Categories: INSPIRE

PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.21 | “หัวหน้าจะร้ายมั้ย เพื่อนร่วมงานจะดีรึเปล่า” มาดูวิธีการรับมือสังคมออฟฟิศที่ไม่เป็นเหมือนใจคิด

ในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัย เราอาจจะเคยคิดกันเล่นๆ นะครับว่า สังคมออฟฟิศเนี่ยจะมีหน้าตาเป็นยังไง จะมีเพื่อนร่วมงานแย่ๆ ไหม จะมีหัวหน้างานดีๆ รึเปล่า แล้วสังคมในออฟฟิศที่เราจะต้องเจอเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการทำงานเนี่ย มันจะมีความสุขไหม แล้วถ้าเราเจอสังคมออฟฟิศแย่ๆ ที่ไม่เหมือนกับที่คิดล่ะจะต้องทำอย่างไร

 

คลาสในวันนี้เราจะมาพูดคุยกับ วิน-ธิติสรร กวินวศิน และ เอิงเอย-รมิดา จิตติมิตร ถึงวิธีการรับมือกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และสังคมในออฟฟิศ ที่ไม่อาจจะเหมือนกับที่คิดไว้ เราควรจะมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไรเมื่อต้องเจอกับความ toxic และเรื่องที่ไม่เป็นดั่งใจ

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

 

 

“สวัสดีครับ วิน-ธิติสรร กวินวศิน นะครับ เคยทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ด้าน Compliance and Internal control แล้วตอนนี้ผมก็ลาออกจากงานเพื่อมาเรียนด้าน Software Development หรือ DEV นะครับ หลังจากเรียนจบผมมีโอกาสได้ไป Work & Travel ที่สหรัฐอเมริกา มาประมาณ 6 เดือนก่อน แล้วค่อยกลับมาเริ่มทำงาน ทำงานมาได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก็ลาออกมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม”

 

“สวัสดีค่ะ ชื่อเอิงเอยนะคะ รมิดา จิตติมิตร ตอนนี้เรียนปริญญาโทอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่เอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง ตำแหน่ง AE หรือ Account Executive ประมาณ 1 ปี จริง ๆ ก่อนหน้านั้นเคยทำคอนเทนต์อยู่แป๊ปนึง แต่ว่าก็ย้ายมาทำ AE”

 

 

ภาพในหัวตอนที่ยังเรียนอยู่กับชีวิตการทำงานจริง ๆ เหมือนกันไหม

วิน – “สำหรับผมมุมมองก่อนเรียนจบกับหลังเรียนจบค่อนข้างจะแตกต่างกัน เพราะว่าช่วงก่อนเรียนจบผมมีความคิดว่า เห้ย เราเรียนมาตั้งนานเราน่าจะได้เอาความรู้ความสามารถที่เรียนมาใช้ในการทำงาน มาใช้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลักดันชิ้นงานหรือผลงานให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ

 

แต่ว่าหลังจากที่เราเริ่มทำงานในฐานะ 1st Jobber เป็นน้องใหม่ในองค์กร ก็จะมีข้อจำกัดต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ ระเบียบข้อกำหนดที่บางครั้งก็อาจจะเป็นเหมือนกรอบความคิด ที่ทำให้เราต้องเดินไปตามเส้นทางต่าง ๆ โดยเราอาจจะไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ หรือความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่เหมือนที่เคยคิด

 

อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเป็นสังคมไทยบางทีก็อาจจะมีเรื่องความแตกต่างของวัย ทำให้มันยากต่อการที่เด็กใหม่อย่างเรา จะเข้าไปผลักดันถกเถียง ไปใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ บางทีก็มีข้อจำกัดของคำว่าเด็กอยู่”

 

 

