ทุกความสำเร็จเกิดจากวิกฤต เพราะทุกวิกฤตมีโอกาส เพียงคว้าโอกาสได้ความสำเร็จของธุรกิจก็จะตามมา ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น เป็นหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จากการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อก้าวสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากมนุษย์เงินเดือนสู่การสร้างกิจการของตัวเอง จาก “จินตนาการที่ผิดเพี้ยน” เปลี่ยนเป็นนวัตกรรมและกลายเป็นจุดแข็งให้บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) กลายเป็น SMEs ที่เติบโตได้อย่างโดดเด่น ภายใต้กรอบความคิดแบบ BCG หรือ Bio Circular Green Economy ฟังมุมมองและแง่คิดดีๆ จากคนตัวเล็กที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งใหญ่กลายเป็นกำลังที่สานต่อแรงบันดาลให้อีกหลายธุรกิจล้มแล้วลุกขึ้นสู้ จนประสบความสำเร็จ
Passion Talk ตอนนี้ พูดคุยกับ ณัฐสิทธิ์ ธีรกุลวาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะมาถ่ายทอดแง่คิดมุมมองที่ไม่ธรรมดา ในการนำธุรกิจฝ่าฟันคลื่นลมจนประสบความสำเร็จ
“ผม ณัฐสิทธิ์ ธีรกุลวาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ครับ เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) แล้วก็แปรรูปวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาตินะครับ แล้วก็ตอนนี้ก็พยายามที่จะรีไซเคิลสารดูดซับ หรือเราเรียกว่า activated alumina แล้วก็รีไซเคิล Coke Catalyst ที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยครับ”
ถ่านกัมมันต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมอาหารทุกโรงงานต้องใช้ถ่านกัมมันต์ แล้วก็ทุกครัวเรือนก็มีถ่านกัมมันต์ คือ เป็นสารกรองน้ำก็ได้ กรองน้ำดีบำบัดน้ำดี บำบัดน้ำเสีย บำบัดอากาศ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ถ่านกัมมันต์ ซึ่งปัจจุบันเราทำทั้งผลิตและรีไซเคิลด้วยครับ
แต่ก่อนพอถ่านหมดอายุ เราต้องนำไปฝังกลบ เป็นการเพิ่มปริมาณขยะให้กับโลก เราก็เลยคิดวิธีที่จะรีไซเคิลถ่านกัมมันต์กลับมาใช้ใหม่ บางส่วนที่ใช้ไม่ได้แล้วก็เติมถ่านใหม่เพิ่มเข้าไปแทน ก็จะช่วยเรื่องลดปริมาณขยะให้กับสังคมให้กับโลกได้มาก
เราเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างไร
เราเริ่มต้นเหมือนบริษัททั่วไป จากธุรกิจซื้อมาขายไป (Trader) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากบริษัทไรท์ โซลูชั่น จำกัด นำเข้าผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย กระทั่ง 15 ปีที่แล้ว เราเริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัฒน์ การค้าที่ไร้พรมแดน ซึ่งกระทบต่อธุรกิจเรา โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 ชาติอาเซียน เรากลัวสิงคโปร์มากที่สุด หากเปิดการค้าเสรีเขาพร้อมจะเข้ามาทุ่มตลาดแข่งขันกับธุรกิจในประเทศได้ ขณะเดียวกันในช่วงนั้น รัฐบาลจีนสั่งปิดเหมืองถ่านหิน และเกิดภาวะขาดแคลนของกะลามะพร้าว ทำให้เราต้องคิดหาวิธีให้ธุรกิจอยุ่รอดได้อย่างยั่งยืน ช่วงนั้นคิดว่าของที่เรามีอยู่เรานำกลับมารีไซเคิลได้หรือไม่ โดยพูดคุยกับรุ่นพี่ที่รู้จักทั้ง ดร.ธานี เจิมวงค์รัตนชัย และศาสตราจารย์ ดร. บุนยรัชต์ กิติยานันท์ ก็จุดประกายให้ทำโรงงานรีไซเคิลขึ้นมาก ก็ทำเลย
“เราเริ่มต้นจากการผลิตและรีไซเคิลถ่านกัมมันต์ครับ ผลิตก็คือ เอากะลามะพร้าวจากที่เหลือใช้จากชาวบ้าน มาผลิต เอาไม้ เศษไม้มาผลิต แล้วก็เมื่เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้างานได้ดีแล้ว พอถ่านกัมมันต์หมดอายุเราก็ไปเปลี่ยนถ่ายกลับมารีไซเคิลให้ลูกค้าใช้ใหม่ ส่วนที่สูญเสียก็เติมของใหม่ให้”
จากซื้อมาขายไป ทำไมจึงคิดผลิตเอง
ผมเห็นเทรนด์ว่าตลาดเรื่องสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นทุกปี จึงมองว่าธุรกิจนี้น่าจะเป็นช่องทางเรา ธุรกิจซื้อมาขายไปมีข้อจำกัด เช่น เรื่องภาษี ภาษีอากรต่างๆ เราสู้สิงคโปร์ไม่ได้ ถ้าเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้นมา เราจะสู้สิงคโปร์ที่ดั้มราคาไม่ได้ เพราะภาษีเขาเป็นศูนย์ เราจึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มันเติบโตได้และก็ยังยืน
“ตอนนั้นเราจึงกำหนดวิสัยทัศน์ว่า เราจะเป็นเจ้าแรกที่เป็น One Stop Service ในเรื่องของ Activated Carbon ตั้งแต่ออกแบบ แก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ติดตั้ง ดูแลให้บริการ รวมถึงนำกลับมารีไซเคิล และนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าในปัจจุบันที่มุ่งเน้นในเรื่อง BCG อย่างเข้มงวด ปัจจุบันเราเป็นเจ้าแรก ใน เซาท์อีสต์ เอเชีย ที่ทำครบวงจรทั้งหมด”
ผลตอบรับที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ถ้า Activated Carbon กิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าต้องซื้อมาใช้ 10 ตันก็เป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท ถ้าเปลี่ยนทุกรอบก็รอบละ 1 ล้านบาท แต่ถ้ารีไซเคิลเหลือกิโลกรัมละ 50 บาท ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายลงได้ 50% ลูกค้าตอบรับดีมากครับ 3 ปีที่ผ่านมากำลังการผลิตเติบโตขึ้นทุกปี ปีที่แล้วเติบโตขึ้น 27% และคาดว่าปีนี้จะเติบโตขึ้น 47%
ตอนเริ่มทำเราคิดถึง BCG หรือเปล่า
ตอนนั้น BCG ยังไม่พูดถึงเลย เราคิดถึงเรื่องรีไซเคิล เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ คิดถึงเรื่องของการมีเทคโนโลยีของเราเอง ภายหลังถึงมีการพูดถึง BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขึ้นมา แต่สิ่งที่เราคิดในตอนนั้นคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยลดขยะให้โลกและเกิดแวลูกับธุรกิจควบคู่กันไป
“ปัจจุบันเรากำลังขยายธุรกิจไปสู่การรีไซเคิล Activated Alumina หรือสารดูดซับความชื้นในโรงงาน ซึ่งเราก็น่าจะเป็นเจ้าแรกในประเทศที่เริ่มทำ เราต้องขยับเพื่อที่จะเรียนรู้โลกใหม่ และลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของโรงงานต่างๆ ซึ่งสารเหล่านี้มีราคาสูงมาก นำเข้ามาใช้งานเสร็จแล้วก็ฝังกลบเป็นขยะกับโลก ถ้าเราทำสำเร็จจะช่วยลดรายจ่ายให้โรงงาน ลดขยะให้กับโลกได้มาก อีกส่วนที่เราพยายามจะทำปีนี้ให้สำเร็จคือ Coke Catalyst ซึ่งใช้ในโรงกลั่นน้ำมัน โรงปิโตรเคมี ปัจจุบันเราต้องส่งไปรีไซเคิลที่สิงคโปร์ ซึ่งสิ้นเปลืองค่าขนส่งไปกลับ หากรีไซเคิลในประเทศได้ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกธุรกิจ
นวัตกรรมการรีไซเคิล มีที่มาอย่างไร
เราเริ่มต้นจากคุยกับบริษัทต่างประเทศเพื่อจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ผลปรากฏว่า การเจรจาไม่ลงตัว จึงกลับมาหารือกับทีมงาน ที่ปรึกษาและและอาจารย์ท่านต่างๆ ว่าลองทำกันเอง จึงเป็นที่มาของการ เริ่มคิด เริ่มทำ เริ่มประกอบเตา ช่วงแรกก็เราได้ลองทำในสิ่งที่ผิด ใช้วัสดุผิด ทำนั่นผิดนี่ผิด ใช้ความร้อนผิด ออกแบบรอหมุนผิด เราอยู่กับความผิดอยู่ 1 ปี จนมาวันนี้ผมมั่นใจว่า เราสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่ง
เพราะต้องบอกว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบทั้งหมด แล้วเราก็ได้เอาสิ่งที่เราออกแบบไปจดสิทธิ์บัตรเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะเตาที่เราทำอยู่ 3-4 ตัวที่อยู่ในโรงงานเป็นเตาที่คิดค้นเอง ทำเอง เลือกวัสดุเองโดยคนไทย 100% ครับ ก็มีพี่ๆ น้องๆ อาทิ ท่านดร.บุญรัตน์ ดร.ธานี ดร.ณัฐพล ดร.วิษณุ และพี่ๆวิศวกรที่โรงงาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ แรกๆ ก็ผิดครับผิดเยอะกว่าถูก
นวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญของทุกธุรกิจ
ใช่ครับ คนไทยขาดในเรื่องของการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมส่วนใหญ่ก็อยู่บนกระดาษ จริงๆประเทศไทยมีผลงานวิจัยเยอะมาก จากนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่การนำมาใช้เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเบาบางมาก ตรงนี้ผมมองว่าประเทศไทยน่ามีกระบวนการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรมีการจัดหลักสูตรเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ามาให้รู้จักกันมากขึ้น จะได้นำผลงานวิจัยไปใช้ต่อยอดให้กับธุรกิจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ
อยากให้เล่ากระบวนการธุรกิจของบริษัทที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
ต้องเริ่มจากจินตนาการที่ผิดเพี้ยน จินตนาการที่เพ้อฝันก่อน วันนั้นผมตั้งโจทย์ว่า จะเผาถ่านกัมมันต์อย่างไรให้มันกลับมาใช้ใหม่ได้ สร้างอย่างไรให้ดี ทุกคนก็ว่าผมเพี้ยน แต่ด้วยผมมีสกลช่าง เลยอยากลอง ก็ลองเลย ลองจากที่ผิดและปรับไปเรื่อย จนถูกในที่สุด
ผมกำลังจะบอกว่านวัตกรรมจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนสำหรับ SMEs ไม่ว่าคุณจะทอดหมูให้อร่อย ต้องใส่น้ำปลาเท่าไรนั่นก็คือนวัตกรรมของคุณ จะทอดหมูอย่างไรไม่ให้อมน้ำมันนั่นก็คือนวัตกรรมของคุณ หรือการนำของเหลือใช้กลับมาขายเป็นเงินนั่นก็คือนวัตกรรมของคุณ ถ้าคุณมีนวัตกรรม แสดงว่าสินค้าคุณเข้มแข็ง ไม่ว่าคุณจะทำแบรนด์อะไรคู่แข่งคุณก็จะสู้คุณไม่ได้ ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้คุณดีกว่า ถูกกว่า อร่อยกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากฝากให้ SMEs ได้คิดว่า ของที่มีอยู่ตรงหน้า คุณลองจินตนาการเพ้อฝันให้มันไกลๆ พอเพ้อฝันแล้วคุณลองทำมันดู ก็จะสามารถมีนวัตกรรมเกิดขึ้นเล็กๆ ตรงนั้นได้
นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่คุณทอดหมูฝอยแล้วไม่อมน้ำมัน กรอบได้นาน วางขายได้นาน นั่นก็คือนวัตกรรมแล้ว
ปรัชญาแนวคิดในการทำธุรกิจ ทั้งด้าน CSR และสิ่งแวดล้อม
แนวคิดการสร้างสังคมที่ดี ต้องเริ่มจากในออฟฟิศก่อน ผมจะบอกน้องๆเสมอว่า จะไปช่วยใครคนในบ้านเราต้องอิ่มก่อน เราอิ่มแล้วมีความสุข แล้วเราจะถึงจะแสดงพลังออกไปข้างนอกได้ ถ้าคนในบ้านยังไม่อิ่ม เราจะไปทำ CSR ทำดีข้างนอกจะทำได้อย่างไร ในเมื่อคนในบ้านยังทุกข์อยู่
ผมว่าคนในองค์กรสำคัญที่สุด คุณมีความสุขแล้ว คุณอิ่มแล้ว คุณไม่ทุกข์แล้ว เมื่อคุณมีครบแล้ว พลังของคุณที่จะออกไปช่วยสังคม ช่วยชาวบ้านมันจะเป็นพลังที่มีความสุข
ตอนนี้เรากำลังทำอยู่เรื่อง “คน” คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร ล่าสุดผมเข้ามาดูเรื่องพัฒนาบุคลากรโดยตรง เราพยายามหา DNA ของคนที่ใช่ ไม่ใช่คนที่ชอบ เราพยายามจะบอกว่า คุณจะเข้ามาคุณเห็นผมใส่เสื้อ คุณเป็นอย่างนี้ไหม เคารพพี่ ดีกับเพื่อน คอยเตือนน้อง ทำงาน ทำงานเป็นทีม ถ้าคุณทำได้คุณคือส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้
การพัฒนาคน เป็นสิ่งที่ SMEs ไม่ค่อยพูดถึง สำคัญอย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อ 26-27 ปีที่แล้ว ก่อนทำที่บริษัท ไรท์ โซลูชั่น ผมก็เป็นลูกจ้างเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง เราอยากมีอะไร เราอยากได้อะไร พนักงานเราก็อยากได้เหมือนที่เราอยากได้ เราอยากมีรถยนต์ อยากทานอาหารภัตตาคาร อยากมีบ้านที่ไม่ต้องผ่อน ทุกคนก็อยากได้เหมือนกัน
ผมจึงบอกน้องๆว่า วันนั้นเราเปิดเวที มีเวที มีโอกาสให้ทุกคนแสดงได้ หากแสดงแล้วคุณโดดเด่น คุณก็เอารางวัลไป รางวัลของเราอาจจะได้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เป็นผู้จัดการ อย่างโรงงานปัจจุบันผู้จัดการโรงงานก็ก้าวจากพนักงานเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เราอยากได้เขาก็อยากได้ ดังนั้นไม่ต้องรอให้เขาขอ
อีกด้านเราก็จัดทำโครงการ Change Life ที่ทำกับพนักงานทั้งหมด โดยแต่ละแผนกจะเอาปัญหามากองรวมกัน แล้วแบ่งกลุ่มทำงานแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงให้กับพนักงานแต่ละคน กลุ่มช่าง กลุ่มคนขับรถ เป็นกลุ่มที่มีความคิด แต่อาจจะนำเสนอไม่เก่ง เราก็จัดโครงการ “สะสาง” คุณสามารถสะสางอะไรได้ในหน้างานของคุณ คุณเสนอเลยทัศนียภาพต่างๆ น้ำไหล ไฟสว่าง สะอาด สะดวก เริ่มต้นกลับไปที่ 5 ส.
