Categories: INSPIRENews

PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.17 | “ทำงานสาย NGO พอกินไหม ?” มาทำความรู้จักงานสาย NGO กับ “บอม-ลัทธพล จิรปฐมสกุล”

เมื่อพูดถึงงานสาย NGO หลายคนอาจจะนึกถึงภาพคนใส่สูทเท่ ๆ ทำงานกับ UN หรืออาจจะนึกถึงภาพคนยืนถือกระดาษไล่ถามคนตามแนวรถไฟฟ้า แต่จริง ๆ แล้ว NGO เขาทำงานอะไรกันแน่ ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจาก “คุณบอม-ลัทธพล จิรปฐมสกุล” คนทำงานในสาย NGO มาร่วมพูดคุยและตอบคำถามว่า NGO คืออะไร ทำอะไรบ้าง งาน NGO ในไทยมันเวิร์กไหม การทำงานสาย NGO ในต่างประเทศมันเป็นไปได้หรือเปล่า ถ้าอยากทำงานในสาย NGO ควรจะเริ่มตรงไหน ต้องมีความรู้ทักษะอะไรบ้าง และที่สำคัญ “NGO เนี่ย เงินเดือนพอกินไหม” ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยดีกว่า

 

 

มาเดินเส้นทางสาย NGO ได้ยังไง ตั้งแต่เมื่อไหร่

“คือหลังเรียนจบมาเนี่ยเราก็คิดอยู่ว่าเราอยากทำงานอะไร เราจะไปทางไหน จริง ๆ หลายคนอาจจะบอกว่ามันมีสองทาง คือ บริษัทหรือราชการ แต่ทีนี่เรารู้สึกว่าเราอยากทำงานที่เกี่ยวกับสังคม แต่ไม่อยากทำงานราชการ เราก็เลยมองว่า NGO เนี่ย มันเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมาก เราก็เลยเลือกทำงาน NGO องค์กรแรกที่เราทำหลังเรียนจบ ก็ทำงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมันเป็น NGO อีกสายหนึ่งที่มันแตกต่างจากที่หลายคนรู้จัก คนทั่วไปอาจจะรู้จักว่า NGO ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยธรรม เรื่องการเมือง แต่ว่ามันก็มี NGO หลากหลายกว่านั้น

 

อย่างที่แรกที่เราทำเนี่ย เราทำเรื่องศิลปวัฒนธรรม แล้วก็หลังจากทำมาได้สักประมาณปีหนึ่ง เราก็มาทำ NGO อีกที่หนึ่ง ปัจจุบันเราทำอยู่ที่ SEA Junction หรือชื่อทางการคือ ‘มูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ตามชื่อเลย คือเน้นที่การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทุกแง่มุมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นแล้วเนี่ย NGO มันทำงานครอบคลุมหลายด้านหลายประเด็นไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ การศึกษา งานวิจัย ศิลปวัฒนธรรม มันหลากหลายมากจริง ๆ”

 

 

เรียนจบอะไรมา

“เรียนจบรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ก็ถือว่าค่อนข้างตรงสายอยู่นะ เพราะว่าเราอยากทำงานที่มันมีมุมมองเรื่องการระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง NGO เนี่ยก็ได้ทำงานร่วมกับต่างประเทศด้วย ก็จะมีทำงานกับประเทศอื่น รวมไปถึงทำงานกับต่างชาติที่อยู่ในไทย เราก็คิดว่าตรงนี้ค่อนข้างตรงสายกับเรา”

 

 

จำเป็นไหมว่าคนที่จะมาทำงานสาย NGO เนี่ย ต้องจบรัฐศาสตร์เท่านั้น

“ไม่จำเป็นเลย เพราะว่าใคร ๆ ก็ทำงาน NGO ได้ การจบรัฐศาสตร์มามันไม่ได้ให้สกิลที่ตายตัวขนาดนั้นว่าจบมาแล้วจะต้องทำอย่างแบบนี้แบบนั้น ส่วนคนที่จะเริ่มทำงาน NGO เนี่ย ก็ไม่ได้มีข้อระบุชัดเจนว่าจะต้องจบงานสายไหนมา แต่ก็อาจจะมีบ้างบางองค์กรที่จะระบุมาเลยว่า คุณจะต้องจบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะ NGO ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือว่าบางองค์กรทำงานด้านไหน เขาก็อยากได้คนที่จบตรงสายมาทำ แต่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไปเพราะว่าถึงเราจะไม่ได้เรียนจบตรงสายมา แต่ว่าเรามี passion เรื่องนี้ เราไม่ได้เรียนด้านสิ่งแวดล้อมมา แต่เรามีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม เราก็สามารถทำงานได้”

 

 

สรุปแล้ว NGO คืออะไร แล้วทำงานอะไรบ้าง

“คือ NGO มันมีหลากหลายมากจริง ๆ ทั้งกลุ่มที่อาจจะรวมตัวกันหลวม ๆ แบบไม่ได้จดทะเบียน กลุ่มชุมชน กลุ่มชมรมต่าง ๆ แล้วก็รวมไปถึงมูลนิธิ สมาคม องค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN แล้วประเด็นที่ NGO ทำเนี่ยก็อย่างที่บอกไปว่ามีหลากหลายมาก แล้วแต่องค์กรว่าเขาจะโฟกัสทำเรื่องอะไร”

 

 

การทำงานสาย NGO มีความสนุก ท้าทาย ตื่นเต้น ยังไงบ้าง

“ก็ท้าทายนะ เพราะว่าเราทำงานที่เกี่ยวกับประเด็นสังคม มันจะมีประเด็นสังคมมากมายที่เราต้องทำงาน อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยเรามีประเด็นสังคมมากมาย มันก็เป็นความท้าทายอันหนึ่งว่าเราจะสามารถให้ความช่วยเหลือกับสังคมได้มากแค่ไหนกับการทำงานของเรา ในขณะเดียวกันเราก็มีอุปสรรคในการทำงานว่า เราอาจจะทำอะไรได้ไม่มากรึเปล่า หรือว่าอย่างยิ่งช่วงนี้ โควิด-19 เราก็มีปัญหาอุปสรรคมากมายว่าเงินทุนจากต่างชาติน้อยลง หรือว่าเราไม่สามารถลงพื้นที่ทำกิจกรรมได้”

 

 

เงินเดือนของ NGO พอกินไหม?

“พอพูดถึง NGO โดยเฉพาะถ้าเราพูดคำว่ามูลนิธิขึ้นมาเนี่ย บางคนจะเข้าใจว่าทำงานจิตอาสารึเปล่า ทำงานฟรีแน่เลย ซึ่งมันไม่เสมอไป อาจจะจริงที่หลาย ๆ องค์กรพึ่งพิงอาสาสมัคร เขาก็อาจจะมีอาสาสมัครทำงาน แต่ว่าเขาก็มีพนักงานประจำเหมือนกัน ซึ่งเงินเดือนเท่าไหร่เนี่ย จริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นมีแหล่งเงินทุนมากแค่ไหน เราอาจจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอย่างบริษัทเนี่ย จะได้รายได้มาจากสินค้าหรือบริการที่เขาทำ ส่วน NGO รายได้จะมาจากเงินบริจาคหรือเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากบุคคลทั่วไป องค์กรภายในประเทศหรือต่างประเทศ ดังนั้น เรื่องของเงินเดือนมันขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นได้รับเงินจากแหล่งเงินทุนเยอะแค่ไหน มีทั้งเริ่มต้นเหมือนราชการเลยคือ 15,000 หรือว่าบางที่อาจจะต่ำกว่านี้ แต่ก็จะมีที่เริ่มต้นสูงขึ้นมาหน่อย เราคิดว่าเฉลี่ยแล้วเงินเดือนเริ่มต้นของ NGO อาจจะมากกว่าทำงานราชการ แต่ว่าน้อยกว่าเอกชน ซึ่งก็ไม่ใช่เสมอไปเพราะบางองค์กรโดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนเยอะก็อาจจะเริ่มต้นเยอะกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าประสบการณ์เยอะไหม หรือว่าเราเรียนตรงสาย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่เขาทำงานมากแค่ไหน”

 

 

เงินเดือนอาจจะเริ่มต้นไม่ได้เยอะมาก แต่ยังไงเงินเดือนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังพอกินอยู่

“คิดว่าพอกิน ไม่อดตาย (หัวเราะ)”

 

 

เงินเดือนสูงสุดในสาย NGO ประมาณเท่าไหร่

“จริง ๆ ก็เหมือนกับถามว่าบริษัทเงินเดือนสูงสุดเท่าไหร่ คือเรามองว่ามันไม่มีสูงสุดว่าเท่าไหร่ มันก็เพิ่มไปเรื่อย ๆ ไม่มีจำกัดว่าสูงสุดเท่าไหร่ อาจจะบอกเป็นตัวเลขไม่ได้”

