ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้ประสบพบเจอกับคนที่มีความโชคร้ายในโชคร้าย….แต่ในความโชคร้ายกับให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างน่าประหลาด มะเร็งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง แต่เธอกลับรู้สึกขอบคุณมัน

“แด่มะเร็งที่รัก” เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของเธอ หลิง-พีรดา พีรศิลป์ บรรณาธิการอิสระ และอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เธอผู้ที่ประสบกับโรคมะเร็งร้ายถึง 3 ครั้ง แต่วันนี้เธอยังเข้มแข็ง อยู่เพื่อทำตามความฝันและเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง Passion gen มีโอกาสไปพบเธอในเช้าวันหนึ่งในงานจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา พื้นที่ที่เธอถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้กับผู้คน  

Passion gen : ทราบว่าคุณหลิงเป็นบรรณาธิการมาก่อน

หลิง-พีรดา : จริงๆ ตัวเองมีอาชีพเป็นบรรณาธิการอิสระน่ะค่ะ แต่ว่าเนื่องจากว่าเป็นเคยทำงานด้านนิตยสารมาก่อนเป็น Fashion Magazine ฉบับหนึ่ง ซึ่งปิดตัวไปแล้ว บังเอิญที่หลิงเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รณรงค์ผ่านเฟซบุ๊กมา 4-5 ปี แต่ปีนี้พิเศษกว่า เพราะสิ่งที่เราจะทำมันกลายเป็นนิทรรศการขึ้นมา เลยชวนช่างภาพสมัยทำงานนิตยสารด้วยกันมาช่วยถ่ายรูปตัวเองให้ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล  

Passion gen : รู้จักกับมะเร็งอย่างไร

หลิง-พีรดา : เจอครั้งแรกตอนปี 2546 เป็นมะเร็งเต้านมค่ะ ที่ด้านซ้ายแล้วก็ผ่าตัดก้อนเต้านมออกเป็นก้อนก้อนขนาดเล็ก ให้คีโมและฉายแสงครบเลย แล้วก็ปี 56 มะเร็งกลับมาอีกที ก็ทำการผ่าตัดโดยสงวนเต้า คว้านเนื้อเต้านมออกเสริมซิลิโคน พอปี 2563 ก็มาเป็นมะเร็งรังไข่ แล้วก็ผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างและมดลูกออกทั้งหมด และผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างแล้วก็ตุลาคมก็เดินรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากลพอดี เราก็บอกว่าผ่าตัดเสร็จ เดี๋ยวจะถ่ายรูปรณรงค์เต้านมด้วยคุณหมอรีบทำรีบจองคิวผ่าตัดเลยค่ะ แล้วหลังผ่าตัดได้ 2 อาทิตย์ก็จัดคิวถ่ายรูปเพื่อเตรียมนิทรรศการก็ทันพอดี  

Passion gen : ความรู้สึกกับมะเร็งในครั้งแรก

หลิง-พีรดา : ครั้งแรกคือช็อคนะ ช็อคเลย เมื่อคุณหมอแจ้งว่า ชิ้นเนื้อที่ไปตรวจเป็นเนื้อร้าย เราก็ถามว่า เนื้อร้ายคืออะไร? ไม่เข้าใจ พอคุณหมออธิบาย เราแบบช็อกและชาไปหมดเลย คือพูดแล้วก็น้ำตาร่วงเลย เมื่อทุกคนที่บ้านรู้ก็ร้องไห้ แม่ก็ร้องไห้ ทุกคนที่บ้านซึมหมดเลย เพราะทุกคนถูกปลูกฝังมาว่า มะเร็งเป็นแล้วต้องตาย คนใกล้ตัวหลายคนที่เป็นแล้วก็เสียชีวิตกัน  เราก็รู้สึกเหมือนเราจะต้องตาย พอตั้งสติได้ก็กลับไปปรึกษาคุณหมอถึงแนวทางรักษา แล้วก็เริ่มหาหนังสือคนที่เขาหายจากโรคมะเร็งมาอ่าน ดูว่าเขาเป็นแบบไหน อาการเป็นอย่างไร ยังไงก็คิดว่าเราไปหาหนังสืออ่านหนังสือพวกนั้นเขามีอาการ หรือป่วยหนักกว่าที่เราเป็น ยิ่งอ่านก็ยิ่งเครียดเพราะทุกคนป่วยหนัก แต่เรายังไม่ถึงขั้นนั้น เรายังแข็งแรงดี มองไปรอบข้างคนรอบข้างเครียดกังวลว่า “เราจะตาย” สุดท้ายเราคิดว่า “เรายังไม่เป็นอะไรขนาดนั้น อย่าเพิ่งกังวลไปก่อน อยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้เรายังแข็งแรงดี” แล้วก็เริ่มรักษาตามที่คุณหมอบอกสุดท้ายเราก็ผ่านไปได้ ให้ทำอะไรทำให้ กินอะไรกิน เตรียมตัวเองให้แข็งแรงที่สุด เพื่อรับมือกับการให้คีโม

Passion gen : เราเผชิญหน้ากับมะเร็งอย่างไร

หลิง-พีรดา : ในการเผชิญกับปัญหาต้องมีสติ สติสำคัญมาก ไม่ว่าคุณจะเจอกับอะไร หลิงเองเป็นอาการเจ็บป่วย คนอื่นอาจจะเจอปัญหาเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน เมื่อเราเผชิญปัญหา “สติ” ต้องมาก่อน รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะรับมือได้อย่างไร วิธีคิดนั้นเมื่อเราเห็นคนรอบข้างเป็นทุกข์ เราก็ทุกข์ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือ เราต้องหยุดที่ตัวเราก่อน เราจัดการกับอารมณ์ความคิดเราได้ค่ะ เพราะมีสติเราจะได้รู้ว่าเราจะต้องทำอะไรกับมันต่อไปแล้วพอกลับมาตั้งต้นใหม่ เมื่อคิดได้ทุกอย่างก็ “คลิกเลย” แล้วเราก็รับมือกับมันได้แล้วก็ผ่านมันไป ตอนนั้นรู้สึกว่า ความตายมันเป็นสิ่งไม่เที่ยง จะเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ หลิงเชื่อว่า เราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรายังถึงที่ไม่ตาย เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดก่อน พอกลับมาย้อนคิด ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งตอนนั้นคือความเครียด  

Passion gen : ความเครียดพามะเร็งมา ?

หลิง-พีรดา : หลิงเป็นคนสดใสร่าเริงสดใสร่าเริง เป็นคนตลกอารมณ์ดี แต่พอทำงานเราเปลี่ยนเป็นคนละคน เป็นคนหน้าดำคร่ำเครียด พอนิตยสารปิดตัวลงพอดี เราเลือกทำงานเป็น Freelance รับทำงานอิสระ หรือเลือกรับงาน งานไหนที่เรารู้ว่ามันเครียดมากเราขอไม่รับ ตอนนั้นเข้าใจแล้วว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ การมีความสุขกับงานที่ทำสำคัญกว่า จากนั้นก็ทำงาน เก็บเงินเที่ยว  

Passion gen : ครั้งที่ 2 เพื่อน (มะเร็ง) กลับมาอย่างไร

หลิง-พีรดา : 10 ปีให้หลังมะเร็งกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้ตกใจแต่ไม่ช๊อคเหมือนครั้งแรก ครั้งที่ 2 แค่ตกใจว่า ทำไมกลับมาเป็นอีกแล้วที่เต้านมข้างเดิมด้วย คุณหมอบอกว่ามันมีโอกาสน้อยนั้นจริงมันไม่น่าจะเกิด แต่เราก็ยังเป็นส่วนน้อยนั้นที่มันเกิดขึ้นได้ มันเหมือนความตายมาเยือนครั้งที่ 2 แต่นั่นทำให้เราคิดได้ เราลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เริ่มออกกำลังกายจริงจังจนร่างกายแข็งแรง มีกล้ามเนื้อสวยงามอย่างที่อยากได้ อยากทำอะไรก็รีบทำ ซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่เดินทางท่องเที่ยวเลย  
มะเร็งครั้งที่ 2 ทำให้เราคิดได้ โกรธคนน้อยลง เหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมา ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถามว่าหลิงจะเลือกเป็นมะเร็งไหม หลิงกล้าตอบได้เลยว่าหลิงเลือก หลิงขอบคุณมะเร็งจริง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน ที่ทำให้หลิงเป็นหลิงในทุกวันนี้ ทุกวันนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือดีที่สุดตั้งแต่ผ่านมา
 
แต่ก่อนเคยนั่งทำงานอยู่แต่ในออฟฟิศ หลิงเคยทำงานแบบคนทำงานออฟฟิศทั่วไป เช้าทำงานเย็นกลับบ้าน กำลังกายไม่เคยออก กินไม่ดี พักผ่อนไม่พอ แล้วก็แบบไม่ได้มีความสุขกับชีวิต หรือมีความสุขแล้วแต่มันไม่ใช่ความสุขจริง ๆ เรามาเข้าใจทีหลังว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เรามาค้นพบตอนที่เราได้เป็นมะเร็งครั้งที่ 2 หลิงเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนทั่วไป ทำงานเก็บเงิน จริง ๆ เงินก็ไม่ค่อยมีนะ ได้เงินมาก็เอาไปซื้อของซื้อความสุขที่อยากได้เหมือนเราเป็นวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมหล่อหลอมให้เราเป็นแบบนั้น สุดท้ายแล้วความสุขเราก็อยู่ตรงนั้นจริง ๆ หรือ ครั้งหนึ่งที่ขี่มอเตอร์ไซค์กับกลุ่มเพื่อน 5-6 คนแล้ว เกิดปิติตื้นตัน น้ำตาไหล กลายเป็นที่มาของบทความ น้ำตาไหลในหมวกกันน๊อค “เรารู้สึกว่าเราโคตรมีความสุขเลยเราไม่ต้องการอะไรแล้ว” ความรู้สึกตอนนั้นคือ “ถ้าเราต้องตายเราก็ได้ตายอย่างมีความสุขแล้ว เพราะเราได้ทำสิ่งที่เรารัก” เมื่อบทความเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีคนเข้ามาให้กำลังใจเยอะมาก มี comment กลับมาว่าเราเป็นกำลังใจให้เขา เราเองก็มีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น จากนั้นก็มีบทความเพื่อรณรงค์เรื่องมะเร็ง ชื่อว่า “ยังตายไม่ได้ เพราะว่าเรามีหลายอย่างที่เราต้องทำ” จากนั้นก็จะมีคนหลังไมค์มาเยอะมาก ๆ มีคนรู้จักที่คนใกล้ตัวเขาเป็นมะเร็ง พออ่านบทความเราแล้วเขามีพลังมีกำลังใจขึ้น เลยเป็นการจุดประกายให้รณรงค์เรื่องมะเร็งมาตลอด เพราะเรารู้ว่าเรามีประโยชน์กับคนอื่น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครมีความสุข 100% หรือมีความทุกข์ 100% ชีวิตคนเราจะสุขทุกข์ผสมกันไป  

Passion gen : แล้วเพื่อนยังกลับมาหาอีกเป็นครั้งที่ 3

หลิง-พีรดา : ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาเป็นมะเร็ง 3 ครั้งในรอบ 17 ปี เป็นมะเร็งรังไข่ระยะ 2 ครั้งนี้ไม่ตกใจไม่กลัวแล้วค่ะ เพราะว่าเข้าใจโลกเราว่าโลกนี้มันไม่หายขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงเกิดนิทรรศการ “แด่มะเร็งที่รัก” คือ อยากบอกอะไรบางอย่างกับเขา (มะเร็ง) คือ เป็นเพื่อนสนิทแต่ไม่อยากเจอบ่อยนะ แต่ตอนนี้คือเขาแค่ยังอยู่ในกายและใจเราแค่นั้นเอง นิทรรศการนี้ จัดขึ้นเพื่อรณรงค์มะเร็งเต้านมในเดือนตุลาคม ภาพในงานเป็นเรื่องราวของมะเร็งที่เกิดขึ้นในตัวหลิง บาดแผลต่าง ๆ การผ่าตัดเต้านมออกปากแผลที่หน้าท้องหรือบาดแผลจากอุบัติเหตุที่เราขี่มอเตอร์ไซค์ มันสิ่งที่เราผ่านมันมาได้  
เรามองดีๆ อย่างมีสติ…ความตายมันไม่ได้น่ากลัวหรอก แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายคือ “ความฝันที่ตายและการอยู่แบบไม่มีความฝัน”
 
เรามีคนรอบตัวที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มองไปในตาเขามันเป็นแววตาของคนที่ไม่อยากมีชีวิต สิ่งนี้น่ากลัวกว่าคนที่การที่คุณจะตายไม่ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วมันดีเสมอ สิ่งที่ไม่ดีมันจะสอนเราว่าเราต้องแก้ไขอย่างไร สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นก็อย่าไปยึดติดกับมัน ถ้าเราอยู่กับมันนานเราจะหลงระเริง เราต้องอยู่ตรงกลาง ทำทุกวันให้มีความสุขเพราะเราไม่รู้เลยว่าเราจะตายเมื่อไหร่  คิดได้อย่างนี้เราก็ไม่อยากจะโกรธใครนาน เราอยากขอโทษรู้สึกดีเราก็บอกแบบนั้นจริง ๆ คนอื่นที่เขาขอบคุณเราเนี่ย เขาก็เป็นบันดาลใจให้เหมือนกัน มันเป็นพลังกลับมา ถึงจะไม่หวังอะไรแต่ว่าเราอยากให้คุณเข้มแข็ง โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนจากคุณเลย แต่เราอยากให้คุณเข้มแข็ง ให้คุณมีพลังในการต่อสู้

นิทรรศการครั้งนี้เนี่ยเค้าเป็นชื่อนิทรรศการภาพถ่าย Dear Cancer แต่มะเร็งที่รักจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16-30 ตุลาคมนี้ที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา หลังจากนี้เนี่ยเราอยากอยากจะไปจัดที่อื่นต่อ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ถ้ามีที่ไหนอยากให้ไปจัด ทางเรายินดีมากเลยค่ะสามารถติดต่อมาได้นะคะที่เพจ Art for Cancer by Ireal หรือที่ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยก็ได้ หรือ Facebook Ling Bhirada


Category:

Passion in this story