จากการสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทย โดยกรมสุขภาพจิตเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าอาชีพที่มาแรงสุดๆ รองจาก แพทย์ ครู นักกีฬาและทหาร ก็คือ นักกีฬา Esports ซึ่งติดโผเป็นปีแรก ทั้งยังสามารถขึ้น Top 5 แซงหน้าหลายอาชีพซึ่งเคยเป็นอาชีพในฝัน

กีฬา Esports คืออะไร ?

ทำไมจึงติด Top 5 อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ ?

“PassionGen” จะพาไปหาคำตอบจาก “ภาสวิชญ์ สวัสดิ์-ชูโต หรือ อิ๊งค์” หนุ่มนักกีฬา Esports ทีมชาติ วัย 22 ปี สังกัดทีม Lynx

 “electronic sports หรือ Esports (e-sports, eSports) คือ การเล่นกีฬาผ่านเครื่องมืออิเลคโทรนิคส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ไม่ได้ใช้ร่างกายโดยตรงเหมือนกีฬาทั่วๆ ไป ซึ่งจะต้องฝึกฝนร่างกายให้เข้ากับกีฬานั้นๆ แต่ Esports เราต้องฝึกฝนผ่านอุปกรณ์เพื่อให้เก่งในอุปกรณ์นั้นๆ

“Esports มีหลายประเภท แบ่งตามหมวดของเกม เช่น MOBA เน้นการวางแผน FPS เป็นเกมยิงปืน ส่วนเกมที่ผมเล่น คือ Overwatch จะเป็นเกมกึ่งๆ MOBA กึ่งๆ FPS (เฟรมเรตหรือการแสดงผลจำนวนภาพต่อวินาทีที่บ่งบอกความไหลลื่นของเกม) เป็นเกมแนววางแผนผสมแอคชั่น ใช้พลังเยอะ ผู้เล่นต้องมี skill ในการเล่นสูง”

“การแข่งกีฬา Esports ไม่ต่างจากการแข่งขันกีฬาอื่นๆ คือเราต้องแข่งขันกับคนทั่วโลก เพื่อที่จะเป็นที่ 1 เพื่อชัยชนะ และจัดอันดับ”  ภาสวิชญ์ ไขข้อข้องใจ

เขาเล่าว่า ในวัยเด็ก เขาก็ไม่ต่างจากเด็กผู้ชายคนอื่นที่มักใช้เวลาว่างเล่นเกม ซึ่งเขาเริ่มเล่นเกมครั้งแรกเมื่ออายุ 7 – 8 ปี โดยเกมแรกที่หัดเล่นคือเกมบอย ต่อมาจึงขยับเป็นเกมต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ฝีมือและการวางแผนมากขึ้น

คุณแม่ของภาสวิชญ์ไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการเล่นเกม ซึ่งเขาเล่าว่า เพราะเขาเป็นเด็กค่อนข้างมีวินัย รู้จักแบ่งเวลา ไม่ได้ติดเกมงอมแงมอย่างที่หลายคนกลัว จะเล่นก็แค่ช่วงเวลาว่าง และเล่นเพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่มีผลต่อการเรียน และที่สุดเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และที่สำคัญคือ สามารถพัฒนาเป็นอาชีพ
เมื่อเป็นเด็ก ภาสวิชญ์เล่นเกมเป็นงานอดิเรก แต่เพราะฝีมือไม้ลายมือของเขาไม่ธรรมดา เขาจึงรวมตัวกับเกมเมอร์คนอื่นๆ ทำทีมลงแข่งในทัวร์นาเมนท์ต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

https://youtu.be/ohlHhJ177AA

“ผมเริ่มลงแข่งครั้งแรกเมื่อประมาณ ม.5 – 6 แต่เป็นทัวร์นาเมนท์เล็กๆ จนปี 2560 เกม Overwatch จึงได้เข้าทัวร์นาเมนท์ระดับโลก หรือ World Cup ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยให้แต่ละประเทศส่งตัวแทนมา 6 คน ซึ่งไทยเราได้คัดเลือกผู้เล่นจาก 100 คน เหลือ 6 คนสุดท้าย ผมติด 1 ใน 6 คนนั้น ได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยลงแข่งเป็นครั้งแรก และปลายปีที่แล้วจัดที่ประเทศไทย ผมก็ได้ลงแข่งในนามทีมชาติไทยอีกครั้ง”

ภาสวิชญ์บอกว่า ปัจจุบันกีฬา Esports ของไทยอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา เริ่มมีผู้ใหญ่หลายคนเห็นความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น คนรุ่นใหม่ก็สนใจเข้ามาสู่วงการนักกีฬา Esports มากขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่ชอบเล่นเกม แต่หลายคนคิดว่าการเป็นนักกีฬา Esports ง่าย เพียงเล่นเกมแล้วได้เงิน ซึ่งเขายอมรับว่ามีส่วนจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด….

“พอเป็นงาน เป็นอาชีพ มันก็ไม่ได้สนุกเหมือนตอนเล่นเกม เพราะมันมีความเครียดด้วย ผมว่า กว่าจะขึ้นถึงจุดที่เป็นนักกีฬามันยากมากครับ สมมุติว่าเกมที่เราเล่นมีนักกีฬา 100,000 คน ทำอย่างไรให้เราเป็นนักกีฬา 1 ใน 100 คน เราต้องเก่งกว่าคนอีกเกือบแสนคน ผมว่าแค่นี้ก็ยากแล้ว และแค่เก่งอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะมีอีกหลายคนที่เก่ง เราต้องพรีเซนต์ฝีมือตัวเองให้เป็นด้วย”

สำหรับรายได้ของนักกีฬา Esports ของไทย ภาสวิชญ์บอกว่า มีหลายระดับ เริ่มต้นตั้งแต่ 5,000 บาท ไปจนถึง 50,000 บาท และเมื่อเทียบกับนักกีฬาต่างประเทศ รายได้ขั้นต่ำคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ตัวเลขหกหลักขึ้นไป
สำหรับผู้สนใจก้าวมาเป็นนักกีฬา Esports ภาสวิชญ์ในฐานะนักกีฬารุ่นพี่ มีคำแนะนำน่าสนใจว่า

ภาสวิชญ์ สวัสดิ์-ชูโต

“การเป็นนักกีฬา Esports สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ต้องเก่ง ซึ่งจะเก่งได้ ก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา จนถึงจุดที่เรียกว่าเรามีความสามารถและมีฝีมือที่ทัดเทียมกับนักกีฬาคนอื่น สิ่งต่อมาคือ ต้องมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม นักกีฬาที่อยู่ในวัยเรียน ควรจัดสรรเวลาเรียนให้ดี ไม่ควรทิ้งด้านใดด้านหนึ่งไป ถ้าเสี่ยงที่จะเลิกเรียน ผู้ใหญ่จะมองว่ากีฬา Esports ไม่ดี หากทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เราเรียนไปด้วย เล่นเกมไปด้วย โดยผลการเรียนไม่แย่ ถึงผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน ก็จะไม่ขวาง”

ปัจจุบัน ภาสวิชญ์ กำลังจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะดุริยางคศิลป์ เอกกีตาร์แจ๊ส ซึ่งเขาบอกว่าก็จะยึดอาชีพนักกีฬา E-Sports ซึ่งเป็นอาชีพที่เขารักต่อไป

Category:

Passion in this story