 

 

การทำงาน NGO ในไทยคิดว่าเวิร์กไหม อย่างที่บอกว่าในไทยมีปัญหาสังคมเยอะ แล้ว NGO ก็อาจจะติดกับปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ไม่สามารถพูดได้ หรือว่าไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

“มันเวิร์กในแง่ที่ว่าเราจะมีงานให้ทำตลอด เพราะว่ามันมีปัญหาอยู่ตลอด มีอะไรให้เราต้องทำตลอด (หัวเราะ) ทีนี้มันเวิร์กไหมในแง่ของสายอาชีพ ถ้าอยากทำงานสาย NGO ยังไงซะเราก็มองว่า NGO อาจจะได้เงินเดือนน้อยกว่าเอกชน ถ้าคุณไปทำงานเอกชน คุณอาจจะได้เงินเดือนเยอะกว่านี้ ดังนั้นมันเวิร์กไหม ส่วนตัวเราว่ามันเวิร์กในแง่ที่ว่ามันได้ทำงานเพื่อสังคม โดยไม่ต้องไปทำงานราชการ แต่อาจจะไม่เวิร์กในแง่ที่ว่าถ้าคุณอยากได้เงินเดือนเยอะเลยเนี่ย คุณอาจจะต้องไปทำเอกชน”

 

 

พูดง่าย ๆ ว่ามันก็เป็นงานที่ทำตามอุดมการณ์นั่นแหละ ทำเพื่อตอบสนอง passion อะไรบางอย่างของเรา

“มันก็ไม่ได้เพื่อ passion 100% เพราะคนเราอยู่ด้วย passion อย่างเดียวไม่ได้เนอะ (หัวเราะ) เราก็ต้องมีเงิน เราก็ต้องเลือกว่างานไหนจะให้ค่าตอบแทนที่เราสามารถอยู่ได้ NGO อย่างที่บอกมีหลายที่ที่ให้ค่าตอบแทนสูง อาจจะต้องแข่งขันกันนิดหนึ่ง บางที่ก็ให้ค่าตอบแทนที่ดีจริง ๆ”

 

 

 

 

NGO ในไทยมีเยอะไหม ?

“NGO ในไทยมีเยอะมาก ครอบคลุมหลากหลายมาก คนส่วนมากอาจจะรู้จักองค์กรที่ใหญ่ ๆ เป็น UN, UNICEF, UNESCO หรือ ILO ที่ทำงานเรื่องแรงงาน แต่ว่า NGO เนี่ยมันครอบคลุมมูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ ทุกอย่าง ซึ่งมูลนิธิจดทะเบียนในไทยมีเยอะมาก ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ มีหลากหลายประเด็น ดังนั้นมันเยอะมากจริง ๆ”

 

 

การไปทำงานกับ NGO ในต่างประเทศเป็นไปได้ไหม

“เราอาจจะมองว่า NGO แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งคือ Local NGO คือ NGO ในท้องถิ่น อย่างในไทยเขาก็จะรับแต่คนไทย เพราะคิดว่าคนไทยอาจจะเข้าใจประเด็นสังคมมากกว่า คุ้นเคยกับบริบทของประเทศไทยมากกว่า ที่สำคัญคือพูดภาษาไทยได้ สื่อสารได้ พวกนี้เขาก็จะรับแต่คนไทย ซึ่งถ้าเกิดว่าเป็น Local NGO ที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศ ถ้าเกิดในเมืองนอกเขาอาจจะไม่รับคนต่างชาติก็ได้ เพราะเขาอาจจะให้อภิสิทธิ์กับคนในประเทศเขา เพราะถือว่าคนพวกนั้นก็ควรที่จะทำงานในบริบทที่ตัวเองรู้ดี แต่จะมี NGO อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานระหว่างประเทศ อาจจะมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศหนึ่ง แล้วก็มีสำนักงานย่อยต่าง ๆ อยู่อีกประเทศหนึ่ง หรือว่าทำงานเชื่อมโยงกันหลากหลายชาติ อันนี้เราคิดว่าก็เป็นไปได้ที่จะเริ่มทำงานตรงนั้น เช่น UN แต่ว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวยิ่งองค์กรใหญ่ ๆ จะยิ่งต้องการประสบการณ์เยอะ ดังนั้นส่วนตัวแล้วเริ่มจาก NGO ที่มีขนาดเล็ก หรือ NGO ที่อยู่ในไทยก่อนดีกว่า เพื่อที่ว่าเราจะได้มีประสบการณ์แล้วเอาไปต่อยอดตรงนั้นได้”

