เมื่อการพัฒนาคน “ทุนมนุษย์” เป็นความท้าทายต่อการที่ “ประเทศไทยจะได้ไปต่อหรือไม่” การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการศึกษาไทยจึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน บุคลากรทางการศึกษา เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องถูกจัดระบบ เพื่อให้ประเทศไทยไม่หลุดขบวนของการพัฒนาในเวทีเศรษฐกิจโลก

Passion gen ได้มีโอกาสรับทราบถึงวิสัยทัศน์และมุมมองของเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สะท้อนมุมมองการศึกษาต่อเด็กไทยว่า “วันนี้เด็กไทยเป็นหัวใจของการพัฒนาและช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด”

 

 

Passion gen: ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ย่างไร

รัฐมนตรี : การพัฒนาทุนมนุษย์หรือการเตรียมความพร้อมของนักเรียน นักศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัตออก ซึ่งเป็นพื้นที่เป้ากหมายในการพัฒนาของรัฐบาล ซึ่ง EEC มีความต้องการบุคลากรเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็น New S-Curve จึงต้องการบุคลากรในด้านอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับความต้องการ

 

ปัจจุบันวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งใน EEC มีศักยภาพมีความสามารถในด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว วันนี้เราก็มีแนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การแพทย์ โลจิสติกส์ แมคคาทรอนิกส์ หรือว่าระบบราง ฯลฯ เราต้องสร้างวิทยาลัยเหล่านี้ให้มีความเป็นเลิศ มีการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในวิทยาลัยให้มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนานักศึกษา น้อง ๆ ที่กำลังศึกษาจะได้มีแรงจูงใจที่อยากจะมาเรียนในวิชาชีพที่เรากำหนดไว้ว่า เป็นวิชาชีพเป้าหมายตาม s-curve ที่ทางรัฐบาลได้วางแนวทางไว้

 

วันนี้การขับเคลื่อนก็ยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ แต่ในช่วงที่กำลังปรับตัวอยู่นี้เป็นโอกาสดีครับที่จะใช้งบประมาณที่มีอยู่ทั้งปลายปี 2563 และในปี 2564 ในการสร้างศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ความพร้อมในการพัฒนาทักษะ ทุนมนุษย์ หรือว่า Human Capital สู่ความเป็นเลิศเพื่อรองรับการขยายตัวของอีอีซี

 

Passion gen: การสร้างแรงจูงใจให้กับน้อง ๆ มาเรียนในสาขาอาชีวศึกษา เราจะมีแรงจูงใจอย่างไร

รัฐมนตรี : วันนี้การร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอาชีวะต่าง ๆ กับภาคเอกชน มีภาพให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น วันนี้บริษัทใหญ่ ๆ ก็มาร่วมกับเรา 20 กว่าบริษัทแล้วและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการจะพัฒนาคนให้เพียงพอได้นั้น ความร่วมมือในระดับปัจจุบันยังไม่พอ ทำอย่างไรจึงจะสามารถขยายขอบเขตความร่วมมือในการพัฒนาให้กว้างออกไปมากกว่านี้

จากโครงการที่มีนักเรียนสนใจ 100 คน ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะให้ความสนใจแล้วก็มาเรียนเพิ่มมากขึ้น เป็น 500-1,000 คนหรือหลาย ๆ พันคน ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับแผน S-Curve โดยเฉพาะในด้าน Digital ซึ่งส่วนนี้ต้องเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในภาครัฐ เป็นการทำความเข้าใจในการสนับสนุนจากภาคเอกชนและในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการทำงานของวิทยาลัยต่าง ๆ ในการสร้างอาชีพให้มีความสนใจมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากในอดีต

 

Passion gen: บุคลากรมีความพร้อมรองรับการพัฒนาหรือไม่

รัฐมนตรี : ในศูนย์ต่าง ๆ เราก็มีอุปกรณ์เพียงแต่ยังไม่พร้อมเต็มที่ ผมว่าเราขาดในเรื่องของทักษะของอาจารย์เพื่อที่จะขยายวงของการเรียนรู้ให้กว้างออกไปกว่านี้ เรายังขาดอุปกรณ์ที่สามารถจัดสรรได้ ถ้าหากแนวทางชัดเจน ผมคิดว่าการจัดสรรงบต่าง ๆ ในการเตรียมครูอาจารย์ การพัฒนา การเตรียมอุปกรณ์ไม่น่ามีปัญหาอะไร

