Categories: INSPIRE

PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.19 | “อยากเป็นทูต !” ทำความรู้จักอาชีพนักการทูต กับวิน-วีรภัทร จันทนยิ่งยง

อาชีพนักการทูตเป็น 1 ในความฝันของใครหลาย ๆ คนกันเลยทีเดียวนะครับ ได้ไปประจำที่ต่างประเทศ ได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ มากมาย แต่จริง ๆ แล้วเนี่ย นักการทูตเขาทำอะไรกันบ้าง ต้องเรียนจบรัฐศาสตร์เท่านั้นรึเปล่าถึงจะมาสอบเป็นทูตได้

 

คลาสในวันนี้นะครับ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพนักการทูตกันให้มากขึ้น กับ วิน-วีรภัทร จันทนยิ่งยง นักการทูตปฏิบัติการ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ถึงแง่มุมต่าง ๆ ของการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ

 

 

 

แนะนำตัวหน่อย

“สวัสดีครับ วิน-วีรภัทร จันทนยิ่งยง นักการทูตปฏิบัติการ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ”

 

 

เรียนจบอะไรมาถึงมาเป็นนักการทูตได้

 

“ผมเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับผม”

 

 

อย่างนี้จำเป็นไหมว่าต้องจบรัฐศาสตร์เท่านั้นถึงจะเป็นนักการทูตได้

“ไม่จำเป็นเลยครับ อย่างเพื่อนในรุ่นที่เข้ามาพร้อมกันก็มีจบจากหลากหลายคณะ จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ แล้วที่สำคัญกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องจบสาขาวิชาไหน ขอแค่จบปริญญาตรีหรือปริญญาโทก็สมัครได้ทุกสาขาวิชาทุกคณะ เคยมีคนที่จบหมอหรือวิศวะมาสมัครเป็นนักการทูตบรรจุเป็นข้าราชการด้วยเหมือนกัน”

 

 

ทำไมถึงมาเป็นนักการทูตได้

“ผมสนใจที่จะเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น คือช่วงนั้นเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วได้เจอหนังสือที่เกี่ยวกับช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ได้อ่านประวัติของเจ้าพระยาโกษาธิบดีปาน หรือที่หลายคนก็อาจจะรู้จักจากละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นราชทูตของไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในตอนนั้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำงานด้านนี้”

 

 

สำหรับคนที่อยากเป็นนักการทูตควรจะเริ่มต้นยังไง มีกระบวนการสอบยังไง

“ปกติการสอบจะมีขึ้นแล้วแต่ช่วง แต่ว่าหลัง ๆ ที่ผ่านมาค่อนข้างมีการเปิดสอบเกือบทุกปี การสอบจะแบ่งเป็น 3 ภาค ก็คือ ภาค ก จะเป็นข้อสอบปรนัย ภาค ข เป็นข้อสอบอัตนัยหรือเป็นข้อสอบข้อเขียน และภาค ค เป็นข้อสอบสัมภาษณ์ ส่วนภาค ก และภาค ข จะมีข้อสอบภาษาอังกฤษด้วย อย่างภาค ก จะแบ่งเป็น 2 ภาคย่อยก็คือข้อสอบความรู้ทั่วไปกับข้อสอบอังกฤษ ภาค ข ก็จะมีสอบข้อเขียนเป็นภาษาด้วยเช่นกัน แล้วก็ข้อสอบวัดความรู้เกี่ยวกับด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

 

 

คนที่สนใจอยากจะสอบเป็นนักการทูตควรจะเตรียมตัวยังไงบ้าง

“ตามที่บอกไปก็จะเห็นว่ากระทรวงฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก ในการสอบเองก็มีอยู่ในทุกภาคเลย เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าการที่จะฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เชี่ยวชาญสามารถพูดได้อ่านได้เขียนได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างเป็นธรรมชาติก็มีความสำคัญมาก ส่วนความรู้ทั่วไปและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผมว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถอ่านเพิ่มเติมเองได้อยู่แล้ว ถ้าเราทวนไปเรื่อย ๆ ทุกคนก็น่าจะสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา”

 

 

การสอบเป็นนักการทูตยากไหม

“ถ้าพูดตามตรงก็ยากอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนตั้งใจจริง ๆ สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเรา”

 

 

กระทรวงการต่างประเทศทำงานอะไรกันบ้าง

“ถ้าให้พูดทั้งหมดอาจจะต้องเล่า 3 วัน 4 วัน (หัวเราะ) ก็จะขอเล่าคร่าว ๆ นะครับ คือ กระทรวงเนี่ยงานอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคร่าว ๆ คืองานด้านทวิภาคี ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอีกประเทศหนึ่ง เป็นสองประเทศครับ แล้วก็ความสัมพันธ์แบบพหุภาคี คือ ความสัมพันธ์ที่ร่วมในเวทีระหว่างประเทศที่ในองค์กรที่หลายประเทศอยู่รวมกัน สุดท้ายคืองานด้านที่เรียกว่า functional ที่ไม่ใช่งานด้านสารัตถะอย่างทวิภาคีหรือพหุภาคี ยกตัวอย่างก็เช่น งานด้านพิธีการทูตเป็น Diplomatic Protocol แยกย่อยลงไปก็อาจจะเช่น ความคุ้มกันทางการทูต เอกสิทธิ์ทางการทูต อะไรอย่างนี้เป็นต้น”

 

 

คนรุ่นใหม่หลายคนจะมองว่าการทำงานราชการเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ทำงานเช้าชามเย็นชาม คนบางคนที่มีไฟเข้าไปทำงานในระบบราชการก็หมดไฟได้ง่าย ๆ แล้วกระทรวงการต่างประเทศเป็นแบบนั้นไหม

“ส่วนตัวคิดว่าไม่นะครับ เพราะว่าผู้ใหญ่หลายท่านมีความคิดที่เปิดกว้างรับฟังคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะถ้าได้ติดตามช่องทาง เฟซบุ๊กของกระทรวงหรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของกระทรวงก็จะเห็นได้ว่ากระทรวงพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการสร้างความรู้ด้านการทูตให้แก่ประชาชนทั่วไป อันนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่านโยบายการทูตสาธารณะ ซึ่งเราก็พยายามจะสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับหน้าที่ภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยผู้ใหญ่เขาก็รับฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในกระทรวงเหมือนกันแล้วก็นำไปปรับใช้ คนที่ดูแลพวกเว็บหรืออะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน”

 

 

ต้องทำแต่งานเอกสารไหม ?

“อย่างที่บอกว่าคืองานของกระทรวงค่อนข้างมีหลายด้าน ไม่ใช่มีแต่งานด้านสารัตถะอย่างเดียว บางทีก็อาจจะต้องมีงานด้านพิธีการบ้าง เช่น ไปพบกับเอกอัครราชทูตหรือเจ้าหน้าที่การทูตจากสถานเอกอัครราชทูตของต่างประเทศในประเทศไทย หรือบางทีเราก็ต้องไปเยือนเขาในต่างประเทศอะไรอย่างนี้ มีงานที่หลากหลายมากเป็นเรื่องท้าทายที่ดีที่ได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย แล้วก็ไม่ได้ต้องทำงานเอกสารอะไรอย่างเดียว”

 

 

คืองานไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ใครหลายคนคิดว่าต้องทำแต่งานเอกสาร ต้องเว้นวรรคให้ถูกเป๊ะ ไม่ถูกโดนตีกลับทำใหม่

“เรื่องนั้นมันเป็นเรื่องยิบย่อยมากกว่า คือตัวเนื้องานจริง ๆ แล้วผู้ใหญ่จะให้ความสนใจกับสารัตถะมากกว่าจะมาโฟกัสกับสิ่งยิบย่อย เช่น ระเบียบสารบัญว่าการเคาะต้องที่ครั้ง การสะกดอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ว่าตัวเจ้าหน้าที่เองก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการทำหนังสือให้ออกมาดีที่สุดอยู่แล้วก่อนที่จะเสนอผู้ใหญ่ แน่นอนว่างานเอกสารไม่ใช่งานอย่างเดียวของนักการทูตอยู่แล้ว บางทีได้นั่งทำเอกสารทุกวันอาจจะเรียกว่าสบายแล้วก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ต้องมาหัวหมุนกับการเข้าประชุมและการเตรียมการอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย ก็เป็นเรื่องสนุกอีกแบบ”

 

 

งานเอกสารยังไงก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของงานที่เราทำ

“ใช่ครับ แน่นอนอยู่แล้วว่างานเอกสารสำหรับราชการแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็น บางคนอาจจะมองว่ามันน่าเบื่อ ชักช้า แต่ว่าคือความจริงแล้วการที่ราชการทำงานเอกสารทำหนังสือ ก็เพื่อเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้มีบันทึกที่ชัดเจน ซึ่งมันมีประโยชน์มากสำหรับคนรุ่นต่อไปอนาคต ที่จะศึกษาว่างานที่เราทำเนี่ยมันไม่ได้หายไปไหน ไม่สูญเปล่า จะมีเก็บบันทึกไว้ให้เราสามารถอ่านเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งผมเรียนรู้จากเอกสารเก่าเนี่ยเยอะมาก มีประโยชน์มากสำหรับคนที่จะมาทำงานต่อจากเรา”

 

 

จะมีความเชื่อหนึ่งที่บอกว่าต้องมีเส้นสายหรือมีนามสกุลใหญ่ ๆ เท่านั้น ถึงจะเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศได้ อาจจะเข้ามาทำงานได้แต่ไม่มีทางเป็นเอกอัครราชทูตได้ อันนี้จริงไหม

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะว่าเริ่มแรกเลยตัวผมเองก็ไม่ใช่คนจากตระกูลใหญ่อะไร คุณพ่อคุณแม่ผมก็เป็นพนักงานบริษัทธรรมดาทั่วไป และที่บอกว่าต่อให้เข้ามาได้แล้วแต่ก็ไม่มีทางได้เป็นเอกอัครราชทูต ผมว่ามันก็ไม่จริง เพราะว่าท่านเอกอัครราชทูตหลายคนที่รู้จักก็ไม่ใช่คนจากตระกูลใหญ่อะไร ก็เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนทั่วไปเหมือนกัน”

 

 

ใครที่อยากจะเข้าไปทำงานกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่มาจากตระกูลใหญ่หรือว่ามีชาติตระกูล หรือว่าเป็นเด็กเส้นเท่านั้น เท่าที่ฟังจากคุณวินพูดมากระทรวงการต่างประเทศค่อนข้างจะสอบคัดคนอย่างเข้มข้น เอาคนที่เก่งจริงมีความสามารถจริงเข้าไปทำงาน

“เรื่องเด็กเส้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าการสอบค่อนข้างมีความรัดกุมและมีความโปร่งใสมาก เพื่อน ๆ ทุกคนที่สอบผ่านมาด้วยกันเนี่ย ยืนยันได้ว่าทุกคนมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมและมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งทุกคนแน่นอน”

 

 

สำหรับใครหลายคนที่อยากจะทำงานเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศ ความฝันหนึ่งคือการได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ คำถามคือแล้วเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ แล้วเมื่อไหร่จะได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ กระบวนการเป็นอย่างไร ต้องไปอยู่ต่างประเทศกี่ปี ต้องสลับประเทศไหม อยากให้คุณวินช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

“การออกไปประจำการที่ต่างประเทศถือเป็นหน้าที่เลยดีกว่า เพราะฉะนั้นแล้วด้วยความที่มันเป็นหน้าที่เนี่ย ทุกคนก็ควรจะต้องไปประจำการที่ต่างประเทศถ้าเป็นนักการทูต คือด้วยความที่การสอบมันก็ค่อนข้างยาก คนที่ผ่านก็เลยไม่ได้มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ต้องแบ่งไปประจำการที่ต่างประเทศด้วย ทุกคนที่สอบผ่านแล้วจะได้ไปประจำการที่ต่างประเทศแน่นอน แต่ทีนี้เรื่องระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงในแต่ละช่วงเวลามากกว่า ว่าผู้ใหญ่เล็งเห็นว่าเราควรจะอยู่ที่กระทรวงกี่ปีก่อนค่อยออกไปประจำการแล้วประจำการกี่ปีถึงจะกลับมา

เราก็จะได้ออกไปประจำการที่ประเทศต่าง ๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปประจำการที่ประเทศเดิมเสมอไป การที่ผู้ใหญ่มองว่าเราควรอยู่ที่กระทรวงก่อนค่อยออกไปประจำการเนี่ยก็เป็นการสะสมประสบการณ์ของเราด้วย เวลาอยู่ที่กระทรวงในกรุงเทพฯ เนี่ยเราก็จะเห็นภาพกว้างของการดำเนินงานของกระทรวงแล้วก็เราจะได้เรียนรู้งานต่าง ๆ ที่มันมีความหลากหลาย เวลาออกประจำการด้วยความที่คนมีจำกัด เราก็เลยอาจจะต้องแบ่งงานให้มันเจาะจงเลยอาจจะไม่เห็นภาพกว้าง ๆ เหมือนตอนอยู่กระทรวงประมาณนั้นมากกว่า”

 

 

กระทรวงการต่างประเทศมีเปิดสอบตำแหน่งอะไรบ้าง

“ข้าราชการที่บรรจุพร้อมกับผมเนี่ยมีหลากหลายมาก ยกตัวอย่างก็เช่น นิติกรก็จะดูเรื่องกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่บรรณศาสตร์ก็จะดูเกี่ยวกับห้องสมุด หรือเจ้าหน้าที่ด้านไอที มีหลากหลายมาก”

 

 

พอได้เข้ามาทำงานกระทรวงการต่างประเทศแล้วเนี่ย มันเหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ไหม

“ต้องบอกก่อนว่าตัวผมเองยังทำงานได้ยังไม่ถึงปีเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นต้องบอกตามตรงว่ายังไม่ได้เห็นงานทุกด้านของกระทรวงจริง ๆ แต่เท่าที่ผ่านมาก็ได้สัมผัสงานที่หลากหลายมาก มีความหลากหลายในหลาย ๆ ด้าน ทำหลายอย่างที่ไม่จำเจ ไม่น่าเบื่อ ได้สนุกกับงานหลายอย่าง เชื่อว่าต่อไปในอนาคตก็คงได้มีโอกาสทำงานที่มันหลากหลายขึ้นกว่านี้ คงได้มีประสบการณ์ที่น่าจดจำมากกว่านี้ด้วยเหมือนกัน”

 

 

สังคมการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

“อย่างที่บอกไปว่ากระทรวงค่อนข้างมีบุคลากรไม่มาก ส่วนตัวผมมองว่าทุกคนอยู่กันแบบพี่น้องมากกว่า มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ภายในกรมรวมแล้วยังมีไม่ถึงร้อยคนเลยด้วยซ้ำก็เลยทำให้ทุกคนรู้จักกันหมด ใช้เวลาอยู่นานไปเนี่ยทุกคนก็จะสนิทกันอยู่แล้ว ก็จะมีความผูกพันเหมือนเป็นอีกครอบครัวนึงของเรา”

 

 

คนที่เข้าไปทำงานในกระทรวงหรือเป็นนักการทูต สามารถเลือกได้ไหมว่าจะไปทำงานในกรมไหนกองไหน

“ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ใหญ่ในช่วงนั้น บางทีก็ได้เลือกกรมกองที่เราสนใจเหมือนกัน หรือบางทีผู้ใหญ่ก็อาจจะมองว่าเราเหมาะกับกรมกองนี้มากกว่า หรืออาจจะมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในการที่จะให้เราอยู่กรมกองนั้น ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกท่านมีวิจารณญาณและเหตุผลที่ดีที่จะให้เราไปอยู่ในกรมกองต่าง ๆ อยู่แล้ว”

 

 

ฝากอะไรถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักการทูตหน่อย

“ก่อนอื่นเลยผมเชื่อว่าทุกคนที่ตั้งใจจริงบวกกับความขยันความพยายามที่มากพอ จะสามารถบรรลุเป้าหมายให้สอบผ่านได้ทุกคนแน่นอน เพียงแต่ว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่หลายคนมักลืมไป ด้วยความที่เรามักจะไปให้ความสนใจกับการสอบ บางทีก็ทุ่มเทจนมากเกินไป บางทีเราก็ต้องกลับมาคิดว่าเราควรจะต้องพักผ่อนบ้าง การเครียดหรือการหมกมุ่นกับการสอบมากเกินไป บางทีมันก็อาจจะส่งผลเสียด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าทุกคนขยันและพยายามที่อ่านหนังสือสอบแน่นอนอยู่แล้ว ทุกคนทราบดีว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ว่าอย่างที่บอกไปก็อย่าลืมดูแลตัวเองบ้าง หาเวลาพักผ่อน หาเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อที่จะได้มีแรงในการอ่านหนังสือและสู้กับการสอบต่อไป หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้และสำหรับใครที่จะสอบนักการทูตรอบนี้ ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและหวังว่าจะได้มาเป็นข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกัน”

 

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็น 1st Jobber คนที่เพิ่งเรียนจบมาแล้วกำลังหางานทำ

“ผมก็เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่ถึง 2 ปี เลยยังมีความรู้สึกเป็น 1st Jobber อยู่เหมือนกัน คิดว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปก็คือ บางทีเรามีไฟแรงมากที่จะทำงานให้ดี ให้เพอร์เฟกต์ แต่ว่าบางทีเราไปโฟกัสกับงานมากเกินไป ไปทุ่มเวลาให้กับงานมากเกินไปจนลืมเวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว ซึ่งตรงนี้ Work-life balance อาจจะเป็นอะไรที่หลายคนลืมนึกถึง แต่เราต้องอย่าลืมว่ามันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำงานเลยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอยากฝากเอาไว้กับทุกคนโดยเฉพาะกับ 1st Jobber ที่อาจจะเพลิดเพลินไปกับการทำงาน อย่าลืมให้เวลากับตัวเอง ให้เวลากับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ๆ ด้วยเช่นกัน”

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.