 

 

กำลังจะบอกว่าถ้าคุณอยากจะทำงานกับ NGO ระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรใหญ่ตามความฝัน อย่างน้อยที่สุดควรจะเริ่มต้นจากการทำงาน NGO ในไทยก่อนเพื่อหาประสบการณ์ แล้วค่อยไปต่อยอดทำงานในต่างประเทศ

“คำแนะนำจากเราคือแบบนั้น คืออาจจะเริ่มทำงาน NGO เล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อยไปทำองค์ระหว่างประเทศตรงนั้น แต่อาจจะมีเหมือนกันที่บางคนเริ่มจากการทำงานในองค์ระหว่างประเทศเลย ก็เป็นไปได้”

 

 

เพราะว่าเส้นทางเดินของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ว่าบอมก็แนะนำมาว่าให้หาประสบการณ์จาก NGO เล็ก ๆ ก่อนดีกว่า แล้วค่อยขยับไป NGO ระหว่างประเทศที่เขาต้องการคนที่มีประสบการณ์

“มันก็เหมือนบางคนที่ทำงานบริษัทอาจจะเริ่มบริษัทเล็ก ๆ หรือบางคนอาจจะเริ่มบริษัทใหญ่ ๆ ไปเลย แล้วบางทีบริษัทใหญ่ ๆ อาจจะเข้าไม่ได้เพราะประสบการณ์น้อย หรือว่ายังไม่มีประสบการณ์มากพอ”

 

 

ถ้าอยากจะกระโดดไปทำ NGO ระหว่างประเทศเลยก็ทำได้

“มันก็เหมือนบริษัทนะ เพราะว่าบางคนไม่เข้าบริษัทใหญ่เพราะว่าบริษัทใหญ่มักจะต้องการคนที่มีประสบการณ์เยอะ NGO ก็เหมือนกัน NGO ใหญ่ ๆ เขาก็ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว”

 

 

สำหรับคนที่สนใจจะทำงาน NGO ควรจะเริ่มต้นตรงไหน สมัครงานที่ไหน หรือว่าต้องมีสกิลพื้นฐานอะไรไหม ต้องรู้อะไรเป็นพิเศษรึเปล่าเพื่อที่จะทำงานในสาย NGO ได้

“เริ่มยังไง เริ่มจากเข้าเว็บหางานก่อนเลย (หัวเราะ) อันนี้พูดจริง ๆ มันจะมีเว็บหางานที่เป็นงานของ NGO โดยตรง ชื่อว่าเว็บ Thai NGO แต่ว่าบางที NGO อาจจะโพสต์ตามเว็บหางานทั่ว ๆ ไปก็มี แต่หลัก ๆ ก็คืออยู่ในเว็บ Thai NGO ที่บอกว่าให้ไปหาในเว็บหางานเพราะว่าเราจะได้มีไอเดียว่ามันมีองค์กรอะไรประมาณไหนบ้าง แล้วเขาทำงานอะไรประมาณไหนบ้าง แล้วเราอยากทำงานด้านไหน ที่นี่ NGO ก็เหมือนกับบริษัทองค์กรทั่วไป จะมีหลายตำแหน่ง ต้องดูว่าเนื้อหาที่เราอยากทำ มันจะเป็นยังไง เราชอบประสานไหม เราชอบคุยกับคนเยอะไหม หรือเราอยากทำงานเอกสาร ทำงานออฟฟิศเป็นหลัก หรือเราอยากทำงานสื่อสาร จัดกิจรรมลงพื้นที่ มันก็จะมีหลากหลายใน NGO เราก็ต้องดูตำแหน่งงานด้วย ในขณะเดียวกันเราก็ต้องดูองค์กรเขาทำเรื่องอะไร แล้วเราสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ”

 

 

จำเป็นจะต้องมีสกิลพื้นฐานอะไรไหม สำหรับคนที่อยากจะทำงานสาย NGO

“ถ้าจะบอกว่าไม่จำเป็นเลยก็อาจจะโกหก (หัวเราะ) คืออาจจะจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจนิดหนึ่ง สมมติว่าเราสมัครองค์กรที่เขาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับหนึ่ง เราถึงจะไปทำงานจุดนั้นได้ แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องจบด้วยปริญญาสาขาสิ่งแวดล้อมถึงจะไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ คุณจะจบอะไรก็ได้ตราบที่คุณมี passion ในการทำงานประเด็นนั้น”

