ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ UNDP ประเทศไทย และ มูลนิธิรักษ์ไทย จัดกิจกรรมต่อยอด โครงการ #UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่า เพื่อเตรียมความพร้อมชุมชนในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เริ่มเดินทางเข้ามา โดยพนักงานธนาคารได้ผนึกกำลังกันลงพื้นที่ ให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เทคโนโลยีทางการเงิน ตรวจสุขภาพทางการเงิน ในรูปแบบกิจกรรม workshop แก่ชาวชุมชนเกาะเต่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมต่อยอดกิจกรรมวางซั้งปลากับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งอนุบาลและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการจัดหาทุ่นไข่ปลา อำนวยความสะดวกการจอดเรือ เพื่อปรับภูมิทัศน์และเพิ่มความปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดแม่หาดและจัดหาอุปกรณ์สำหรับเก็บขยะบนเรือที่ให้บริการบนเกาะเต่าทุกลำ
โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า เกิดขึ้นจากการระดมทุนสาธารณะ ในรูปแบบ Crowdfunding ด้วยการรับบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ของธนาคาร เพื่อนำไปจ้างคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก เก็บขยะในทะเลในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตั้งเป้าระดมทุน 1.94 ล้านบาท โดยระดมทุนได้ 2.75 ล้านบาท สำหรับเงินบริจาคส่วนที่เหลือ ถูกนำไปต่อยอดโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกาะเต่าอีกจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่ม Taxi Boat เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการชายหาดทะเลปลอดเชือกเพื่อการท่องเที่ยวอ่าวแม่หาด โครงการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยซั้งปลา โครงการส่งเสริมเยาวชนจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการท่องเที่ยวตำบลเกาะเต่า และโครงการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมธรรมชาติพร้อมกิจกรรมพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว
นางแอนนาเบล ทรินิแดด ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงการ BIOFIN ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีช่องว่างเรื่องการเงินเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) อยู่มาก แต่เราคาดหวังว่าความร่วมมือขององค์กรภาคี และการนำกลไกการเงินและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพมานำร่องแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับเทศบาลในครั้งนี้ จะสามารถช่วยปิดช่องว่างเหล่านั้นได้ ความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ BIOFIN ของ UNDP ขององค์กรภาคี ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย มูลนิธิรักษ์ไทย เทศบาลตำบลเกาะเต่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการร่วมผลักดันการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างอย่างยั่งยืนต่อไปในประเทศไทย
นางสาวบุญธิดา เกตุสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาที่เกาะเต่า คนเกาะส่วนใหญ่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวจึงขาดรายได้ ไม่มีงานทำ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือน โดยเฉพาะลูกหลานที่กำลังศึกษาที่ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อตามครอบครัวไปหางานทำในพื้นที่อื่น มูลนิธิรักษ์ไทยจึงได้ทำการศึกษาปัญหาร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า และได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงไทย และ UNDP ในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยการจ้างงานกลุ่มเรือรับจ้างขนาดเล็กในการเก็บขยะทางทะเล รวมทั้งได้ร่วมกันธนาคารกรุงไทยและ UNDPในการวางแผนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมกลุ่มอาชีพของชุมชน เช่น กลุ่มปลาตากแห้ง กลุ่มทำผ้ามัดย้อม และมีการต่อยอดในการทำซั้งปลากับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน รวมทั้งการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลายหลายทางชีวภาพให้กับเยาวชน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
นางสาวนวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลสำเร็จจากโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า นอกจากทำให้ธนาคารได้รับรางวัลระดับสากลประเภท Great Practice ในเวที Global Corporate Sustainability Awards: GCSA 2021 จากไต้หวันแล้ว ธนาคารถือว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องด้านการใช้นวัตกรรมทางการเงินสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และการยกระดับให้ชุมชนเกาะเต่าเป็นกรณีศึกษา ทั้งด้านการพัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอกย้ำถึงการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Banking) สร้างความเติบโตให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดง และ ทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เกาะเต่ามีความสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เป็นสวรรค์ของนักดำน้ำจากทั่วโลก คนในพื้นที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี พร้อมจะมอบรอยยิ้มให้นักท่องเที่ยว การร่วมกิจกรรมใน UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่าในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ถึงวิถีชาวประมง ในการใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งในเรื่องการทำซั้งปลา การทำทุ่นไข่ให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก และการทำอาชีพเสริมจากการทำประมง อาทิ ผ้ามัดย้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับวิถีชีวิตของชุมชน กิจกรรมในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญในการผลักดัน และส่งเสริม ให้เราตระหนักถึงความสำคัญและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม