าแค่หลักพัน แต่ถ้ามีตัวกลางที่มีมีศักยภาพที่สามารถดูแลเรื่องการเงินนี้ให้ได้ทุกคนก็จะอยากติดตั้ง เพราะติดตั้งแล้วประหยัดได้ทันที นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Gunkul ไปตั้งบริษัทร่วมทุนกับทางออริจิน พร๊อพเพอร์ตี้ เพื่อที่จะแก้โจทย์และ Pain Point ให้กับผู้ใช้ไฟรายย่อย
หนึ่งในเรื่องที่เรากำลังศึกษาและเตรียมคิกออฟ คือ การทำ Micro PPA ให้กับหมู่บ้าน ถ้าเราลงทุนให้ตามหมู่บ้านทั้งหมดเลยโดยที่แต่ละบ้านไม่ต้องลงทุนติดตั้ง เมื่อไหร่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าทุกบ้านก็ได้ส่วนลดค่าไฟทันที อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังคิดจะทำและกำลังหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเติบโตต่อไป ด้วย landscape ที่เปลี่ยนแปลงไปอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีกเยอะมาก
โซลาร์เซลล์ที่จะเติบโตขึ้น 10 เท่าจะเติบโตที่กลุ่มไหน
ถ้าแบ่งสัดส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าในวันนี้ 60% มาจากผู้ใช้รายใหญ่ 40% มาจากผู้ใช้รายย่อย ตลาดรายใหญ่วันนี้ติดโซลาร์เซลล์กันพอสมควรแล้ว แต่รายย่อยยังติดตั้งน้อยมาก ฉะนั้นตลาดรายย่อยน่าสนใจ คนไทยต้องรับรู้และเข้าใจหากทิ้งเวลาไปมากกว่านี้ จะไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงและมาตรการที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีหรือการกีดกันต่างๆ หากทุกคนเข้าใจประเทศจะได้แข่งขันได้
เล่าให้ฟังหน่อยว่า ทั่วโลกกำลังทำอะไรกัน
ทางยุโรปออกมาแล้วว่าในปี พ.ศ.2566 จะเริ่มเก็บภาษี Carbon Tax กับสินค้า 5 ประเภทซึ่งมี ไฟฟ้า อลูมิเนียม เหล็ก เป็นหนึ่งในนั้นเพราะเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นธุรกิจที่มีการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปในประเภทต่างๆ จะเริ่มโดนเก็บภาษี ประเทศไทยเองก็น่าจะถูกเก็บภาษีเป็นลำดับแรกๆ สหรัฐอเมริกาเองก็ตั้งใจที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกันสหภาพยุโรป ในส่วนประเทศไทยเองภาครัฐตระหนัก แล้วก็พยายามจะค่อยๆ เริ่มออกกฎระเบียบต่างๆ เมื่อปลายปี พ.ศ.2564 แล้วกรมสรรพสามิต ก็บอกว่ากำลังคิดอยู่ว่าจะออก Carbon tax เก็บภาษีเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศ
“ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการรายไหนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเก็บภาษี”
โดยการเก็บภาษีนี้ เงินที่ได้จะเอาไปช่วยให้มีการขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น กฎเกณฑ์ต่างๆ กำลังจะออกมาในไม่ช้านี้ ดังนั้น พลังงานที่มันดูไกลตัวเนี่ยมันจะเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องของเงินทองที่มากกว่าการประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว
ผลกระทบจะเกิดกับทุกธุรกิจทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยมาจากภาคพลังงาน ซึ่งก็คือการใช้ไฟฟ้าและการใช้รถยนต์ ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า และใช้รถยนต์จะถูกนำมาคิดเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด
ดังนั้นรถยนต์ที่ใช้ก็ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicle ) ไฟฟ้าที่ใช้กับรถอีวีก็ต้องมาจากแหล่งจ่ายไฟที่สะอาด ไม่ใช่จากฟอสซิลเบส ประการที่สอง วันนี้ถ้าเราไม่ติดโซลาร์เซลล์และใช้ไฟจากกริดหรือจากโครงข่ายการไฟฟ้า พลังงานของการไฟฟ้าที่ผลิตมาได้ ถ้ามีสัดส่วนพลังงานสะอาดน้อย ก็หมายถึงไฟฟ้าที่เราใช้ในการทำธุรกิจและการส่งออกเป็นไฟฟ้าที่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจก็จะถูกเรียกเก็บภาษี Carbon Tax ด้วย ถ้าคำนวณออกมาแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ ธุรกิจอาจจะต้องเสียค่าคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยถึงจะส่งออกได้ ส่วนนี้จึงเป็นเงินที่ต้องเสียไปเปล่าๆ เลย ถ้ากริดของเรายังไม่สะอาด และตัวเรายังไม่ได้ปรับปรุงในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผลกระทบนี้เป็นเรื่องใหญ่มากและมาเร็วกว่าที่คิด จากปีนี้ถึง 2030 ที่ท่านนายกฯประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ถ้าคำนวณกลับมาในปีปัจจุบันหมายถึง เราต้องมีการเติบโตของโซลาร์เซลล์ปีละประมาณเท่าตัว เราถึงจะอินเดอะเกมกับการแข่งขันทั่วโลก เพราะว่าทั่วโลกเขาก็ปรับ ถ้าเราไม่ปรับเราอาจจะส่งออกไม่ได้ แล้วมันจะกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมของคนไทยทุกคน
ภาพของการพัฒนาพลังงานในยุคดิจิทัล และ Metaverse จะเป็นเช่นไร
ภาพของพลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ภาพ End Game เลยคือ ทุกคนจะบริหารจัดการพลังงานอยู่บนคลาวด์ ที่เขาเรียก Virtual Power Plant ที่เป็นโรงไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ เพราะทุกแห่งจะติดตั้งโซลาร์เซลล์และเป็นเหมือนโรงไฟฟ้าย่อมๆทั้งหมด ฉะนั้นเราจะเจอกับโรงไฟฟ้าที่เยอะมาก จึงเกิดภาพของการจัดการพลังงานแบบ Virtual ที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟฟ้าต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้า โซลาร์รูฟ แบตเตอรี่ รวมถึงรถอีวีเอง ที่อนาคตก็เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าเช่นกัน
ภาพของพลังงานไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนกว่าปัจจุบันอย่างมาก เพราะมีทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีแพลตฟอร์มอันหนึ่งเกิดขึ้นมา เพื่อให้ภาครัฐหรือคนที่ Balance Load สามารถบริหารจัดการพลังงานในภาพใหญ่ได้ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอกับทุกคน
แต่จะไปถึงภาพนั้นได้ อันดับแรก โครงข่ายไฟฟ้าจะต้องสะอาด การที่โครงข่ายไฟฟ้าจะเต็มไปด้วยพลังงานสะอาดได้นั้น หมายถึงคนต้องติดโซลาร์เซลล์เยอะมากๆ ช่วยกันจ่ายไฟที่เป็นพลังงานสะอาดเข้ามาในระบบให้คนที่อยู่ปลายทางได้ใช้พลังงานสะอาด ภายใต้รูปแบบนี้พลังงานเสรีจะเกิดขึ้น ทุกคนเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า และทุกคนก็เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้
นี่เป็นภาพที่ภาครัฐต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพื่อที่เราจะได้ดึงศักยภาพของระบบพลังงานกระจายศูนย์ออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะในปัจจุบันคนที่ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้นบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เมื่อไม่อยู่บ้าน พลังงานที่ผลิตได้จะสูญเปล่า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ภาครัฐสร้างแพลตฟอร์ม ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และสุดท้ายสังคมก็ต้องก้าวไปสู่ภาพนั้น คำถามคือเมื่อไหร่และอย่างไรเท่านั้น
แพลตฟอร์มจัดการไฟฟ้านี้ เกี่ยวข้องกับ Smart City ด้วยหรือไม่
ในมุมของ Smart City จะมีอีกเรื่องมาเกี่ยวข้อง คือ การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ไฟฟ้าน้อยลงแต่ได้ประสิทธิผลเท่าเดิมหรือดีขึ้น เช่น การบริหารจัดการพลังงานในบ้าน การปรับเปลี่ยนอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศโดยอัตโนมัติ การบริหารจัดการตู้เย็น บริหารจัดการพลังงานภายในอาคารสำนักงาน อันนี้ จะมีอุปกรณ์อัตโนมัติในการควบคุมเพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีและอุปกรณ์มีอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอามาใช้เมื่อไหร่และอย่างไรเท่านั้น
อีกมุมหนึ่ง คือ ทำอย่างไรให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟที่สามารรถเลือกได้ วันนี้เราซื้อไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าแต่เราไม่สามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟฟ้าได้ ถ้ามีแพลตฟอร์ม Virtual Power Plant เราต้องสามารถเลือกได้ว่า จะใช้ไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟไหน ณ เพื่อที่เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้สูงสุด
ทั้งหมดนี้เป็นภาพอนาคตของการพัฒนา แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ Gunkul เริ่มก่อนคือ การพัฒนา “โกดังไฟฟ้าดอทคอม” และ “สร้าง Community ของผู้รับเหมา” เพราะภาพทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่เกิด Gunkul จึงพยายามสร้างโกดังไฟฟ้า เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มที่ช่างไฟตัวเล็กๆ แต่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ดี ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม
ส่วน Community ผู้รับเหมา จะเป็นกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกไม่ดีเม็ดต่อไปก็ติดยาก มันอาจจะดูเหมือนวันนี้เราจับปลาหลายมือนะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทีมงาน Gunkul กำลังสร้างโมเดลที่มันจะต่อจิ๊กซอเข้าหากัน มันขาดอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ มันแค่เรียงไพรโอริตี้ว่า อันไหนต้องทำก่อนอันไหนค่อยทำตามมาทีหลัง
รับชมเนื้อหาของ EP.อื่น ๆ ย้อนหลังได้ที่ลิงค์ด้านล่าง :
Passion Talk EP037 ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ Web3.0 เปลี่ยนโลก คนไทยจะก้าวอย่างไร?
Website : https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/20/ทินกร-เหล่าเราวิโรจน์-web3-0-metaverse-p
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=3QYnPv9Nknc
————————————————————–
Passion Talk EP036 “อำนาจ เอื้ออารีมิตร” จากมีดหมอสู่กองเอกสาร จุดประกายฝัน EKH สู่โรงพยาบาลชั้นนำครบวงจร
Website : https://www.passiongen.com/news/2022/06/อำนาจ-เอื้ออารีมิตร-โรงพ
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=xDSjmf1LtZM&t=38s
————————————————————–
passion talk EP035 พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม แรงบันดาลใจสู่ทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง
Website : https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2021/24/พิเศษ-ศิริเกษม-แรงบันดาล
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=5rMSiy3p2sQ&t=1s
————————————————————–
Category:
Tags: