นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ HPT จากธุรกิจเก่าแก่สู่แบรนด์ PE’TYE |Passion Talk EP031
นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ HPT
“ปู่สร้าง พ่อรักษา ลูกหลานผลาญหมด” ยังคงเป็นนิยามที่เตือนใจให้ผู้บริหารธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business ตระหนักถึงความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ที่อาจจะทำให้ธุรกิจร้อยล้านที่คุณปู่สร้างมา ต้องถึงจุดจบในรุ่นหลาน… แต่ดูเหมือนนิยามนี้จะใช้ไม่ได้กับผู้บริหารรุ่นใหม่
ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ก้าวขึ้นสู่การเป็นกิจการขนาดใหญ่และส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกรับช่วงดูแลกิจการแทน บริษัท โฮมพอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ HPT ก็เป็นอีกหนึ่งกิจการที่เดินหน้าตามรอบทางเดียวกันนี้ HPT เป็นกิจการที่ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นคุณปู่ กับกิจการผลิตเครื่องเซรามิคของจังหวัดลำปาง ที่ทุกคนต่างรู้ว่า เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อที่สุดตั้งแต่อดีต “ชามตราไก่” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เซรามิคที่เราต่างรู้จักกันดี แต่วันนี้ชามตราไก่ไม่ได้เป็นแค่ชามตราไก่ที่เราเคยรู้จัก HPT ได้สร้างตัวจนกลายเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์เซรามิคส่งขายต่างประเทศ และรุ่นลูกอย่าง นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ ได้พัฒนาให้กิจการนี้กลายเป็นแบรนด์ ‘PE’TYE’ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกมาก
Passion gen ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์ คุณนิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โฮมพอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่ วัย 27 ปีที่มาพร้อมกับความรู้ความสามารถที่เกินตัว ที่จะมาบอกเล่าถึงกิจการและตลาดที่ของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารว่า ผลิตภัณฑ์นี้ก้าวไปสู่ Supply Chain ของ Social Image ได้อย่างไร
อยากให้คุณวรรณแนะนำตัว และบอกเล่าถึงกิจการสั้นๆ “ สวัสดีค่ะ! นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โฮมพอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเซรามิค สินค้าหลักของเรา ได้แก่ จาน ชาม แก้ว ชุดกาแฟต่างๆ โดยประมาณ 95% ส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนที่เหลือจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านบริษัทย่อยชื่อ บริษัท เซ็นทรัล ฮอสพิแทลลิที จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครื่องครัวสำหรับธุรกิจบริการอาหารแบบครบวงจร เราอยู่ในธุรกิจเซรามิคตั้งแต่ยุคอากงที่จ.ลำปาง วรรณเองเป็นเจเนอเรชันที่สาม ลำปางเป็นเมืองแห่งเซรามิคที่สมัยก่อนทำชามตราไก่ ก่อนจะพัฒนาถึงรุ่นคุณพ่อและพี่น้องสานต่อกิจการจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งออกไปต่างประเทศได้ และขยายกิจการมาสู่ตั้งโรงงานเซรามิคเนื้อ พอร์ซเลน และไฟน์ไชนา ธุรกิจเริ่มต้นจากการรับจ้างผลิต 100% (OEM) และต่อยอดมาออกแบบทำงานดีไซน์ของตัวเองภายใต้แบรนด์เพทาย (PE’TYE) ตั้งแต่เรียนจบ วรรณก็มีจุดให้คิดว่าจะทำต่อหรือเปล่าหรือจะไปลองทำงานที่อื่นก่อน ตอนเลือกคณะ ก็เลือกเรียนสถาปัตย์สาขาออกแบบอุตสาหกรรม ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เยี่ยมชมโรงงานหลายแห่ง ตอนปีสุดท้ายก็ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการทำแบรนดิ้ง ก็ทำเรื่องสร้างแบรนด์ เพทาย “เพทาย” เป็นชื่อของอัญมณีชนิดหนึ่งมีสีใสคล้ายเพชร