ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผอ.โรงพยาบาลเอสสไปน์ กับแรงบันดาลใจสู่นวัตกรรมการแพทย์ AI และ Robotic | Passion Talk EP040
นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเอสสไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ กับแรงบันดาลใจสู่การสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย…
วันนี้ passion gen เจาะลึกถึงกระดูกสันหลังกับบทสัมภาษณ์ นายแพทย์ดิตถพงษ์ ที่จะมาเผยความจริงของความเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังของคนไทย มุมมองในการสร้างนวัตกรรม และการนำหุ่นยนต์ในช่วยในการให้บริการ อะไรคือหัวใจความสำเร็จของชายคนนี้ ต้องติดตาม..
นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการแทย์ ในฐานะศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแผลเล็ก ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นจุดแข็งและจุดกำเนิดของโรงพยาบาล เอสสไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย
แรงบันดาลใจสู่การเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทาง
เป็นความฝันของผม… ผมฝันว่าวันหนึ่งผมอยากจะเปิดโรงพยาบาลที่ดีที่สุด ผมเป็นหมอเฉพาะทางโรคกระดูกสันหลัง ผมพบว่าเวลาผมทำงานในโรงพยาบาลทั่วไปจะมีแผนกอยู่หลายแผนก เช่น แผนกสูตินารีเวช แผนกศัลยกรรม แผนกกุมารเวช แผนกอายุรกรรม ฯลฯ เมื่อได้รับทรัพยากรก็ต้องนำมากระจายเท่าๆ กัน แบ่งกัน เช่น เมื่อซื้อเตียงผ่าตัดมาก 1 หลังก็ต้องให้สามารถใช้ได้หลายๆ แผนก นั่นทำให้เกิดอุปสรรคต่อการักษา ไม่สามารถจัดการรักษาที่ดีที่สุดเฉพาะทางได้
แต่สำหรับโรงพยาบาลเฉพาะทาง เราอาจจะซื้อเตียงผ่าตัดที่ใช้เฉพาะกระดูกสันหลัง มีพยาบาลที่ฝึกฝนมาเฉพาะทาง ที่มีความชำนาญกับการรักษาโรคกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ ผมยึดคำกล่าวโบราณ ว่า “รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” สุดท้ายผมจึงตัดสินใจเปิดโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โดยเริ่มจากการเปิดเป็นคลีนิค 2 ปี แล้วจึงยกระดับขึ้นมาเป็นโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการทำตามความฝันให้เป็นจริง ปัจจุบันเปิดดำเนินการมาแล้ว 7 ปี
ทำไมถึงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกสันหลัง
ตัวผมเองเป็นหมอด้าน neurosurgery หรือศัลยแพทย์สมอง ระบบประสาท และกระดูกสันหลัง เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมอง ผ่าตัดเส้นประสาท และผ่าตัดกระดูกสันหลัง และผมยังจบอนุสาขาทางด้าน Minimally invasive surgery หรือการผ่าตัดแผลเล็ก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการผ่าตัดที่แต่เดิมต้องผ่าเปิดพื้นที่มีแผลขนาดหนึ่งคืบ แต่ปัจจุบันแผลผ่าตัดเล็กลงเหลือเพียง 5 มิลลิเมตร นั่นทำให้หลายคนที่กลัวการผ่าตัดใหญ่ที่มีข้อแทรกซ้อนได้ง่าย หันมาสนใจด้านนี้ โดยเฉพาะการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่หลายคนทราบดีว่า มีข้อแทรกซ้อนได้ง่ายมาก
โรคกระดูกสันหลังกับคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ถามว่าปัญหาที่เกิดกับคนไทยเยอะไหม? ผมว่าปัญหานี้เกิดกับคนทั่วโลก เพราะโรคของกระดูกสันหลังมันเกิดจาก Defect ของ Species คือเผ่าพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการมาจากสัตว์สี่ขา จากเดินที่กระดูกสันหลังอยู่ในแนวนอน แล้วอยู่ดีๆ เมื่อประมาณ 2-3 ล้านปีก่อน เราลุกขึ้นมายืน 2 ขา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของวิวัฒนาการ สมองเราคิดมือเราทำมนุษย์จึงสามารถพัฒนาได้มากกว่าสัตว์อื่น แต่ปัญหาคือ เมื่อเรายืนสองขากระดูกสันหลังอยู่ในแนวตั้งต้องรับแรงกดที่มากขึ้นจากทั้งร่างกาย กระดูกสันหลังจึงมีปัญหามากขึ้น ดังนั้นทุกคนในโลกมีปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่คนไทย ยิ่งคนน้ำหนักตัวเยอะ แรงกดต่อกระดูกสันหลังจะยิ่งมาก
คนที่ใช้แรงงาน เช่น คนทำไร่ไถนาจะปวดหลังปวดเอว คนใช้คอมพิวเตอร์ใช้โทรศัพท์มือถือก็จะปวดคอ นักกีฬาที่ตีแบดต้องก้มเงยๆ กระดูกคอก็จะเสื่อม นักกีฬายกน้ำหนักกระดูกสันหลังส่วนเอวก็จะเสีย
เมื่อสักครู่พูดถึงนวัตกรรมอยากให่เล่าถึงจุดเด่นของโรงพยาบาลเอสสไปน์
ความเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ทำให้เราสามารถดึงจุดเด่น ดึงนวัตกรรมออกมาได้เต็มที่ เราใช้ความเชี่ยวชาญของเราได้เต็มที่เพราะไม่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดแบบเดิมที่เปิดแผลใหญ่ๆ อาจจะใช้น๊อตยึดหรืออะไรพวกนี้ แต่ปัจจุบัน คือทำแผลให้เล็กลงได้ แล้วเราสามารถซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่สนับสนุนการรักษาที่ทำให้เราผ่าตัดแผลเล็กลงได้ เราส่งคนไปเรียน ฝึกพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้ ทำให้ห้องผ่าตัดเป็นทีมที่พร้อมและมีอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการรักษา ผมว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโรงพยาบาลเฉพาะทาง
ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเอง ในการพัฒนานวัตกรรมให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว คนจะคิดว่าการรักษาโรคจะจบที่การรักษาอย่างเดียว ซึ่งที่จริงไม่ใช่ หมอผ่าตัดอาจจะเก่ง ฝีมือสุดยอดเลย แต่ถ้าเจอทีมพยาบาลที่ไม่เก่งก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน หรือคนไข้มาอยู่ในการดูแลรักษาหลังผ่าตัด โดยทีมที่ไม่ค่อยรู้เรื่องหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอมันก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
ถ้าหากคุณคิดว่าคุณจะเชี่ยวชาญ คุณต้องเชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา การดูแล รวมถึงการให้ความรู้ด้วย ไม่แค่การรักษาอย่างเดียว
เมื่อคนไข้กลับบ้าน เขาต้องรู้ว่ป่วยเป็นอะไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่บอกว่าถ้าโรงพยาบาลเชี่ยวชาญจริงต้องเชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อีกอย่างนึงคือ หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความรู้กับสังคมได้ ทำให้สังคมมีความรู้ที่เพียงพอ เพราะถ้าคุณบอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ สังคมก็ควรที่จะได้รับความรู้จากคุณด้วย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นลูกค้า ไม่ได้มารักษาที่โรงพยาบาล แต่ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ในสิ่งที่เขาควรจะรู้
ปัจจุบันเราถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบไหนบ้าง
ในรูปแบบเว็บไซต์และสัมนา แต่ในช่วงนี้การจัดสัมนาทำได้ลำบากจึงเป็นรูปแบบเว็บไซต์ ยูทูป ผมว่าถ้าไม่ป่วยคนทั่วไปก็คงไม่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่เมื่อเกิดปัญหาจะเริ่มศึกษาลึกขึ้น การศึกษาความรู้ปัจจุบันทำได้ง่าย กดปุ่มนิดเดียวบนหน้าจอมีทุกอย่าง
ลูกค้าของเราปัจจุบันเป็นกลุ่มไหนบ้าง
เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มเป้าหมายจึงเป็น คนไข้ที่เจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยก้มีหลากหลายมากขึ้น ไมท่ได้จำกัดแค่ผู้สูงอายุ คนที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก คนที่เป็น นักกีฬา คนที่ตีกอล์ฟ คนทำงานออฟฟิศ หรือกระทั่งเราเล่นมือถือมากๆ ก็มีอการป่วยได้ ปัจจุบันเด็กอายุ 18-20 ปี ก็มีอาการป่วยลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับเราเองนั้น นอกจากการรักษาคนไข้โดยทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลเรายังมีโปรแกรม CSR ที่คืนคุณค่าให้กับสังคม อย่างง่ายที่สุดคือการให้ความรู้ เราก็กระจายความรู้นี้ให้บุคคลทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า จะเป็นคนไข้เราไม่เป็นคนไข้เราจะรักษาที่เราหรือรักษาที่อื่นไม่ใช่ปัญหา ขอให้เขาได้ความรู้ที่ดีไปอันนี้ประการแรก
ประการที่สอง มีคนไข้หลายคนที่ต้องการความช่วยเหลือในการรักษา โดยที่เขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เช่นอาจจะติดขัดเรื่องค่ารักษา หรือมีเหตุผลจำเป็นอื่นๆ ส่วนนี้เราก็ให้การช่วยเหลือคนไข้ แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถที่จะช่วยเหลือทุกคนได้ อีกประการหนึ่งคือ การฝึกฝนสำหรับแพทย์ ทั้งที่ทำงานอยู่กับเรา และทาไม่ได้ทำงานกับเราก็มี เพื่อให้เขามีความรู้ความสามารถมากขึ้น สามารถช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราเช่นกัน
เคยเจอเคสยากไหมครับ
เป็นธรรมดาของการรักษาที่ต้องมีทั้งเคสที่ยากและเคสที่ง่ายผสมกัน แต่เคสที่ยากสำหรับเราก็คงจะยากสำหรับที่อื่นเช่นกัน แต่ผมว่าความยากสำหรับเราก็เป็นสิ่งที่เราเคยชิน เราต้องจัดการกับความยากอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราจัดการได้ทำบ่อยๆ เราก็จะชำนาญ ความยากก็จะลดลงเรียกว่า เราจัดการกับเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
ตัวอย่างเช่น คนขับรถ ตอนเรียนขับรถใหม่ๆ เหยียบคลัช เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรคก็เป็นเรื่องยาก แต่พอทำจนเคยชินก็เป็นเรื่องง่ายทำได้โดยไม่ต้องคิด แพทย์ชำนาญการก็เช่นเดียวกัน ยิ่งถ้าคุณฝึกฝนจนชำนาญมากกเหมือนคุณกำลังขับรถ Formula1 ซึ่งใช้สกิลมากกว่า
เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และการใช้หุ่นยนต์อย่างไร
นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลเฉพาะทาง ถ้าคุณไม่เก่งกว่าโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลก็คงมีปัญหา เนื่องจากเราไม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งปันทรัพยากรกับใคร เราจึงโฟกัสกับนวัตกรรมได้มากขึ้น
คนส่วนใหญ่จะคิดว่านวัตกรรมเกิดขึ้นเฉพาะในการรักษา แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นวัตกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวินิจฉัยจนถึงการดูแลรักษาหลังผ่าตัด การใช้งานหุ่นยนต์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็น ในกระบวนการรักษานอกจากหมอและพยาบาลแล้ว พนักงานทุกคนในโรงพยาบาล เช่น พนักงานต้อนรับ ฝ่ายทะเบียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาเช่นกัน ซึ่งปกติของมนุษย์จะมีวันที่ดีและไม่ดี ทำให้บริการมีการแกว่งขึ้นลงในแต่ละวัน แต่การนำหุ่นยนต์มาใช้ จะทำให้บริการมีมาตรฐานที่คงที่ ทุกคนได้รับการดูแลที่ใกล้เคียงกัน