การที่เราทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เราจะค้นเจอเพชร คนที่เก่ง จะเก่งงานอย่างเดียวไม่ได้จะต้องเก่งคนด้วย คุณต้องรู้ว่าคนคนนี้เวลาทำงานกลุ่มแล้วเขาช่วยไหม เขามีความคิดดีๆไหม เขารักพี่รักน้องเขาช่วยเพื่อนไหม อันนี้เราจะเห็นคน แล้วเราจะเลือกคนมาพัฒนาได้ง่าย
ปรัชญาในการทำธุรกิจ
ปรัชญามีอยู่ข้อเดียว คือ “จริงใจ” เราจริงใจให้ใครไป 100% ได้กลับมาเท่าไหร่คือกำไร เพราะเราไม่ได้ลงทุน แต่พี่ทำใจเราให้มันกว้าง เห็นทุกคนเป็นเพื่อน ไม่ใช่ลูกจ้างไม่ใช่ลูกน้อง คุยกันตรงไปตรงมา ทะเลาะกันได้ในห้องประชุมได้ แต่ออกมาแล้วคุณคือเพื่อนกัน พี่น้องกัน ต้องทำงานด้วยกันได้ และต้องทำให้ได้ดีด้วย สิ่งนั้นแสดงว่าคุณกำลังเป็นมืออาชีพ
ก้าวต่อไปของ ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น
Activated Carbon โดยเบสิคเรามีครบหมดแล้ว ทั้งผลิตและรีไซเคิล ตอนนี้เราพยายามจะทำให้ราเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้าน Activated Carbon เราอาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การเคลือบคาร์บอนเพื่อเพิ่มคุณสมบัติสำหรับใช้งานเฉพาะกิจ หรือใช้ Activated Carbon ในการฟอกสีในอาหารให้มากขึ้น เป็นต้น
ภาพอนาคตของเราคือ เมื่อนึกถึงการรีไซเคิลวัสดุมีค่าต้องนึกถึงเรา ไม่ว่าจะเป็น Activated Carbon Activated Alumina หรือ Coke Catalyst หรือแม้กระทั่งในอนาคตเราจะสกัดแร่เงิน แร่แพลตตินั่ม หรืออะไรต่างๆออกจาก Catalyst แล้วก็รีไซเคิลเพื่อนำมาขาย สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้
“เราตั้งความหวังไว้อย่างนั้น เพ้อฝันว่าอย่างนั้นและพยายามทำให้ได้อย่างนั้นครับ”
ตอนนี้เรากำลังทดลองอยู่ คือ เอาแกลบมาทำเป็นซิลิก้า อันนี้ก็จะเป็นการแปรรูปทางวัสดุที่เหลือทิ้งทางการเกษตรมาสร้างมูลค่า เช่น เรามีชานอ้อยเยอะ หรือสมัยก่อนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีกะลามะพร้าวเยอะ เราก็เอากะลามะพร้าวมาทำเป็น Activated Carbon แล้วก็ทำได้ดี ปัจจุบันเรานำเปลือกแมคคาเดเมีย มาเผาเป็น activated Carbon แทนที่จะปล่อยกองให้เน่า อย่างน้อยก็ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ลดขยะมลพิษ
อยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่
ผมเป็นคนเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ เอกลักษณ์ของคนรุ่นเราคือ เราทำทุกอย่างไม่เคยดูดาย เจ้านายใช้อะไรก็ทำ เราจึงรู้เหมือนเป็ดเลย รู้ทุกอย่าง รู้ทุกแผนก รู้ทุกอณูของบริษัท แต่เด็กสมัยนี้จะเก่งเฉพาะด้าน ถ้ารู้เรื่องนี้ก็จะเชี่ยวชาญด้านนี้ พอให้ทำงานด้านอื่น เด็กมักจะบอกว่า “ทำไม่ได้” ไม่เหมือนรุ่นเราที่พยายามทำทุกอย่าง จะถูกจะผิดก็ได้ทำ ได้ลองทำ ได้พยายามทำให้ได้
ผมจึงอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ว่า ถ้าคุณอยากมี อยากเป็น อยากได้ คุณก็ต้องลงมือทำ หากคุณไม่อยากทำ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่คุณอยากจะมี อยากเป็น อยากได้ ผมอยากบอกเด็กรุ่นใหม่ว่า ให้คุณลงมือทำ สิ่งที่คุณทำจะทำให้รู้จักผู้คนมากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงความคิด รู้จักเพื่อนมากขึ้น แล้วความรู้มันถ่ายทอดกันได้ เพียงแค่คุณะพูดคุย แลกเปลี่ยน ร่วมมือกัน “จด จำ ทำ ทบทวน”