มีความสวยงามแต่ราคายังต่ำกว่าเพชน จึงเอาคอนเซ็ปต์นี้มาพัฒนาเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ที่สะท้อนถึงความทนทานสวยงามเปรียบเหมือนอัญมณีเพทาย แต่ให้ความคุ้มค่า มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งาน “แรกๆ ที่เราทำงานก็รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถตัวเอง ไม่แน่ใจว่างานออกแบบจะขายได้ไหม แล้วแบรนด์เพทายหลังจากที่กลับมาทำงานที่บ้าน 3 ปียังไม่มีใครซื้อเลย ก็เริ่มลงสัยว่า เอ๊ แบรนด์เพทายจะไปได้จริงเหรอ พ่อก็มาถามว่าตั้งเป้าจะขายแบรนด์เพทายกี่ล้านบาท เหตุผลที่ขายไมได้เลยเพราะลูกค้าฐานเดิมมีแบรนด์ที่เขาจำหน่ายอยู่แล้ว การที่ลูกค้าจะซื้อแบรนด์ไปจำหน่ายต่างประเทศเขาก็ต้องการแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว เขาจะไม่เปิดแบรนด์ใหม่เพราะถือว่ามีความเสี่ยง ทำให้เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น”
ตอนนั้นเราอยากทำแบรนด์ให้สำเร็จ คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเลือกซื้อแบรนด์เรา ซึ่งต่อมาได้มีโอกาสร่วมงานกับดีลเลอร์รายหนึ่ง และพบว่า การสร้างแบรนด์ให้สำเร็จจำเป็นต้องมีระบบการกระจายสินค้าของตัวเองมาสนับสนุน จึงเกิดไอเดียว่าจะทำธุรกิจเทรดดิ้ง จึงเป็นที่มาของบริษัท เซ็นทรัล ฮอสพิแทลลิที จำกัด ที่จำหน่ายอุปกรณ์ครัวครบวงจรในประเทศไทย เพื่อสร้าง แบรนด์เพทายให้เป็นที่รู้จัก มีการโปรโมตให้ลูกค้าโรงแรมร้านอาหารรู้จักแบรนด์มากขึ้น รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์แบรนด์จากต่างประเทศเช้ามาด้วย เพื่อเติมเต็มให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมกับความต้องการของโรงแรมและร้านอาหาร”
“หลังจากมีแบรนด์ก็มีลูกค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆขยับ ระหว่างทางก็มีถกเถียงกับครอบครัวเป็นระยะ ซึ่งเป็นปกติของการทำงานในธุรกิจครอบครัว ที่ทุกคนต้องเข้าใจว่ามีทั้งหวานและขมผสมกันไป บางทีก็สมัครสมานดีแต่บางทีเราก็เถียงกันอยู่ในบ้าน”
ภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และโควิดกระทบเราอย่างไร “ สินค้าของบริษัทอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ในโต๊ะรับประทานอาหารทั่วไป เราขายผลิตภัณธ์ให้กับครัวเรือน จนถึงกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร ในยุคเศรษฐกิจไม่ดี เราพบว่า ลูกค้าที่ซื้อด้วยแรงบันดาลใจก็ชะลอการซื้อลง แต่กลุ่มลูกค้าที่โรงแรมและร้านอาหารที่ซื้อด้วยความจำเป็นกลับเพิ่มขึ้น ในช่วงโควิด-19 ระบาดธุรกิจกระทบไปด้วยกันทั้งโลก รวมถึง HPT ด้วยทั้งที่เรากระจายความเสี่ยงของลูกค้าไปทุกภูมิภาคแล้ว และก็ยังได้รับผลกระทบโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ขณะเดียวกันผลจากการที่ทุกคน Work From Home ก็ทำให้สินค้าของเราขายดีขึ้นในกลุ่มครัวเรือน เพราะคนต้องกินข้าว จานชามจึงเป็นสิ่งจำเป็นแล้วลูกค้าปัจจุบันทำอาหรแล้วชอบถ่ายภาพ เครื่องครัวจึงต้องดูดี “เราเชื่อว่า คนไม่ได้ทานอาหารเพื่อแค่อิ่มอีกต่อไป แต่ทานอาหารเพื่อเป็นประสบการณ์ จึงเกิดเทรนด์ที่ว่าต้องถ่ายภาพก่อนทานอาหาร ทั้งที่ไม่ได้ทำให้อาหารอร่อยหรืออิ่มขึ้น แต่ว่าเป็นช่วงประสบการณ์ที่คนอยากเก็บไว้ เป็นสิ่งที่คนอยากแชร์ อยากเล่า”
อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญ แม้เราจะทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่หากเรามีภาชนะที่สวยงาม จัดองค์ประกอบได้ดี รูปที่ถ่ายออกมาก็บอกเล่าเรื่องราวได้ ดังนั้นบทบาทของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จึงเข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์คนมากขึ้น การรับประทานอาหารเป็นช่วงเวลาความสุข วันนี้ชั้นอยู่บ้าน เข้าครัว ทำอาหาร อยากจะถ่ายรูปเพื่อบอกเล่าในสิ่งที่ทำ จานที่แต่เดิมเป็นอะไรก็ได้ก็เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไป จานชามต้องดูสวยงาม เปิดอินเทอร์เน็ตเห็นเชฟทำอาหาร เชฟก็ไม่ได้มีอาหารอร่อยอย่างเดียว แต่ปัจจุบันต้องเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ถ่ายรูปอาหาร ถ่ายรูปร้าน จัดจานอาหารให้สวยงามแล้วลงรีวิว เป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นสิ่งจรรโลงใจหนึ่งอย่างที่พื้นฐานที่สุดที่คนจะหาได้
สำหรับภาพรวมธุรกิจนั้น หลังคลายล็อคดาวน์ วรรณเชื่อว่าอย่างไรโรงแรม ร้านอาหารดีๆ ก็ยังมีคนไปรับประทานอาหารอยู่ การแข่งขันของร้านอาหารจะสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารก็น่าจะขายดีขึ้น ตอนนี้ร้านอาหารเองก็มีแผนในการปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น” แผนการตลาดที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ “ แผนการตลาดหลัก คือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนเรื่องเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ ระยะหลังที่ทุกคนแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เชฟมีการ Live การทำอาหาร มีผลให้เทรนด์แต่ละซึกโลกค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราทุกคนได้รับข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ทำให้ง่ายในการคาดเดาว่าเทรนด์ต่อไปจะเป็นอย่างไร”
แฟชั่นเทรนด์ของผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหาร “ เดิมเราผลิตสินค้าแต่ละแบบเป็นจำนวนมากแบบ Mass Production จานสีขาวล้วนหน้าตาเดียวกันหมด แต่เทรนด์นี้จะค่อยๆ ลดลง ‘เพราะวันนี้ทุกคนอยากแตกต่าง ทุกคนอยากเป็นสิ่งที่ไม่ซ้ำกับใคร’ ดังนั้นรูปแบบที่หลากหลายหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นอาร์ตเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ จานแต่ละใบที่ทำออกมาจะต้องแตกต่างไม่เหมือนกัน นั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้าและเชฟอยากได้ เพราะทุกคนอยากแสดงออกถึงความเป็นตัวตน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นลักษณะสีขาวธรรมดาจะได้รับความนิยมลดลง ตอนนี้ออเดอร์จานสีขาวในร้านอาหารเองก็ค่อยๆลดลงเช่นกัน ทุกคนจะชื่นชอบจานที่เป็นสีที่เป็นผลึกธรรมชาติ หรือจานสีที่โชว์การไหลของเคลือบ หรืออะไรที่ดูเป็นงานอาร์ตเข้ามาผสม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและเมนูนี่ เป็นเทรนด์ที่กำลังมาตอนนี้ “อาร์ทติสหมายถึงคุณต้องทำเป็นชิ้น ทำด้วยมือชิ้นนี้ชิ้นเดียว”
จากโรงงานผลิตแบบ Mass มาผลิตแบบ Customize จัดการอย่างไร “ ออเดอร์สั่งจานแบบเดียวกันสีขาวแสนใบโรงงานจะชอบมาก สั่งมาเลยจ้า….. นี่คือสิ่งที่ถนัดของโรงงาน แค่ควบคุมคุณภาพให้ได้ การทำผลิตภัณฑ์แบบอาร์ตจึงเป็นความท้าทายของผู้ผลิตที่ว่า จะปรับตัวปรับไลน์ผลิตอย่างไรให้ทันกับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ทันต่อความต้องการที่มีความเป็นปัจเจกของตัวเองมากขึ้น อันนี้เป็นโจทย์ และเป็นโจทย์ของการดีไซน์เองด้วยว่าจะทำอย่างไร ที่จะผลิตแบบแมสแต่หน้าตาออกมาเหมือนเป็นงานอาร์ต อันนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับนักออกแบบด้วยเหมือนกัน
งานอาร์ตแน่นอนว่า ต้องตัดคำว่าถูกที่สุดออกไปก่อน ถ้าอยากได้ถูกที่สุดและอาร์ตด้วยคงไม่สามารถทำได้ ความเป็นอาร์ตคือ การทำเฉพาะบุคคล มีชิ้นเดียว มีคุณค่า มีแวลู การปรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมให้มีคุณค่าไปทางอาร์ตได้ ในอดีตถ้าเราอยากจะเพิ่มยอดขาย คือผลิตให้มากขึ้นขายให้มากขึ้น แต่แผนของโฮมพอทเทอรี่ คือ เราไม่ไดมีแผนมุ่งมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิต หรือเพิ่มจำนวนชิ้นให้เยอะขึ้น แต่เราต้องการสร้างแวลูให้เยอะขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์ว่า เริ่มจากรับจ้างผลิต เริ่มมีดีไซน์ และมีแบรนด์ การมีแบรนด์คือมีแบรนด์โรยัลตี้ มีแบรนดิ้ง มีแวลูที่เพิ่มมากขึ้น และก็พัฒนาไปสู่สินค้าที่เป็นหมวดหมู่อื่นๆ ที่จะเอามาประกอบให้มันคอมพลีทไลน์มากกว่า อันนี้จะเป็นแผนในระยะยาวของโฮมพอตเทอรี่”
เป้าหมายของโฮมพอตเทอรี่ “ เป้าหมายของโฮมพอตเทอรี่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่มอบประสบการณ์ที่ดีในการรับประทานอาหารให้กับคนในระดับนานาชาติ ต้องการให้คนมีความสุขในช่วงเวลาการรับประทานอาหาร และมีประสบการณ์ที่ดี เราจะทำอุปกรณ์สนับสนุนเพื่อความสุขของทุกๆคน”
แนวโน้มตลาดทั่วโลก พฤติกรรมการใช้งานภาชนะบนโต๊ะอาหารเปลี่ยนไปไหม “ในอดีตก่อนที่โลกจะเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต เทรนด์ของผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหารทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย มีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรม แต่พอทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เชฟมีการแชร์ภาพแชร์วีดิโอบนโซเชียลมีเดีย มีรีวิว หรือกระทั่งรายการแข่งขันทำอาหาร ทำให้เทรนด์ทั่วโลกเป็นยูนิตี้มากขึ้น เหมือนมีการแชร์สไตล์กันมากขึ้น สไตล์การรับประทานอาหารถ้าเป็นไฟน์ไดนิ่ง หรือร้านที่เป็นสากลก็จะใช้สินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน รูปแบบใกล้เคียงกัน เทรนด์อยู่ในช่วงเดียวกัน ปัจจุบันนี้ทั่วโลกจะมีเทรนด์คล้ายๆ กันถ้าดูเทรนด์ออกก็จะทำผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ทั่วโลก แต่ก็ยังมีเรื่องวัฒนธรรมแต่ละประเทศ เช่นฝั่งเอเชียกินอาหารใช้ผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหารแบบนี้เป็นไปตามฟังก์ชันของอาหารแต่ละประเภท ก็จะมีเครื่องใช้จานชามสำหรับฝั่งอาหารเอเชีย แต่ว่า Theme หรือ ภาพลักษณ์ต่างๆ และการตกแต่งจะใกล้เคียงกัน”
มุมมองเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่กับการทำงานกับคนรุ่นต่างๆ เป็นอย่างไร “ อยากแลกเปลี่ยนมุมมองการเข้ามาสานต่อธุรกิจแบบ Family Business การที่คนสองวัยมาทำงานร่วมกันเป็นเรื่องปกติที่จะมีมุมมองบางอย่างที่คิดเห็นไม่ตรงกัน อาจด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน วรรณเองมีประสบการณ์ที่ขัดแย้งอยู่บ่อยๆ แต่อันดับแรก การที่เป็นคนมารับไม้ต่อ วรรณอยากจะแชร์ว่า การรับช่วงกิจการต้องมารับด้วยความรู้สึกขอบคุณก่อน เพราะคนที่เคยสร้างมาก่อนเขาก็ต้องเป็นคนที่เก่ง ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถสร้างธุรกิจให้เราสานต่อได้ ดังนั้นเราต้องมีความรู้สึกขอบคุณตั้งแต่รุ่นอากง พ่อแม่ พี่น้อง ที่สร้างกิจการที่มั่นคงมาได้จนถึงจุดนี้ ดังนั้นตอนที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ ต้องมีใจที่เปิดกว้าง รับฟัง ฟังในประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อที่เคยผ่านมา ฟังถึงปัญหาที่เป็นอยู่ จะต้องมาสังเกตการณ์ก่อน เหมือนลงเล่นกีฬาในฐานะตัวสำรองยังไมใช่ตัวจริง ทันทีที่มีงานที่เราสามารถทำได้ก็จะอาสาขอทำโปรเจ็คส์ พออาสาทำงานแล้วต้องคุยขอบเขตของงานให้ชัดเจน สิ่งที่รับผิดชอบคืออะไร เป้าหมายคืออะไร และต้องมีเครื่องมือวัดผลที่ชัดเจน ว่าระดับไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ การเอาเครื่องมือมาช่วย เช่น บัญชี จะช่วยให้สามารถวัดผลเป็นตัวเลขเชิงปริมาณได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จเราก็ต้องยอมรับและอาจจะรับฟังประสบการณ์จากคนอื่นๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วย ทั้งสองฝ่ายที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน อย่ามองว่าฉันเป็นคนใหม่ ฉันจะเปลี่ยนใหม่ทุกอย่าง อันนี้จะวงแตกก่อน เพราะคนที่เขาเคยผ่านประสบการณ์เขาทำอย่างไร เราที่ไม่มีประสบการณ์เลยจะไปปรับเปลี่ยนก็คงไมได้ ต้องใช้หลักการประนีประนอม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว วรรณไม่ค่อยมีปัญหาด้านการโต้แย้งรุนแรง แต่วรรณเชื่อว่าทุกคนมีอีโก้ เพราะวรรณเองก็มีอีโก้ ดังนั้นวรรณจึงปรับใช้วิธีการตั้งเป้าหมายและวัดผลที่ชัดเจน ถ้าเรามีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลที่ชัดเจน มันง่ายต่อการทำความเข้าใจร่วมกัน เหมือนการคุยตั้งแต่เริ่มแรกให้เข้าใจตรงกัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่คนไม่เข้าใจกัน เพราะไม่ได้มีการพูดคุยที่ชัดเจน เชิงตัวเลข เชิงปริมาณ เพราะนั่นเป็นลักษณะการสื่อสารที่สากลที่สุดที่จะเอามาใช้ร่วมกันได้ อีกประการที่สำคัญคือ ทัศนคติตั้งต้น เราต้องคิดว่าคนที่ทำมาก่อนเขาก็มีความสามารถ เรามาสานต่อเราจะเอาส่วนไหนที่ดีในตัวเรามาช่วยส่งเสริมสิ่งที่รับต่อมาให้สำเร็จได้ ฝากถึงคนรุ่นใหม่อยากให้มีความตั้งใจ ใจต้องมาก่อน อยากทำไหม อยากให้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า คนที่ทำงานทุกคนมีความหวังดีกับองค์กร ทุกคนอยากให้องค์กรเติบโตแต่วิธีการอาจจะไม่เหมือนกัน จากนั้นต้องเอาความรู้ที่เรามีมาช่วยงาน เช่นการตลาด ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทุกอย่างต้องยืดหยุ่นได้ สามารถปรับได้ตามหน้างานที่เปลี่ยนไป ต้องมีไหวพริบที่ปรับตัวได้ตามเหตุการณ์ อีกประการหนึ่งคือ ต้องมีความรู้สึกอยากเอาตัวรอดสูง เช่น สถานการณ์การระบาดของโควิดที่ผ่านมาเป็นจุดวัดระดับความต้องการอยู่รอด องค์กรที่อยากอยู่รอดต้องกล้าปรับเปลี่ยนตัวเองอยากรวดเร็วและรุนแรง อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้”
ความกล้าที่จะปรับกล้าที่จะเปลี่ยนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของลูกค้าทำให้ โฮม พอตเทอรี่ สามารถก้าวผ่านจากธุรกิจ OEM มาสู่การสร้างแบรนด์ “เพทาย” ของตัวเองได้ และวันนี้ โฮมพอตเทอรี่ ยังเกาะกระแสโลก ก้าวให้ทันกับเทรนด์ของลูกค้าที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย จากนี้คงต้องจับตาสินค้าแบรนด์ไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้จะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน
อ่าน passion talk เพิ่มเติมได้ที่ : ——————————————————– Passion Talk EP037 ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ Web3.0 เปลี่ยนโลก คนไทยจะก้าวอย่างไร? ————————————————————– Passion Talk EP036 “อำนาจ เอื้ออารีมิตร” จากมีดหมอสู่กองเอกสาร จุดประกายฝัน EKH สู่โรงพยาบาลชั้นนำครบวงจร ————————————————————– passion talk EP035 พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม แรงบันดาลใจสู่ทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง อภินัทธ์ เชงสันติสุข เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่
Recent Posts สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…
บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…
อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…
ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…
ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…
This website uses cookies.
Accept