ทะเลไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์บนดิน เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เป็นที่ทำกิน เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นแหล่งวัฒนธรรม เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าของประเทศ และสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย

ในปี 2559 กิจกรรมทางทะเล ประเภทการคมนาคมขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสูงถึง 9.6 ล้านล้านบาท ธุรกิจประกันภัยทั้งการประกันภัยเรือและประกันภัยสินค้า มีรายได้อยู่ที่ 5.34 พันล้านบาท รวมถึงการประมงที่มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีมูลค่ารวมอยู่ 1 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าทรัพยากรทางทะเล ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมากมายขนาดไหน แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้สร้างขยะลงสู่ท้องทะเลเป็นจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน

จากการสำรวจโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ในปี 2558 ไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งโดยมากเป็นขยะพลาสติก กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนลงในทะเลมากถึง 32,600 ตัน/ปี โดยขยะทะเลส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 มาจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง ท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 มาจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล  

ขยะพลาสติกเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง ทั้งการถูกทำลายของแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน การตายของสัตว์ทะเลหายาก เช่น วาฬ โลมา เต่า และพะยูน ฯลฯ ไม่นับว่ายังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในด้านการท่องเที่ยว ธรรมชาติและทัศนียภาพที่เสื่อมโทรม ที่สำคัญคืออาหารทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกและสารพิษต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของพวกเราโดยตรง

การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งจัดการ และแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อลดการใช้พลาสติกแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เดินหน้าผลักดันการจัดการขยะในภาพรวมของประเทศ ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม และรณรงค์ร่วมกันงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว

แต่การแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐอย่างเดียวคงไม่สามารถจัดการได้อย่างยั่งยืน ความร่วมมือจากคนไทยทุกคนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เริ่มจากการช่วยกันเลิกใช้ถุงพลาสติก ลดการผลิตขยะพลาสติกในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือใกล้จากทะเล เราต่างมีโอกาสที่จะสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรทางทะเลกันได้ทั้งนั้น จากขยะพลาสติกที่อาจจะเล็ดลอดไปสู่ทะเลได้

ช่วยกันปกป้อง

เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั้ง 10 องค์กร ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท ดาวประเทศไทย, สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีทองพาณิชย์ จำกัด รณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล ปัญหาและอันตรายของขยะพลาสติกในทะเลต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านสื่อสารคดีสั้นภายใต้ “โครงการประชาสัมพันธ์ลดขยะทะเล ผ่านสื่อรณรงค์ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์”

สารคดีสั้นดังกล่าวจะฉายใน 130 โรงภาพยนตร์ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม 78,000 รอบ ทั้งนี้คาดว่าจะมีประชาชนรับชมสารคดีสั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ลดขยะทะเลเป็นจำนวนกว่า 13 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 รวมระยะเวลากว่า 4 เดือน

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการประชาสัมพันธ์ลดขยะทะเล ผ่านสื่อรณรงค์ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ณ โรงภาพยนตร์ Honda Ultimate Screen 1 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ว่าการดำเนินการผลิตสื่อสารคดีสั้นครั้งนี้ เกิดจากความคิดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยการสนับสนุนของหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 10 ราย โดยได้หารือร่วมกันและเห็นพ้องที่จะผลิตสื่อสารคดีที่จะสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง ปัญหาและอันตรายของขยะพลาสติกที่ตกค้างในทะเลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจและปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ตนได้หารือกับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาต่อยอดและขยายผลกิจกรรมดังกล่าว ให้กับประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้และรับทราบถึงปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ต่อไป

นอกจากนี้หลังกิจกรรมแถลงข่าวและชมสารคดีสั้นผ่านสื่อโรงภาพยนตร์แล้ว ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ให้เกียรติมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” แก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายพันธมิตรจากภาคเอกชนทั้ง 10 หน่วยงาน เนื่องจากเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม อันสมควรได้รับการยกย่องเป็นกรณีพิเศษ เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทางรอดของทะเลไทยจากขยะปริมาณมหาศาลที่ไหลบ่ามาจากทั่วประเทศ คือ การจัดการกับขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิหน่วยงานภาครัฐ แต่กำลังสำคัญที่จะช่วยปกปักษ์รักษาทรัพยากรทางทะเลและธรรมชาติอันสวยงามไว้ได้ คือ การตระหนักว่าเราทุกคนล้วนแต่มีส่วนรับผิดชอบกับท้องทะเลไทย ขยะพลาสติกทุก ๆ ชิ้นที่เราได้ก่อขึ้น ได้สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สัตว์น้อยใหญ่ทั้งบนบกและในทะเล และสำคัญที่สุดคือเราได้ทำร้ายอนาคตของพวกเราเอง

Category:

Passion in this story