Categories: PASSION TALK

“เซีย ไทยรัฐ” แรงบันดาลใจ โอกาส ความสำเร็จ บนเส้นทางการ์ตูนล้อการเมือง | Passion Talk EP001

การ์ตูนล้อการเมือง เป็นหนึ่งในผลงานของคนทำข่าว ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นสื่อและงานศิลปะ มีแง่มุมที่เสนอแนะ ติติงแบบสร้างสรรค์ เพื่อชี้นำสังคมให้เดินหน้าไปบนหนทางที่ถูกต้อง…

วันนี้ passion gen จะพาไปรู้จักกับมือวาดการ์ตูนล้ออันดับต้น ๆ ของเมืองไทย “ศักดา แซ่เอียว” หรือ “พี่เซีย ไทยรัฐ” ผู้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนล้อมากว่า 42 ปี วาดการ์ตูนมาแล้วมากกว่าหมื่นรูป
ศักดา แซ่เอียว – เซีย ไทยรัฐ

Passion gen: เขียนการ์ตูนมาแล้วกี่ปี

พี่เซีย ไทยรัฐ : เริ่มวาดการ์ตูนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 จนถึงวันนี้ก็ 42 ปีแล้ว จำนวนรูปคงไม่ต้องนับเพราะมันเยอะมาก ทั้งรายสัปดาห์ รายวัน เฉพาะวาดการ์ตูนลงหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวันก็ 27 ปีแล้ว

Passion gen: จุดเริ่มของแรงบันดาลใจ

พี่เซีย ไทยรัฐ : ตอนเด็ก ๆ เป็นกิจกรรมของเด็กสมัยก่อนที่ชอบวาดรูปการ์ตูน พอดูทีวีก็เกิดความอยากที่จะวาดการ์ตูน ฝึกฝน ดูจากทีวีบ้าง ดูจากหนังสือการ์ตูนบ้าง พอเราโตขึ้นก็รวมกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันวาดการ์ตูนแล้วแลกกันดู เป็นความสนุกของวัยรุ่นสมัยก่อน เพราะไม่มีเกม ไม่มีอะไรให้เล่นมาก ยุคแรก ๆ ก็วาดภาพ คาวบอย อินเดียนแดง โรมัน ต่อมาก็วาดการ์ตูนญี่ปุ่น ซามูไร ที่เข้ามาช่วงนั้น

จากเขียนเป็นรูปก็เขียนเป็นเรื่อง เขียนเป็นเล่ม ๆ แล้วก็แจกเพื่อนแบ่งกันอ่าน เป็นเรื่องคาวบอยยิงกัน ฟันกันตามประสาเด็ก ระหว่างที่เรียนยังรับจ้าออกแบบสติกเกอร์ ทำสิ่งพิมพ์ ทำโปสเตอร์ และกราฟิกไปด้วย

Passion gen: ก้าวสู่การ์ตูนล้อการเมืองได้อย่างไร

พี่เซีย ไทยรัฐ : ตอนอยู่ ม. 3 จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทำการปฏิวัติตัวเองในปี พ.ศ. 2514 นั่นเป็นครั้งแรกที่ดึงความสนใจเราเข้าไปที่การเมือง เพราะนายกรัฐมนตรีปฏิวัติตัวเองเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและรับข่าวสารจากสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2514) ก็มีการสัมมนาออกค่ายเรื่องประชาธิปไตย การเมือง ความสนใจจึงเทมาที่การเมือง ติดตามข่าวสาร เข้าร่วมประชุม แต่ก็ยังไม่เคยคิดว่าเราจะได้มาทำงานด้านนี้

พอขึ้นมหาวิทยาลัยปี 4 พี่ป๊อก-พงษ์ ระวี” มาเรียกให้ไปเขียนการ์ตูนล้อให้กับหนังสือพิมพ์ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของผม จากนั้นผมก็เอาผลงานไปเสนอที่ประชาชาติรายสัปดาห์ พี่นิวัติ กองเพียร ที่ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์” ก็ได้มีโอกาสเขียนการ์ตูนประกอบบทความด้านการเมือง ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ทุกรูปที่ผมวาดผมก็จะตัดเก็บไว้

ผมก็มานั่งนึกจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เป็นบ่อเกิดแห่งความคิด รู้สึกว่าได้ใช้ปัญญา จึงมาคิดว่าอาชีพสายตรงที่เราเรียนมาน่าจะไม่ถูกกับเราแล้ว…เลยตัดสินใจจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนความคิด มีเสรีภาพ ไม่ตกเป็นเครื่องมือใคร ไม่ต้องอยู่ในกรอบของบริษัทหรือข้าราชการ”

Passion gen: การ์ตูนล้อในหนังสือพิมพ์ฉบับแรก

พี่เซีย ไทยรัฐ : โอกาสแรกที่ก้าวสู่สื่อสิงพิมพ์เป็นการวาดภาพประกอบให้กับ หนังสือพิมพ์ชาวกรุงของสยามรัฐ จากนั้นจึงมีโอกาสเจอพี่ ๆ บรรณาธิการรายวัน รายสัปดาห์ จึงถูกทาบทามไปทำ “หนังสือพิมพ์อาทิตย์รายวัน”ที่กำลังจะเปิดตัวต่อจาก “มติชนรายวัน” ก็ตกลงทำงานเลย แต่เป็นงานเขียนภาพประกอบหนังสือพิมพ์ ทำหัวคอลัมน์ กราฟิก และจัดหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งทั้งหมดต้องเรียนรู้ใหม่ ไม่มีสอนในรั้วมหาวิทยาลัย และยังมีหน้าที่ควบคุมการผลิต หนังสือพิมพ์อยู่ได้ 4 เดือนก็ต้องปิดไป

ผลงานการ์ตูนล้อเลียนการเมืองชิ้นแรกเกิดขึ้นที่ “หนังสือพิมพ์สยามนิกรรายสัปดาห์ หลังออกจากหนังสือพิมพ์อาทิตย์รายวัน ช่วงแรกเป็นการค้นหาสไตล์ตัวเองก่อนว่าเป็นแนวไหน รูปแรกที่เขียนเป็นการ์ตูนล้อรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็พอดีช่วงนี้มีข่าวครอบครัวหนึ่งที่ป่วยเป็นง่อยกันทั้งบ้าน ก็นำไอเดียมาเขียนเป็นการ์ตูนใส่หน้านายกและรัฐมนตรีเข้าไป ว่าเศรษฐกิจไม่ดีเป็นง่อยกันทั้งบ้าน ทุกคนที่เห็นก็โอเค

“การ์ตูนล้อเลียนการเมืองเป็นหนึ่งในบทบาทของการทำหน้าที่สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อชี้นำสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสม ในการทำงานจึงต้องยึดหลักของจริยธรรมสื่อ รักษาความเป็นกลาง ทำงานไม่รับสินบนใคร เมื่อพูดจะเสียงดังเพราะทุกคนจะฟังเรา พูดและวิจารณ์ใครได้เต็มปาก” ศักดา แซ่เอียว  หรือ “เซีย” ไทยรัฐ กล่าว

นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองที่ดีต้อง
1. สนใจข่าวสารบ้านเมือง และยืนอยู่บนหลักจริยธรรมของคน ของสื่อมวลชน
2. รักความเป็นธรรม เสมอภาค สร้างสรรค์ ไม่ทำร้าย ไม่ก้าวล่วง
3. มีความรู้ มีข้อมูล
4. กล้านำเสนอในสิ่งไม่ถูกต้อง
5. เหมาะกับกลุ่มคนอ่าน ถ้าคนทั่วไปอ่านเนื้อหาก็ต้องง่าย ๆ เข้าใจได้ไม่ลึกซึ้ง
6. มาจากพื้นฐานความจริงไม่ใช่การสร้างข่าวหรือเอาอคติส่วนตัวมาใส่
6 สิ่งที่ต้องมีในการ์ตูนล้อเลียนการเมือง
1. ความสดใหม่
2. นำเสนอให้น่าสนใจ สนุกสนาน
3. ควรมีความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือติเพื่อก่อ
4. มีจริยธรรม จรรยาบรรณ
5. ให้ความเคารพกับผู้ที่กล่าวถึงเสมอ ล้อเลียนไม่ใช่ใส่ร้าย
6. เป็นตัวแทนความคิดของประชาชน

“ไม่ว่าชอบหรือไม่ ต้องให้ความเคารพคนตัวการ์ตูนที่เราพูดถึง เราล้อเลียนไม่ใช่ใส่ร้าย ไม่ดูถูกความเป็นคนของคนที่เราเอ่ยถึง เพราะสิ่งที่เราต้องการคือ ความตลก ความสนุก และการชี้ให้เห็นถึงปัญหา เป็นการสร้างสรรค์ การเอาใบหน้าไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอื่น การเหยียบย่ำศักดิ์ศรี ดูถูกความเป็นคนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ”

Passion gen: ผลงานที่ชื่นชอบที่สุด

พี่เซีย ไทยรัฐ : ประมาณปี 2524 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศรัฐบาลฉบับที่ 66/23 มีผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและผู้ที่ต่อสู้ในป่า พรรคคอมมิวนิสต์ทยอยออกมามอบตัวเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทย ผมอยู่ที่หนังสือพิมพ์ “มาตุภูมิรายวัน” จึงเขียนการ์ตูนเป็นรูปแม่ แล้วมีทหารป่าคือพรรคคอมมิวนิสต์กับทหารบ้าน 2 คนก็นอนตายอยู่บนตักแม่ ซึ่งเป็นพี่น้องกันแต่ความเชื่อแตกต่างกันจึงมาฆ่ากันตาย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการในยุคนั้นชื่นชมว่าเป็นภาพที่ดีมาก พี่น้องไม่ควรฆ่ากันเพราะความแตกต่างทางความคิด

“ภาพนี้ตอกย้ำให้ผมยึดมั่นอยู่ในการเขียนการ์ตูน ให้ยืนอยู่บนหลักการ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เคารพกฎหมาย ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

Passion gen: อะไรบ้างที่เป็นหัวใจของความสำเร็จ

พี่เซีย ไทยรัฐ : โอกาสมีความสำคัญมาก ฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนเลย ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไร ไม่ว่าจะทำงานด้านไหน หรือกำลังจะเข้ามาสู่แวดวงอาชีพ  โอกาสเป็นสิ่งสำคัญเมื่อโอกาสวิ่งมาถึงเราแล้ว เราทำได้หรือเปล่า ถ้าเราคิดที่จะทำ เราก็ต้องพยายามทำให้ได้ อาจจะยังไม่ดีที่สุดในครั้งนั้นแต่ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น

เหมือนผมเขียนการ์ตูนล้อการเมืองรูปแรกในหนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา ผมใช้เวลามาก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ถกกันไปถกกันมา หาสไตล์จนลงตัวจึงเขียนออกมา ตอนนั้นว่าดีที่สุดแล้วแต่ก็ยังไม่ดีที่สุด แต่เมื่อโอกาสมันมาให้เราทำ เราก็ทำให้ได้ จากขั้นแรกก็จะทำให้เรามั่นใจ กล้าที่จะเดินต่อเนื่อง แล้วมีโอกาสก็ทำให้ดีที่สุด แน่นอนอาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง ต้องยอมรับผิดต้องแก้ไข แต่ให้ทำไปเรื่อย ๆ อย่างตั้งใจ อย่าท้อ สุดท้ายก็สำเร็จได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการหาสไตล์ของตัวเอง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มีสไตล์ของตัวเองเยอะ อีกประการคือ เวทีที่จะเผยแพร่ผลงาน ซึ่งเวทีเดิมมีน้อย ทุกคนเลยเลือกเผยแพร่ผลงานผ่านโซเชียล

การ์ตูนล้อการเมืองนี่มันก็ยากเหมือนกันนะ เด็กรุ่นใหม่มีทักษะในการวาดรูปมาก ในเพจ ในเฟซบุ๊กก็จะมีการ์ตูนการเมืองโพสต์ขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าพวกคุณวาดไม่เก่ง หลายคนฝีมือดี ความคิดดี แต่ความลึกซึ้งของมุมมองต่อสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ชัด บางคนอาจจะมองแบบผิวเผิน ซึ่งทำได้ในโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะยังไม่เหมาะ

ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นใหม่ ถ้าได้มีโอกาสเขียนการ์ตูนการเมือง เขียนแล้วไม่มีโอกาสลงหนังสือพิมพ์ ก็ต้องลงในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ว่าคุณจะลงที่ไหน ก็ต้องมีความตั้งใจ ยึดมั่นใจจริยธรรม เขียนในสิ่งที่ถูกต้อง เรื่องราวต้องไม่เจาะจงทำร้ายใคร หรือเอื้อประโยชน์ใคร ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นแค่คนใส่ร้ายป้ายสี…

ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไร ไม่ว่าจะทำงานด้านไหน หรือกำลังจะเข้ามาสู่แวดวงอาชีพ  โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อโอกาสวิ่งมาถึงเราแล้ว เราทำได้หรือเปล่า ถ้าเราคิดที่จะทำ เราก็ต้องพยายามทำให้ได้ อาจจะยังไม่ดีที่สุดในครั้งนั้นแต่ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น

ศักดา แซ่เอียว – เซีย ไทยรัฐ


อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.