หลายคนมองว่า “การประชุม” เป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยเฉพาะเมื่อมีภาพติดตาเป็นห้องสี่เหลี่ยม ที่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างนั่งก้มหน้าก้มตาหลบสายตาประธานการประชุมอยู่บนเก้าอี้แคบๆ ซึ่งแม้ขยับตัวสักนิดยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ บรรยากาศกดดันตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มประชุมเช่นนี้ ส่งผลอย่างยิ่งต่อความมุ่งหวังในการจับประเด็นความคิดที่ตกผลึกจากการประชุม เพื่อนำมาต่อยอดในการทำงาน

เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่ไม่เล็กน้อยนี้ เป็นปัญหาสำคัญทั้งต่อบริษัทเล็กๆ และบริษัทระดับมหาชนเพราะการประชุมยังคงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับองค์กร จึงมีผู้พยายามคิดค้นวิธีประชุมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้เข้าร่วมประชุมมีความสุขอยู่เสมอมา

ล่าสุด ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 หรือ PMAC 2019 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เสนองานศึกษาที่ชวนฮือฮาว่า เราทุกคนสามารถสร้างสรรค์การประชุมรูปแบบใหม่ที่ไม่น่าเบื่อ โดยได้ทั้ง “งาน” และ “สุขภาพ” ไปพร้อมๆ กัน

เพียงปรับเปลี่ยนบรรยากาศการประชุมจาก “นั่ง” เป็น “ยืน” เท่านั้น

การศึกษานี้บอกว่า ยืนประชุมทำให้ผู้เข้าประชุมจดจ่ออยู่กับงาน และยืนประชุมเพียง 15 นาที สามารถเผาผลาญพลังงานในร่างกายได้ถึง 35 แคลอรี่เลยทีเดียว

แต่สิ่งสำคัญก่อนอื่นที่ “ต้องเปลี่ยน” คือ รูปแบบโต๊ะประชุม ซึ่งควรออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้งาน โดยบนโต๊ะนั้นอาจมีข้อความแนะนำเคล็ดลับการจัดวางท่าทางขณะยืนเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าขณะประชุมด้วยก็ได้

หากไม่ชอบยืนประชุม คณะศึกษาของ สสส บอกว่าอาจนั่งบนยิมบอลแทนก็ได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสขยับร่างกายบ้าง

ประเด็นสำคัญที่ สสส. พยายามนำเสนอเกี่ยวกับการประชุมหรือการทำงานในบริษัท ก็คือ อย่ายึดติดกับการทำงานรูปแบบเก่า และการปรับเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน เป็นเรื่องที่ผู้บริหารไม่ควรมองข้าม การเพิ่มกิจกรรมสันทนาการภายในที่ทำงาน เช่น ติดตั้งโต๊ะปิงปอง ติดตั้งลู่จักรยานในร่ม หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำได้ไปพร้อมๆ กับสนทนาเรื่องงาน หรือประชุม แทนที่จะต้องรอไปทำหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นเวลาที่หลายคนอยากกลับบ้าน หรือจำเป็นต้องรีบกลับบ้านเพราะมีภารกิจที่บ้านรออยู่

อีกประเด็นที่ สสส เน้นสำหรับการประชุมรูปแบบใหม่ “ได้งาน ได้สุขภาพ” คือ เรื่องของอาหารการกิน ที่ส่วนใหญ่หากมีการประชุมหรือสัมมนานอกสถานที่ มักมีอาหารในลักษณะบุฟเฟ่ต์ ซึ่งแม้มีข้อดีที่เลือกตักได้ตามใจชอบ สสส. ก็แนะนำสูตร “2 : 1 : 1″ ให้ท่องไว้ในใจดังๆ ตลอดเวลา

2 : 1 : 1 คือ ผัก 2 ส่วน : คาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน : เนื้อสัตว์ 1 ส่วน

สสส ย้ำว่า ร่างกายของมนุษย์ไม่ต้องการสารอาหารต่อวันมากไปกว่านี้ เราควรเปลี่ยนค่านิยมที่ว่า บุฟเฟ่ต์ต้องทานให้คุ้มให้อิ่ม เป็น บุฟเฟ่ต์ ทำให้เราเลือกบริโภคได้หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า

การออกกำลังและการกินที่เหมาะสมนั้น หากเราปฏิบัติเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs หรือ non-communicable diseases ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่คนทำงานปัจจุบันเป็นกันมากที่สุด เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็งต่างๆ, โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคอ้วนลงพุง, โรคตับแข็ง และ โรคสมองเสื่อม เป็นต้น

ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างมาก องค์กรที่มีผู้บริหารใส่ใจบรรยากาศการทำงานเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของคนทำงาน ย่อมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน

ติดตามข้อมูลดีๆ ในการทำงาน และเรื่องๆ ของ สสส. ได้จาก www.thaihealth.or.th

Category:

Passion in this story