Highlight
- เราจะอยู่กับพวกนี้ตลอดไป ตราบใดที่เรายังไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นจากแหล่งกำเนิดหลัก ๆ ที่มาจากเรื่องของการจราจร ที่มาจากการเผาในที่โล่งแจ้งอย่างจริงจัง
- ผมเชื่อเสมอว่าต้นไม้เป็นทางออกที่ดีที่สุด มันเป็นเทคโนโลยีของธรรมชาติที่เขาช่วยอยู่แล้วฉะนั้น ถ้ายิ่งมีต้นไม้เยอะเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นผลดีกับเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- บางคนเนี่ย อ่อนไหวกับฝุ่นไม่เท่ากัน บางคนอ่อนไหวมากเช่น ได้รับนิดหน่อยก็จะมีอาการระคายคอ พวกนี้ต้องรู้จักตัวเองและเมื่อรู้ตัวเองก็ต้องรีบปกป้องตัวเองซะ แต่บางคนอาจจะบอกว่า ฉันเคยอยู่มา 60 70 ปีไม่เป็นไร อันนี้ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพียงแต่ว่าพวกนี้บางทีมันไม่แสดงอาการตอนนั้น แต่มันจะแสดงอาการหลังจากนั้น นั่นคือสิ่งที่ตามมา
- รัฐบาลไม่มีมาตรการจัดการกับปัญหานั้น แล้วก็ผลักภาระมาให้กับประชาชนให้ดูแลตัวเอง ถ้ารัฐบาลลดที่แหล่งกำเนิดได้ เงินเหล่านี้จะไม่ได้ถูกจ่ายโดยประชาชน แต่จะเป็นการจ่ายโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ตัวเลขนี้มันน่าจะคิดในเชิงของเศรษฐศาสตร์ได้ว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำ เราต้องเสียอะไรบ้างและในขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลทำเราจะได้อะไรกลับมา
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจสร้างความกังวลให้กับใครหลาย ๆ คนและหันเหความสนใจของเราไปจากปัญหาหนึ่งที่ยังไม่หมดไปและดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในทุกขณะ
ในขณะที่วันนี้ (20 ก.พ. 63) ฝุ่น PM2.5 เริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ดัชนีคุณภาพอากาศมวลรวมของกรุงเทพฯ วัดได้ 163 US AQI และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าสูงกว่า 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่น้อยไปกว่าการระบาดของ COVID-19 แต่ ‘ความเคยชิน’ กลับทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ตื่นตัวกับอันตรายจากฝุ่นละอองเหล่านี้อีกต่อไป
ดูเหมือนว่าคนกรุงเทพฯ จะยังคงต้องอยู่ร่วมกับสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยพิษเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ตราบที่ปัญหานี้ยังคงถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับการแก้ไข แต่คำถามคือ “เราจะต้องอยู่กับมัน” ไปอีกนานแค่ไหน
passion gen ชวนมาพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศสำหรับประเทศไทย ถึงที่มาที่ไป ความอันตราย ทางออกของปัญหา PM2.5 และการรับมือที่พวกเราควรเตรียมพร้อม
คนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักกับ PM2.5 เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่จริง ๆ แล้วมันมีมานานรึยัง
จริง ๆ แล้ว PM 2.5 อยู่กับเรามานานแล้ว ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาเนี่ยที่เกษตรศาสตร์ได้สำรวจวัดฝุ่น เราก็พบว่ามันมีฝุ่น PM 2.5 อยู่กับเรามานานแล้ว มันจะขึ้นลงในช่วงเวลาที่เป็นแพทเทิร์นเดิม ๆ ก็คือช่วงฤดูหนาว พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ จะอยู่ในช่วงเวลานี้ตลอด เพราะสิ่งหนึ่งคือ ลักษณะอากาศมันเอื้ออำนวยให้เขาแสดงบทบาทออกมา
เราเก็บข้อมูลมาเราก็เจอแบบนี้ แต่ถามว่าทำไม PM 2.5 คนส่วนใหญ่เพิ่งมารู้จัก เพราะว่าหน่วยงานและคนที่เกี่ยวข้องเริ่มมีเครื่องมือที่วัดจำนวนมากขึ้น ทั้งเครื่องมือจากหน่วยงานรัฐและเครื่องมือที่บุคคลธรรมดาทั่วไปก็สามารถหาซื้อมาใช้ได้ มันก็ทำให้เราเห็นภาพของ PM 2.5 ถาโถมและชัดเจนมากขึ้นในโซเชียลมีเดีย มันก็จะเห็นภาพของ PM 2.5 ชัดขึ้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราเพิ่งมาตื่นเต้นแล้วก็ตกใจกับมัน
แล้ว PM2.5 เกิดจากอะไร
ถ้าเอาตามข้อมูลที่หน่วยงานราชการส่วนใหญ่บอกก็คือ การทำองค์ประกอบทางเคมีของมัน โดยเก็บข้อมูลทั้งปีแล้วมาบอกว่ามันมาจากการจราจร จากการเผาไหม้ นี่คือข้อมูลทั้งปี เฉลี่ยออกมาเป็นภาพแบบนั้น แต่สิ่งที่เราพบโดยการใช้ KU Tower ในการตรวจวัด พบว่ามันจะมีแพทเทิร์นของการเกิดฝุ่นในช่วงเวลาแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน
บางช่วงเวลาเป็นฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บางช่วงเวลาเป็นฝุ่นที่มาจากในพื้นที่บวกกับฝุ่นที่ลอยมาจากข้างนอกเข้ามา และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราเจอระยะหลังนี้ก็คือ ในช่วงเวลาที่มันมีโอโซนสูง มีความเข้มข้นของแดดสูง สิ่งที่ตามมาก็คือการเกิดปฏิกิริยา Photochemical Reaction ทำให้เกิดก๊าซโอโซนขึ้น และก๊าซโอโซนมันก็จะไปทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในอากาศ ทำให้เกิดเป็นละอองลอยเล็ก ๆ ซึ่งเราเรียกว่า secondary organic aerosol ขึ้นมาในบรรยากาศ มันก็ทำให้ฝุ่นละอองที่เป็นฝุ่นละอองเฉพาะ PM 2.5 สูงขึ้นมาในช่วงเวลานั้น
ฟังแบบนี้แล้ว เหมือนกับว่า PM2.5 ก็ไม่ได้อันตรายแตกต่างจากฝุ่นทั่วไป
เอาอย่างนี้ดีกว่าว่าถ้าเกิดความเข้มข้นของฝุ่นเพิ่มมากขึ้น พอเราสูดหายใจเข้าไปโอกาสที่เนื้อเยื่อ เยื่อบุ แล้วก็ระบบทางเดินหายใจเราจะเกิดการระคายเคืองก็จะมีมากขึ้น การระคายเคืองจะตามมาด้วยเรื่องของการติดเชื้อ อันนี้จะติดเชื้ออะไรก็แล้วแต่ มันขึ้นอยู่กับเราอยู่ตรงไหน ถัดมา ตัวฝุ่นเองอาจจะมีสารที่เป็นอันตรายที่อยู่ในฝุ่นละอองนั้นไม่เหมือนกัน ฝุ่นจากยานพาหนะเป็นแบบหนึ่ง จากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งก็เป็นอีกแบบหนึ่ง พอสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปในร่างกาย ต้องดูว่าฝุ่นเม็ดนั้นมาจากอะไร
ถ้าเราอยู่ใกล้ริมถนน ฝุ่นละอองนั้นก็มาจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ สิ่งที่ตามมาก็คือ องค์ประกอบมันมาจากการเผาไหม้ของน้ำมันก็จะมีอันตรายมากกว่าการเผาไหม้ชีวมวล พอมันเข้าสู่ร่างกายพวกนี้มันเข้าไปได้ลึก มันสามารถเข้าไปในเยื่อบุปอดของเราได้เลย
มีงานวิจัยในเม็กซิโก กับไต้หวันว่าปอดของสุนัขที่อยู่ริมถนนจะมี macrophage กับเนื้อเยื่อที่มันผิดปกติไป ทำให้สมรรถภาพของปอดลดลง การหายใจก็ไม่เป็นไปตามปกติ แล้วก็นำมาด้วยเรื่องของ สโตรก เรื่องของความดันโลหิต และอื่น ๆ ตามมา นั่นคือผลพวงที่มันตามมาหลังจากได้รับฝุ่นเข้าไป ผมขอไม่ระบุว่ามันเป็นเชื่ออะไรนะครับ แต่เชื้อมันมีหลายแบบและฝุ่นเองก็มีองค์ประกอบข้างในที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นฝุ่นที่มาจากเกลือหรือธรรมชาติต่าง ๆ เหล่านี้ พวกนี้ไม่อันตรายอย่างมากก็แค่เกิดการระคายเคือง
มีมาตรฐานไหมว่าพื้นที่เรามีค่าฝุ่นเท่าไหร่ จึงคิดต้องระวังแล้ว
ตอนนี้ตามปกติที่เราดูกันตามตัวเลขนะครับ ก็คือถ้าเกิดมันเกิน 50 ขึ้นมา ต้องเริ่มระแวดระวังกันหน่อย จะทำกิจกรรมอะไรก็ดูดี ๆ ว่ามันเป็นยังไงกับตัวเลข ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มันก็จะมีการเพิ่มขึ้นและลงตามวันเวลา แต่โดยปกติแล้วถ้าเกิน 60 70 ขึ้นไป ผมก็งดทำกิจกรรมข้างนอกแล้วก็จะอยู่ที่อยู่ในห้อง แล้วก็ปกป้องตัวเราเอง
แต่ถ้าเกิดสมมุติว่าตัวเลขมันแตะ 100 อันนี้ก็ซีเรียสมากกว่าปกติ เราก็ไม่ควรทำอะไรที่มันเสี่ยงต่อการได้รับฝุ่นเข้ามา อย่างแรกเราจะรู้สึกก็คือระคายคอ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมก็เป็น ระคายคอ คออักเสบ ติดเชื้อ มันจะเป็นแพทเทิร์นของมันตามมาเป็นแบบนี้ อันนี้คือฝุ่น แต่ถ้าเกิดฝุ่นที่ผมว่า มันมีตัวอื่นด้วย ผมได้รับอะไรหรือไปหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ เพราะร่างกายเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นฝุ่น
ตัวเลขบางช่วงเวลาผมไปเจอที่เสา KU Tower บางครั้ง ค่าฝุ่นข้างล่างจะต่ำ ข้างบนสูงเป็นร้อยหรือทั้งข้างบน ตรงกลาง แล้วก็ข้างล่างสูงหมด เราก็เคยเห็นมาแล้วครับ ดังนั้นลักษณะของตัวเลขที่ขึ้นไปสูง ๆ เคยแตะอยู่ที่ตัวเลข 130 150
แสดงว่าไม่ใช่ว่ายิ่งสูง อากาศยิ่งดี
ไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบของฝุ่นมาแบบไหน อย่างที่ผมบอกว่าลักษณะของฝุ่นมาแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน บางช่วงเวลาฝุ่นข้างล่างมันมาจากข้างนอก ลักษณะรูปแบบของฝุ่นก็จะเป็นแบบหนึ่ง บางครั้งฝุ่นที่มันเกิดขึ้นหลังเที่ยงคืนมีความเข้มข้นสูง รูปแบบของฝุ่นก็อีกแบบหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันจึงนำมาซึ่งคำถามว่า อะไรเป็นแหล่งกำเนิดของเขา แล้วเราจะแก้ไขปัญหามันได้ยังไง
เพราะบางช่วงเวลาที่ฝุ่นลอยมาจากข้างนอก มันจะไม่ได้ลอยมากับพื้นแต่มันลอยมาจากข้างบน ดังนั้น ข้างบนค่าฝุ่นจะสูงกว่าข้างล่าง ในช่วงเวลาแบบนี้คนที่อยู่คอนโดหรืออยู่ที่สูงก็จะได้รับฝุ่นมากกว่าคนที่อยู่ข้างล่าง แต่เมื่อถึงเวลาพลบค่ำหรือพระอาทิตย์ตกตรงไหน อากาศเย็นลง ฝุ่นก็จะจมตัวลงมา ข้างล่างก็จะรับฝุ่นมากขึ้น มันเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