ประการที่สอง หุ่นยนต์ไม่มี ขาด-ลา-มาสาย ลาฉุกเฉิน ลาป่วย หรือ มีปัญหาการเมืองในองค์กร เพราะหุ่นยนต์คงไม่ทะเลาะกัน การใช้หุ่นยนต์จึงลดปัญหาเรื่องพวกนี้ไปได้เยอะ ฉะนั้นการใช้หุ่นยนต์ ผมเชื่อว่าเป็นวัตกรรมที่สำคัญ งานวิจัยล่าสุดระบุว่า อัตราการเกิดของคนไทยลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งสอดคล้องกับlถานการณ์ทั่วโลกในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ จะพบว่าแรงงานภาคธุรกิจบริการในอีก 15-20 ปีข้างหน้าจะลดลงแรงงานทดแทนจะน้อยลง หุ่นยนต์จะมีบทบาทมากขึ้น ผมว่าเราก็ต้องทำการศึกษา ให้ทุกคนเข้าใจแล้วโรงพยาบาลเข้าใจ รู้มันอย่างถ่องแท้ถ้ามันต้องใช้ในอนาคต ผมว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเราได้รับมาก็ไม่ผิดหวัง เพราะช่วยเราได้เยอะจริงๆ
ก้าวต่อไปของเอสสไปน์จะมีพัฒนาการอย่างไร
เราคงเริ่มจากการนวัตกรรมในทุกอย่างเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ หุ่นยนต์ก็คงมีการใช้มากขึ้น ในการดูแลคนไข้ให้เกิดการบริการที่ราบรื่น แล้วนำบุคลกรไปอยู่ในจุดที่ต้องใช้คนในการทำงานมากขึ้น การดูแลรักษาคนใช้ที่เป็นทั้งศิลปะและศาสตร์ที่มากขึ้นกว่าเลเวลของหุ่นยนต์ ทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
ส่วนที่สอง การนำเทคโนโลยีการรักษาที่ช่วยให้คนไข้รักษาได้ปลอดภัยมากขึ้น ได้ผลดีขึ้น แล้วถ้าค่าใช้จ่ายน้อยลงด้วยยิ่งดี ซึ่งแนวโน้มก็เป็นเช่นนั้น การรักษาที่ปลอดภัยจะทำให้การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง ส่งผลให้การรักษาถูกลงไปในตัว ประการสำคัญคือ การรักษาที่ดีต้องไม่มีข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้น ข้อแทรกซ้อนหลายอย่าง เป็นความเสียหายที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น ความพิการ ถ้าเราลดข้อแทรกซ้อนลงได้จะเป็นผลดีต่อการรักษา ดังนั้นนวัตกรรมที่ทำให้รักษาปลอดภัย ได้ผลดี และค่าใช้จ่ายน้อยลง เราจะมุ่งไปทางนั้น และการรักษากระดูกสันหลังเป็นศาสตร์ที่ยังพัฒนาต่อเนื่องอยู่เสมอ
นวัตกรรมในการดูแลหลังผ่าตัด และการให้ความรู้แก่คนไข้ก็เป็นการรักษาอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันเราก็ใช้ Telemedicine ในการช่วยดูแลคนไข้ คนไข้หลายคนอยู่ต่างจังหวัดอยู่ต่างประเทศ ผ่าตัดไปแล้วต้องการให้ติตดามผลการรักษา ดูแผลผ่าตัด ส่วนนี้เราใช้ Telemedicine ทำให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางไกล เพื่อมาขอรับคำปรึกษาแค่ 5-10 นาที เราริเริ่มการใช้ Telemedicine โดยใช้วงจรของเราเองไม่ใช่โปรแกรมแชทหรือโปรแกรมประชุม เพื่อตอบโจทย์คนไข้ที่อยู่ไกล
ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของเราเหมือนกันที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ วันนี้เราใช้หุ่นยนต์ในการบริการผู้ป่วยนอก สักพักเราจะนำมาใช้บริการผู้ป่วยใน เช่น การดูสัญญาชีพ การดูแลปัญหาเบื้องต้น ระบบหุ่นยนต์สามารถช่วยจัดการเบื้องต้นได้
สำหรับโรงพยาบาลเอสสไปน์ ผมเองมั่นใจเรื่องนวัตกรรม เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เราเชื่อว่าถ้าเรารักษาได้ดีคนไข้จะมาหาเราเอง
ปัจจุบันนวัตกรรมการรักษากระดูกสันหลัง ก้าวหน้าไปขนาดไหน
หลายคนคงติดภาพลักษณ์ที่ว่า ผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องแผลใหญ่เป็นคืบ ต้องนอนโรงพยาบาลหลายอาทิตย์ บางครั้งต้องเสียเลือดมาก ต้องมีการให้เลือด แต่ที่เอสสไปน์คนไข้ของเรามากกว่า 95% นอนโรงบาลแค่คืนเดียว แผลจากเดิมยาวเป็นคืบเหลือแค่ 5 มิลลิเมตร และเราไม่ต้องให้เลือดเพิ่มกับคนไข้เลย ข้อแทรกซ้อนที่เอสสไปน์ต่ำกว่าระบบเก่าเยอะมาก อันนี้คงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับคนไข้
