การได้เป็นเจ้าของธุรกิจและประสบความสำเร็จ ถือเป็นความฝันสูงสุดของหลาย ๆ คน เราเริ่มเห็นตัวอย่างความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากกลุ่มสตาร์ตอัปใหม่ ๆ
แม้กระทั่งช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็มีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น แพลตฟอร์มสำหรับประชุมออนไลน์อย่าง Zoom หรือ แอปพลิเคชันสนุก ๆ อย่าง Tik Tok หรือ แอปบริการสั่งอาหารหรือรับส่งสินค้า เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจเดิมหลายแห่งกำลังล่มสลายไปกับพิษโควิด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายการบิน ผู้ให้บริการสถานที่จัดงาน สถานบันเทิง ร้านอาหาร เป็นต้น
อะไรที่ทำให้คนสองกลุ่มนี้เดินสวนทางกัน คำตอบคือโอกาสธุรกิจ หมายความว่า ใครเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้าแล้วรีบคว้ามันเอาไว้ก่อนก็จะได้ประโยชน์ ส่วนคนที่มองไม่เป็นโอกาสก็ปล่อยให้ลอยหายไป
เราคงเคยได้ยินคำว่า Entrepreneur หรือผู้ประกอบการ บางครั้งจะเรียกว่าเถ้าแก่ก็ไม่ผิด คำนี้หมายถึงใครก็ตามที่สามารถคิดสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ และขยายธุรกิจให้เติบโตไปเรื่อย ๆ
passion gen ขอหยิบแนวคิดและตัวอย่างเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจใหม่มาฝากกัน เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาว่าเขามีวิธีสร้างธุรกิจอย่างไร เขามองเห็นโอกาสช่วงขณะนั้นได้อย่างไร มาติดตามกัน
เพิ่มโอกาสสิ่งที่มีอยู่เดิม
แนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว เช่น AirBnB คือ การนำบ้านพักส่วนตัวมาแบ่งให้เช่ารายวันหรือรายเดือน เป็นลักษณะการแชร์ธุรกิจที่เจ้าของบ้านแบ่งพื้นที่ให้ผู้เช่า ผ่านตัวกลางที่มีระบบการจองและจ่ายเงินทางออนไลน์
หรือ Lyft คือสร้างผลประโยชน์จากพื้นที่ในรถยนต์ รถยนต์คันเดียวสามารถแชร์ให้คนอื่นติดรถไปด้วย ไปทำงาน ไปเรียน หรือไปท่องเที่ยวพักผ่อนก็สามารถทำได้ โดยเจ้าของระบบ Lyft จะมีรายได้จากเจ้าของคนขับนั่นเอง
น้อยแต่มากแบบ Niche Market
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจมือใหม่ อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจำนวนมากในระยะสั้น เพราะเงินทุนน้อย ทีมงานไม่พอ หรือเครือข่ายต่าง ๆ ไม่อำนวย
แต่เถ้าแก่เหล่านี้ก็สามารถพลิกโจทย์ใหม่ได้ โดยหันไปจับตลาดแบบเฉพาะกลุ่มหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Niche Market แทน หลาย ๆ กิจการเริ่มต้นแบบนี้เลยก็มี เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องตัดราคา เนื่องจากไม่มีคู่แข่งโดยตรงหรือถ้ามีก็มีน้อยกว่า
ตัวอย่างสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น Torrid และ LANE BRYANT ที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคนตัวใหญ่ หรือ Northface ผลิตสินค้าเจาะกลุ่มคนเดินป่าและชอบผจญภัย เป็นต้น
ปัญหาสร้างโอกาส
ตัวอย่าง เช่น Dropbox ที่ออกมาช่วยเก็บข้อมูลไว้ในระบบแทนปัญหาการเก็บข้อมูลในฮารด์ไดร์ฟหรือ USB ระบบนี้ยังสามารถแชร์ไฟล์ไปให้ผู้อื่นได้อย่างสะดวกและง่ายดาย หรืออีกตัวอย่างคือ Flow account สตาร์ตอัปสายเลือดไทยที่ช่วยให้ระบบบัญชีกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ
ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากปัญหาทั่วไปในแต่ละวัน หากคุณสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็มีโอกาสทางธุรกิจมากเท่านั้น
ธุรกิจตัวกลางมาแรง
ธุรกิจที่มาแรงสุด ๆ ในยุคโควิด คือ บริษัทที่ทำเกี่ยวกับขนส่งสินค้าถึงบ้านแบบ Home delivery เป็นคนกลางที่เชื่อมประโยชน์ระหว่างผู้ซื้อที่ไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน กับผู้ขายสินค้าและบริการต่าง ๆ
หรืออีกกรณี LinkedIn ที่เกิดขึ้นมาช่วยให้คนสมัครงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับแอปสำหรับซื้อขายห้องพักหรือจองตั๋วเครื่องบิน ที่กำลังได้รับความนิยมสูงในขณะนี้
อาชีพเสริมยุคโควิด
ส่วนใครที่ยังไม่พร้อมจะเป็นเจ้าของธุรกิจแบบเต็มตัว แต่ยังมีแรงบันดาลใจอยู่ และไม่ต้องการพึ่งโชคชะตาหรือหวังน้ำบ่อหน้า ก็สามารถเริ่มต้นก้าวเล็ก ๆ ได้เช่นกัน อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมไปก่อน งานที่น่าสนใจ เช่น
ธุรกิจออนไลน์
เพราะทุกคนได้ก้าวเข้าสู่ความปกติแบบใหม่หรือ New normal คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตตามไปด้วย ธุรกิจออนไลน์ไม่ได้มีเฉพาะอาหารหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นประจำวัน แต่รวมถึงการฝึกอบรมออนไลน์ การฝึกอาชีพต่าง ๆ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งการเรียนข้ามประเทศก็สามารถทำได้
ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ
เพราะโควิดทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องสุขอนามัย ธุรกิจประเภทสารทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค หน้ากากอนามัย อาหารเพื่อสุขภาพ แม้กระทั่งประกันโควิดก็บูมขึ้นมา นอกจากนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดหรือการนวดคลายเครียดน่าจะเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีบริการนวดตามบ้านเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
ช่างซ่อมต่าง ๆ
เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความต้องการอย่างมากในยุคโควิด ใครที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมรถยนต์ หรือช่างไอทีต่าง ๆ ลองหาช่องทางดู อาจจะเริ่มจาการโฆษณาตัวเองผ่านสังคมออนไลน์ก่อนแล้วค่อยขยายสู่วงกว้างต่อไป
เห็นมั้ยล่ะว่า ไอเดียการทำธุรกิจดี ๆ นั้น ไม่ได้อยู่ไกลตัวของเราเลย หากเราเริ่มต้นมองจากความต้องการของตัวเรา และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
“เพียงแค่นี้ โอกาสทางธุรกิจและความสำเร็จก็รออยู่เบื้องหน้า”
Category: