โควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้เกาะเต่า และชุมชนอย่างมาก จากปริมาณนักท่องเที่ยวกว่า 6 แสนคนต่อปี ลดลงไปเกือบจะเป็นศูนย์ ทำให้เกิดโครงการความร่วมมือระดับประเทศ ระหว่างธนาคารกรุงไทย UNDP และมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อระดมทุนสาธารณะ ในรูปแบบ Crowdfunding ด้วยการรับบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ของธนาคาร เพื่อนำไปจ้างคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก เก็บขยะในทะเล และนั่นเป็นจุดพลิกฟื้นของชุมชนเกาะเต่า ในปี 2020

 

เกาะเต่าหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ใครที่ชื่นชอบการดำน้ำ ชมปลา ดูปะการัง ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องแวะเวียนมาที่เกาะแห่งนี้… แต่วันนี้เกาะเต่ากำลังเผชิญปัญหาและความท้าทาย ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตชุมชน ประชากรดั้งเดิมที่มีอยู่เพียง 2,000 คน งบประมาณจำกัด กับการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากกว่าประชากรประมาณ 300 เท่า เป็นความท้าทายอย่างมาก

           

Passion gen ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.วัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศมนตรี ตำบลเกาเต่า จ.สุราษฎร์ธานี คนล่าสุด ถึงแรงบันดาลใจในการพลิกฟื้นเกาะเต่า จากพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลก

ลุงช่อ เจริญสุข เกาะเต่า

เกาะเต่ามีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวต่อประเทศอย่างไร

เกาะเต่ามีความอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ถึงไม่ใช่ภูเก็ต ไม่ใช่พงัน หรือสมุย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิมที่นักท่องเที่ยวรู้จัก แต่วันนี้เกาพเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ในแต่ละปีช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน ขณะที่มีประชากรอยู่เพียง 2,000 คน ประชากรแฝงอยู่ประมาณ 4000 คน แรงงานอยู่ประมาณ 4,000 รวมแล้วประมาณ 10,000 คนเท่านั้น แต่เกาะเต่าสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เงินส่วนหนึ่งเปลี่ยนกลับไปเป็นรูปภาษีให้กับภาครัฐ เกาะเต่าจึงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม

ที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหาหรือความท้าทายอย่างไร

เกาะเต่า เผชิญความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เกิดจากปัญหาสภาพที่ดินที่มันต่างจากพื้นที่อื่น เกาะเต่าไม่มีโฉนด ไม่มี นส.3 มีแต่ ภ.บ.ท.5 ทั้งเกาะ ( ภ.บ.ท. ย่อมาจาก ภาษีบำรุง เป็นเอกสารที่รับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดิน) ภายหลังกรมธนารักษ์ประกาศว่าเกาะเต่าเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ชาวบ้านก็อ้างสิทธิการครอบครองที่มีมาก่อน จึงเกิดปัญหาเรื่องสิทธิการถือครอง ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เก็บได้แค่ภาษีป้ายเท่านั้น ส่วนภาษีที่ดินไม่สามารถจัดเก็บได้ อันนี้เป็นปัญหาในเชิงการจัดการ

 

อีกปัญหาหนึ่งเกาะเต่าเผชิญ คือ ปัญหาการใช้ทรัพยากรและเรื่องขยะ เมื่อมีนักท่องเที่ยวมากก็มีการใช้น้ำจำนวนมาก น้ำเพื่อการอุปโภคก็ไม่พอใช้ เกิดการแล้งน้ำข่าดแคลนอยู่เป็นระยะ ส่วนน้ำเพื่อการบริโภค จะต้องซื้อจากบนฝั่ง 100% กระทบต่อค่าครองชีพของคนบนเกาะ ส่วนปัญหาขยะ เกิดจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาก ทำให้มีขยะมาก มีช่วงหนึ่งในอดีตที่ขยะเยอะมากจนต้องขนไปทิ้งบนฝั่ง

 

ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันยังคงอยู่ แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ผมจะทำให้เกาะเต่าเป็นเกาะที่ไม่มีขยะ

หรือทำขยะให้เป็น 0 โดยใช้วิธีการ Recycle คัดแยกขยะ นำขยะมาทำเป็นปุ๋ย ขยะหนักก็เอาไปผสมกับปู่นทิ้งลงทะเลเป็นบ้านปลาและปะการังเทียม ลักษณะแบบนี้ผมก็คิดว่าปัญหาขยะน่าจะไม่มีในอนาคต

โครงการ #UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่า

นายกเทศมนตรี มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเกาะเต่าอย่างไร

ผมคิดว่าเกาะเต่าต้องเป็นหน้าตาของโลก ไม่ใช่เฉพาะหน้าตาของประเทศไทย เกาะเต่ามีภูมิทัศน์ที่สวยงามโดดเดี่ยวอยู่กลางอ่าวไทย มีความโดดเด่นในหลายด้าน ประการแรก เกาะเต่าน้ำใสมีปลาหลากหลายสายพันธุ์ที่เข้ามาบนเกาะเต่า เป็นจุดดำน้ำอันดับหนึ่งของเซาท์อีสต์เอเชีย จากข้อมูลขององค์กร PADI และ SSI ยืนยันได้ว่ามีนักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำที่เกาะเต่ามากที่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย เป็นเวลาเกือบ 10 ปีติดต่อกัน นักท่องเที่ยวที่ชอบการดำน้ำครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมาที่เกาะเต่า จุดดีของเกาะเต่าอีกอย่างหนึ่ง คือ คนที่มาดำน้ำส่วนใหญ่จะพักอยู่เกินกว่า 4 วัน ต่างจากแหล่งท่อเงที่ยวอื่นที่อาจจะพัก 1 วัน หรือ 2 วันได้ นั่นทำให้นักท่องเที่ยวใช้เงินที่เกาะเต่ามากขึ้น

 

อีกประการหนึ่ง ต้องขอขอบคุณโครงการ better together ขอบคุณโครงการ UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ที่มาจุดประกายให้สังคมเกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนดูดีขึ้น ซึ่งผมก็มีความคาดหวังในอนาคตว่า กลุ่มก้อนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันน่าจะทำให้เป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้นและเข้มแข็งยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น

นายกฯ จะพัฒนาเกาะเต่าให้มีหน้าตาอย่างไรใน 1-2 ปีข้างหน้า

ผมมารับราชการที่เกาะเต่าตั้งแต่อายุ 22 ปี อยู่เกาะเต่า 35 ปี ผมยังเดินทางไปไม่ถึงตั้งหลายที่ในเกาะเต่า ซึ่งเกิดจากความทุรกันดารของพื้นที่ จากการสำรวจใน 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ศึกษาในพื้นที่เกาะเต่าเพิ่มขึ้นพบว่า ในพื้นที่ของเกาะเต่ายังมีพื้นที่ให้เที่ยวอีกมาก ในป่า บนเขา หินทุกก้อนบนเกาะเต่าสวยมาก มีต้นไทรใหญ่ ป่าเฟิร์น ป่าต้นข้าหลวง เป็นจุดที่น่าสนใจและมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่มาก นั่นทำให้ผมคิดจะผลักดันให้เป็นโครงการ “คนอยู่กับป่า” อีกโครงการหนึ่งเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาธรรมชาติ ศึกษาป่าบนเกาะ

 

สำหรับเรื่องขยะที่เป็นปัญหาตั้งแต่อดีต ผมจะทำขยะให้เป็นการท่องเที่ยว ทำให้เกาะเต่าไม่มีขยะ ทำให้เกาะเต่าเป็นการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่ส่วนราชการต้องมาศึกษาดูงาน ในการทำงานเรื่องขยะที่ผมพยายามทำอยู่ ติดปัญหาอยู่เกณฑ์เดียวคือเรื่อง “ข้อบังคับทางกฎหมาย” ซึ่งทางราชการตั้งข้อบังคับเยอะมาก ทำให้เกิดการทำงานล่าช้า หรือการขอ EIA ที่ใช้เวลานานมาก ส่วนนี้ถ้าหน่วยงานมาให้ความรู้พื้นฐานท้องถิ่น เพื่อให้ขั้นตอนเดินได้เร็วขึ้นก็ดี เพราะเมื่อขยะหมด การท่องเที่ยวก็กลับมาดี

มองการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอยู่อย่างยั่งยืนอย่างไร

การอนุรักษ์ธรรมชาติ เราจะไม่ทำลายในพื้นที่ป่าแต่จะปลูกป่าเพิ่มขึ้น การทำลายต้นไม้หนึ่งต้นเราต้องปลูกใหม่ให้ได้ 10 ต้น เราก็จะมีพื้นที่มีการอนุรักษ์มากขึ้น เรื่องของการดำน้ำเอง ซึ่งก็เป็นเหมือนการทำลายธรรมชาติ แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะการดำน้ำเป็นการดูไม่ได้สัมผัส ฉะนั้นการทำลายจะน้อย

 

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของผมที่พยายามทำการศึกษาอยู่ คือ เกาะเต่าให้ใช้รถไฟฟ้าทั้งเกาะ อันนี้คือนโยบายหนึ่งที่คิดอยู่ว่า จะทำให้ได้ ไปดูข้อกฎหมายก็ติดกฎหมายขนส่ง เพราะกฎหายระบุว่า รถที่วิ่งต้องมีกำลังม้า แต่รถไฟฟ้าไม่มี เราจึงกำลังประสานกับภาครัฐให้ยืดหยุ่นในเรืองนี้ เพื่อให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้รถไฟฟ้า ผมว่าเราสามารถทำให้เกาะเต่าเป็นรถไฟฟ้าทั้งเกาะได้ในเวลา 2-3 ปี หรืออย่างช้าสุดก็ 10 ปี  ในการปรับเปลี่ยนตามอายุการใช้งานของรถ ถ้าทำได้มลพิษก็ไม่มี อันนี้ก็ จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์อย่างหนึ่งครับ

มุมมองสำหรับคนรุ่นใหม่การทำงาน ทำธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงชุมชน ธรรมชาติและความยั่งยืน

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรและต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการคน เด็กรุ่นใหม่ควรคิดในเชิงอนุรักษ์ เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ต้องไม่ทำลายธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะรักษาเราเอง เด็กรุ่นใหม่มีความคิดที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะทำลาย เท่าที่มีการรวมกลุ่มวัยรุ่นลูกหลายของเกาะเต่าในปัจจุบันจุดเริ่มต้นของการทำงานของเขาก็คืออนุรักษ์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีในอนาคต

อยากเสริม เพิ่มเติมอะไรหรือไม่

อยากขอความร่วมมือทั้ง 4 องค์กร 4 ส่วนหลัก ขอความร่วมมือจากกลุ่มชาวบ้าน ให้มีความเข้าใจ ให้มีความรักต่อเกาะเต่าให้มากขึ้น ประการที่สอง ต้องยอมรับว่าด้านวิชาการเราไม่มี เราก็ต้องขอการสนบัสนุนจากภายนอก เข่น โครงการที่ UNDPร่วมกับธนาคารกรงไทยและ มูลนิธิรักษ์ไทย เข้ามาดูแลชุมชน ก็จะเกิดการพัฒนาเกาะเต่าให้ดีขึ้น

 

อีกกลุ่มหนึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มรัฐบาล ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเกาะเต่าให้มากขึ้น ปัจจุบันเราได้รับการสนับสนุนน้อยมาก ภายใต้หลักการบริหาร 3M เรามี Man มี Material ขาดแต่ Money ถ้าภาครัฐสนับสนุนเรามากขึ้น เกาะเต่าจะดีขึ้นกว่านี้อีกเยอะ ปัจจุบันเกาะเต่าปริมาณเรือบนเกาะกว่า 200 ลำ แต่เรามีสะพานเรือที่มีความยาว 56 เมตร ความกว้าง 12 เมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ถนนก็มีความคับแคบ ยังมีพื้นที่ที่ถนนเข้าไม่ถึงอีกมาก ถ้ารัฐบาลหันมามองเราในส่วนนี้ เกาะเต่ายังพัฒนาได้อีกไกล ถ้าทำงานร่วมกันได้ทำให้ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนต่อยาวเกาะเต่าและประเทศไทยได้ด้วย

Passion in this story