สำหรับคนที่เติบโตมากับหนังสือเช่นคน GenX และเบบี้บูมเมอร์ หนังสื่อคือ คลังสมอง คลังปัญญา เด็กที่มีโอกาสอ่านหนังสือ คือผู้ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะหมอ วิศกร นักธุรกิจ ตำรวจ พยาบาล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการเป็นหนอนหนังสือมาแทบทั้งสิ้น…

 

แต่แล้วเมื่อ Digital Disruptive โลกและพฤติกรรมของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป แหล่งความรู้ใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อการแสวงหาความรู้ ทำให้บทบาทของหนังสือลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา…อะไรเป็นทางเลือก ทางรอด ทางออกของผู้ประกอบการหนังสือ…เด็กรุ่นใหม่ยังสนใจอ่านหนังสืออยู่หรือไม่ 

 

Passion gen อาสาพาไปหาคำตอบกับคุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุ๊คไทม์ จำกัด นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือที่จะมาไขปริศนาการทรานฟอร์มธุรกิจไปสู่ยุคใหม่

 

อยากให้คุณมี่แนะนำตัว และเล่าถึงธุรกิจในปัจจุบัน

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ปัจจุบันเป็นผู้ประอบการเอสเอ็มอีรายหนึ่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์ พ็อกเกตบุ๊ก การทำงานที่ผ่านมามักทำธุรกิจควบคู่กับการทำจิตอาสาไปด้วย มีโอกาสเข้าไปช่วยงานในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สำนักพิมพ์สุขภาพใจคุณพ่อก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ทำหนังสือแนวท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และแนวทางปรัชญาตะวันออกโดยเฉพาะทางจีน พอลูก ๆ เข้ามาช่วยงานก็เริ่มทำหนังสือแนวอื่นเพิ่มเติม ปัจจุบันพิมพ์หนังสือลิขสิทธิ์จากต่างประเทศในหลาย ๆ ประเทศด้วย เช่น สำนักพิมพ์ไดฟุกุ แล้วเราจดทะเบียนบริษัทจัดจำหน่ายชื่อบริษัท บุ๊คไทม์ จำกัด ฉะนั้นถ้าค้นหาเราก็จะมีบริษัท บุ๊คไทม์ จำกัด ที่เป็นเหมือนร้านหนังสือ เป็นผู้จัดจำหน่ายและมีแบรนด์สำนักพิมพ์อยู่ในเครือ

ส่วนงานจิตอาสาเป็นการช่วยงานองค์กรเอกชนที่ไปช่วยงาน อย่างสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ตอนนี้ก็เป็นอดีตประธานสมาพันธ์และเชื่อมโยงกับภาครัฐ ก็เป็นกรรมการบริหารที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นตัวแทนของพวกเราเอสเอ็มอีที่ไปอยู่ในเวทีของภาครัฐ

ในด้านการศึกษาก็ทำงานที่เป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยในวาระปี 2562-2564 ที่ผ่านมา เป็นสมาคมที่จัดงานบุ๊คแฟร์ ถ้าใครเคยไปเดินงานบุ๊คแฟร์อย่างช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ที่ศูนย์สิริกิติ์ และมาช่วยงานภาครัฐเป็นกรรมการที่ปรึกษาของทางสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.). ซึ่งเป็หน่วยงานที่วางแผนกำลังคนของประเทศไทย” 

 

เราสัมผัสธุรกิจหนังสือได้รับแรงบันดาลใจว่าธุรกิจหนังสือ ใช่และเหมาะกับเราอย่างไร

เริ่มต้นเลยจากการทำงานสายอาชีพที่เรียนมาคือ โปรแกรมเมอร์ กับบริษัทด้าน e-Commerce ยักษ์ใหญ่แต่ทำได้เพียงปีกว่า ๆ ก็ต้องออกมาช่วยงานคุณพ่อและธุรกิจที่บ้าน ดังนั้นเหตุผลแรกของการทำธุรกิจหนังสือ คือ ช่วยธุรกิจคุณพ่อ แบ่งเบาภาระธุรกิจในครอบครัว