 

ปัจจุบันเราจัดสรรงบประมาณแบบกระจายไปทั่ว อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับศูนย์ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ วันนี้ศูนย์ที่มีความเป็นเลิศต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับนักเรียนที่มีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง

 

Passion gen: น้อง ๆ ที่จบมาจะมีงานรองรับไหม

รัฐมนตรี : ในเบื้องต้นที่ EEC คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานประมาณ 500,000 อัตรา ที่เป็นโอกาสในการเข้าทำงานของน้อง ๆ การตอบโจทย์ความต้องการแรงงานมากขนาดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การหาคน 5 แสนคนอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่จะหาคน 5 แสนคนที่มีทักษะความสามารถจริง ๆ และสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้จริง อันนี้เป็นความท้าทาย ถ้าเราทำสำเร็จที่อีอีซีสร้างแรงงานได้ 4-5 แสนอัตรา เราก็จะสามารถวางแผนนี้กระจายให้เกิดการพัฒนาคนได้ทั่วประเทศไทย เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้กับทางอาชีวะได้แน่นอน

 

Passion gen: คอขวดในการพัฒนาอยู่ตรงไหน

รัฐมนตรี : ปัญหาใหญ่อยู่ที่การจัดการงบประมาณที่เราต้องมาปรับเปลี่ยนการใช้งบลงทุนของกระทรงวงศึกษาธิการเป็นหลัก ส่วนที่สองคือ ความร่วมมือกัน บางทีเราร่วมมือกันในขนาดที่เล็ก เราต้องขยายความร่วมมือในวงกว้างให้มากขึ้น หากเราร่วมมือกับภาคเอกชน 1 แห่งอาจจะสร้างคนได้ 30 คน ทำไมไม่ถามกลับไปที่เอกชนว่าถ้าหากเราต้องการสร้าง 300 คน ภาคเอกชนพร้อมจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร หรือว่าในการพัฒนาบุคลากรที่เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของอาจารย์ เราต้องเตรียมแบบไหนบางทีอาจจะติดขัดในเรื่องของงบประมาณที่หาครูเก่ง ๆ มาสอนเพิ่มไม่ได้ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

 

ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัด แต่ในปี 2564-2565 เป็นปีที่เราต้องก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

Passion gen: พันธกิจมากมายเช่นนี้ ต้องการงบเพิ่มหรือไม่

รัฐมนตรี : มีแน่นอนครับ งบประมาณที่กระทรวงมีผมก็ต้องพิจารณาก่อนว่าสามารถโยกอะไรได้บ้าง วันนี้การอบรมสัมมนาต่าง ๆ การเดินทางไปต่างประเทศก็ไม่มีแล้ว ก็ต้องผันงบประมาณที่สามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าหากว่าเราต้องการยกระดับและเห็นภาพชัดจริง ๆ เราก็สามารถเสนอทางทั้งคณะรัฐมนตรีและประธานท่านนายกได้ แต่ความเหมาะสมนี้เป็นหน้าที่ของพวกผมต้องรีบพูดคุยกับทางท่านเลขา EEC เพื่อจะได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าเป้าหมายที่วางไว้มันตรงหรือไม่

 

เช่นเราบอกว่าต้องเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความต้องการอีก 1 หมื่นคนในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่จริง ๆ วันนี้โควิด-19 อาจจะทำให้ความต้องการเปลี่ยนไป เราอาจจะต้องการถึง 5 หมื่นคนก็ได้ เพราะว่าเราเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการรับมือกับโควิด-19 แล้วเชื่อว่าตรงนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในอนาคต ฉะนั้น บุคลากรที่เราเตรียมไว้ก็ต้องมากขึ้นโดยปริยาย เพราะแผนที่เราทำไว้ตั้งแต่ปี 2561 วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว สาธารณสุขเป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่

 

Passion gen: ต้องจูงใจเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจสายอาชีพมากขึ้นไหม

รัฐมนตรี : ผมว่าต้องปลูกฝังตั้งแต่มัธยมให้เขาเห็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ เรื่องของโลจิสติกส์เรื่องของการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ  ถ้าเราส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้หรือสัมผัสเรื่องนี้ ผมว่าเขาจะเริ่มเอียงความสนใจ เป็นหน้าที่ของพวกผมเองในกระทรวงที่ต้องผสมผสานทั้งสายอาชีพและสายวิชาการอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องแนะนำให้ถูก


Category:

Passion in this story