หมายความว่าต่อให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันฝุ่นก็สามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ได้
ใช่ครับ แต่ละพื้นที่แต่มันจะมีลักษณะพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ลมก็จะมีผลต่อการกระจายตัวของตัวฝุ่นระยะทางจากจากจุดที่เรารับถึงแหล่งกำเนิด ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นเดียวกัน ทั้งหมดเหล่านี้มันก็ทำให้ค่าฝุ่นแปรเปลี่ยนไป
แล้วจะป้องกันยังไง ถ้าเกิดค่ามาตรฐานอย่าง 50 เราควรจะทำอะไร หรือถ้ามันเกิน 60 เราควรจะทำอะไร
โดยปกติ ถ้าเกิดตัวเลขสูงเกิน 50 ก็เริ่มระมัดระวังตัวเองแล้ว อย่าเพิ่งไปทำกิจกรรมอะไรที่ใช้กำลัง หรือใช้อากาศเยอะ หมายความว่าเวลาเราเหนื่อยเราจะหายใจเยอะ เราก็ต้องระวังแล้ว พอขึ้นไป 60-70 ต้องเตือนตัวเองแล้วว่าไม่ควรออกไป ยิ่งตัวเลขสูงมากเท่าไหร่ เรายิ่งควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง
แต่ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ ต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูงเป็นระยะเวลานาน หรือบางคนถ้าเกิดร่างกายอ่อนแอ ก็ควรสวมหน้ากากที่สามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้ คือบางคนเนี่ย อ่อนไหวกับฝุ่นไม่เท่ากัน บางคนอ่อนไหวมากเช่น ได้รับนิดหน่อยก็จะมีอาการระคายคอ พวกนี้ต้องรู้จักตัวเองและเมื่อรู้ตัวเองก็ต้องรีบปกป้องตัวเองซะ แต่บางคนอาจจะบอกว่า ฉันเคยอยู่มา 60 70 ปีไม่เป็นไร อันนี้ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพียงแต่ว่าพวกนี้บางทีมันไม่แสดงอาการตอนนั้น แต่มันจะแสดงอาการหลังจากนั้น นั่นคือสิ่งที่ตามมา
เราจะมีวิธีการแก้ปัญหายังไงที่ยั่งยืนที่สุด
ผมเชื่อเสมอว่าต้นไม้เป็นทางออกที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญประการแรกเมื่อปลูกต้นไม้ในพื้นที่สีเขียว มันจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นไม่ปลดปล่อยฝุ่นละอองที่มาจากมนุษย์ นั่นลดอย่างแรกเลย อันที่ 2 เมื่อไหร่ต้นไม้เป็นแถว เป็นแนว เขาจะมีลักษณะของการที่เป็นแนวกันลม แนวกันลมจะทำให้ฝุ่นละอองที่พัดมา ตกแถวบริเวณนั้น อันนี้คือประโยชน์ที่ 2 อันที่ 3 น้ำที่มาจากการระเหย จากการคายน้ำของพืชจะไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้ฝุ่นละอองเหล่านั้นสามารถตกได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นลักษณะแบบนี้ผมว่ามันเป็นเทคโนโลยีของธรรมชาติที่เขาช่วยอยู่แล้วฉะนั้น ถ้ายิ่งมีต้นไม้เยอะเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นผลดีกับเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แล้วจะต้องอยู่กับฝุ่นไปอีกนานแค่ไหน
เราจะอยู่กับพวกนี้ตลอดไป ตราบใดที่เรายังไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นจากแหล่งกำเนิดหลัก ๆ ที่มาจากเรื่องของการจราจร ที่มาจากการเผาในที่โล่งแจ้งอย่างจริงจัง รถยนต์ ผมเน้นคำว่ารถยนต์นะครับ ไม่ใช่ว่ารถดีเซลหรือเบนซิน รถยนต์และจักรยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างเพียง PM 2.5 อีกนาน ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน ถ้าเราไม่มีการลด ถ้าเราไม่มีการควบคุมเขาจะปล่อยอย่างนี้ตลอด มันไม่มีมาตรการอะไรที่จะเห็นทันที ที่จะทำให้ฝุ่นหายไปจากกรุงเทพฯ ได้ดีเท่ากับเรื่องของการควบคุมจำนวนยานพาหนะทั้งหมดนะครับ ตัวนั้นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการควบคุมจำนวนประชากรของรถ แล้วหันมาใช้ขนส่งมวลชนให้มากขึ้น นั้นเป็นแนวทางออกที่ดีที่สุด
หมายความว่าทางออกส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการของภาครัฐ
ใช่ครับ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องมีส่วนนะครับ ในส่วนของการเรียกร้องให้เกิดการผลักดันตรงนั้นจริง ๆ มันมีคำพูดหนึ่งที่ผมชอบที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดคำนึงว่าปัจจุบันคนสนใจตัวเลขความเข้มข้นของฝุ่นละอองมากกว่าตัวเลข GDP แล้วใช่ไหม ผมว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจนะว่ารัฐบาลควรจะคิดอะไรมากกว่าแค่เพิ่มตัวเลข GDP หรือเปล่า
การระมัดระวังตัวเองอย่างง่ายที่สุด เราต้องทำอะไรบ้าง
อย่างแรกนะครับ ศึกษาและทำความเข้าใจกับตัวเลขในเรื่องของฝุ่นให้ดี มันเป็นตัวเลขอะไร ตัวเลขความเข้มข้น หรือตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศ หลังจากนั้นเมื่อเอาตัวเลขเหล่านั้นมานัดมาดูแล้ว ก็กำหนดจุดไว้ว่าจุดไหนคือจุดที่เราทำให้เราเจ็บป่วยไม่สบายได้ แต่ละคนมันไม่เหมือนกันนะครับ
ถ้าสมมุติว่าเรื่องของความเข้มข้นของฝุ่นอย่างผมเนี่ย ถ้าเกิน 50 ขึ้นมา ผมก็จะพยายามงดกิจกรรมข้างนอกละ เริ่มละ ผมไม่ออกไปวิ่ง ผมไม่ออกไปทำกิจกรรมนาน ๆ ข้างนอก ยิ่งตัวเลขเพิ่มมากขึ้น แน่นอนครับ ความเข้มข้นของการดูแลรักษาตัวก็ต้องเพิ่มขึ้น บางช่วงเวลาถ้ามันสูงมาก 80-90 ควรจะอยู่ในห้องปรับอากาศที่มีเครื่องฟอกอากาศไหม อะไรทำนองนี้ ซึ่งตัวเองจะรู้ดีที่สุดเพราะแต่ละคนมีการตอบสนองกับความเข้มข้นฝุ่นไม่เหมือนกันนะครับ ดังนั้นต้องดูแลตัวเอง ดูตัวเลขให้เป็น ดูแลตัวเองแล้วก็หลบหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
กลายเป็นว่าประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย
แน่นอนครับ คือจริง ๆ แล้วตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากตัวเองนะ มันเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลไม่มีมาตรการจัดการกับปัญหานั้น แล้วก็ผลักภาระมาให้กับประชาชนให้ดูแลตัวเอง ง่าย ๆ ถ้ารัฐบาลลดที่แหล่งกำเนิดได้ เงินเหล่านี้จะไม่ได้ถูกจ่ายโดยประชาชน แต่จะเป็นการจ่ายโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ถูกไหมครับ ฉะนั้น ตัวเลขนี้มันน่าจะคิดในเชิงของเศรษฐศาสตร์ได้ว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำ เราต้องเสียอะไรบ้างและในขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลทำเราจะได้อะไรกลับมา