เมื่อความพิการไม่ใช่อุปสรรคกับความสำเร็จ “คำรณ มะนาวหวาน” ชายหนุ่มที่ต้องพิการจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่เปลี่ยนแรงบันดาลใจจากสิ่งที่พบให้เป็นธุรกิจ การผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยความมุ่งหวังที่อยากเห็นคนพิการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้

 

ในช่วงชีวิตของคนเรา มักจะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งเสมอ และสิ่งนั้นมักจะมีผลเปลี่ยนแปลงเราอย่างพลิกฟ้าคว่ำดิน… แต่คนส่วนใหญ่ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงมักจะท้อแท้ โทษโชควาสนาชะตาชีวิต…มีเพียงส่วนน้อยที่ลุกขึ้นสู้และเปลี่ยนสิ่งนั้นเป็นโอกาสทางธุรกิจ โอกาสในการช่วยเหลือผู้คนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

 

 

คำรณ มะนาวหวาน เป็นหนึ่งในคนส่วนน้อยนั้น วันนี้คำรณ มะนาวหวาน เป็น กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการและอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ และผู้สุงอายุให้ดีขึ้น

 

ผมจบวิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์ และประกอบธุรกิจส่วนตัวมาตลอด ไม่ได้ทำงานบริษัทไม่ได้รับราชการ จนวันหนึ่งผมประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี พ.ศ. 2558 จนกระดูกต้นคอหัก ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลาถึง 1 ปี เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ตลอดชีวิต เมื่อต้องมาใช้วีลแชร์ จึงพบ Pain Point ว่า วีลแชร์ที่มีผู้ใจบุญนำมาบริจาค หรือวีลแชร์ที่มีบริการตามโรงพยาบาล ผมไม่สามารถใช้งานได้เพราะผมเป็นผู้พิการรุนแรง จึงมีความคิดริเริ่มนำวีลแชร์จากประเทศญี่ปุ่นมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับผู้พิการ

 

ขณะที่ผู้พิการส่วนใหญ่ ท้อแท้ยอมแพ้กับโชคชะตา แต่คำรณ กลับลุกขึ้นทำในสิ่งที่ตรงข้าม จากความต้องการส่วนตัวเปลี่ยนไปสู่การเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนบางส่วนจาก VC Fund คำรณได้ออกแบบอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องยกตัว เครื่องพลิกและขยับตัว เริ่มจากการพัฒนาขึ้นใช้เองก่อน แต่ภายหลังเมื่อเห็นว่า มีผู้พิการต้องการเป็นจำนวนมากจึงคิดที่จะทำเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มคนที่พิการและผู้สูงอายุที่ต้องใช้วีลแชร์

 

 

“วีลแชร์มีผลิตโดยหลายประเทศ วีลแชร์จากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นคุณภาพดีมากแต่ราคาก็สูงมากคนไทยจับต้องไม่ได้ โอกาสในการเข้าถึงก็น้อย แต่ถ้าสินค้าจากจีนราคาจะถูกมากแต่คุณภาพก็ด้อยไปตามราคาด้วย ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ในใช้ในประเทศ มีคุณภาพเทียบเท่ายุโรปในราคาที่คนไทยจับต้องได้  ก็จะทำให้ผู้สูงอายุและคนพิการมีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น”

 

ปัจจุบัน สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น ผลิตอุปกรณ์ เครื่องช่วยคนพิการและอุปกรณ์การแพทย์ ทั้งหมด 5 ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่

 

1.เตียงไฟฟ้าผู้ป่วย เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยพลิกตัว มีอุปกรณ์ IoT เพื่อช่วยการสื่อสารกับคนในครอบครัวผ่านแอป ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ยังมีลูกหลานห่วงใย

 

2.วีลแชร์ไฟฟ้า สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ม่อยากดให้เป็นแค่วีลแชร์ และเป้นอุปกรณ์ช่วยกายภาพ เช่นปรับยืนได้ ใส่อุปกรณ์ IoT เข้าไป

 

 

 

3.สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งกับวีลแชร์แบบแมนนวล (แบบมือผลัก)

 

4.เครื่องยกตัวผู้ป่วย เพื่อยกตัวผู้ป่วยขึ้นจากวีลแชร์

 

5.สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการสำหรับใช้ชีวิตนอกบ้าน เป็นสกู๊ตเตอร์พลังงานไฟฟ้าผสมกับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดต้นทุนสามารถวิ่งได้ระยะทางไกล 50-100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

 

 

 

สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น ได้รางวัลชนะเลิศจากซีอาเซียน และได้รับทุนในการก่อตั้งธุรกิจ Startup เป็นเงิน 2 ล้านบาท และได้นำเงินนั้นมาเป็นทุนจดทะเบียนในการจัดตั้งธุรกิจ โดยซีอาเซียนยังให้การสนับสนุนในการสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน มีการจ้างงานคนพิการ นอกจากนี้ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อีกด้วย

 

ล่าสุดสยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น กำลังขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา ในการผลิตผลิตภัณฑ์บางชิ้น รวมถึงใบนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ สถานที่เก็บเครื่องมือแพทย์ และสถานที่ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ นอกจากนี้ สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น ยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดทำชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญ อาทิ ราชมงคลสุวรรณภุมิ วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

สำหรับกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันนั้น นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการแล้ว ยังมีกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์ราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้โรงพยาบาลมีการดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น

 

“เป้าหมายของผม คือ อยากให้ประเทศไทยลดการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ มีการผลิตอุปกรณ์ต่างๆขึ้นใช้เอง รวมถึงส่งออกอุปกรณ์ไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน”

 

“ถ้ามองตัวผมเอง จากคนทำธุรกิจส่วนตัวมีรายได้ กลับต้องประสบอุบัติเหตุ ชีวิตผมกลายเป็นศูนย์หรือติดลบด้วยซ้ำ ผมกลับเป็นคนปกติเหมือนเดิมไม่ได้ แต่ผมยังมีความเป็นวิศวกร มีจุดแข็ง ทำให้ลุกขึ้นมาทำงานได้ มองวิกดฤตให้เป็นโอกาส ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนเราก็ลุกขึ้นใหม่ได้ เราต้องพร้อมสู้ อย่ายอมแพ้ อะไรที่ขาดไปเมื่อมีอย่างอื่นมาทดแทนก็จะสามารถเดินต่อได้ ต้องล้มแล้วลุก ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก” คำรณ กล่าวทิ้งท้าย

Category:

Passion in this story