Categories: PASSION TALK

เอกชัย  อภิศักดิ์กุล “ธุรกิจครอบครัว” จะฝ่าวิกฤตอย่างไร | Passion Talk EP002

90% ของธุรกิจในประเทศไทยเป็น Family Business หรือ ธุรกิจครอบครัว ธุรกิจครอบครัวมีอายุยืนกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 1 เท่าตัว และจากสถิติทั่วโลกพบว่า ธุรกิจครอบครัวมีอายุยืนยาวได้หลายร้อยปี… จึงเป็นที่น่าศึกษาว่า ภายใต้วิกฤตเช่นปัจจุบัน ศาสตร์ของธุรกิจครอบครัวจะช่วยให้ธุรกิจฝ่าวิกฤตได้อย่างไร

Passion gen ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเจาะลึกถึงเคล็ดลับที่จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้

Passion gen : อยากให้เล่าถึง Family Business ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ดร.เอกชัย : Family Business เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก โดยทั่วไปในทุกประเทศจะมี Family Business เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจถึง 70-80% ของธุรกิจทั้งหมด และในประเทศไทยสัดส่วนของ Family Business เพิ่มสูงถึง 90%

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญได้เป็นอย่างดี Family Business มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หากได้รับความรู้และการส่งเสริมที่ถูก Family Business จะเป็นกำลังหลักของระบบเศรษฐกิจ เพราะเขาสามารถส่งต่อความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาว บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น มี Family Business ที่เข้มแข็งเขาจะมีสินค้าที่น่าสนใจ มีเรื่องราวของการทำงานทั้งสินค้าและบริการที่เน้นคุณภาพ ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มี Family Business ที่ประสบความสำเร็จ

Passion gen : ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยมีความเข้มแข็งระดับไหน

ดร.เอกชัย : เรายังอ่อนกว่าเขาเยอะ ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้าน Family Business เขามีบริษัทที่มีอายุเกินกว่า 200 ปีมากถึง 3,000-4,000 บริษัท แต่ในประเทศไทยไม่มีบริษัทที่มีอายุเกินกว่า 200 ปีเลย หากเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วเรายังห่างกับเขาเยอะ

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราพัฒนาไม่ได้ เราเพิ่งเริ่มต้นศาสตร์ในเรื่อง Family Business มาประมาณ 10 ปี ปัจจุบันเราได้เห็นตัวอย่างว่ามีหลายครอบครัวที่เอาศาสตร์ Family Business ไปสวมในเรื่องการบริหารงานของครอบครัว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ดีขึ้นทั้งในด้านการทำงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว

Passion gen : Family Business จะช่วยธุรกิจและครอบครัวได้อย่างไร

ดร.เอกชัย : มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ไม่นานนี้ เปิดเผยว่า ธุรกิจครอยครัวที่อยู่ทุกที่ในโลกใบนี้ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือฝั่งของ Family ไม่ได้ใช้เครื่องมือในเรื่อง Management หรือ Business ที่เรียนกันใน Business School ตัวอย่างเช่น

แทนที่จะต้องมีระเบียบบริษัท ข้อบังคับบริษัท สัญญาผู้ถือหุ้น เขามี “ธรรมนูญครอบครัว” เป็นข้อตกลงกันระหว่างพี่น้อง พ่อแม่และเครือญาติ ธุรกิจมีกรรมการบริษัทธุรกิจครอบครัวก็มี Family Council-สภาครอบครัว”  มีระบบการวางตัวผู้บริหาร แทนที่จะสืบทอดหาตัวผู้บริหารจากคนเก่งที่สุด  Family Business จะมีการคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด สร้างและพัฒนาคนนั้นจนเหมาะสมกับตำแหน่ง ด้านการบริหารความมั่งคั่ง บริษัทโดยทั่วไปจะดูว่าควรจะลงทุนอะไร Family Business ก็มี ระบบกงสี หรือ เงินกองกลาง (Wealth) สำหรับดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย สมาชิกที่ทุ่มเททำงานจนเกษียณ Family Business จะดูแลสมาชิกต่อไปทั้งที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ การเจ็บป่วย การศึกษาบุตร…ตราบใดที่ธุรกิจยังคงเข้มแข็งและเติบโตไปได้ สมาชิกจะคงมีความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้น Family Business ก็จะมีระบบของเขาที่แต่ละบ้านจะออกแบบมาแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ จำนวนสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว

Passion gen : ในมุมของต่างประเทศมักมองว่าการบริหารแบบครอบครัวไม่ใช่มืออาชีพ เป็นอย่างนั้นหรือไม่

ดร.เอกชัย : ต้องใช้คำว่า การบริการธุรกิจแบบครอบครัวมืออาชีพ คือ ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของครอบครัวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน ขณะเดียวกันจะใช้ความเก่งของมืออาชีพมาผสมผสานได้อย่างไร บางธุรกิจเติบโตไปเรื่อยๆ ขยายกิจการไปในหลายอุตสาหกรรมที่ครอบครัวไม่ชำนาญ จึงต้องอาศัยมืออาชีพมาช่วยบริหารงาน

“กลุ่มมิตรผล” เชี่ยวชาญเรื่องของอ้อยแต่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน มีธุรกิจที่ผลิตสินค้าจากกากน้ำตาลและวัสดุเหลือใช้ จึงต้องอาศัยมืออาชีพเข้ามาทำงาน โดย Family จะมีส่วนเกี่ยวข้องเช่น ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท หรือ บางครั้งมีจัดตั้ง Advisory Board ที่เป็นคนใน Family คอยให้คำปรึกษา ออกความคิดเห็น บอกทิศทางที่เจ้าของธุรกิจต้องการ แต่มอบหมายให้มืออาชีพตัดสินใจซึ่งไม่จำเป็นต้องทำตาม Family เสมอไป อันนี้เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบการทำงานแบบมืออาชีพ และธุรกิจแบบครอบครัวเข้าด้วยกัน

Passion gen : ประเทศไทยมีธุรกิจที่บริหารแบบ Family Business เยอะไหม

ดร.เอกชัย : ในปัจจุบัน Family Business ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาก หลายครอบครัวที่มองภาพระยะยาวจะเดินมาด้านนี้ สุดท้ายระบบบริหารธุรกิจในฝั่งครอบครัวต้องถูกสร้างขึ้น เพราะเมื่อผ่านไปหลายเจนเนอเรชั่น ความสัมพันธ์ในครอบครับจะเปลี่ยนไป จากคู่สามีภรรยา เป็นพี่น้อง เป็นลูกพี่ลูกน้อง และเครือญาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุก Family ขณะที่ส่วนของทรัพย์สมบัติ ยังคงอยู่แบบเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างระบบรองรับ ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ครอบครัวจะร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้อย่างไร จะร่วมดูแลทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ได้อย่างไร

กลไกของ Family Business จะช่วยจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน พี่น้องเครือญาติไม่ทะเลาะกัน มีความชัดเจน ยุติธรรม ครอบครัวที่มีวิสัยทัศน์ จะเห็นความสำคัญ และพัฒนา Family Business ขึ้นมา ซึ่ง Family Business ของแต่ละบ้านก็จะแกต่างกัน แต่จะมีเครื่องมือสำคัญที่คล้ายกัน เช่น ธรรมนูญครอบครัว Succession Plan รูปแบบการบริหารทรัพย์สิน ส่วนกลางส่วนตัว ผู้ดูแล เงื่อนไข จะกำหนดผู้บริหารในครอบครัวแบบไหนให้มืออาชีพยอมรับ มีภาวะผู้นำที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปได้

Passion gen : ช่วงที่ผ่านมาประเทศเผชิญวิกฤตเช่น โควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในมุมของ Family Business จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างไร

ดร.เอกชัย : ในมุมสถิติทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ธุรกิจที่จะรอดไปได้ส่วนใหญ่จะเป็น Family Business สังเกตุดูบริษัททั้งหลายที่ประสบปัญหาและปิดกิจการจะไม่ใช่กลุ่มนี้ Family Business จะเข้มแข็งเพราะมีมุมมองว่า นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นไม่ใช่แค่ที่ที่รวมกันทำงานแล้วส่งสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ เป็นชื่อเสียงของตระกูลไม่ใช่นึกจะเลิกก็เลิก จะปลดคนลดคนก็ปลด Family Business จะมีความรักในธุรกิจ มีความภูมิใจ เห็นคุณค่าของธุรกิจเป็นความสำเร็จของวงศ์ตระกูล Family Business จะไม่ทิ้งบริษัทง่ายๆ เพราะมีจิตใจที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา แล้วรักในสิ่งที่ดูแล สุดท้ายแล้วเมื่อวิกฤตผ่านไป Family Business จะยิ่งเติบโตและเข้มแข็งขึ้น

แต่ถ้าเป็นมืออาชีพจะตัดสินใจในทางที่เหมาะสมที่สุด ถ้าการปิดกิจการทำให้เสียหายน้อยสุดก็จะเลือกปิดกิจการเพื่อจำกัดความเสียหาย แต่ Family Business จะไม่ยอมเช่นนั้น Family Business ที่เข้มแข็งพร้อมจะดูแลคน ดูแลธุรกิจ จะเอาเงินส่วนตัวและเงินครอบครัวมาสนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้

Passion gen : แนวโน้ม Family Business จะมั่นคงกว่าธุรกิจทั่วไป

ดร.เอกชัย : โดยทั่วไปเป็นเช่นนั้น Family Business มีความยั่งยืนมีอายุยืนยาว ธุรกิจทั่วไปมีอายุเฉลี่ย 12-13 ปีแต่ Family Business มีอายุเฉลี่ยประมาณ 25 ปีมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัวบริษัทในโลกที่มีอายุยาวหลายร้อยปี ล้วนแต่เป็น Family Business ทั้งสิ้น

บริษัทที่มีอายุยาวส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปและญี่ปุ่น เราจะได้ยินเรื่องราวของสินค้าบริการที่มี Storytelling เราจะเห็นตำนานของ Family มาใส่ในสินค้าตลอดเวลา กลุ่มนี้คือธุรกิจครอบครัวที่เห็นคุณค่าของธุรกิจจนกล้าที่จะใช้ชื่อสกุลเป็นตราสินค้า แล้วบอกว่า สินค้า (และตระกูล) ดีอย่างไร Family Business จะไม่ยอมให้ชื่อเสียงเสียหาย เพราะนั่นหมายถึงความเสียหายของวงศ์ตระกูล

Passion gen : คำพูดติดปากที่บอกว่า “ปู่สร้าง พ่อรักษา ลูกหลานผลาญหมด” หากต้องเป็นลูกหลานที่รับสืบทอดกิจการมาในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เขาควรจะมีวิธีจัดการกับธุรกิจอย่างไร

ดร.เอกชัย : คนรุ่นใหม่มักมีความฝันของตัวเอง เพราะทุกคนเกิดมาพร้อมความฝัน ในระบบ Family Business ครอบครัวจะปลูกฝังให้ทายาทรักธุรกิจ ฝันมีได้แต่ต้องไม่ทิ้งธุรกิจ ครอบครัวจะพยายามปลูกฝังบางอย่างให้ทายาทธุรกิจ

ทำให้กลุ่มหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้นมาจะมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องสืบทอดกิจการ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเบื่อ ไม่เห็นความสำคัญของธุรกิจที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพียงแต่เขาไม่ได้ถูกปลูกฝังมา เขาจึงเดินตามความฝันความต้องการของเขา Family Business จึงต้องจัดการ กลุ่มแรกจะให้ทายาทบริหารงานต่อ ส่วนกลุ่มที่สองอาจจะต้องปล่อยธุรกิจที่บ้านให้มืออาชีพบริหารแทน

Passion gen : คนรุ่นใหม่ต้องสนใจ Family Business มากขึ้นเพื่อสร้างรากฐานระยะยาว

ดร.เอกชัย : ถ้าเปิดใจดูจริงๆ จะพบว่าการที่ธุรกิจหนึ่งจะอยู่มาได้หลายสิบปีต้องมีจุดแข็งและข้อดีอะไรสักอย่าง ไม่แปลกที่ทายาทจะเริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่ Family ทำได้ดีและใช้ความรู้ของคนรุ่นใหม่ต่อยอดขยายธุรกิจออกไป จะบวกความฝันเข้าไปได้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก คงจะดีถ้าทายาทได้สานต่อตำนานของบรรพบุรุษ และใช้จุดแข็งที่มีมาพัฒนาเป็นธุรกิจให้เติบโตภายใต้แนวคิดของคนยุคใหม่ ฟังเหมือนเป็นอุดมคติแต่ทายาทหลายคนเลือกเดินเช่นนี้

Passion gen : อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว

ดร.เอกชัย : ผมทำงานที่ปรึกษา Family Business มานานกว่า 10 ปี ผมยังไม่เคยเห็นธุรกิจที่ใช้มืออาชีพทำงาน และครอบครัววางมือทั้งหมด สามารถจะเติบโตได้อย่างมั่นคงสักบริษัท

ธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวจะเติบโตได้ล้วนเกิดจากคนที่เป็นเจ้าของ เป็นสมาชิกครอบครัว เขาจะมองทุกเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่ง มีใจรัก และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่จะเกิดขึ้น เขานี่แหละที่จะเป็นคนสร้าง s-curve ใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับธุรกิจของตัวะเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ใช้มืออาชีพ มืออาชีพก็มีประโยชน์เช่นกันและสำคัญด้วยเพียงแต่ทำคนละหน้าที่  หน้าที่ของการสร้าง s-curve ใหม่การ Transform ธุรกิจไปสู่อีกจุดหนึ่ง เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นเจ้าของเป็นหน้าที่ของ Family

จะดีมากเลยถ้าธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยสติปัญญาและหัวใจของคนที่ทำงานอยู่ ณ ตอนนั้น เขานอกจากฉลาด เขายังรักด้วย อุปสรรคอะไรเข้ามาก็ไม่ย่อท้อ ระหว่างที่ทำงานอยู่นั่นคือความสุขในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนั้น เป็นสถานการณ์ที่ วิน-วิน ถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้องกับ Family ของเรา”


อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.