สวัสดีครับทุกคน จากสถานการณ์ LOCKDOWN ที่ไม่สามารถออกไปถ่ายทำรายการได้ตามปกติ PASSION MARKET ขอปรับเนื้อหาโดยขอยกสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความต้องการซื้อที่มากกว่าความต้องการขาย หากจะพูดให้เก๋ ๆ ก็คือ สถานการณ์ที่ดีมานด์มากกว่าซัพพลายนั่นเอง ใครที่ยังนึกไม่ออก ว่าเอ๊ะ !!! เจ้าดีมานด์กับซัพพลายคืออะไร จะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ นะครับ อย่างเช่นปริมาณวัคซีนโควิด–19 ในประเทศกับความต้องการวัคซีนของคนในประเทศที่ไม่สอดคล้องกันนั่นเอง

ทีนี้เรามาดูปัจจัยที่ทำให้ความต้องการซื้อหรืออยากได้สินค้ามีมากขึ้นนะครับ หลัก ๆ ก็จะมาจากเรื่องของรายได้ การเก็งกำไร การคาดคะเนการขึ้นลงของราคาสินค้า อย่างช่วงสิ้นปีที่บริษัทจะมีการแจกโบนัสให้กับพนักงาน ซึ่งโบนัสก้อนนี้เมื่อได้มาคนส่วนใหญ่ก็จะเอาไปซื้อของที่อยากได้ เช่น  โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ กล้องดิจิทัลรุ่นท็อป  หรือใครที่มีหัวการค้าหน่อยก็จะเอาไปซื้อกองทุน ซื้อพันธบัตร ก็อาจทำให้สินค้าขาดตลาด หรือไม่พอกับความต้องการได้

แต่นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เพื่อน ๆ คงเคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน อย่างตอนที่โดนัทยี่ห้อดังเข้ามาในเมืองไทยใหม่ ๆ ได้เกิดปรากฏการณ์คนแห่ไปจองคิวไปต่อแถว ขนาดที่ว่าปลายแถวล้นออกมานอกห้าง หรือในช่วงก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยมีมลพิษทางอากาศ ที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เยอะ ๆ ก็ทำให้ช่วงนั้น หน้ากากกันฝุ่นเป็นที่ต้องการมากมายเช่นกัน

     แล้ววิธีพื้นฐานที่จะแก้ไขสถานการณ์แบบนี้ ง่ายที่สุดที่หลายองค์กรมักนำมาใช้ คือการเพิ่มกำลังการผลิต หรือผลิตสินค้าให้มีปริมาณที่มากกว่าเดิม อาจใช้วิธีสำรวจความต้องการของผู้บริโภคก่อนว่า อยากได้สินค้าประเภทไหน 1, 2, 3 แล้วค่อยผลิตจริง หรือ…อาจจะสอบถามไปยังพ่อค้าคนกลางที่ขายสินค้าให้เราก่อนก็ได้ครับ เพราะคนกลางจะรู้ดีที่สุด เนื่องจากเห็นความต้องการสินค้าแต่ละชนิดว่าผู้บริโภคต้องการสินค้าอะไร ประเภทไหนมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน

      อีกหนึ่งทางเลือกของการแก้ปัญหานี้  แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยอยากแนะนำเท่าไรนะครับ วิธีการก็คือ การจำกัดจำนวนการซื้อ เหตุผลที่ไม่อยากเลือกวิธีนี้ก็เพราะมันเหมือนการลดความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าของเรา เพราะผู้บริโภคอาจมองว่าบริษัทหรือผู้ผลิตไม่มีความพร้อม ไม่มีการเตรียมตัวในการขายสินค้านั่นเอง ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าจากยี่ห้อที่เป็นคู่แข่งของเราได้ หรือหากมองในแง่ร้าย ผู้บริโภคอาจจะไม่ใช้สินค้าของเราอีกเลย

      หลังจากทราบวิธีแก้ปัญหา เมื่อดีมานด์มากกว่าซัพพลายไปแล้วจะขอสรุปหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาสินค้าขาดตลาด จนไม่สามารถส่งให้ผู้บริโภคได้ทันอีกครั้งนะครับหลัก ๆ แล้วก็คือ เรื่องของการสื่อสารนั่นเอง เพราะถ้าแต่ละฝ่ายไม่สื่อสารกัน ต่างคนต่างทำ ตัวใครตัวมัน หรืออาจจะคุยกันแต่ไม่รู้เรื่อง มองเฉพาะงานหรือปัญหาของฝ่ายตัวเองฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาก็จะไม่บรรลุผล ดังนั้น หากองค์กรใดต้องการแก้ปัญหานี้ ควรหาแนวทางและวางแผนงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีปัญหาสินค้าขาดตลาดน้อยที่สุด

      ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือ หลักของการทำ MARKETING ง่าย ๆ ที่นำมาฝากชาว PASSION MARKET นะครับ  ครั้งหน้า PASSION MARKET จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางการตลาดเรื่องอะไรที่น่าสนใจ อย่าลืมติดตามชมนะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ  

Category:

Passion in this story