เอิงเอย – “จริง ๆ ตอนจบใหม่เราเตรียมใจเอาไว้แล้วแหละ ว่าชีวิตการทำงานจริง ๆ มันจะไม่เหมือนกับภาพในหัวที่เราคิดแน่นอนอยู่แล้ว คือเตรียมใจมาสักพัก ก็เลยคิดว่ายังไงไม่ว่าเราจะเจออะไรก็ต้องอดทนไปให้ได้ คิดไว้อย่างนี้ก่อนจะจบ คือเราคิดแย่ไว้ก่อน เป็นคนนึงที่คิดแย่เอาไว้ก่อน

 

แต่ว่าพอมาทำงานจริง ๆ อาจจะต่างกับวินนิดนึง คือมันแล้วแต่บริษัท วัฒนาธรรมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อย่างของเราทำเอเจนซี่ เพราะฉะนั้นลักษณะการทำงานมันจะไม่มีคำว่าอาวุโส มันจะมีความรู้สึกว่าต่อให้คุณอยู่ในตำแหน่งไหน ก็ควรจะออกความคิดเห็น กลายเป็นว่าเราจะต้องแอคทีฟตลอดเวลา อันนี้คือธรรมชาติของเอเจนซี่ที่เราทำ แล้วเราก็ต้องคอยคิดคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ใครยิงคำถามอะไรมาเราก็จะต้องตอบ เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ตอนที่เราทำงานที่นี่

 

ฉะนั้นเราต้องแอคทีฟกว่าตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แล้วก็สิ่งที่เราไม่เคยเจอในมหาวิทยาลัย มันมีเยอะแยะเต็มไปหมด แรก ๆ เราก็แถ แล้วเขาก็รู้ว่าเราแถ ส่วนหนึ่งคือเราไม่ได้จบตรงสาย เราก็ต้องใช้วิชามารของเราในการพูดออกความคิดเห็น แค่ภาพจริง ๆ คือไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดอาจจะต่างกับวินตรงนี้ อาจจะเป็นความโชคดี”

 

 

อาจจะเป็นเพราะวินทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ก็เลยติดเรื่องกรอบ เรื่องความต่างของวัย ทำให้ไม่ได้ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วนเอิงเอยด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของวัยเท่าไหร่

เอิงเอย – “จริง ๆ เรื่องวัยก็ต่างกัน แต่ว่าเราสามารถโยนไอเดียกันได้ ไม่ถึงกับว่าเราต้องเป็นฝ่ายตอบรับอย่างเดียว”

 

 

วิน – “คือวิธีการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ก็ต่างกัน มีวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้เจอก็แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม”

 

 

พอเริ่มทำงานจริง ๆ แต่ละคนเจอเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานแบบไหนกันบ้าง

เอิงเอย – “ตอนที่เราทำงาน 1 ปี เราทำมา 2 งาน ซึ่งทำให้เรามีตัวเปรียบเทียบว่าเพื่อนร่วมงาน รวมถึงหัวหน้างาน เป็นยังไง ถ้าที่แรกเนี่ย เพื่อนร่วมงานดีมากเพราะอายุเท่ากัน มีอะไรแชร์กันได้ ผิดพลาดอะไรคือผิดพลาดคล้าย ๆ กัน ก้อนความคิดมันยังอยู่ในที่เดียวกัน ความคิดก็คล้าย ๆ กัน

 

แต่เจ้านายคือคนละโยชน์กับเราเลย เราคิดว่าสมมติเจ้านายดีมาก ๆ เนี่ย เราจะไม่ถูกกับเพื่อนร่วมงาน ส่วนถ้าเจ้านายไม่ดี เพื่อนร่วมงานจะรักกัน เพราะว่าเหมือนเรามีศัตรูคนเดียวกัน (หัวเราะ) ฉะนั้นบทสนทนาเวลาเลิกงานเราก็จะนินทาเจ้านาย (หัวเราะ)

 

ถามว่าเจ้านายที่เจอร้ายไหมหรอ เราว่า toxic มากกว่า คือมันเป็นความบั่นทอนในการทำงานเรามาก ถึงแม้ว่าชั้นจะชอบเนื้องานชั้นมาก แต่ว่าถ้าเจ้านาย toxic มาก ๆ หมายความว่าความผิดบางอย่างที่เราไม่ได้ทำแต่มันกลายเป็นของเรา มันก็จะมีเจ้านายแบบนี้ที่โทษเอาไว้ก่อน

 

อย่างที่บอกว่าบริษัทที่เราเคยทำเป็นเอเจนซี่เล็ก ๆ เพราะฉะนั้นเจ้านายจะมีหน้าที่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานมันยากขึ้นเพราะเจ้านายมาอยู่ในกระบวนการทำงานของเราด้วย ความเกร็ง ความอิหลักอิเหลื่อมันมีอยู่แล้ว

 

ส่วนที่ทำงานที่ 2 ก็เป็นภาพที่ดีขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องไปที่ที่ดีขึ้น ที่นี่ไม่ร้ายนะแต่เป็นความนิ่งดูดาย เขาไม่ร้าย ไม่ได้ทำให้เราบั่นทอน เขาไม่ได้ว่าอะไรเราเลย แต่ว่าเหมือนเป็นความนิ่งเฉย คือเราเป็นเด็กจบใหม่ เราต้องการอะไรที่ช่วยผลักดันเรา โอเค เขาอาจจะให้เสรีในการทำงาน อาจจะให้เราแสดงตัวตน ให้เราได้ปล่อยของ แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือความรู้ ยอมรับว่าการทำงานไม่ใช่การมาหาความรู้ แต่ว่าถ้าเขารับเราเข้ามาในฐานะเด็กจบใหม่ มันจะต้องมีการสอนงาน เราควรจะรู้อะไรบ้าง เขาควรจะบอกอะไรเราสักอย่างก่อนที่เราจะไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า

 

เช่น อย่างเราเป็น AE ที่ต้องเจอลูกค้าโดยตรง แล้วเราเป็นเด็กจบใหม่ มันอาจจะฟังดูเหมือนข้ออ้าง แต่มันก็คือความจริงว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์ขนาดนั้น ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้มันออกมาดี ยอมรับว่าต้องช่วยตัวเองด้วย แต่อยากให้เขาเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

 

ฉะนั้นเรารู้สึกว่าหัวหน้าที่ดี คือ สอนงาน ไม่ต้องเยอะมากแต่ว่าช่วยเหลือเราในแง่มุมหลาย ๆ อย่างให้เราได้ ให้เรารู้สึกสบายใจ สามารถพึ่งพาได้มากกว่า”

 

 

วิน – “สำหรับเรา เราไปทำงานในองค์กรที่ค่อนข้างจะใหญ่แล้วก็มีลำดับขั้นที่ชัดเจน อีกอย่างคือวัยในการทำงาน พอเราเข้าไปเป็นน้องใหม่ เราจะมีเพื่อนที่วัยพอ ๆ กับเราแค่คนเดียว แล้วพอถัดจากเราอายุก็จะขึ้นไป 30 35 40 ปี ขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีชุดความคิดที่ค่อนข้างต่างกัน เหมือนเราเป็นเด็กจบใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ เราก็อยากทำอะไรที่รวดเร็ว ทันควัน คิดปุ๊ป ทำปั๊ป ทดลองทำ ผิดก็ทำใหม่

 

แต่ว่าแนวคิดส่วนใหญ่ที่เป็นกรอบในการทำงาน มันจะมีขั้นตอนรายละเอียดต่าง ๆ ในการตรวจสอบ ในการวางแผนที่ค่อนข้างนาน มันเลยทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานบ้าง แต่ในสภาพแวดล้อมโดยรวม เพื่อนร่วมงานค่อนข้างดี ถึงเขาจะมีวัยที่แตกต่างกับเราค่อนข้างมาก มีความคิดแตกต่างกัน แต่เขาพร้อมที่ช่วยเหลือเราเสมอ มีอะไรติดขัด ขัดข้อง สามารถถามได้

 

ปัญหาหลัก ๆ ที่เจอ คือ หัวหน้างานที่มีหน้าที่รับผิดชอบค่อนข้างเยอะ เขาเลยอาจจะไม่ค่อยมีเวลามาสอนงานเราเท่าไหร่ มันเลยทำให้เราต้องลุยเอง เหมือนเวลาเล่นเกมที่เราเพิ่งเลเวล 1 แล้วเราไปเจอมอนสเตอร์เลเวล 15 เลเวล 30 โดยที่เขาให้มีดเรามาแค่หนึ่งเล่ม มันก็ค่อนข้างยากในการทำงาน

 

แล้วก็เนื่องจากองค์กรที่เราทำมีระบบตรวจสอบที่ค่อนข้างแน่นหนา มันเลยทำให้ยากต่อเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้ามา แล้วจะเข้าใจระบบการทำงานต่าง ๆ ขององค์กรได้ โดยที่ไม่ได้มีการไกด์อย่างชัดเจนและแน่นอน ซึ่งก็ทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารบ้าง”

 

 

มีวิธีการรับมือกับปัญหาที่เจอยังไง

เอิงเอย – “วิธีการจัดการกับปัญหาหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน มันขึ้นอยู่ที่ตัวเราอย่างเดียวแล้วแหละ อย่างคำถามว่าเราเจอปัญหาอะไรกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายพอมามองจริง ๆ คืออยู่ที่ตัวเรา เพราะเรามองว่าเขาซัพพอร์ตเราไม่ได้ หรือเขาสอนงานเราแล้วเราไม่เข้าใจ มันคือตัวเราทั้งนั้นเลย

 

ดังนั้นสิ่งหนึ่งคือ เราต้องกลับมานั่งคิดแล้วลิสต์กับตัวเองก่อนว่า เราไม่ได้อะไร เราไม่เข้าใจอะไรที่เขาพูด และเราต้องกลับมานั่งแก้ไขปรับปรุงเองทุกอย่างในแต่ละวัน ว่าเราไม่ได้หรือพลาดอะไรเองมากกว่า อันนี้คือพาร์ทของการทำงาน ที่เราคิดว่าวิธีการแก้ไขที่ได้ผลที่สุด คือ ดูตัวเอง

 

แต่ว่าในแง่หนึ่ง เรื่องการเมืองในที่ทำงาน หรือความ toxic ในที่ทำงาน ซึ่งมีอยู่แล้วในแต่ละบริษัท ความแก่งแย่งชิงดีที่อาจจะไม่ได้เห็นชัด แต่ว่ามันมีอยู่ เราก็แค่อย่าแหย่ขาเข้าไป (หัวเราะ) อยู่นิ่ง ๆ ถ้ารู้ว่ามีความขัดแย้งบาดหมางตรงไหน หรือคนไหนทะเลาะกัน ก็แค่อย่าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ พยายามหลีกเลี่ยงไว้ก่อนสำหรับเด็กใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการอ่านคน ดีที่สุดคืออย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน

 

แน่นอนว่าการหาเพื่อน การสร้างมิตรภาพ ก็ต้องทำ แต่ว่าคอยดูระยะไว้เพราะว่าเราก็เพิ่งเจอเขา ในโลกของการทำงานมีผลประโยชน์ ไม่เหมือนกับตอนเรียนที่ไม่มีผลประโยชน์อะไร ฉะนั้นคำว่า make friend มันไม่เหมือนกับที่มหาวิทยาลัย”

 

 

วิน – “เรามีอยู่ 2 วิธี ที่จะแก้ไขในการทำงาน 1. คือในเชิงการทำงาน องค์กรที่เราทำจะมีไดร์ฟกลาง เป็นเหมือนคลังความรู้ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ กระบวนการในการทำงาน กฎระเบียบต่าง ๆ พอเราเข้าไปทำงานแล้วไม่เข้าใจกฎระเบียบ ไม่เข้าใจการทำงานตรงนี้ ก็เข้าไปในไดร์ฟกลางนี้เพื่อที่จะหาข้อมูล กฎระเบียบ มานั่งอ่าน นั่งทำความเข้าใจ ให้การทำงานมันง่ายขึ้น

 

2. เชิงสังคม พอเราเข้าไปเป็นเด็กใหม่ สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือพี่เลี้ยงที่จะคอยดูแล คอยให้คำปรึกษาเราได้ ซึ่งบางองค์กรจะกำหนดไว้ว่าพอเด็กใหม่มา ใครจะเป็นพี่เลี้ยง แต่ว่าองค์กรที่เราไปทำงาน ไม่ได้กำหนดว่าใครจะคอยดูแลเรา สิ่งที่เราต้องทำคือหากลุ่ม หาว่าใครที่เราจะเชื่อใจเขาได้ หรือเราสามารถไปปรึกษาแล้วเขาพอจะมีเวลาให้ เราก็พยายามไปคุย ไปสร้างความสัมพันธ์กับเขาแล้วเขาก็จะได้ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำดี ๆ ที่เราจะเอาไปใช้ได้

 

เราว่าการที่เรามีเพื่อนหรือมีพี่ในที่ทำงาน มันช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย

 

อีกเรื่องคือ เราจะมีความคาดหวังว่าเรียนจบมาต้องเจออย่างนู้นอย่างนี้ เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี เจอพี่ที่คอยซัพพอร์ต ซึ่งอยากจะให้มองย้อนกลับไปว่าในบางครั้ง เราอยากทำอย่างงั้นอย่างงี้ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราคาดหวังกับตัวได้ขนาดนั้นเหมือนกัน แล้วเราดันไปคาดหวังกับคนอื่นให้คนอื่นทำตามที่เราคาดหวัง บางทีเราก็ต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เราคาดหวังกับคนอื่นมากเกินไปรึเปล่า เราต้องทำความเข้าใจกับเขาด้วย ว่าเขาก็มีงานที่เขาต้องทำเหมือนกัน”

 

 

เอิงเอย – “ความคาดหวังคือตัวเรา การทำงานมันคือการที่เรากลับมาโฟกัสตัวเองมากที่สุด ความทุกข์ ความสุข ความกลัว ความตื่นเต้น มันคือการจัดการตัวเอง เรารู้สึกว่าสำหรับ 1st Jobber ถ้ายังมีเวลาก่อนจะเข้าสู่สังคมการทำงาน ควรฝึกอยู่กับตัวเอง พยายามมองตัวเองให้เยอะ ๆ รู้จักตัวเองให้มาก ๆ ก่อนที่จะไปสังคมอีกระดับนึง มันอาจฟังดูเป็นปรัชญาหน่อย (หัวเราะ) มหาวิทยาลัยกระตุ้นให้เรารู้จักตัวมากขึ้นกว่าโรงเรียน การอยู่มหาวิทยาลัยมันแค่ได้รู้จักตัวเองระดับนึง แต่การที่ไปสังคมการทำงานแล้ว มันทำให้เราเป็นตัวเองไม่ได้ 100% แต่เราจำเป็นต้องคงความเป็นตัวเองไว้ให้ได้ มันเป็นความยากอีกระดับ”

 

 

ถ้าเราเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี เราควรมีวิธีรับมือยังไง

วิน – “เราต้องแยกให้ชัดระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว บางครั้งที่เราโดนนินทา ก็อาจจะต้องกลับมามองตัวเองก่อนว่าเราเป็นอย่างที่เขาพูดจริงไหม อาจจะมีอะไรที่เราทำผิดจริง ๆ เราบกพร่องจริง ๆ แต่เราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราลองเอาคำพูดคำนินทาของเขามาคิด มาวิเคราะห์ดูก่อนว่าเราผิดจริง ๆ รึเปล่า

 

แต่ว่าสุดท้ายแล้วสังคมทำงานก็คือสังคม ๆ นึง เราจะให้ทุกคนมาชอบเราคงเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับในความคิดที่มันแตกต่าง และเอาความคิดที่แตกต่างมาปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ปิดจุดผิดพลาดตรงนั้น ถึงที่สุดเราต้องแบ่งแยกให้ชัดว่าเรื่องงานคือเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวคือเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะโดนนินทา โดนเกลียดขี้หน้ายังไง พอถึงหน้างานเราก็ต้องทำงานให้ดีเหมือนเดิม

 

เสริมเอิงเอยว่า ความเป็นตัวเราคือสิ่งสำคัญ อย่างหนึ่งที่อยากบอก 1st Jobber คือเราอย่าเป็น Yes man เราต้องหัดที่จะ Say no บ้าง บางครั้งบางทีเราเป็นเด็ก มีผู้ใหญ่มาบอกว่าทำอันนี้ให้หน่อย ทำอันนั้นให้หน่อย แล้วรับงานมาก็ต้องดูลิมิตของตัวเองด้วยว่า ปัจจุบันงานที่เรารับมามันเกินศักยภาพของเรารึเปล่า ถ้ามันถึงขีดจำกัดแล้วก็ต้องปฏิเสธบ้าง

 

ต้องมีวิธีการพูดว่าตอนนี้เราทำงานนี้อยู่ ถ้าอยากให้เราทำงานเพิ่ม อาจจะต้องลำดับความสำคัญ งานที่เอามาให้รีบไหม มันเร่งด่วนขนาดไหน ถ้ารีบมากมันอาจจะผลักงานอื่น ๆ ให้เลยกำหนดเวลาไปนะ หรือว่าถ้างานที่ให้มาไม่รีบมาก เราทำให้ได้ แต่ต้องมาตกลงกันนะว่าจะกำหนดส่งเมื่อไหร่ คือเราว่ามันต้องหัดพูดตรง ๆ กับคนที่แก่กว่า กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่จะสำเร็จไปด้วยกันทั้งทีม”

 

 

เอิงเอย – “จริง ๆ เราไม่ใช่คนดีเนอะ เราก็เป็นหนึ่งในคนที่นินทาคนอื่นเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะว่าบางทีก็มีอะไรที่ไม่ถูกใจเรา แล้วเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องระบาย ถามว่ามีคนนินทาเราไหม มี แต่ว่าสิ่งสำคัญ คือ แก่นของการอยู่กับคนอื่น ไม่ว่าจะเรื่องนินทาหรือเรื่องการทำงานที่เรารู้สึกไม่พอใจเพื่อนร่วมงาน หรือการที่เขาด่าเรา วิธีจัดการของเรามีอย่างดียว คือ อย่าเก็บไว้นาน (หัวเราะ)

 

เมื่อเรารู้ เรารับมา เราเป็นอย่างนั้น แล้วรีบปล่อย อันนี้มันต้องฝึกหนัก ๆ เลยกับการปล่อยให้เร็วที่สุด รับมาแล้วปล่อยทิ้งไป ไม่งั้นวันรุ่งขึ้นเราจะไม่มีแรงทำงาน แต่ละวันมันเหนื่อยมันหนัก เพราะฉะนั้นเราพยายามจะผ่อนปรนน้ำหนักลงในแต่ละวันให้ได้ เพื่อเราจะได้ก้าวต่อในวันรุ่งขึ้นได้อีก ซึ่งมันยากเราเข้าใจ มันพูดง่ายมากเลยกับการปล่อยนู่นปล่อยนี่ แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราปล่อยได้จริง ๆ อันนี้คือจุดสูงสุดของการทำงานแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น

 

อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราปล่อยไม่ได้เลย จะกลายเป็นว่าในวันนึงมันจะระเบิด จะเหมือนทุกอย่างยำรวมกันแล้วมันจะระเบิด ซึ่งจะนำไปสู่การลาออก (หัวเราะ)

 

อย่างที่บอกไปว่าเราก็ไม่ใช่คนดี (หัวเราะ) เราก็เป็นคนที่นินทาคนอื่นเหมือนกัน แต่การนินทามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ อยากจะให้เข้าใจตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราร่วมนินทากับคนอื่นก็สงวนตัวเอาไว้ด้วย อย่าปล่อยหมด (หัวเราะ) จริง ๆ เราว่าหลายคนก็น่าจะเป็นเหมือนกัน เรื่องที่คุยกับเพื่อนร่วมงานก็มีอยู่ไม่กี่เรื่อง นอกจากเรื่องงานกับเรื่องคนอื่น ฉะนั้นตอนนินทาก็อยากด่าเขาเยอะ เพราะพอถึงตาเราแล้วมันจะไม่สวย (หัวเราะ)”

 

 

อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber ที่กำลังเข้าสู่โลกของการทำงานบ้าง

วิน – “อยากบอกทุกคนว่า อย่าคาดหวังว่าโลกความจริงจะเป็นไปตามที่เราคิดไว้ คาดหวังไว้ เมื่อตอนเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ อยากให้ยอมรับ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย จะหนักหรือจะเหนื่อย ก็อยากให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปกับมัน เพราะว่าทุก ๆ อย่างที่เข้ามาสู่ชีวิตเรา มันคือสิ่งประกอบสร้างจากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้มา ซึ่งทำให้เราเป็นเราในตอนนี้ มันจะดีหรือแย่ยังไง มันก็คือเราเนี่ยแหละ อยากให้กำลังใจ 1st Jobber ทุกคน สู้ ๆ อดทนและเรียนรู้ไปกับชีวิต ถ้ายิ่งเจออะไรที่หนัก ยิ่งต้องพยายามเรียนรู้ไปกับมันให้คุ้มกับความเหนื่อย เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ให้ได้มากที่สุด สู้ ๆ ครับ”

 

 

เอิงเอย – “เรารู้สึกว่า 1st Jobber พอเข้าสู่โลกการทำงาน มันเหมือนปลาน็อคน้ำ อะไรก็ใหม่ไปหมด หยิบจับอะไรก็ไม่เป็นไปดั่งใจคิดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ 1st Jobber ถูกสอนมาให้ต้องทำอย่างแรกเลย คือ อดทน แต่พออยู่ไปนาน ๆ เราเริ่มรู้สึกว่าความอดทนไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง คนเจเนเรชั่นก่อนหน้าเราชอบบอกว่าต้องอดทน แต่เรารู้สึกว่าทำไมต้องมาอดทนกับอะไรแบบนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเราว่าก่อนจะเริ่มหางานอะไร อย่าคิดว่าแค่มีงานก็พอ เรารู้สึกว่าควรจะชอบมาก ๆ ถึงจะเลือก ต่อให้หางาน 6 เดือน 1 ปี หรือกี่ปี

 

โอเค หลายคนอาจจะเร่งรีบ ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่อย่างน้อย ๆ ปัจจัยในการเลือกงานแรกควรจะมาจากความชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบ แพชั่นไม่มี ความสุขไม่มา แล้วหางานปุ๊ปต้องศึกษาก่อนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เราจะทำเป็นยังไง ก่อนที่เราจะตกลงกับเขา เพื่อนร่วมงานเป็นยังไง การทำงานเป็นยังไง ฝากทุกคนว่าวันนี้ทุกอย่างมันยากขึ้น ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องกดดันตัวเอง หรือรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ว่าใครจะกดดันเราก็ตาม แต่เราอย่ากดดันตัวเอง ในเมื่อวันนี้ไม่ได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็มา ใจเย็น ๆ สุดท้ายคือรู้จักฟัง ซึมซับให้มาก ๆ แล้วค่อยตัดสินใจ การตัดสินใจไม่ต้องรีบ ดูดี ๆ ดูช้า ๆ ค่อย ๆ อย่ารีบ อย่าเร่งตัวเอง”

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.