อาชีพนักการทูตเป็น 1 ในความฝันของใครหลาย ๆ คนกันเลยทีเดียวนะครับ ได้ไปประจำที่ต่างประเทศ ได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ มากมาย แต่จริง ๆ แล้วเนี่ย นักการทูตเขาทำอะไรกันบ้าง ต้องเรียนจบรัฐศาสตร์เท่านั้นรึเปล่าถึงจะมาสอบเป็นทูตได้

 

คลาสในวันนี้นะครับ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพนักการทูตกันให้มากขึ้น กับ วิน-วีรภัทร จันทนยิ่งยง นักการทูตปฏิบัติการ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ถึงแง่มุมต่าง ๆ ของการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ

 

 

 

แนะนำตัวหน่อย

“สวัสดีครับ วิน-วีรภัทร จันทนยิ่งยง นักการทูตปฏิบัติการ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ”

 

 

เรียนจบอะไรมาถึงมาเป็นนักการทูตได้

 

“ผมเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับผม”

 

 

อย่างนี้จำเป็นไหมว่าต้องจบรัฐศาสตร์เท่านั้นถึงจะเป็นนักการทูตได้

“ไม่จำเป็นเลยครับ อย่างเพื่อนในรุ่นที่เข้ามาพร้อมกันก็มีจบจากหลากหลายคณะ จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ แล้วที่สำคัญกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องจบสาขาวิชาไหน ขอแค่จบปริญญาตรีหรือปริญญาโทก็สมัครได้ทุกสาขาวิชาทุกคณะ เคยมีคนที่จบหมอหรือวิศวะมาสมัครเป็นนักการทูตบรรจุเป็นข้าราชการด้วยเหมือนกัน”

 

 

ทำไมถึงมาเป็นนักการทูตได้

“ผมสนใจที่จะเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น คือช่วงนั้นเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วได้เจอหนังสือที่เกี่ยวกับช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ได้อ่านประวัติของเจ้าพระยาโกษาธิบดีปาน หรือที่หลายคนก็อาจจะรู้จักจากละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นราชทูตของไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในตอนนั้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำงานด้านนี้”

 

 

สำหรับคนที่อยากเป็นนักการทูตควรจะเริ่มต้นยังไง มีกระบวนการสอบยังไง

“ปกติการสอบจะมีขึ้นแล้วแต่ช่วง แต่ว่าหลัง ๆ ที่ผ่านมาค่อนข้างมีการเปิดสอบเกือบทุกปี การสอบจะแบ่งเป็น 3 ภาค ก็คือ ภาค ก จะเป็นข้อสอบปรนัย ภาค ข เป็นข้อสอบอัตนัยหรือเป็นข้อสอบข้อเขียน และภาค ค เป็นข้อสอบสัมภาษณ์ ส่วนภาค ก และภาค ข จะมีข้อสอบภาษาอังกฤษด้วย อย่างภาค ก จะแบ่งเป็น 2 ภาคย่อยก็คือข้อสอบความรู้ทั่วไปกับข้อสอบอังกฤษ ภาค ข ก็จะมีสอบข้อเขียนเป็นภาษาด้วยเช่นกัน แล้วก็ข้อสอบวัดความรู้เกี่ยวกับด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

 

 

คนที่สนใจอยากจะสอบเป็นนักการทูตควรจะเตรียมตัวยังไงบ้าง

“ตามที่บอกไปก็จะเห็นว่ากระทรวงฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก ในการสอบเองก็มีอยู่ในทุกภาคเลย เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าการที่จะฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เชี่ยวชาญสามารถพูดได้อ่านได้เขียนได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างเป็นธรรมชาติก็มีความสำคัญมาก ส่วนความรู้ทั่วไปและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผมว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถอ่านเพิ่มเติมเองได้อยู่แล้ว ถ้าเราทวนไปเรื่อย ๆ ทุกคนก็น่าจะสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา”

 

 

การสอบเป็นนักการทูตยากไหม

“ถ้าพูดตามตรงก็ยากอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนตั้งใจจริง ๆ สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเรา”

 

 

กระทรวงการต่างประเทศทำงานอะไรกันบ้าง

“ถ้าให้พูดทั้งหมดอาจจะต้องเล่า 3 วัน 4 วัน (หัวเราะ) ก็จะขอเล่าคร่าว ๆ นะครับ คือ กระทรวงเนี่ยงานอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคร่าว ๆ คืองานด้านทวิภาคี ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอีกประเทศหนึ่ง เป็นสองประเทศครับ แล้วก็ความสัมพันธ์แบบพหุภาคี คือ ความสัมพันธ์ที่ร่วมในเวทีระหว่างประเทศที่ในองค์กรที่หลายประเทศอยู่รวมกัน สุดท้ายคืองานด้านที่เรียกว่า functional ที่ไม่ใช่งานด้านสารัตถะอย่างทวิภาคีหรือพหุภาคี ยกตัวอย่างก็เช่น งานด้านพิธีการทูตเป็น Diplomatic Protocol แยกย่อยลงไปก็อาจจะเช่น ความคุ้มกันทางการทูต เอกสิทธิ์ทางการทูต อะไรอย่างนี้เป็นต้น”

 

 

คนรุ่นใหม่หลายคนจะมองว่าการทำงานราชการเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ทำงานเช้าชามเย็นชาม คนบางคนที่มีไฟเข้าไปทำงานในระบบราชการก็หมดไฟได้ง่าย ๆ แล้วกระทรวงการต่างประเทศเป็นแบบนั้นไหม

“ส่วนตัวคิดว่าไม่นะครับ เพราะว่าผู้ใหญ่หลายท่านมีความคิดที่เปิดกว้างรับฟังคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะถ้าได้ติดตามช่องทาง เฟซบุ๊กของกระทรวงหรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของกระทรวงก็จะเห็นได้ว่ากระทรวงพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการสร้างความรู้ด้านการทูตให้แก่ประชาชนทั่วไป อันนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่านโยบายการทูตสาธารณะ ซึ่งเราก็พยายามจะสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับหน้าที่ภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยผู้ใหญ่เขาก็รับฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในกระทรวงเหมือนกันแล้วก็นำไปปรับใช้ คนที่ดูแลพวกเว็บหรืออะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน”

 

 

ต้องทำแต่งานเอกสารไหม ?

“อย่างที่บอกว่าคืองานของกระทรวงค่อนข้างมีหลายด้าน ไม่ใช่มีแต่งานด้านสารัตถะอย่างเดียว บางทีก็อาจจะต้องมีงานด้านพิธีการบ้าง เช่น ไปพบกับเอกอัครราชทูตหรือเจ้าหน้าที่การทูตจากสถานเอกอัครราชทูตของต่างประเทศในประเทศไทย หรือบางทีเราก็ต้องไปเยือนเขาในต่างประเทศอะไรอย่างนี้ มีงานที่หลากหลายมากเป็นเรื่องท้าทายที่ดีที่ได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย แล้วก็ไม่ได้ต้องทำงานเอกสารอะไรอย่างเดียว”

 

 

คืองานไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ใครหลายคนคิดว่าต้องทำแต่งานเอกสาร ต้องเว้นวรรคให้ถูกเป๊ะ ไม่ถูกโดนตีกลับทำใหม่

“เรื่องนั้นมันเป็นเรื่องยิบย่อยมากกว่า คือตัวเนื้องานจริง ๆ แล้วผู้ใหญ่จะให้ความสนใจกับสารัตถะมากกว่าจะมาโฟกัสกับสิ่งยิบย่อย เช่น ระเบียบสารบัญว่าการเคาะต้องที่ครั้ง การสะกดอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ว่าตัวเจ้าหน้าที่เองก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการทำหนังสือให้ออกมาดีที่สุดอยู่แล้วก่อนที่จะเสนอผู้ใหญ่ แน่นอนว่างานเอกสารไม่ใช่งานอย่างเดียวของนักการทูตอยู่แล้ว บางทีได้นั่งทำเอกสารทุกวันอาจจะเรียกว่าสบายแล้วก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ต้องมาหัวหมุนกับการเข้าประชุมและการเตรียมการอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย ก็เป็นเรื่องสนุกอีกแบบ”

 

 

งานเอกสารยังไงก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของงานที่เราทำ

“ใช่ครับ แน่นอนอยู่แล้วว่างานเอกสารสำหรับราชการแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็น บางคนอาจจะมองว่ามันน่าเบื่อ ชักช้า แต่ว่าคือความจริงแล้วการที่ราชการทำงานเอกสารทำหนังสือ ก็เพื่อเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้มีบันทึกที่ชัดเจน ซึ่งมันมีประโยชน์มากสำหรับคนรุ่นต่อไปอนาคต ที่จะศึกษาว่างานที่เราทำเนี่ยมันไม่ได้หายไปไหน ไม่สูญเปล่า จะมีเก็บบันทึกไว้ให้เราสามารถอ่านเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งผมเรียนรู้จากเอกสารเก่าเนี่ยเยอะมาก มีประโยชน์มากสำหรับคนที่จะมาทำงานต่อจากเรา”

 

 

จะมีความเชื่อหนึ่งที่บอกว่าต้องมีเส้นสายหรือมีนามสกุลใหญ่ ๆ เท่านั้น ถึงจะเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศได้ อาจจะเข้ามาทำงานได้แต่ไม่มีทางเป็นเอกอัครราชทูตได้ อันนี้จริงไหม

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะว่าเริ่มแรกเลยตัวผมเองก็ไม่ใช่คนจากตระกูลใหญ่อะไร คุณพ่อคุณแม่ผมก็เป็นพนักงานบริษัทธรรมดาทั่วไป และที่บอกว่าต่อให้เข้ามาได้แล้วแต่ก็ไม่มีทางได้เป็นเอกอัครราชทูต ผมว่ามันก็ไม่จริง เพราะว่าท่านเอกอัครราชทูตหลายคนที่รู้จักก็ไม่ใช่คนจากตระกูลใหญ่อะไร ก็เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนทั่วไปเหมือนกัน”

 

 

ใครที่อยากจะเข้าไปทำงานกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่มาจากตระกูลใหญ่หรือว่ามีชาติตระกูล หรือว่าเป็นเด็กเส้นเท่านั้น เท่าที่ฟังจากคุณวินพูดมากระทรวงการต่างประเทศค่อนข้างจะสอบคัดคนอย่างเข้มข้น เอาคนที่เก่งจริงมีความสามารถจริงเข้าไปทำงาน

“เรื่องเด็กเส้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าการสอบค่อนข้างมีความรัดกุมและมีความโปร่งใสมาก เพื่อน ๆ ทุกคนที่สอบผ่านมาด้วยกันเนี่ย ยืนยันได้ว่าทุกคนมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมและมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งทุกคนแน่นอน”

 

 

สำหรับใครหลายคนที่อยากจะทำงานเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศ ความฝันหนึ่งคือการได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ คำถามคือแล้วเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ แล้วเมื่อไหร่จะได้ไปประจำอยู่ในต่างประเทศ กระบวนการเป็นอย่างไร ต้องไปอยู่ต่างประเทศกี่ปี ต้องสลับประเทศไหม อยากให้คุณวินช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

“การออกไปประจำการที่ต่างประเทศถือเป็นหน้าที่เลยดีกว่า เพราะฉะนั้นแล้วด้วยความที่มันเป็นหน้าที่เนี่ย ทุกคนก็ควรจะต้องไปประจำการที่ต่างประเทศถ้าเป็นนักการทูต คือด้วยความที่การสอบมันก็ค่อนข้างยาก คนที่ผ่านก็เลยไม่ได้มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ต้องแบ่งไปประจำการที่ต่างประเทศด้วย ทุกคนที่สอบผ่านแล้วจะได้ไปประจำการที่ต่างประเทศแน่นอน แต่ทีนี้เรื่องระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงในแต่ละช่วงเวลามากกว่า ว่าผู้ใหญ่เล็งเห็นว่าเราควรจะอยู่ที่กระทรวงกี่ปีก่อนค่อยออกไปประจำการแล้วประจำการกี่ปีถึงจะกลับมา

เราก็จะได้ออกไปประจำการที่ประเทศต่าง ๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปประจำการที่ประเทศเดิมเสมอไป การที่ผู้ใหญ่มองว่าเราควรอยู่ที่กระทรวงก่อนค่อยออกไปประจำการเนี่ยก็เป็นการสะสมประสบการณ์ของเราด้วย เวลาอยู่ที่กระทรวงในกรุงเทพฯ เนี่ยเราก็จะเห็นภาพกว้างของการดำเนินงานของกระทรวงแล้วก็เราจะได้เรียนรู้งานต่าง ๆ ที่มันมีความหลากหลาย เวลาออกประจำการด้วยความที่คนมีจำกัด เราก็เลยอาจจะต้องแบ่งงานให้มันเจาะจงเลยอาจจะไม่เห็นภาพกว้าง ๆ เหมือนตอนอยู่กระทรวงประมาณนั้นมากกว่า”

 

 

กระทรวงการต่างประเทศมีเปิดสอบตำแหน่งอะไรบ้าง

“ข้าราชการที่บรรจุพร้อมกับผมเนี่ยมีหลากหลายมาก ยกตัวอย่างก็เช่น นิติกรก็จะดูเรื่องกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่บรรณศาสตร์ก็จะดูเกี่ยวกับห้องสมุด หรือเจ้าหน้าที่ด้านไอที มีหลากหลายมาก”

 

 

พอได้เข้ามาทำงานกระทรวงการต่างประเทศแล้วเนี่ย มันเหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ไหม

“ต้องบอกก่อนว่าตัวผมเองยังทำงานได้ยังไม่ถึงปีเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นต้องบอกตามตรงว่ายังไม่ได้เห็นงานทุกด้านของกระทรวงจริง ๆ แต่เท่าที่ผ่านมาก็ได้สัมผัสงานที่หลากหลายมาก มีความหลากหลายในหลาย ๆ ด้าน ทำหลายอย่างที่ไม่จำเจ ไม่น่าเบื่อ ได้สนุกกับงานหลายอย่าง เชื่อว่าต่อไปในอนาคตก็คงได้มีโอกาสทำงานที่มันหลากหลายขึ้นกว่านี้ คงได้มีประสบการณ์ที่น่าจดจำมากกว่านี้ด้วยเหมือนกัน”

 

 

สังคมการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

“อย่างที่บอกไปว่ากระทรวงค่อนข้างมีบุคลากรไม่มาก ส่วนตัวผมมองว่าทุกคนอยู่กันแบบพี่น้องมากกว่า มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ภายในกรมรวมแล้วยังมีไม่ถึงร้อยคนเลยด้วยซ้ำก็เลยทำให้ทุกคนรู้จักกันหมด ใช้เวลาอยู่นานไปเนี่ยทุกคนก็จะสนิทกันอยู่แล้ว ก็จะมีความผูกพันเหมือนเป็นอีกครอบครัวนึงของเรา”

 

 

คนที่เข้าไปทำงานในกระทรวงหรือเป็นนักการทูต สามารถเลือกได้ไหมว่าจะไปทำงานในกรมไหนกองไหน

“ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ใหญ่ในช่วงนั้น บางทีก็ได้เลือกกรมกองที่เราสนใจเหมือนกัน หรือบางทีผู้ใหญ่ก็อาจจะมองว่าเราเหมาะกับกรมกองนี้มากกว่า หรืออาจจะมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในการที่จะให้เราอยู่กรมกองนั้น ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกท่านมีวิจารณญาณและเหตุผลที่ดีที่จะให้เราไปอยู่ในกรมกองต่าง ๆ อยู่แล้ว”

 

 

ฝากอะไรถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักการทูตหน่อย

“ก่อนอื่นเลยผมเชื่อว่าทุกคนที่ตั้งใจจริงบวกกับความขยันความพยายามที่มากพอ จะสามารถบรรลุเป้าหมายให้สอบผ่านได้ทุกคนแน่นอน เพียงแต่ว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่หลายคนมักลืมไป ด้วยความที่เรามักจะไปให้ความสนใจกับการสอบ บางทีก็ทุ่มเทจนมากเกินไป บางทีเราก็ต้องกลับมาคิดว่าเราควรจะต้องพักผ่อนบ้าง การเครียดหรือการหมกมุ่นกับการสอบมากเกินไป บางทีมันก็อาจจะส่งผลเสียด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าทุกคนขยันและพยายามที่อ่านหนังสือสอบแน่นอนอยู่แล้ว ทุกคนทราบดีว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ว่าอย่างที่บอกไปก็อย่าลืมดูแลตัวเองบ้าง หาเวลาพักผ่อน หาเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อที่จะได้มีแรงในการอ่านหนังสือและสู้กับการสอบต่อไป หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้และสำหรับใครที่จะสอบนักการทูตรอบนี้ ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและหวังว่าจะได้มาเป็นข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกัน”

 

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็น 1st Jobber คนที่เพิ่งเรียนจบมาแล้วกำลังหางานทำ

“ผมก็เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่ถึง 2 ปี เลยยังมีความรู้สึกเป็น 1st Jobber อยู่เหมือนกัน คิดว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปก็คือ บางทีเรามีไฟแรงมากที่จะทำงานให้ดี ให้เพอร์เฟกต์ แต่ว่าบางทีเราไปโฟกัสกับงานมากเกินไป ไปทุ่มเวลาให้กับงานมากเกินไปจนลืมเวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว ซึ่งตรงนี้ Work-life balance อาจจะเป็นอะไรที่หลายคนลืมนึกถึง แต่เราต้องอย่าลืมว่ามันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำงานเลยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอยากฝากเอาไว้กับทุกคนโดยเฉพาะกับ 1st Jobber ที่อาจจะเพลิดเพลินไปกับการทำงาน อย่าลืมให้เวลากับตัวเอง ให้เวลากับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ๆ ด้วยเช่นกัน”

Category:

Passion in this story