โครงการทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง เป็นหนึ่งในมิติใหม่ของการจัดการงานด้านความมั่นคงของประเทศ ที่กองทัพมุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชุน

               ปัจจุบันแนวคิดในการป้องกันประเทศของทหารเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต จากการใช้กำลังเป็นการเตรียมกำลัง และการบูรณาการ  ในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม และทุนทรัพย์เพื่อขับเคลื่อนอีกทางหนึ่ง

             เป็นโอกาสอันดีที่ passion gen ได้เข้าพบและสัมภาษณ์ พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม รองเสนาธิการทหารบก ผู้ริเริ่มโครงการทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง และสานต่อจนประสบความสำเร็จอย่างสูง

พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม

Passion gen งานความมั่นคงในมิติใหม่เป็นอย่างไร

         พล.ท.พิเศษ          มิติด้านความมั่นคง ถ้าอธิบายทั่วไปคือ ทหารมีภารกิจในการป้องกันประเทศ แต่ในการป้องกันประเทศ ก่อนที่จะป้องกันประเทศต้องมีการเตรียมการ เรียกว่า การเตรียมกำลัง งานหลักของทหารคือ มีการเตรียมกำลัง กับการใช้กำลัง การป้องกันประเทศคือการใช้กำลัง การเตรียมกำลัง โดยใช้  ทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง  มาจากแนวคิดว่า ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่  เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เรารู้จักตอนนี้ก็เป็นเครือข่ายภาคประชาชนเครือข่ายหนึ่งที่ตั้งมา 40 กว่าปีแล้วมีความเข้มแข็ง

               มีแนวคิด มีเครือข่าย ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะทำงานร่วมกันอย่างไรให้เกิดมรรคเกิดผลกับคนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้มีการบูรณาการ ก็เลยมาคิดเรื่องทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง ซึ่งก็คือ ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม และทุนทรัพย์ มีข้อสังเกตว่าไม่มีระบุ ว่าหน่วยงานไหนเป็นทุนทางปัญญา หน่วยงานไหนเป็นทุนทางสังคม หน่วยงานไหนเป็นทุนทรัพย์  เมื่อร่วมกลุ่มกันได้ก็จะมาทำงานร่วมกันซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้สำคัญเท่าเทียมกัน

                  การทำงานในพื้นที่ทั่วประเทศ พบปัญหาว่า ประชาชนมีความน้อยใจ เพราะบุคลากรของหน่วยราชการร่วมทำงานด้วยกัน 1-2 ปีก็จะมีการย้ายไปที่อื่น ทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมส่วนใหญ่คิดเห็นเหมือนกันมีความต้องการให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งทุกภาคส่วนที่ได้ทำกันมาเรียนรู้ว่าถ้าไม่มีแกนนำก็จะจะไม่มีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง จึงเกิดโครงการทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง โดยใช้กลไกของคนในพื้นที่ให้มาทำงานร่วมกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในระดับรากแก้วของแผ่นดิน และนำปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงระดมความคิดว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างไร

                เมื่อมีปัญหาเช่น ยาเสพติด จะมี คนที่เป็นนักคิดเรื่องยาเสพติด  หรือกลุ่มคนที่ มีองค์ความรู้   อย่างเช่น ปปส. หรือหน่วยงานราชการต่างๆ หรือปราชญ์ชาวบ้านที่สนใจเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด ร่วมกลุ่มหารือกันได้ ก็จัดทำแผนปฏิบัติการ แล้วก็นำไปหารือกับทุนทางสังคม ซึ่งมีคนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ ติดยา เสพยา หรือคนที่เป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ เมื่อรวมกันแล้วก็เกิดเป็นโครงการขึ้น แต่ถ้าขาดทุนทรัพย์ก็ทำไม่ได้  

พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม

                  ทุนทรัพย์ก็มีอยู่ 2 แบบ คือแบบเป็นตัวเงิน และแบบไม่เป็นตัวเงิน เป็นตัวเงินคือ วัสดุอุปกรณ์ที่ในพื้นไม่มี ก็ต้องใช้ทุนทรัพย์ไปซื้อมาจากภายนอก แต่ทุนที่ไม่เป็นตัวเงินสำคัญกว่า ภาษาชาวบ้านเรียก “ข้าวหม้อแกงหม้อ” หรือ “ลงแขก” อันนี้เป็นทุนทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินและมีอยู่ในพื้นที่มาก

                    โครงการนี้ทำมาตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2560 ช่วงแรกก็ไปส่งเสริมอบรมในเครือข่าย อบรมระยะสั้น 3 วัน 2คืน แล้วจัดทำแผนปฏิบัติการ  พบว่า ชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญมาก เราถามชาวบ้าน ว่าทุนทางปัญญาในพื้นที่มีใคร ตอบได้ทันที ซึ่งถ้าหน่วยงานภายนอกลงพื้นที่ไปสำรวจก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือทุนสังคม ทุนทรัพย์มีใครบ้าง ภาคเอกชนมีใครสนใจเรื่องนี้บ้าง ปีแรกโครงการเป็นโครงการเชิงเดี่ยว แต่ปีต่อมาพัฒนาเป็นโครงการต่อเนื่องระยะสั้น และกลาง มากขึ้น มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายเชื่อมโยงกัน

                    ในปี 2564 โครงการนี้ดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ 928 ตำบลทั่วประเทศ มีผลสรุปว่าจัดทำได้ 2,000 กว่าแผนปฏิบัติการทั่วประเทศ สำหรับปีนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดี  ที่ได้มาทำงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ไปขยายผลขับเคลื่อนที่การทำงานเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อให้ เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

Passion gen ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการเป็นอย่างไร

                พล.ท.พิเศษ          แผนงานด้านความมั่นคงให้ความสำคัญกับเรื่องภัยรูปแบบใหม่หรือภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีสิบยี่สิบกว่าภัย แต่ในช่วงแรกมุ่งเน้นเรื่องยาเสพติด เรื่องหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เรื่องแรงงานต่างด้าว  เรื่องการป้องกันโควิด แผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้น 2,000 กว่าแผนเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นหลักโดยเริ่ม จากการรวมกลุ่ม 3-4 คนกลุ่มเล็กๆ นำไปสู่การจัดทำเวทีประชาคม กลุ่มหนึ่งอาจจะมีทุนทางปัญญา 5 คน มาหารือทุนทางสังคม 5 คน แล้วต่อด้วยทุนทรัพย์  5 คน รวมกัน 15 คน เพื่อนำเสนอในเวทีชาวบ้านมีไม่ต่ำกว่า 50-100 คน เมื่อนำไปขับเคลื่อนแผนจริงก็มีคนเข้ามาร่วมอีกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200 คนต่อแผน

             พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำเป็นตำบลนำร่องไว้ 3 จังหวัดๆละ 10 ตำบล  รวม 30 ตำบล    ใน 1 ตำบลให้จัดทำ 1 แผนแล้วมาขับเคลื่อนพร้อมกันในวันที่ 29 สิงหาคมปี63 ที่แล้ว ปรากฏว่ามีคนเข้าร่วมเกือบ 10,000 คน ที่น่าสนใจคือ โครงการทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง ถ้าเป็นหน่วยราชการทำโครงการสมมุติว่าใช้งบ 300,000 บาท แต่เป็นชาวบ้านทำโครงการเดียวกันใช้งบประมาณ 50,000 – 100,000 บาท ปัญหาคือบางครั้งระบบราชการทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนมากขึ้นและอาจจะไม่ตรงกับความต้องการในพื้นที่ชุมชน

              ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด กลุ่มทุนในโครงการเสนอว่า ต้องเริ่มแก้ไขจากครอบครัวก่อน ในกระบวนการภาครัฐไม่มีกระบวนการอบรมในครอบครัว ซึ่งน่าสนใจแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้

              ความสำเร็จของ 30 ตำบลถ้าประเมินมูลค่าออกมาอาจจะใช้งบประมาณเป็นล้านบาท แต่หน่วยทหารเราไม่มีเงินสนับสนุนเพียงพอ  แค่ค่าอาหารของคนที่เข้าร่วมก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก  ทหารเราจึงสนับสนุนในเรื่องอื่นแทน อันนี้เป็นผลสัมฤทธิ์อันหนึ่งที่เห็นได้ชัด กระบวนการแก้ไขปัญหาก็ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นกระบวนการ  ต้องมีวิทยากรบรรยาย มีการฝึกอบรมเครือข่ายและอื่นๆ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาร่วมกัน ทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง จึงเป็นนวัตกรรมในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน  ไม่มีการแบ่งกลุ่ม คนในหรือนอกพื้นที่ ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ แต่พื้นฐานจะต้องเกิดจากปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

Passion gen คนในชุมชนมีแรงบันดาลใจในการทำงานเข้ามาร่วมกับกองทัพบกอย่างไร

              พล.ท.พิเศษ        กลุ่มคนในพื้นที่บางครั้งก็จะมีแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งชั้นแบ่งกลุ่ม จะหาผู้นำจริงๆ ไม่ได้ จึงต้องการหน่วยงานกลางเข้าไปทำหน้าที่ประสาน ซึ่งน่าสนใจว่า ทหารที่เข้าไปประสานงานไม่ได้เก่งกว่าชาวบ้าน  แต่ทหารเป็นคนกลางเป็นจุดเชื่อมต่อ ต้องการอยากแก้ไขปัญหาอะไรในชุมชน ก็มาลงคะแนนกัน ทำเวทีชาวบ้านแล้วระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ว่าจะแก้ไขปัญหาไหนเป็นอันดับแรก เช่น เสนอการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทุกคนก็มุ่งจะมุ่งแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันจนจบ กระบวนการอย่างต่อเนื่อง

              ตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็มีแผนโครงการที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ที่เสนอโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด ใช้งบประมาณ 5 แสนบาท ซึ่งใช้เงินจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆในกลุ่มจังหวัด  แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้ว กลุ่มที่นำเสนอมีประสบการณ์ในเรื่องยาเสพติดมานาน รู้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำได้จริงและมีตัวอย่างความสำเร็จอยู่ ถ้าได้รับการสนับสนุนดังกล่าวจะทำให้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่หมดไปได้

             แล้วในปัจจุบันผลสัมฤทธิ์อันหนึ่งคือการที่หมู่บ้านต่างๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งแผนงานออกเป็นระดับต่างๆ A B C กลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์อาจจะเริ่มทำงานจากแผนระดับ C ก่อน แต่หากมีความพร้อมจะเริ่มแผนระดับ B และ A ก็ได้เช่นกัน

Passion gen สิ่งที่เราเรียนรู้กับการทำงานในชุมชนคืออะไร ต้องมีคนที่เป็นตัวเชื่อมผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรม ถูกต้องใช่ไหม

              พล.ท.พิเศษ        มีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้นถูกต้องครับ แต่ถ้าทำงานได้ระยะหนึ่ง ชุมชนเดินได้เองมีความเข้มแข็งก็จะประสบผลสำเร็จ เพราะหน่วยราชการเมื่อถึงห้วงระยะเวลาหนึ่งก็ต้องมีการปรับย้าย แต่ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่  ถ้าสามารถรวมกลุ่มแล้วดำเนินงานตามกระบวนการได้ การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งถ้าทำตามแนวทางที่ถูกต้องแล้วสามารถขับเคลื่อนได้จริง เพราะมีกรอบวิธีคิดในเรื่อง ทุนทางปัญญา  ทุนทางสังคม และทุนทรัพย์  เป็น 3 องค์ประกอบ ที่สำคัญ ที่เกื้อกูลกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ

Passion gen คนรุ่นใหม่ในชุมชนเรามีโอกาสดึงเขาเข้ามาร่วมไหม หรือโครงการที่ผ่านๆมาเราดึงเขามาร่วมอย่างไร

              พล.ท.พิเศษ        คนในชุมชนที่เข้าร่วมกลุ่มมีทั้ง Generation-X Generation-Y Generation-Z กระบวนการยาเสพติดจะแก้ไขปัญหาเด็ก ต้องมีผู้ใหญ่รอบข้าง ต้องมีครูบาอาจารย์ ปัญหาบางอย่างอาจจะแก้ไขได้ด้วยคน Generation เดียว แต่บางปัญหาต้องแก้ไขด้วยความร่วมมือของคนหลากหลาย Generation อันนี้เป็นลักษณะธรรมชาติของปัญหา และอยู่ที่ความยากง่ายของปัญหาด้วย

             “ถามว่าถึงจุดหนึ่งเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าบางครั้งในชุมชนหมู่บ้านหรือในตำบลไม่มีทรัพยากรเพียงพอ หน่วยราชการก็ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสนับสนุน อย่างไรให้เกิดผล เพราะส่วนใหญ่การทำงานโครงการของหน่วยราชการมีรูปแบบที่จะมีกฏเกณฑ์และระเบียบอย่างมาก เทียบกับโครงการของชาวบ้านแล้วเป็นมรรคเป็นผลมากกว่า อย่างโครงการ ญาลันนันบารู ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เติมเต็มกับทุกส่วนราชการเหมือนกัน”

             อีกประการที่สำคัญคือ ถ้าเราเป็นหน่วยราชการหรือหน่วยงานการศึกษา เมื่อทำงานหรือศึกษาวิจัยในพื้นที่เสร็จก็กลับบ้านแต่คนในพื้นที่ต้องอยู่ทำงานต่อ  ดังนั้นเราต้องร่วมกระบวนการขับเคลื่อนให้ชุมชนมีทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคงทั้ง 3 องค์ประกอบให้ครบแล้ว  ทำงานร่วมกันตั้งแต่แรกแล้วก็จะยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ก็เป็นสิ่งที่ดี

Passion gen อยากให้ฝากเคล็ดลับในการสร้างชุมชนให้มั่นคงเข้มแข็ง

              พล.ท.พิเศษ        อันดับแรกต้องมีความตั้งใจ มองเป้าอันเดียวกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมขออนุญาตยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

 “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง”

              ผมย้อนกลับไปที่ทำเวทีชาวบ้านบางทีต้องการแก้ไขปัญหา 30 อย่างไม่รู้เลือกทำอะไร ก็ให้เลือกมา 1 อย่างแล้วค่อยๆ ทำทีละอย่างให้เสร็จ  แบบค่อยเป็นค่อยไป กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว 1อย่าง 1 คน อาจจะใช้เวลาแก้ไข 10 ปี คนร้อยคนช่วยกันอาจจะเหลือ 3 ปี เร็วขึ้น เพราะการรวมกำลังชุมชนช่วยกันทำ  มีศักยภาพมากกว่าการทำเพียงคนเดียว

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn

Passion in this story