 

 

สาย NGO ก็คงไม่เหมือนกับสายวิศวะ สายไอที ที่จำเป็นต้องจบในด้านนั้นมาที่มีสกิลเฉพาะเพื่อมาทำงานตรงนั้น คนทั่วไปก็มาทำงานสาย NGO ได้ ขอแค่มีสกิลพื้นฐานในการทำงาน ติดต่อสื่อสารกับคนรู้เรื่อง มีความเข้าใจในประเด็น สำคัญคือการมี passion ในการมาทำงานสังคมในด้านที่คุณสนใจ

“แต่ทีนี่บางตำแหน่งมันก็แตกต่างเหมือนกันนะ เช่น บางตำแหน่งคุณต้องไปทำงานธุรการ งานบัญชี ดังนั้นคุณก็ต้องจบบัญชี เพื่อจะทำงานบัญชีได้ หรือ NGO บางที่เขาทำงานวิจัยเกี่ยวกับ HIV AIDS ดังนั้น เขาก็อาจจะต้องการคนที่จบมาด้านนี้โดยตรง ก็แล้วแต่อีกว่าองค์กรทำอะไร แล้วตำแหน่งนั้นคุณมีทักษะไหม”

 

 

พอพูดถึง NGO หลายคนอาจนึกถึงภาพที่ไปยืนเรี่ยไรเงินตามแนวรถไฟฟ้าหรือตามห้าง จริง ๆ แล้วเราต้องไปทำอย่างนั้นไหม

“ทำ (หัวเราะ) ทำแต่ว่าไม่ใช่ทุกองค์กรนะที่ทำ ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ องค์กรทำแบบนั้นเพื่อหาเงิน เพื่อเรี่ยไรเงิน อย่างที่หลายคนเข้าใจกันคือ NGO เนี่ย เงินทุนรายได้ต้องมาจากเงินบริจาค มาจากทุกคนในสังคม หรือว่ามาจากต่างประเทศ องค์กรต่าง ๆ อาจจะเข้ามาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการทั้งหมด หรือว่าอาจจะสนับสนุนแค่บางโครงการ ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไปเพื่อจะเรี่ยไรเงิน บางองค์กรก็ทำอย่างที่บอก คือ ยืนที่กล่องเรี่ยไร ออกบูทตามห้าง คุณมีเวลาสัก 3 นาทีไหม (หัวเราะ) มันมีจริง ๆ แต่ว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่ทำแบบนั้น บางองค์กรก็ไม่ทำ หรือบางองค์กรก็เริ่มจะหาวิธีการใหม่ ๆ ในการหาเงิน เช่น เขาอาจจะเอาโมเดลทางธุรกิจเข้ามาใช้ อาจจะขายของให้คนซื้อของไปแลกกับเงินบริจาค ดังนั้นการหาเงินของแต่ละองค์กรไม่ใช่แค่การถือกล่องเรี่ยไรเงินอย่างเดียว”

 

 

คือให้ลบภาพว่า NGO เท่ากับการถือกล่องไปก่อน มันมีไหม โอเค มันมี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“มันแค่ส่วนหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นส่วนเล็กด้วย”

 

 

 

 

สรุปแล้ว NGO ก็ทำงานเกี่ยวกับสังคมในประเด็นสังคมต่าง ๆ ที่มีปัญหาเกิดขึ้น แล้ว NGO ก็อาจจะเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไข หรือว่าทำอะไรเกี่ยวกับประเด็นตรงนั้น เพราะฉะนั้นก็จะมีเนื้องานที่แตกต่างหลากหลายตามแต่ประเด็นของสังคม ใครที่สนใจอยากจะทำงาน NGO ก็ต้องไปดูว่ามีเนื้องานและประเด็นสังคมไหนที่เราสนใจ ส่วนเรื่องเงินเดือนก็เหมือนกับบริษัทอย่างที่บอมบอกว่า ก็มีรายได้ที่ไม่ได้มากนัก พูดง่าย ๆ ว่าปีแรกก็ไม่ได้รวยเลยหรอก

“ปีสองก็ไม่ได้รวย (หัวเราะ)”

 

 

ก็ต้องค่อย ๆ ไต่ไป แต่ว่ามากกว่าราชการ และที่สำคัญคือได้ทำงานตามประเด็นที่เราสนใจจริง ๆ ตาม passion ที่เราอยากจะทำ แล้วก็ได้ประสบการณ์

“ได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ได้ทำงานกับคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะถ้าเราไปทำงานกับ NGO ที่ได้ลงพื้นที่ เราก็จะได้รู้ว่าคนในชุมชนเป็นยังไงบ้าง เขามีปัญหาอะไร เขาอยากทำอะไรยังไงบ้าง มันก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ประเด็นสังคมมากขึ้น”

 

 

เหมือนเปิดโลกเหมือนกัน ไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ในบริษัททั่วไปอาจจะไม่ได้เจอ เงินไม่ได้เยอะแต่ว่าก็ไม่ได้น้อย พอที่จะดำรงชีพได้ ได้ทำตาม passion ทำตามความฝันเรา แล้ว NGO ในไทยก็มีหลากหลาย ถ้าอยากจะทำงาน NGO ต่างประเทศตามความฝันก็อาจจะเริ่มจาก NGO เล็ก ๆ ก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ ไต่เต้าเพิ่มพูนประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ หรือถ้าใครอยากจะไปทำงาน NGO ระหว่างประเทศ ในองค์กรใหญ่เลยก็ได้ ถ้าคุณมีความสามารถพอ และถ้าเกิดอยากจะเริ่มทำงาน NGO ก็เปิดเว็บหางานเลย พิมพ์ในกูเกิล Thai NGO เป็นเว็บหางานเฉพาะของ NGO เลย

“ใช่ เราจะได้รู้ด้วยว่าเขาทำอะไรกัน ก็ไปอ่าน Job description ว่าแต่ละตำแหน่งทำอะไรบ้าง”

 

 

มีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับคนที่อยากจะมาทำงานในสาย NGO จะเป็น 1st Jobber ที่เพิ่งจบใหม่แล้วอยากจะเริ่มทำงาน

“อาจจะเป็นคำแนะนำที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงมาก คืออยากให้ลอง ๆ ดู เพราะบางทีเราอาจจะเพิ่งจบใหม่เป็น 1st Jobber เราอาจจะยังไม่รู้ว่าสายงานไหนที่เราอยากทำ ประเด็นไหนที่เราอยากทำ เราอาจจะดูว่าอนาคตเราอยากทำอะไร อันนี้เอาไปต่อยอดได้ไหม เราอยากเรียนต่อรึเปล่า แล้วมันสามารถนำไปใช้ได้ยังไง ลองดูว่าองค์กรทำอะไร ที่สำคัญดูตำแหน่งด้วย เพราะว่าตอนที่ตัดสินเริ่มทำงาน NGO เนี่ย รู้แค่ว่าโอเค เราจะทำ NGO แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรใน NGO ซึ่งมารู้ทีหลังว่า NGO ก็มีตำแหน่งงานเนื้องานที่หลากหลาย ก็เหมือนกับบริษัทมันมีตำแหน่ง มันมีเรื่องที่เขาทำหลากหลาย สิ่งที่ NGO ต่างจากบริษัทคือเขาไม่ได้แสวงหาผลกำไร เขาทำงานเพื่อสังคม แหล่งเงินทุนของบริษัทกับ NGO ก็ต่างกัน สำหรับใครที่หางานอยู่ก็ขอให้มีกำลังใจในการหางานต่อไป เพราะเราจะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรต้องการคนที่มีประสบการณ์เยอะ แต่มีเช่นกันที่เขาไม่ได้ต้องการคนที่มีประสบการณ์อะไร ดังนั้นสู้ ๆ ครับ”

 

 

ถ้าเกิดทำงานในสาย NGO แล้วไม่ชอบก็ยังสามารถจะเปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน ไม่ได้ตายตัวว่าทำงาน NGO แล้วจะต้องเกษียณด้วยการเป็น NGO เสมอไป

“ใช่ สมมติว่าคุณทำประสานงานอยู่ใน NGO คุณก็สามารถไปทำประสานในบริษัทได้เหมือนกัน หรือว่าใครที่อยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับ NGO หน่อย ก็อาจจะไปทำพวก CSR งานชุมชนที่บริษัททำแบบนั้นก็เป็นไปได้เช่นกัน”

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.