แต่เมื่อสัมผัสกับธุรกิจหนังสือแล้ว พบว่าพี่ ๆ น้อง ๆ ในบริษัทก็มีครอบครัวมีลูกหลานที่เขาต้องเลี้ยงดู เป็นภาพที่เราเห็นว่า ทำธุรกิจไม่ใช่แค่เพื่อค้าขายกำไร แต่เป็นการเดินไปขององคาพยพของคนด้วยกัน ทำมาหาเลี้ยงชีพไปด้วยกัน เรียนรู้ชีวิตไปด้วยกัน แล้วก็มาพบกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2549 วาระ 100 ปีท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ที่อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ไปของทางยูเนสโก ได้รางวัลเป็นบุคคลสำคัญของโลก

 

ช่วง 3-4 ปีนั้นเราทำโปรเจกต์หนังสือ 100 ปีท่านพุทธทาสภิกขุอยู่หลายโครงการ ได้พบปะบุคคลที่ศึกษางานท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วกะเทาะตัวเองทำให้ตัวเองได้คำตอบในชีวิต บางคนเล่าถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเองไม่ฆ่าตัวตาย เพราะอ่านหนังสือธรรมะพุทธศาสนาของท่านอาจารย์พุทธทาส สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการซึมซับ แล้วอีกอย่างคือ เราทำคลิป Marketing Experience ให้ทุกคนสัมผัสธรรมะด้วยตัวเอง ไปสวนโมกข์ อ.ไชยาอยู่หลายคณะ ทำให้เราลงลึกในเรื่องของเนื้อหาสาระ  ได้พบปะผู้คนและพบว่ามีเสน่ห์มีคุณค่าของมันมาก เลยเดินต่อเนื่องมาในการทำหนังสือ

กลุ่มของเราทำธุรกิจตั้งแต่เกือบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของธุรกิจสิ่งพิมพ์เลย ฉะนั้นก็ค่อนข้างได้เรียนรู้อะไรเยอะ ในส่วนของการได้ดูแลคน ได้เรียนรู้ธรรมะ และทำให้สิ่งที่เราเห็นคือธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ทำกุศล เราทำสินค้าภูมิปัญญาให้กับคน ทั้งเรื่องธรรมะท่านพุทธทาส ปรัชญาตะวันออก และหนังสืออ่านเพื่อความบันเทิงแต่ได้สาระ เรื่องสุขภาพก็มี หนังสือเด็ก สื่อเด็กก็มี และอีกหลากหลาย ค่อนข้างภูมิใจในคอนเทนต์ที่เราทำ ในงานที่เราทำ แล้วก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ลงลึกกับงาน”

 

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ธุรกิจหนังสือถูกดิสรัปหลายครั้งอยากให้เล่าภาพของธุรกิจหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไป

“ตั้งแต่เด็กตื่นเช้าขึ้นมาก็เจอแต่กองหนังสือ สต็อกหนังสือ ตั้งแต่สำนักงานตั้งอยู่ที่ตลาดน้อยจนกระทั่งย้ายมาตั้งบนถนนพระรามที่ 2 ตั้งแต่การจัดอาร์ตเวิร์กด้วยการตัดตัวอักษรติดลงบนกระดาษจนถึงยุคคอมพิวเตอร์กราฟิก มีความเปลี่ยนแปลงเยอะเรื่องเทคโนโลยี หลายคนยังเดินบนเส้นทางนี้ได้ แต่หลายคนก็ต้องผันเปลี่ยนไป

เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง ช่วยให้หนังสือสวยขึ้น ประณีตขึ้น เร็วขึ้น แต่ก็ทำให้เราต้องลงทุนในบุคลากรมากขึ้น วิถีของการจ้างงานก็เปลี่ยนไป จากพนักงานประจำก็เป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ Disrupt ธุรกิจคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน ซึ่งการเปลี่ยนนี้เป็นไปอย่างฉับพลันเพียงไม่กี่ปีที่คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เข้ามา พฤติกรรรมที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ว่าคนอ่านน้อยลง แต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มในการอ่าน และเปลี่ยนลักษณ์ของสิ่งที่อ่าน ทุกคนอ่านเฟซบุ๊ก อ่านไลน์ และคุยกันผ่านแชต เพียงแต่ว่าการอ่านเชิงลึก อ่านวิเคราะห์ลดลง ซึ่งการอ่านอย่างมีคุณภาพช่วยจะเพิ่มศักยภาพของคนเราได้สูงกว่าการอ่านแบบธรรมดาทั่วไป

 

ดังนั้น ธุรกิจหนังสือต้องไม่ยึดอยู่กับกระดาษ ต้องปรับวิธีคิดของคนทำงานใหม่ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง 5-10 ที่ผ่านมาธุรกิจที่เดินหน้าอยู่ กลับต้องก้าวเร็วขึ้นเหมือนกับต้องวิ่ง ถึงวันนี้นี่เหมือนกับวิ่ง 100 เมตรเลยทีเดียว แต่นั่นก็ทำให้เราหันกลับมามองว่า การเรียนรู้ของเราไม่ได้จบแต่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย กาเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาและนำมาปรับใช้และเรียนรู้ใหม่ กระบวนการเป็นอยู่อย่างนี้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นโจทย์ที่เราต้องขบคิดว่าจะเดินไปทางไหน ก็อยากเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ปีนั้นเป็นปีที่ยากลำบากของเราเลยทีเดียว คือตั้งแต่เราเข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัวต้องบอกว่าตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี กระทั่งช่วง 4-5 ปีหลังก่อนปี พ.ศ. 2558 ตัวเลขการเติบโตเริ่มนิ่ง ประมาณไตรมาส 2 ของปี อยู่ดี ๆ ยอดขายก็หายไปโดยที่เราไม่เข้าใจ ยังผลิตเท่าเดิม วางจำหน่ายเท่าเดิม เราก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราทำอะไรผิด เราต้องแก้ไขอย่างไร เราต้องทำอะไรสักอย่าง

กลุ่มสุขภาพใจ มีธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ตลอดซัพพลายเชน เรามีอยู่ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 

– ธุรกิจสำนักพิมพ์ กองบรรณาธิการ นักเขียน ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล ผลิตต้นฉบับเป็นเล่มพร้อมที่จะพิมพ์

– โรงพิมพ์ มีเครื่องจักรพร้อมผลิตสิ่งพิมพ์ทุกชนิดออกมาเป็นเล่ม

– ธุรกิจจัดจำหน่าย มีทีมกระจายสินค้าไปยังร้านค้าเครือข่ายทั่วประเทศ

– ร้านค้าปลีก มีร้านค้าปลีกของตัวเอง และทีมออกบูท ออกงานแฟร์ต่าง ๆ เช่น สัปดาห์หนังสือ

– บริการ Printing Service ใครต้องการพิมพ์หนังสือ งานพิมพ์เราให้บริการได้หมด

5 ธุรกิจนี้ ในปี พ.ศ. 2558 เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะยังเดินหน้าอยู่ไหม ธุรกิจไหนบ้างที่ต้องยุติ นันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราเดินมาถึงทุกวันนี้ เริ่มจากโรงพิมพ์ ถ้าเดินหน้าต่อต้องลงทุน 20-30 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพราะอนาคตอีก 5 ปีรูปแบบการพิมพ์จะเปลี่ยนไปหมด จึงตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ

สำนักพิมพ์ เราตัดสินใจเดินหน้าต่อ แต่ก็ตั้งคำถามต่อว่า จะเดินหน้าบนแฟลตฟอร์มอะไร นั่นเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ ธุรกิจจัดจำหน่าย ยังเดินหน้าต่อ เพราะเรามีช่องทางจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง มีแม้แต่การจัดจำหน่ายในคอนวีเนียนสโตร์ และจีสเตชัน ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่นและจิฟฟี่ ธุรกิจค้าปลีก ในแง่ของร้านหนังสือเราตัด ก็ต้องปิดร้านหนังสือที่มีอยู่ 10 กว่าสาขาลง ธุรกิจสุดท้ายบริการ Printing Service ยังเดินหน้าอยู่แต่ลดขนาดลง เพราะเราไม่มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองแล้ว

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ถึงจุดหนึ่งที่ยากลำบาก ธุรกิจต้องวิเคราะห์ตัวเองว่าอะไรที่เป็นบวก อะไรเป็นลบ อะไรที่ Bleeding หรือเลือดยังไหลอยู่ (หมายถึงธุรกิจที่มีรายจ่ายต่อเนื่องแต่รายได้ไม่เพียงพอ) นั่นก็คือรอบแรกที่เราลีนตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นั่นคือการดิสรัปครั้งแรก

ถ้าเป็นดิสรัปในช่วงนี้ เนื่องจากเราลีนตัวเองมารอบหนึ่งแล้ว และก้าวสู่ดิจิทัลมาตลอดช่วงเวลาหลายปี เมื่อโลกก้าวสู่โซเชียลมีเดีย เราก็ปรับตัวมากขึ้นเทรนคนให้มีความรู้ รับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ยอดขายอีคอมเมิร์ซในช่วงนี้แม้ยอดจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนการขายหนังสือผ่านช่องทางหน้าร้านแบบเดิมได้ แต่ก็ยังช่วยประคับประคองธุรกิจในช่วงโควิด-19 นี้ไปได้ เราเชื่อว่าโควิด-19 น่าจะเป็นการวิ่งมาราธอน ฉะนั้นใครอึดกว่ากันก็จะไปถึงเส้นชัย ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเริ่มผงกหัวขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน”

 

พฤติกรรมการอ่านเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน

พฤติกรรมเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนจากคอนเทนต์ที่เป็นรูปเล่มไปสู่อีบุ๊ก ซึ่งเราทำมานานแล้ว แม้ช่วงโควิด-19 ระบาดการซื้ออีบุ๊ก จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ เพราะอีบุ๊กเป็นการเปลี่ยนจากรูปเล่มปกติเป็นดิจิทัล แต่ก็เป็นการอ่านแบบเชิงลึกอยู่ดี แต่คอนเทนต์ที่เติบโตขึ้นจริง ๆ กลับเป็นวรรณกรรมสั้นเป็นตอน ๆ ที่ขายบนโลกสื่อดิจิทัลตอนละ 3 บาท 5 บาท กลุ่มนี้โตขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างมาก คนเลือกอ่านอะไรที่สั้น ๆ มากขึ้น การซื้อหนังสือที่เป็นเล่มก็ลดลง แต่เงินส่วนนี้ก็ถูกเดิมเต็มกับการคอนเทนต์รูปแบบอื่น เช่น  ซื้อแพคเกจอินเทอร์เน็ต แพคเกจดูภาพยนตร์ในออนไลน์ กลุ่มนี้แย่งเวลาจากการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมไป

จริง ๆ แล้วการดิสรัปด้านคอนเทนต์ เริ่มจากวงการอื่น ๆ ก่อน ทั้งหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน ต่อมาก็เป็นวิทยุ โทรทัศน์ พอกระแส Live ผ่านโซเชียลมีเดียเข้ามา กลายเป็นว่าทุกคนทำแชนแนลของตัวเองได้ มีรายการเป็นของตัวเอง ทำให้เกิด Micro Influencer หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเราเองก็เชื่อว่าคงเป็นโอกาสระยะสั้นสำหรับคนตัวเล็กเท่านั้น เมื่อใดที่สื่อใหญ่เขาปรับตัวได้ คนตัวเล็กก็จะเดินต่อไปได้ยาก

“สำหรับหนังสือ คนที่ทำหนังสือแทบทุกคนเป็นคนที่รักในหนังสือ แล้วเป็นวิชาชีพที่เราหาเลี้ยงชีพด้วย เป็นอาชีพที่อาจจะไม่ได้ทำแล้วร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยในแง่ของความรู้สึกและคุณค่าของตัวเอง ได้รู้สึกว่าได้ทำอะไรที่ทำแล้วมีแพชชัน”

แต่แพชชันก็ต้องสมดุลกับภาคเศรษฐกิจ คือต้องเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วย หลายสำนักพิมพ์จริง ๆ ก็พลิกจากการทำนิตยสารไปสู่ดิจิทัลคอนเทนต์ทำรายการช่องในยูทูบแล้วประสบความสำเร็จก็มีอยู่มากมาย หลายคนที่ทำคอนเทนต์ได้เก่ง ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากการอ่าน ดังนั้นอาชีพ ยูทูบเบอร์ที่เด็กรุ่นใหม่ใฝ่ฝันก็ต้องมีพื้นฐานจากการอ่านเช่นกัน น้อง ๆ รุ่นใหม่ต้องใฝ่รู้ อ่านมาก รู้มาก จึงจะเป็นยูทูบเบอร์ที่โด่งดังได้รับการยอมรับ และยูทูบเบอร์ต้องมีวินัยในการทำงานสูงมาก แล้วยังไงก็ต้องอ่าน ต้องก้าวนำคนอื่น เพื่อนำเรื่องราวใหม่ ๆ มาถ่ายทอดให้คนอื่นรู้ จึงต้องรีเสิร์ช ต้องวิจัย ต้องค้นคว้า แล้วต้องมาสรุปประเด็นได้ด้วย การอ่านทำให้เรามีแนวคิดสังเคราะห์ พิเคราะห์ วิเคราะห์ แล้วสรุปได้ดี ก็จะทำให้การนำไปสื่อในโหมดอื่น มีเดียอื่นได้ดีกว่า”

หนังสือกับคนรุ่นใหม่
หนังสือกับคนรุ่นใหม่

มุมมองคนรุ่นใหม่กับการอ่านหนังสือเป็นอย่างไร

น้องรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลซึ่งหาได้ง่ายใน google  แต่การศึกษาใน google ก็ต้องมีวิจารณญาณสูง เพราะมีเนื้อหาสาระที่สุดโต่งไปแต่ละด้าน เนื้อหาสาระเบา ๆ ที่ให้ประโยชน์ก็มี อ่านแบบเชิงลึกก็มี

 

น้อง ๆ รุ่นใหม่หลายคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ แต่จะไม่ใช่แบบอ่านหนังสือทุกเล่มแต่เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน อ่านหนังสือบ้าง ดูคลิปบ้าง อ่านข้อมูลในออนไลน์บ้าง ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเด็กรุ่นใหม่สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะการเมือง สังคมไทย สังคมโลก และวัฒนธรรมการเมือง

 

เราเชื่อว่าการศึกษามีได้หลายรูปแบบ ก็ขอให้มีนิสัยเหล่านั้นอยู่ เพราะไม่ว่าเราจะอ่านอะไรในอินเทอร์เน็ต เมื่ออ่านเยอะ วิเคราะห์ดี ๆ ก็จะรู้ว่าอันนี้ต้องหาข้อมูลเพิ่มก่อน อันนี้ต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงเชื่อ อยากฝากน้อง ๆ รุ่นใหม่ไว้แบบนี้ แล้วน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากเปิดสำนักพิมพ์ก็มีอยู่มาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีคนรุ่นใหม่สมัครสมาชิกสมาคมฯ เพื่อเปิดสำนักพิมพ์มากมาย โดยแนวหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือวาย ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของเนื้อหาสาระ เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งที่สะท้อนสังคม แล้วก็จรรโลงใจกับคนในปัจจุบัน

เด็กรุ่นใหม่มีศักยภาพมาก เพราะสื่อการเรียนการสอน และมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้เร็วกว่าคนรุ่นก่อน เหมือนวิ่งกันมา แต่ก็เห็นชัดอยู่อย่างคือ ความถ่างของความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองที่มีโอกาสกับเด็กต่างจังหวัดที่ขาดโอกาส คนที่ไม่มีโอกาสในอดีตเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ในขณะที่เด็กที่มีโอกาสเขาก็จะก้าวกระโดดแบบไกลมาก อันนี้เป็นกลไกทางสังคม เป็นโจทย์ของทุกฝ่าย รวมถึงคนทำหนังสือด้วย หลายมูลนิธิก็พยายามสร้างโอกาสในการเรียนรู้ผ่านหนังสือ จัดกิจกรรมการบริจาคหนังสือ สิ่งเหล่านี้อย่างไรก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ จะหวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้”

 

กลับมาที่สุขภาพใจ เรามีแผนมีเป้าหมายอย่างไร

ในแง่ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ สำนักพิมพ์ไดฟุกุ สำนักพิมพ์สายรุ้ง ที่ผลิตหนังสือเด็ก ไดฟุกุพิมพ์หนังสือที่แปลจากญี่ปุ่น แล้วก็สำนักพิมพ์อื่น ๆ ในแง่การผลิตเรายังคงผลิตหนังสือที่ดีให้กับสังคมนั่นกรณีหนึ่ง แต่ทั้งหมดเราจะไม่ได้ผลิตเป็นรูปเล่มเท่านั้น ช่วงที่ผ่านมาเราพยายามบูรณาการดิจิทัลเข้ามาผสมกับหนังสือ เช่นในการทำบัตรคำเรียงตัวอักษรให้เด็ก ก-ฮ แล้วก็ ABC เราจ้างโปรแกรมเมอร์เขียนเกมควบคู่ไปกับบัตรคำที่เป็นกระดาษเพื่อให้เกิดการไฮบริดของเทคโนโลยี

หรือปฏิทินธรรมคำกลอนท่านพุทธทาส ที่เราทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เราก็นำสื่อเสียงที่เป็นเสียงท่านอาจารย์ ท่านพุทธทาสอ่านกลอนของท่านบ้าง หรือเรียนเชิญกวี เช่น อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาอ่านคำกลอน เรียนเชิญอาจารย์ท่านอื่นมาแหล่ แล้วก็เวลาคนที่เปิดใช้ปฏิทินก็สามารถยิง QR code เพื่อฟังเสียงท่านอาจารย์พุทธทาสได้ หรือแม้แต่หนังสือสวดมนต์เราก็จะทำ QR Code เพื่อให้สามารถสวดมนต์คู่กับฟังเสียงสวดที่ได้จากการแสกน QR Code ได้ด้วย ในอนาคตก็ตั้งใจว่า ตัวเนื้อหาทั้งหลายที่เรามีเราก็จะผสมผสานไปกับดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น

อย่างเรื่องสามก๊กที่เราทำอยู่มาก มีหลายด้านมากที่สามารถศึกษาแนวคิดของทางจีน อย่างหนังสือล่าสุดที่เรากำลังจะพิมพ์ชื่อว่า “China Now” พูดถึงว่า จีนกำลังเคลื่อนสู่เวทีโลกที่เราเห็นมาตลอดหลายปี จากที่เป็นอันดับสองของโลกจะไปเป็นอันดับหนึ่งอย่างไร เขาคิดอะไรอยู่จึงได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ แล้วเราเห็นความเคลื่อนไหวของจีนอย่างไร เนื้อหาดี ๆ เหล่านี้เรายังผลิตอยู่แต่ผสมผสานกับดิจิทัลเข้าไป

ส่วนในแง่การขาย ช่องทางจัดจำหน่ายที่เป็นร้านหนังสือ โดยส่วนตัวยังเชื่อถึงช่องทางเหล่านั้น เพราะเป็นโอกาสในการเข้าถึงของหนังสือของความรู้ที่อยู่ในท้องถิ่น ถึงแม้อีคอมเมิร์ซมามาก แต่ก็ยังมีร้านหนังสือในท้องถิ่นเป็นตัวตอบโจทย์คนในพื้นที่ คนที่ต้องการมาพลิกดูมาเลือกหาหนังสือในหลากหลาย เข้าถึงคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และร้านหนังสือเองก็ยังเป็นที่รวมของชุมชน การที่ร้านหนังสือที่อยู่ในจังหวัดมาตั้งแต่ยังเด็ก มีหนังสือหลากหลายแล้วส่งให้เด็กคนหนึ่งกลายไปเป็นหมอ วิศวกร นักธุรกิจ ตำรวจ พยาบาล หลายอาชีพไปหมดแล้ว เขาก็ยังเป็นร้านหนังสือในชุมชน ดังนั้น ถ้าเราซื้อหนังสือในชุมชนได้ก็เป็นเรื่องที่ได้ส่งเสริมคนในชุมชนด้วยกันเองด้วย 

สุขภาพใจเองยังเชื่อในช่องทางร้านหนังสือ แต่ในช่องทาง e-Commerce เราก็ไม่ทิ้ง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 แบบนี้เป็นความยากในการซื้อหนังสือผ่านช่องทางปกติ ก็ต้องแวะไปซื้อตามเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ โซเชียลมีเดีย หรือเว็บของสมาคมผู้จัดพิมพ์ อีคอมเมิร์ซจึงยังสำคัญอยู่

ส่วนการพัฒนาบุคลากร เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะองค์กรที่ผ่านช่วงเวลามาระยะหนึ่งการ อัปสกิล รีสกิล เป็นสิ่งจำเป็น  เช่น พนักงานบัญชีที่ใช้ซอฟต์แวร์บัญชีในออฟฟิศ วันนี้เราต้องการให้เขาทำงานบัญชีได้จากที่บ้านและทุกที่ เราจึงมีแผนปรับตัวไปใช้ระบบ Accounting on Cloud 

ส่วนการรีสกิล พนักงานขายที่ไปออกงานแสดงหนังสืออยู่กับเรามาเป็นสิบปี วันนี้ต้องรีสกิลไปขายบนช่องทางออนไลน์ได้

 

ต้องรู้จักแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น 8.8, 9.9 ต้องมีคูปองแบบนี้ ทุกคนต้องรีสกิลตัวเอง ไม่ใช่แค่อัปสกิลแล้วไปทำงานออนไลน์ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงการสร้างธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มไข่ในตะกร้า ซึ่งปัจจุบันเราก็คิดจะพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ และลงมือทำไปแล้วเพื่อเป็นแหล่างรายได้ใหม่ หรือการเพิ่มไข่ในตะกร้าให้มากขึ้น ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ตอบโจทย์สังคมในแง่สินค้าและบริการที่เราทำ”

หนังสือกับคนรุ่นใหม่
หนังสือกับคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ที่อยากตั้งสำนักพิมพ์ ควรคิดทำอย่างไร

คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นเสมอในยุคของเราคุณพ่อคุณแม่ก็เรียกเราเป็นคนรุ่นใหม่ น้อง ๆ ที่กำลังก้าวมาและเป็นคนที่ขบคิดกับสิ่งที่อยากนำเสนอ อยากสื่อออกมา ก็จะสื่อในประสบการณ์ที่เขามีในวันนี้ แต่เมื่อหลังจากที่เขาผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตข้างหน้าต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งแวดล้อมก็จะหล่อหลอมเขาในแบบต่าง ๆ ตามสิ่งแวดล้อมที่เขาเลือก ถ้าเลือกที่จะแบกแต่ทุกข์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าใจทุกข์จะขจัดทุกข์อย่างไร ทุกข์ก็คือปัญหาและอุปสรรค เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ถ้าจะเริ่มต้นทำจริง คนรุ่นพี่ ๆ ก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำ

 

คนรุ่นใหม่ต้องเริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าอยากทำอะไรบน 2 พื้นฐาน คือ 1. พื้นฐานบนสิ่งที่ชอบและพึงพอใจอยากทำ และ 2. พื้นฐานทางเศรษฐกิจ คือสิ่งที่ทำเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ถ้าน้อง ๆ มีทั้งสองอย่างนี้แล้วไปด้วยกันได้ นั่นคือเป็นคนที่โชคดี ก็เดินหน้าสร้างธุรกิจเลย จะเป็นสตาร์ตอัปหรืออะไรก็ว่ากันไป แต่การไปทางนี้ต้องมีแพชชัน มีแนวคิดที่ดี และมีเงินทุน เราจะมีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำ และยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองอีกด้วย แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจจะต้องวางแพชชันไว้ข้าง ๆ เป็นงานอดิเรก และหาแพชชชันที่รองลงไปลำดับที่สอง ที่สาม ที่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้และทำสิ่งนั้นไป

  

บางครั้งเมื่อเราทำไปแล้ว เราอาจจะค้นพบว่า เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำแล้วเดินหน้าไปอย่างมีความสุขก็เป็นได้ แต่ต้องถามตัวเราเองว่าสิ่งที่เราเห็นคุณค่านั้น เป็นคุณค่าต่อตัวเรา ครอบครัว หรือสังคม ดูว่ากำลังของเราจัดการได้ระดับไหนที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ครอบครัว และสังคม เราพึงพอใจทำโดยที่คนอื่นไม่เดือดร้อน เวทีในประเทศไทยเป็นเวทีที่เปิดกว้าง

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เราพูดถึงเป็นประจำคือ “หน้าที่” ฟังแล้วอาจจะดูแห้ง ๆ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีหลักการกับชีวิต คนเรามีหน้าที่กับทุกสิ่ง หน้าที่ต่อตัวเรา หน้าที่ต่อคุณพ่อคุณแม่ หน้าที่ต่อพี่น้อง ญาติ ต่อครู ต่อเพื่อน ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อสังคม ถ้าเราตอบหน้าที่ของเราได้ว่าคืออะไร เราจะวางบทบาทได้อย่างถูกต้อง แล้วปฏิบัติตามหน้าที่อย่างถูกต้อง

 

ทำด้วยความเข้าใจ ก็จะมีแต่ความร่มเย็น ทำแล้วรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ก็อย่าลืมว่าเป้าหมายไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ สิ่งที่อยู่ระหว่างทางก่อนไปถึงเป้าหมาย

ระหว่างทางก่อนถึงเป้าหมายเราเดินอยู่ในวิถีอย่างไหน มีความสุข มีความสนุก สร้างอะไรต่อมิอะไรให้คนรอบข้างเราหรือเปล่า ระหว่างทางเราได้เรียนรู้อะไรหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วคนทุกคนเกิดมาหนหนึ่งก็ตายหนหนึ่ง อย่างไรเราก็หนีความตายไปไม่พ้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราเกิดมาแล้วเราจะทำอะไร เราจะฝากอะไรไว้กับสังคมบ้าง”

กลุ่มสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เป็นแบบอย่างที่ดีของการเรียนรู้ และปรับตัวตามสถานการณ์ แม้จะเผชิญกับวิกฤตก็ยังอยู่รอดได้ สร้างรายได้และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ว่าควรจะคิดจะเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้ก้าวถึงความสำเร็จได้อย่างต้องการ

—————————————————————
Passion Talk EP.28 | “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” หนังสือกับพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2021/16/โชนรังสี-บุ๊คไทม์-passion-talk-ep028
—————————————————————
Passion Talk EP.24 | Sonic Interfright โตไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2021/29/สันติสุข-โฆษิอาภานันท์-sonic-024
—————————————————————
Passion Talk EP.23 | Robinhood ฟู้ดเดลิเวอรีที่เข้าถึงใจลูกค้า
https://www.passiongen.com/inspired/2021/15/โรบินฮู้ด-สีหนาท-ล่ำซำ-robinhood-ep023
—————————————————————
Passion Talk EP.22 | เจาะลึกความสำเร็จเฟิร์น-นัทธมน เจ้าของธุรกิจ “ตี๋น้อย” สุกี้พันล้าน
https://www.passiongen.com/inspired/2021/01/นัทธมน-พิศาลกิจวนิช-suki-teenoi-ep022
—————————————————————
Passion Talk EP.21 | “ณรงค์ สีตลายน” ผู้ปั้นแบรนด์ GWM สู่เป้าหมาย xEV Leader
https://www.passiongen.com/inspired/2021/17/ณรงค์-สีตลายน-great-wall-motor-ep021
—————————————————————
Passion Talk EP.19 | ท๊อป จิรายุส เผยเบื้องลึกความสำเร็จของ Bitkub
https://www.passiongen.com/news/2021/20/จิรายุส-ทรัพย์ศรีโสภา-bitkub-ep019
—————————————————————
ติดตามเราได้ใน Facebook
https://www.facebook.com/PassionGen

Category:

Passion in this story