และแล้วพอดแคสต์รายการ “สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” ก็เดินทางมาถึงตอนที่ 11 แล้ว ต้องยอมรับตรง ๆ นะครับว่าเราก็หมดมุก ไม่รู้จะมาพูดเรื่องอะไรต่อแล้วเหมือนกัน แต่บังเอิ๊ญ บังเอิญ เมื่อวานก่อนได้ไปอ่านเจอบทความดี ๆ ชิ้นหนึ่งเข้า เป็นบทความที่น่าสนใจและใกล้ตัวผมอยู่เหมือนกัน ซึ่งเชื่อได้เลยว่าไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าเองก็อาจจะมีคำถามคล้าย ๆ กันเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบรรดานายจ้างอะนะครับว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงชอบลาออก

ที่ว่าเด็กรุ่นใหม่ชอบลาออกเนี่ย ผมก็ไม่ได้พูดขึ้นมาลอย ๆ นะครับ เอาล่ะ อาจจะไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ทุกคนที่ชอบลาออก จริง ๆ จะบอกว่า “ชอบ” ก็ไม่ได้หรอก แต่เพราะเรา “ไม่ชอบ” นั่นแหละ เลยเลือกที่จะลาออกจากงาน

ทั้งนี้เนี่ยมีเว็บไซต์ forbes.com เปิดเผยข้อมูลนะครับว่า กว่า 49% ของเด็กรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม Millennials และ Gen Z เนี่ย จะออกจากงานหรือเปลี่ยนงานในทุก ๆ 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่หรือ Gen X

ในฐานะที่ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่ อยู่ใน Gen Z อายุ 23 และเป็น First Jobber ที่ทำงานเป็นที่แรกเหมือนกันเนี่ย ก็มีคนรอบ ๆ ตัว พวกเพื่อน ๆ ที่เปลี่ยนไปแล้ว 4-5 งาน บางคนทำงานอยู่ได้ 3 เดือนก็ลาออกและหาใหม่อยู่จำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

เอาล่ะ อาจจะดูเหมือนบ่นเกินไปนะครับ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เราจะมาดูสาเหตุกันดีกว่า ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงชอบลาออก ชอบเปลี่ยนงานกันบ่อยนักนะ

มีบทความอยู่ชิ้นนึงนะครับชื่อว่า The Top 5 Reasons Millennials Quit Jobs They Like ซึ่งได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Forbes.com เปิดเผยว่า กว่า 74% ของคนรุ่นใหม่ที่รักในงานของเขา มีแนวโน้มที่วางแผนลาออกจากงานภายใน 3 ปี ย้ำนะครับว่ารักในงานด้วยนะ ก่อนหน้านี้ผมได้พูดใช่ไหมฮะว่า คนรุ่นใหม่ 49% มีแนวโน้มลาออกภายใน 2 ปี แต่พอขยับเป็น 3 ปีแล้ว ตัวเลขกลับพุ่งไปถึง 79%

ซึ่งบทความชิ้นนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจวางแผนจะลาออกภายใน 3 ปี แม้ว่างานที่ทำอยู่จะเป็นงานที่เขารัก ด้วยกัน 6 ข้อด้วยกัน

1.  มองหาโอกาสที่ดีกว่า

1 ในเหตุหลักและอาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลาออกเลย คือ คนรุ่นใหม่จะมองหาโอกาสที่ดีกว่าที่อื่นแทน เพราะที่ทำงานเก่าไม่อาจหยิบยื่นโอกาสดี ๆ ไม่อาจหยิบยื่นความก้าวหน้าในอาชีพการงานให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นใหม่ต้องการความท้าทายในการทำงาน ต้องการโอกาสที่จะได้ทำอะไรสักอย่างที่มีความหมาย ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ โดยไม่รู้ว่าผลของงานจะได้อะไร จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเนี่ย คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้อยากจะออกจากงานหรอกครับ กว่า 89% ของคนรุ่นใหม่ที่บทความชิ้นนี้เปิดเผยมา ระบุว่าพวกเขาจะทำงานอยู่เป็น 10 ปีเลยหรือมากกว่าก็ได้ ถ้างานนั้น องค์กรนั้น มีโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีความท้าทาย และค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

2. ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

อย่างที่บอกไปนะครับว่าคนรุ่นใหม่ต้องการมองหาโอกาสที่ดีกว่า ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้พัฒนาตัวเอง ได้มีทักษะใหม่ ๆ ติดตัว และอย่าลืมนะครับว่าปัญหาหนึ่งของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้คือการไม่รู้จักตัวเองว่าต้องการอะไร อยากทำอะไร หรือทำอะไรได้ดี เพราะสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้ตัวเอง เพราะฉะนั้นบริษัทต่าง ๆ ควรเปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้จักตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการทำงานจริง สร้างสภาพแวดล้อมให้พวกเรารู้สึก Comfort ที่จะบอกว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่ ที่สำคัญคือช่วยให้พวกเราได้รู้จักตัวเอง ว่าอะไรคือทักษะที่เรามี แล้วงานไหนเหมาะกับความสามารถเราที่สุด สกิลไหนที่เราต้องพัฒนาเพื่อให้ก้าวหน้าในชีวิต

3. ค่าจ้างที่ไม่สัมพันธ์กับความเหนื่อย

ข้อนี้เราไม่ได้จะต้องการจะหาว่าใครผิดใครถูกนะครับ แต่เราจะมาบอกในมุมของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เลือกออกจากงาน เพราะเงินเดือนที่น้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับภาระงานที่ได้รับ บางคนต้องเลิกงานมืด หรือกลับบ้านไปแล้วก็ยังต้องทำงานอยู่ แถมเงินเดือนยังไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพอีก ทั้งค่ารถ ค่ากิน ค่าอยู่ การเลือกเปลี่ยนงานก็เป็นอีกทางที่ทำให้เรียกเงินจากที่ใหม่เพิ่มขึ้นได้

 4. วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่สอดคล้องกัน

บางองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วยแป๊ป ๆ แล้วก็พากันลาออกไป สาเหตุหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่คร่ำครึ ล้าสมัย ไม่ทันโลก มีลำดับชั้นสูง หรือเจ้านาย ไม่ได้สนใจจะฟังเสียง ฟังความคิดพวกเราสักเท่าไหร่ มันทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า เราคงเปลี่ยนอะไรที่นี่ไม่ได้ เราคงใช้ความสามารถที่มีกับที่นี่ไม่ได้

เมื่อค่านิยมขององค์กรไม่สอดคล้องกับคนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่มองหาการพัฒนา มองหาโอกาสในชีวิต ในอาชีพที่ดีกว่า มองหาเจ้านายหรือหัวหน้างานที่ทำตัวเป็นโค้ชมากกว่าเป็น Boss แถมแล้วรู้ว่ายังไงองค์กรนี่ก็คงไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้กับเราได้ แล้วค่านิยม วัฒนธรรมในองค์กรนี้ ก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ ก็เลือกที่จะโบกมือบ๊ายบาย เพื่อไปหาโอกาสข้างหน้าดีกว่า

5. ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างกันเกินไป

ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนความต่างของ Generation น่าจะไม่มีผลอะไรใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วมีผลมากเลยนะ ยิ่งองค์กรไหนที่สัดส่วนของวัยพนักงานต่างกันมาก ๆ เพราะยิ่งช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างกันมาก ๆ มันหมายถึงทัศนคติที่ต่างกัน ไหนจะเรื่องของการพูดคุย เพราะคุยกับคนอายุห่างกันมาก ๆ ก็ไม่เหมือนพูดกับเพื่อน เราพูดไอเหี้ย ไอสัส กับเพื่อนได้ เรารู้สึกใกล้ชิดและการพูดกับเพื่อนในทุก ๆ เรื่องมากกว่า แถมความสัมพันธ์ก็ไม่เหมือนกับการทำงานกับเพื่อน พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีเพื่อนนั่นแหละ ช่องว่างระหว่างวัยเนี่ย จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญมาก ๆ ข้อหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจลาออก

6. อยากย้ายสายงาน

ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะชอบงานที่ทำอยู่ขนาดไหนนะฮะ แต่คนรุ่นใหม่ประมาณ 1 ใน 10 กล่าวว่าพวกเขาจะลาออกเพราะตัดสินใจจะย้ายสายงาน เพราะอาจจะเพิ่งเจอว่าอยากทำอะไร หรือต้องการโอกาสในการประกอบอาชีพที่มากขึ้นกว่าเดิม สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อมีคนเปลี่ยนสายงานเป็นเพราะพวกเขาตัดสินใจแล้วว่าต้องการลองทำอย่างอื่นดู

เรื่องนี้ผมก็เข้าใจนะครับ เข้าใจดีด้วย เพราะค่านิยมในการทำงานของคนยุคใหม่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงกับค่านิยมในการทำงานของรุ่นพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวทั้งชีวิต หรือทำอยู่ 4-5 ปีเปลี่ยนงานที แต่อัตราการเปลี่ยนงานของคนรุ่นเราเนี่ย เปลี่ยนเร็วมากพอ ๆ กับยุคสมัยนี้ที่อะไร ๆ ก็เร็วไปหมดนี่แหละ เราไม่ได้มองเป็นเรื่องผิดหรือแปลกประหลาดอะไร ที่คน ๆ นึงจะเปลี่ยนงานบ่อย เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนไม่อดทน ถ้าเขาทำงานอยู่ได้ 3 เดือนแล้วจะลาออก ในเมื่อวัฒนธรรมองค์กร เงินเดือน รูปแบบการทำงานของบริษัทไม่ตอบโจทย์เรา


Category:

Passion in this story