ในด้านอุปกรณ์การรักษา เรามีทั้งเลเซอร์ ทั้งกล้อง หลายๆแบบ เป็นหน้าที่ของแพทย์เฉพาะทางว่า จะให้การรักษาอย่างไร และการรักษาที่เอสสไปน์ยึดหลักของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามหลักของพระพุทธศาสนา ต้องหาทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุอยู่ที่ไหน เมื่อรู้สาเหตุก็หาวิธีรักษา แล้วจึงเจอมรรค หรือความสำเร็จ
ผมมีความเชื่อว่า ถ้าคนมีอาการปวด กินยาแก้ปวดก็จะหายปวด แต่โรคไม่ได้ถูกรักษา ยาหมดฤทธิ์ก็จะเป็นอีก วนเวียนอยู่แบบนี้ เอสสไปน์เราจึงให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยโรคค้นหาสาเหตุเสียก่อน เมื่อพบต้นเหตุแล้ว การรักษาจะทำโดยกายภาพบำบัดก็ได้ กินยาก็ได้ ผ่าตัดก็ได้
โรคที่เกิดกับกระดูกสันหลังนั้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพฤติกรรม ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเสื่อมสภาพของร่างกาย และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสรีระ พออายุมากขึ้นก็จะเจอปัญหายาวนานมากขึ้น เพราะความเสื่อมมันมากขึ้น
อยากให้ให้ความรู้หรือแนวทางกับคนรุ่นใหม่
ปัญหาเรื่อง Generation Gap เป็นปัญหาที่มีมาทุกรุ่นไม่ได้เกิดแค่ตอนนี้ สมัยผมเป็นเด็กคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็บอกว่าคนรุ่นผมไม่ได้เรื่อง ผมว่าทุกคนอาจจะเจอปัญหาเดียวกัน มันเป็นเรื่องปัญหาของวิวัฒนาการของโลก เรื่อง Generation Gap ฉะนั้นคาแรคเตอร์ของคนแต่ละ Generation ก็จะไม่เหมือนกัน พอผมเป็นเด็กผมก็โดนรุ่นพ่อแม่บอกว่าไม่ได้เรื่อง
แต่สิ่งที่ผมเจออาจจะเป็นรุ่นพ่อมองรุ่นผม หรือรุ่นผมมองรุ่นเด็กลงไป หรือรุ่นเด็กมองรุ่นที่เด็กลงไปอีก ผมว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ “ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ ความสำเร็จนั้นเกิดมาจากความพยายาม” อดีตความรู้เดียวอาจจะทำชีวิตรอดได้ เช่น คุณจบมหาวิทยาลัย คุณมีความรู้เดียว ก็สามารถประกอบอาชีพได้ตลอด แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ได้แล้ว คุณต้องมีความรู้หลายๆ ด้าน แต่ก่อนคนจบปริญญาตรีแทบจะลงหนังสือพิมพ์เลย แต่ปัจจุบันปริญญาโทยังเฉยๆ ดังนั้นวิวัฒนาการมันเปลี่ยนไป องค์ความรู้อีกหน่อยคนอาจจะไม่ต้องจบมหาวิทยาลัยเลยแต่สามารถทำงานได้
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายถ้าคุณไม่มีความเพียร ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้าคุณไม่มีความเพียรความสำเร็จไม่เกิด ถ้าคุณไม่มีความมุ่งมั่นความสำเร็จไม่เกิด ถ้าไม่คุณไม่เอาจิตใจจดจ่อกับมันความสำเร็จก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน
ผมก็อยากฝากที่จริงต้องฝากคนทุกเจเนอเรชั่น ผมยึดหลักเดียวกัน ต้องจดจ่อ มีความเพียร แล้วก็เอาใจใส่กับมัน ถึงจะประสบความสำเร็จ คนในเจนเนอเรชั่นถัดไปจากผมก็คงต้องมีความเพียรและมีความจดจ่อ ซึ่งจริงๆเขาอาจจะจดจ่อในเรื่องที่คนรุ่นผมไม่เข้าใจก็ได้ แต่เขาจดจ่อแล้วเขาสำเร็จ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเจอ แต่ถ้าเขาไม่จดจ่อ ไม่ใส่ใจ ไม่มีความเพียร แล้วเขาเจอปัญหาเล็กน้อยแล้วเขาถอย ผมว่าความสำเร็จในชีวิตเกิดยาก
Recent Posts
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…
บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…
อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…
ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…
ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…
This website uses cookies.