จด คุณจำไม่ได้คุณจด สมัยเราก็จะเป็นสมุดโน๊ต เดี๋ยวนี้คุณก็จดในมือถือ
จำ ถ้าไม่อยากจด คุณก็จำ
ทำ แล้วก็ลงมือทำเลยครับ ผิดถูกคุณกลับมาทบทวน
ทบทวน ว่าอันนี้ผิด ทบทวนว่าอย่างนี้แล้วเราจะไม่ทำ ถ้าถูกคุณทำต่อและต่อยอดให้ดี
ผมอยากให้เด็กรุ่นใหม่ลงมือทำเยอะๆ ผิดเยอะๆ ยิ่งผิดเยอะแสดงว่าคุณจะเก่งขึ้น เด็กรุ่นใหม่บางทีเครียด ท้อแท้ ลาออก บางคนคิดไม่ดี ทำร้ายตัวเอง ผมมองว่าปัญหาหรือวิกฤตที่มันเกิดขึ้น มันเป็นแค่สิ่งที่เรายังไม่เคยเจอมัน เด็กรุ่นใหม่มักจะมองคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เคยรู้ว่าก่อนจะสำเร็จเขาเผชิญอะไรมาบ้าง วิกฤตหรือปัญหาที่คุณเจอ แค่คุณยังไม่เคยเจอมันแต่ถ้าเมื่อไหร่คุณเจอมันเผชิญหน้ามัน ผ่านมันไปก็ไม่ใช่ว่าคุณจะไม่มีปัญหาอีก คุณต้องเผชิญกับปัญหานับไม่ถ้วนถึงจะเติบโตขึ้น เหมือนเรายังไม่เคยหัดเดินเราก็บอกหัดเดินยาก เรายังไม่เคยปั่นจักรยานก็บอกปั่นจักรยานยาก แต่พอคุณทำได้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย
อีกประการที่สำคัญ คือ จินตนาการของทีมงานต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าผมอยากพัฒนา ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น เป็นธุรกิจรีไซเคิลวัสดุมีค่า แต่ทุกคนยังอยากซื้อมาขายไปอยู่ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ เราจึงต้องหาคนที่ใช่ แม้เราจะรักคนนี้ แต่เป้าหมายไม่ได้ไปด้วยกันแล้ว เราก็ต้องย้ายเขา หรืออย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมา ไม่มีงาน เราก็พยายามทำออฟฟิศเก่า ให้เป็นมอลล์เล็กๆ ให้พนักงานเปิดขายกาแฟบ้าง แผงเช่าพระบ้าง ให้เขายังอยู่ได้ และเรายังเห็นเขาอยู่ หรือช่างที่ทำงานกับเรา วันหนึ่งเขาอาจจะทำงานไม่ไหวแล้ว จะให้เราทิ้งเขาหรือ เราก็ต้องหางานให้เขาทำ เพราะเขายังมีสมองมีความสามารถนะ แต่ความรู้ความสามารถเขามีคุณค่ามากกว่าปริญญาโท ปริญญาเอกเสียอีก
เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีไหม เราไม่รู้ว่าหลับไปแล้วจะตื่นไหมเราอาจจะหัวใจวายตาย แต่ถ้าวันนี้เราทำงานร่วมกันแล้วมีความสุข เนื้องานก็จะดี วันหนึ่งถ้าน้องๆที่เราส่งเสริมให้เขาได้มาระดับเท่ากับเรา นั่งกินข้าวกันแล้วมีความสุข มีความสุขที่ได้เห็นน้องๆ แต่ละคนเป็นกรรมการบริหาร เป็นผู้จัดการโรงงาน เป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ผู้ช่วยกรรมการ มันมีความสุขที่เห็นเขาประสบความสำเร็จ
————————————————-
ติดตาม Passion Talk ย้อนหลังได้ที่นี่ :
.
Passion Talk EP053
Sustainability Digital Transformation 2 สิ่งที่องค์กรยุคใหม่ต้องทำภายในปี 2023
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/01/sustainability-digital-transformation-2-สิ่งที่องค์กรยุคใ
.
Passion Talk EP052
Disruptive Technology ธุรกิจไทยควรปรับตัวอย่างไร
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/19/disruptive-technology-ธุรกิจไทยควรปรับตัว
Category: