Categories: INSPIRE

PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.28 | ชวนรู้จักอาชีพ “Head Hunter” นายหน้าค้างาน!

วันนี้เราจะมาแนะนำหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ นั่นก็คืออาชีพ นักล่าค่าหัว (Head Hunter) หรือ Recruiter ซึ่งมีหน้าที่หลักๆ ในการหาคนมาให้ได้ตามความต้องการของบริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่บริษัทนั้นๆ ต้องการจะร่วมงานด้วย เรียกได้ว่าพวกเขาเป็นเหมือนดั่งแมวมองในวงการธุรกิจนั่นเอง

 

คลาสในวันนี้ เราจะมาพูดคุยกับ “เฟิน-สรวีย์ น้อยดัด” และ “ไนน์-ชนัญญา เลือดฉิม” สองรีคูทเตอร์สาว ถึงประเด็นคำถามที่เราสงสัยว่าอาชีพ Head Hunter คืออะไร ทำงานกันอย่างไร อาชีพนี้น่าสนใจแค่ไหน และถ้าใครที่สนใจสายอาชีพนี้ควรจะเริ่มต้นยังไง วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับสายอาชีพนี้กันให้มากขึ้น

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

 

 

แนะนำตัวหน่อย

“สวัสดีค่ะ ชื่อ ไนน์ นะคะ เป็น Recruitment Consultant จาก ANCOR Thailand ค่ะ”

 

“สวัสดีค่ะ เฟิน ค่ะ เป็น Associate Consultant อยู่ executive search แห่งหนึ่งค่ะ”

 

 

อาชีพ Headhunter คืออะไร

ไนน์ – “เฮดฮันเตอร์ (Headhunter) หรือ รีคูทเตอร์ (Recruiter) คือการสรรหาพนักงานปกติเนี่ยแหละค่ะ แต่ Headhunter เป็นเหมือนชื่อแฟนซีหน่อยของรีคูทเตอร์ ก่อนอื่นไนน์จะขออธิบายก่อนว่าอาชีพนี้จะมี 2 ประเภท คือ

 

1.จะเป็นรีคูทเตอร์ที่อยู่ในบริษัทเอกชนต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า in house จะมีหน้าที่สรรหาพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น เซนทรัลอยากได้พนักงานตำแหน่ง Product Manager คนที่เป็นรีคูทเตอร์ของเซนทรัลก็จะสรรหาคนตามช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น JobsDB เอย หรือ JobThai เอย แล้วเรียกเข้ามาสัมภาษณ์ดำเนินการตามกระบวนการแล้วก็จ้าง อันนี้คือหน้าที่ของรีคูทเตอร์ในบริษัทต่าง ๆ

 

2.รีคูทเตอร์ที่อยู่ในเอเจนซี่ ซึ่งหลัก ๆ จะทำงานเพื่อลูกค้าที่เป็นบริษัทเอกชนต่าง ๆ เนี่ยแหละ เพราะในบริษัทใหญ่ ๆ เขาอาจจะงานล้นมือ รีคูทเตอร์ในบริษัทจะไม่ได้ทำหน้าที่แค่หาคนอย่างเดียว เขาจะมีงานเอกชน มีงานบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งบางทีงานมันค่อนข้างจะล้นมือแล้วเขาไม่มีเวลาที่จะมานั่งสรรหาคนเอง

 

หรือบางทีเขาอาจจะอยากได้คนจากบริษัทที่เป็นคู่แข่ง การที่ดึงตัวมาเองอาจจะน่าเกลียดเกินไป เขาก็จะมาใช้เอเจนซี่ในการดึงตัวให้ ตอนนี้ไนน์ทำงานเป็นรีคูทเตอร์ในเอเจนซี่อย่าง ANCOR Thailand เพราะฉะนั้นไนน์จะทำงานสำหรับลูกค้าบริษัทต่าง ๆ ที่เขามองว่า บางตำแหน่ง บางอย่าง เขาไม่ถนัดทำเองหรือเขาไม่มีเวลาแล้วเขามาจ้างเรา อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของไนน์ในการที่จะหาคนให้กับเขาตามความต้องการที่เขาอยากได้

 

เขาจะลิสต์มาเลยว่าต้องการใคร ตำแหน่งไหน แล้วไนน์ก็หาคนให้ตามที่เขาลิสต์มา หรือบางทีเราเป็นคนคุยกับแคนดิเดต ก็คือผู้สมัครในตลาด เราก็จะรู้ว่าในตลาดเป็นยังไง ถ้ามันมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามสภาพในตลาด เราก็จะแนะนำเขาว่า เงินเดือนของตำแหน่งนี้ในตลาดอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับเจ้าอื่นได้นะ อันนี้จะเป็นลักษณะการทำงานคร่าว ๆ ของรีคูทเตอร์หรือว่าเฮดฮันเตอร์ อาจจะพูดง่าย ๆ ว่าเราเป็นเหมือนคนกลางที่หาคนให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการ

 

แต่อย่างที่ไนน์บอกว่ารีคูทเตอร์ในเอเจนซี่จะทำงานให้กับลูกค้าที่จ้างเรา เพราะฉะนั้นจะมีเรื่องของค่าคอมมิชชั่นเป็นแรงจูงใจ รีคูทเตอร์ที่ทำงานในเอเจนซี่จะเป็นเหมือนกึ่ง sale กึ่ง HR มันจะไม่ได้เป็น HR จ๋าเลย แต่ว่าถ้าเป็นรีคูทเตอร์ในบริษัทจะมีความเป็น HR เลย เพราะว่าเขาทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัท ก็คือการหาคนที่ดีที่สุดให้บริษัทเราไปเลย

 

แล้วในรีคูทเมนต์จะมีการแบ่งลักษณะออกเป็น 2 อย่าง คือ 1.Mass Recruitment คือการหาคนแบบเยอะ ๆ เช่น คอลเซนเตอร์ หรือพนักงานที่เงินเดือนประมาณ 1 หมื่น ถึง 5 หมื่น 2.Executive Search คือการหาคนในระดับผู้บริหารที่เงินเดือนตั้งแต่ 1 แสน จนถึง 1 ล้านบาท ฉะนั้นการที่จะได้คอนแทคคนในระดับผู้บริหารมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางทีเขาไม่ได้มองหาโอกาส แต่บางทีลูกค้าชี้มาเลยว่า อยากได้ CEO ของบริษัทนี้ ไปจีบมาให้หน่อย เราก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คอนแทคเขามา ซึ่งบางทีก็ต้องโน้มน้าวหรือมีอะไรดึงดูดเขาว่า ลูกค้าเราต้องการร่วมงานกับเขานะ เพื่อให้ได้คอนแทคมา แล้วโน้มน้าวให้เขายอมไปคุยกับลูกค้าเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

 

 

Headhunter ทำงานกันอย่างไร

เฟิน – “เฟินเริ่มการทำอาชีพ Recruitment Consultant ด้วยการเป็น Researcher Consultant มาก่อน ซึ่ง Researcher Consultant หรือจะเรียกว่า 180 องศาก็ได้ ซึ่งจะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเลยที่ทำเฉพาะในส่วนของผู้สมัคร วิธีการทำงาน คือ เรารับบรีฟมาจากลูกค้าว่าต้องการอะไร ตำแหน่งไหน แล้วเราก็ไปหาคนตามตำแหน่งที่ลูกค้าต้องการจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ส่วนมากก็จะเป็น LinkedIn JobsDB JobThai ที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว หรือในส่วนของฐานข้อมูลผู้สมัครที่เรามีอยู่แล้ว หลังจากที่เราคุยกับผู้สมัครแล้ว เราก็จะส่งประวัติผู้สมัครไปให้ลูกค้าของเราดูอีกทีว่าต้องการจะสัมภาษณ์ไหม ถ้าต้องการเราก็จะช่วยนัดตารางให้ลูกค้า

 

อีกส่วนนึงคือ 360 องศา เราจะต้องมีการทำงานร่วมกับฝั่งของลูกค้าด้วยว่า เขาต้องการคนแบบไหน เงินเดือนเท่าไหร่ หรือว่าต้องการคนจากบริษัทนี้ คนนี้โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น เหมือนกับว่าเราต้องทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกเท่านึง หลังจากที่เราส่งประวัติให้ลูกค้า เขาต้องการเรียกสัมภาษณ์ นัดหมายตารางเวลากันเรียบร้อย ถ้าเขาคุยกันเรียบร้อย เราก็คุยเรื่องข้อเสนอให้ เราเช็คให้ต่อด้วยว่าผู้สมัครคนนี้เป็นยังไงบ้างจากบริษัทเก่าที่เขาทำอยู่ แล้วก็มาคุยว่าผู้สมัครจะเริ่มงานเมื่อไหร่ ตรวจสุขภาพเป็นยังไง หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการภายในของลูกค้า จบ ปิดจ็อบนั้นอย่างสวยงาม ได้ค่าคอมฯ (หัวเราะ)

 

ในส่วนของค่าคอมฯ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าอยู่ในช่วงเท่าไหร่ ซึ่งก็ขึ้นกับค่าจ้างที่ลูกค้าจ่ายให้เราด้วย แล้วแต่ตลาด แล้วแต่อุตสาหกรรมที่เราทำด้วย แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้สมัครไม่แฮปปี้กับข้อเสนอหรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม แล้วลูกค้าต้องการให้เราหาคนใหม่ให้ เราก็จะวนกลับมาทำกระบวนการเดิมใหม่อีกรอบ เราต้องหาผู้สมัครคนใหม่ตามความต้องการของลูกค้าให้ได้”

 

 

อยากให้ช่วยรีวิวว่าอาชีพเป็นยังไงบ้าง

ไนน์ – “ไนน์เป็นคนชอบคุยกับคน ไนน์ก็เลยอยากรีวิวว่า จุดแข็งของอาชีพนี้คือการที่เราจะได้คุยกับคนเยอะ เราได้เห็นอาชีพของที่เงินเดือนหลักแสนว่าอาชีพของเขามันเริ่มจากตรงไหน เขาพัฒนาตัวเองยังไง เขาวางแผนเส้นทางอาชีพเขายังไง ซึ่งไนน์มองว่ามันเป็นข้อดีมาก ๆ ส่งผลดีกับตัวไนน์เองด้วย ทำให้ไนน์สามารถวางแผนชีวิตตัวเองต่อได้ สมมติว่าวันนึงไนน์เกิดอยากเข้าเป็นผู้บริหารในบริษัทสักที่ จากจุดที่ไนน์อยู่ตรงนี้ ไนน์ควรจะต้องวางเส้นทางอาชีพให้ตัวเองต่อยังไง เรารู้ความเคลื่อนไหวในแต่ละบริษัทว่าตอนนี้ในตลาดเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องความเฉียบแหลมในเชิงธุรกิจ (Business Acumen) เราจะดีมาก ๆ

 

ต่อมาคือเรื่องของเงิน ถ้าใครเป็นคนที่มองเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ ไนน์ว่าอาชีพนี้ตอบโจทย์ เพราะว่าแต่ละที่จะมีค่าคอมฯ ที่ต่างกัน อย่าง ANCOR ที่ไนน์ทำอยู่ ค่าคอมฯ ค่อนข้างจะสูงมาก ๆ ในตลาด ในกรณีที่คุณสามารถปิดยอดรวมได้เยอะ ๆ ต่อเดือนคุณสามารถที่จะได้ค่าคอมฯ 3-4 แสนได้ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องเงินมาก ๆ แต่ในทางกลับกัน อาชีพนี้ก็ค่อนข้างที่จะกดดันสูงในเรื่องยอดที่เราต้องจัดการ

 

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องคอนเนคชั่นที่เราจะได้จากอาชีพค่อนข้างเยอะ เพราะเราคุยกับคนเยอะ ผู้สมัครหรือลูกค้าที่เราคุยในแต่ละครั้ง มันจะไม่ได้คุยกับเขาในความสัมพันธ์แบบคนร่วมงาน มันจะค่อนข้างเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด อาชีพนี้ต้องเจ๊าะแจ๊ะเก่งนิดนึง (หัวเราะ) ในการที่จะได้ข้อมูลจากคนแปลกหน้า เราต้องเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ซึ่งบางทีคอนเนคชั่นเหล่านี้ ถ้าเขารู้สึกว่าเราทำงานดี สุดท้ายเขาจีบเราเข้าไปทำงานในบริษัทเขาด้วยนะ มีเยอะมากที่รีคูทเตอร์ในเอเจนซี่ที่สามารถทำให้ลูกค้าประทับใจ แล้วลูกค้าชวนไปทำงานในบริษัทด้วย อันนี้เป็นอีกข้อดีนึง

 

ข้อดีอีกอย่างคือเราได้ใช้ภาษาอังกฤษเยอะ อาจจะแล้วแต่บริษัทด้วย แต่สำหรับไนน์ได้ใช้ภาษาเยอะ เพราะว่าได้ตามจีบผู้สมัครต่างชาติค่อนข้างเยอะ เราก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเก่งมาก แต่อาชีพนี้ก็ต้องการคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดีในระดับดีถึงดีมาก เพราะเอเจนซี่พวกนี้ไม่ได้มีสาขาแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว อาจจะต้องมีติดต่อประชุมกับสาขาในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกบ้าง อย่างน้อยเขียนอีเมลได้หรือนำเสนอผลงานบางอย่าง ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ

 

สุดท้ายเป็นเรื่องของอาชีพ ที่เราสามารถวางแผนอนาคตหน้าที่การงานเราได้ ในอนาคตสมมติว่าเราอยากไปสายรีคูทเตอร์ต่อเราจะทำยังไง หรือถ้าเราไม่อยากทำรีคูทต่อแล้ว เราสามารถที่จะเบนสายไปทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน เพราะว่าเราเห็นอาชีพของคนอื่นมา เราก็วางแผนให้ตัวเองได้

 

ส่วนข้อเสีย คือ เรื่องความกดดันที่มันสูงมาก ๆ ถ้าเป็นรีคูทเตอร์ในเอเจนซี่จะไม่ได้เป็นแค่ HR แต่จะเป็นเซลล์นำแล้วตามด้วย HR เพราะฉะนั้นมันจะมียอดที่เราจะต้องทำตามให้ได้ ซึ่งไนน์มองว่าถ้าคนที่ไม่ชอบทำตามเป้าหมายในแต่ละเดือนก็ไม่มีความสุขไปเลย เพราะมันเครียดมาก ๆ แบบไตรมาสนี้เราต้องปิดให้ได้กี่แสน ถ้าทำไม่ได้จะมีผลกระทบตามมาแล้ว อีกเรื่องที่ไนน์มองว่าเป็นข้อเสีย คืออาชีพนี้ต่อให้ทำดีแค่ไหน แต่คนที่ตัดสินใจไม่ใช่เรา เหมือนเราพาคนสองคนมาแต่งงานกัน เราพาเขามาเจอกันแล้วแต่ถ้าเขาเข้ากันไม่ได้ก็จบ เราคุยกับผู้สมัครมาสองเดือน อยู่ดี ๆ เขาบอกว่าพี่ไม่อยากไปก็คือที่ทำมาทั้งหมดสองเดือนไม่มีประโยชน์เลยนะ

 

มันเป็นอาชีพที่ค่อนข้างทดสอบจิตใจมาก ๆ เราต้องมูฟออนจากความผิดหวังให้ไว ไม่เสียใจอะไรนาน เพราะต่อให้ทำดีที่สุดแต่สุดท้ายการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่เรา

 

ข้อเสียอีกอย่างนึง คือ อาชีพนี้นอกจากกดดันแล้ว มันมีการแข่งขันที่สูงมาก ๆ เพราะว่าในงาน ๆ นึง เราไม่ได้ทำแค่คนเดียวนะ คือในตลาดไทยเอเจนซี่มีประมาณ 20 เจ้า แล้วบางบริษัทที่ใช้เอเจนซี่หลาย ๆ เจ้า แจกงานทีแจกพร้อมกัน 20 เจ้า แปลว่าเราแข่งกับคนอีก 20 คนในตลาด บางทีโทรไปหาผู้สมัครคนนึง แต่คนนี้เคยโดนเจ้าอื่นจีบมาแล้วประมาณ 5-6 เจ้า แล้วบางครั้งไม่ใช่ต้องแข่งแค่เอเจนซี่ในไทยอย่างเดียว แต่แข่งกับเอเจนซี่ต่างประเทศด้วย บางทีคนต่างประเทศก็โทรมาจีบคนไทยในไปทำงานด้วย เราก็เหมือนต้องแข่งขันตลอดเวลา”

 

เฟิน – “เฟินมองว่าอีกอย่างที่เราได้คือทักษะเฉพาะต่าง ๆ อย่างถ้าเรากำลังดูแลผู้สมัครในสายอีคอมเมิร์ชอยู่ เราก็จะได้สกิลในสายธุรกิจ หรืออย่างเฟินที่ดูแลในสายสุขภาพและยาก็จะรู้ในเรื่องทักษะเฉพาะทางมากขึ้น เราอาจจะไม่ได้เก่งเหมือนคนที่จบตรงสาย แต่เราก็จะรู้ว่าถ้าเราจะจ้างคนเข้าไปในตำแหน่งนั้น ๆ ในสายนั้น ๆ จะต้องไปอยู่ตรงไหนจุดไหน แล้วทางเราอยากจะเปลี่ยนสายไปทำงานในสายนั้น เราก็จะรู้แล้วว่าเส้นทางอาชีพที่ควรจะเดินต้องทำยังไงบ้าง

 

เราจะได้ Soft skills เยอะมาก พวกทักษะการเจรจา การวิเคราะห์ การหาข้อมูล หรือ Hard skills อย่างพวก Data การทำงานปัจจุบัน Soft skills ค่อนข้างสำคัญมาก ๆ เพราะเขามองว่า Hard skills ฝึกกันได้ แต่ Soft skills เป็นอะไรที่ต้องเรียนรู้เอง ต้องทำมาเรื่อย ๆ เป็นประสบการณ์

 

สำหรับข้อเสียขอเสริมอีกนิดว่า ในอาชีพนี้ต่อให้เราทำดีแค่ไหนแต่ว่าเราไม่สามารถทำได้ด้วยความสามารถเราอย่างเดียว มันต้องพึ่งดวงด้วยส่วนนึง เพราะบางครั้งมันก็ไม่ใช่ช่วงที่คนกำลังหางานกัน ตลาดก็อาจจะแผ่วไปนิดนึง ยิ่งถ้าช่วงที่คนรอโบนัสเขาก็ไม่ย้ายงานกัน การที่จะจีบคน ๆ นึงมาทำด้วยก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน ถ้าเขาไม่ตอบเราหรือเขากำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ เราก็คงไม่ไปตามตื๊อเขาอยู่แล้ว ถึงคน ๆ นั้นจะเป็นเพชร เป็นคนที่สุดยอดแล้วก็ตาม มันก็ต้องหาใหม่แล้วเราก็จะผิดหวัง เราไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่าจะให้อะไรเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น บางวันที่เราหาผู้สมัครให้ลูกค้าไม่ได้ เราจะนอยด์มากจนนอนไม่หลับเลยก็มี

 

หรือที่แย่กว่านั้น บางคนคุยกันมาตั้งนานหรือเซ็นสัญญาแล้วด้วยซ้ำแต่เขาไม่ไปเริ่มงาน เพราะฉะนั้นพอเราล้มปุ๊บ ต้องลุกขึ้นจากความผิดหวังให้ไว ต้องจัดการกับอารมณ์และความผิดหวังให้ดี ไม่งั้นเราก็จะทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะอาชีพนี้มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ค่อนข้างเยอะ และสุดท้ายเราก็ต้องมาชั่งใจดูว่าเรามีความสุขกับอาชีพนี้จริง ๆ ไหม”

 

ค่าตอบแทนของอาชีพนี้เป็นยังไงบ้าง

ไนน์ – สำหรับเรื่องค่าตอบแทนของอาชีพรีคูทเตอร์ในตลาด มันค่อนข้างจะท้าทายและมีการแข่งขันสูงอยู่เหมือนกันสำหรับเด็กจบใหม่ เงินเดือนของรีคูทเตอร์ในบริษัทจะต่ำกว่ารีคูทเตอร์ที่อยู่ในเอเจนซี่ เพราะว่าตัวเนื้องานเอยอะไรเอย สมมติว่าถ้าเป็น Top tier ของรีคูทเมนต์เอเจนซี่ เงินเดือนพื้นฐานจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท แต่ว่าถ้าอยู่ในชั้นที่รองลงมาหน่อยก็จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท และถ้าเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานเงินเดือนก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 18,000-20,000 บาท ตามปกติทั่วไป

 

ทั้งนี้เงินเดือนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย เช่น อยู่ที่บริษัทนี้มา 1 ปี ปิดยอดได้เยอะ เวลาย้ายบริษัทก็จะสามารถเรียกเงินเดือนได้เยอะขึ้นตามไปด้วย แต่รายได้หลักของรีคูทเตอร์ในเอเจนซี่จะมาจากค่าคอมมิชชั่นมากกว่า ในกรณีที่ปิดยอดได้ (หัวเราะ) ซึ่งบางคนที่หาผู้สมัครให้ลูกค้าไม่ได้เดือนนั้นก็ได้แค่เงินเดือนอย่างเดียว นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่ทำอาชีพนี้ต่อ เพราะว่าปิดไม่ได้ยอดไม่ถึง คนอื่นปิดยอดได้แต่เราปิดไม่ได้เลย แล้วก็เครียดไม่ได้มีความสุขกับอาชีพนี้แล้วก็มี”

 

 

อาชีพนี้เหมาะกับคนแบบไหน

ไนน์ – “ต้องเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีระดับนึง ถ้าคุณไม่ชอบคุยกับคนเลย เป็นมนุษย์ที่รำคาญคน อาชีพนี้ไม่เหมาะกับคุณแล้ว เพราะการทำอาชีพนี้คุณจะได้เจอคนหลากหลายมาก ๆ ซึ่งแต่ละคนเราต้องเข้าหาเขาต่างกัน บางคนถ้าเขาเฟรนลี่อันนี้คุยง่าย แต่ถ้าบางคนนิ่งหรือมีโลกส่วนตัวสูง เราก็ต้องหาวิธีในการเข้าหาเขาให้ได้ ฉะนั้นต้องเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีทักษะในการเข้าสังคม ในการที่จะสื่อสารคุยกับคน ถ้าคุณใช้เวลานานเกินไปแล้วคุณไม่ได้จากเขา แปลว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดแล้วนะ

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ดี แล้วไม่ได้คุยไปเรื่อย ๆ ด้วยนะ แต่ต้องคุยเพื่อจับประเด็น เอาอะไรที่เราต้องการจากเขา ถ้าเขาเริ่มไหลออกนอกประเด็น คุณต้องตบกลับเข้าเรื่องให้ได้ แล้วต้องไม่ใช้เวลาคุยนานเกินไป เพราะว่าสำหรับรีคูทเตอร์เวลาค่อนข้างสำคัญมาก การจัดการเวลาสำคัญมาก

 

เหมาะกับคนที่มีไหวพริบดี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง เพราะบางทีผู้สมัครถามคำถามที่อาจจะท้าทายเรามาก ๆ หรือเราตอบไม่ได้เพราะลูกค้าไม่ได้ให้ข้อมูลมา เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ปัญหาจบลงสวยที่สุด แล้วก็ต้องเป็นที่อยากรู้อยากเห็นประมาณนึง ส่วนตัวไนน์ว่าไนน์ทำอาชีพนี้ได้ดีเพราะเป็นคนขี้เสือก (หัวเราะ) ถ้าอยากรู้ต้องรู้ให้ได้ อย่างถ้าลูกค้าอยากได้ผู้สมัครคนนี้ ไนน์จะสืบจนกว่าจะได้คอนแทค เราต้องมีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อระดับนึงด้วย ต้องเป็นคนกล้า ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง เพราะเราไม่ได้แค่แข่งกับตัวเอง แข่งกับเอเจนซี่เจ้าอื่น แต่ต้องรับมือกับผู้สมัครด้วย

 

แล้วตลาดในตอนนี้เขาจะดูเรื่องทัศนคติเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเขาจะอยากได้คนที่มองโลกในแง่บวก หรือแม้แต่คนที่สามารถจัดการงานได้หลาย ๆ พร้อมกัน พวกนี้เป็นสิ่งสำคัญและนายจ้างค่อนข้างหาเด็กจบใหม่เยอะ อาชีพนี้ไม่ว่าคุณจะจบอะไรมาก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องจบอะไรเฉพาะทางด้วย”

 

 

คนที่สนใจอาชีพนี้จะต้องเริ่มต้นยังไง

เฟิน – “คนที่สนใจอาชีพนี้ไม่ว่าคนที่เพิ่งจบใหม่ หรือคนที่ทำอาชีพอื่นมาแล้วและอยากจะลองเปลี่ยนสายงานมาเริ่มต้นกับงานนี้ อาจต้องลองถามตัวเองดูว่าจากที่หาข้อมูลมาอาชีพนี้กดดันมากน้อยแค่ไหน เหมาะกับตัวเองไหม เราแบกรับความรู้สึกตรงนี้ได้ไหม แล้วจริง ๆ passion ของเราอยู่ตรงไหนกันแน่ อย่างเฟินก็ไม่ได้รู้สึกว่าเงินมันตอบโจทย์ทุกอย่างนะถ้ามันเครียดเกินไป เราไม่ได้อยากจะไปแข่งกับใครเยอะแยะ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าถ้าเข้ามาในสายอาชีพนี้เราจะโอเคไหม

 

ถ้าตอบตัวเองได้แล้วจริง ๆ ว่าอยากจะทำ อาจจะเริ่มจากการหาข้อมูลของบริษัทเอเจนซี่ดัง ๆ ก็ได้ หรือบริษัทที่เราสนใจจะร่วมงานด้วย หรือลองดูว่าเอเจนซี่ไหนที่เราพอมีคนรู้จักทำงานอยู่ เราอาจจะลองไปถามข้อมูลดูว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นยังไง ยอดที่ต้องปิดต่อเดือนสูงไหม การทำงานเป็นยังไง เพราะบางบริษัทก็อาจจะต้องแข่งขันสูงทั้งเรื่องยอดหรือวัฒนธรรมองค์กรเอง บางบริษัทอาจจะชิวหน่อย ยอดไม่สูงมาก ค่าคอมฯ อาจจะไม่ได้สูงมาก แต่เหมาะกับเรา แล้วก็ลองกดเข้าเว็บไซต์หางานดู หรืออย่างที่บอกว่าถ้ามีคนรู้จักทำงานอยู่ ก็อาจจะลองถามเขาดูว่ามีตำแหน่งว่างไหม เปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มี passion ด้านนี้ไหม เพราะเฟินเชื่อว่าหลาย ๆ บริษัทเปิดโอกาสให้กับคนที่สนใจอยากจะลองทำจริง ๆ แต่ต้องพร้อมที่จะสู้พร้อมที่จะทำ หรือถ้าสนใจทำงานเป็นรีคูทเตอร์ในบริษัท ก็สมัครกับบริษัทนั้น ๆ ที่เราสนใจโดยตรงเลย”

 

 

อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber

ไนน์ – “เหมือนที่ไนน์บอกว่า Soft skills ค่อนข้างสำคัญ มนุษย์สัมพันธ์ การสื่อสาร การมองโลกในแง่บวก การทำงานได้หลายอย่างพร้อมกัน เป็นสิ่งสำคัญมากที่นายจ้างในปัจจุบันกำลังมองหาอยู่ ส่วน Hard skills เป็นอะไรที่ฝึกกันได้ แล้วเวลาสัมภาษณ์งานอย่างแรกที่อยากให้ 1st Jobber ทำ คือ การเตรียมตัว การหาข้อมูลของบริษัท เขาจะคาดหวังว่าเราจะทำความเข้าใจมาแล้วว่าบริษัทเขาเป็นยังไง ถ้ามีคำถามอะไรให้เตรียมตัวมาให้ดี ให้เขาเห็นว่าเรามีการเตรียมตัวมาดีนะ เราอยู่ตรงนี้และพร้อมที่จะคุยกับคุณมาก ๆ เลยนะ

 

อีกอย่างคืองานอะไร ถ้าสามารถหาข้อมูลเตรียมตัวมาได้ก็ทำเลย อย่างน้อยถ้า Hard skills เราสู้คนอื่นไม่ได้ เขาจะมาดูเรื่องอื่นแทน เช่น คนนี้สนใจจริงไหม เตรียมตัวมาดีไหม ซึ่งบางทีมันอาจจะไปตัดกันที่ตรงนี้ก็ได้

 

เฟิน – “เฟินขอยืมคำของหัวหน้าเฟินมาแล้วกัน เป็นคำที่เฟินจำมาแล้วคิดว่ามันดีนะ มันใช้ได้กับหลายสถานการณ์ คือเขาบอกว่า

 

‘อย่าไปกลัว ไม่ว่าจะเริ่มทำอะไรก็ตามให้เริ่มแล้วลองทำไปเลย ถ้าไม่ลองทำเราก็จะไม่รู้ เหมือนกับตอนที่เราสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราเคยคิดไหมว่าถ้าเราสอบติดคณะนี้แล้วเราจะเรียนต่อไม่ไหวจนจบ เราไม่เคยคิดหรอก เราคิดแค่ว่าสอบเข้าไปได้ก็โอเคแล้ว’

 

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราสมัครงาน ๆ หนึ่งแล้วเราอยากทำงานนี้จริง ๆ หรือแม้แต่อยากจะลองทำเพื่อให้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ก็ลองไปเลย ทำไปเลย แต่สุดท้ายแล้วนอกจาก Hard skills ที่เรามีจากคณะที่เราเรียนจบ หรือจากสิ่งที่เราไปเรียนรู้เพิ่มเติมมาด้วยตัวเอง เราก็ยังต้องมีการเตรียม Soft skills ด้วย เพราะสุดท้ายเวลาเราทำงาน เราก็ต้องการทีมเวิร์ค เราไม่ได้ทำงานคนเดียวตลอด

 

แล้วยิ่งอาชีพนี้ต้องคุยกับเพื่อนร่วมทีม ต้องคุยกับหัวหน้า หรือกระทั่งทีมอื่น ๆ ที่อาจจะต้องหาตลาดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้วต้องมาแชร์ข้อมูลกันว่าตอนนี้ตลาดเป็นยังไง คุยเรื่องยอดหรือคุยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทต่าง ๆ แล้วก็อย่าฝืนตัวเองไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม เพราะถ้าเรารู้สึกว่าวันจันทร์อีกแล้ว เมื่อไหร่จะวันศุกร์ ต้องเริ่มคิดกับตัวเองแล้วว่าจริง ๆ เรามีความสุขรึเปล่า”

 

 

 

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.