ในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัย เราอาจจะเคยคิดกันเล่นๆ นะครับว่า สังคมออฟฟิศเนี่ยจะมีหน้าตาเป็นยังไง จะมีเพื่อนร่วมงานแย่ๆ ไหม จะมีหัวหน้างานดีๆ รึเปล่า แล้วสังคมในออฟฟิศที่เราจะต้องเจอเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการทำงานเนี่ย มันจะมีความสุขไหม แล้วถ้าเราเจอสังคมออฟฟิศแย่ๆ ที่ไม่เหมือนกับที่คิดล่ะจะต้องทำอย่างไร

 

คลาสในวันนี้เราจะมาพูดคุยกับ วิน-ธิติสรร กวินวศิน และ เอิงเอย-รมิดา จิตติมิตร ถึงวิธีการรับมือกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และสังคมในออฟฟิศ ที่ไม่อาจจะเหมือนกับที่คิดไว้ เราควรจะมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไรเมื่อต้องเจอกับความ toxic และเรื่องที่ไม่เป็นดั่งใจ

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

 

 

“สวัสดีครับ วิน-ธิติสรร กวินวศิน นะครับ เคยทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ด้าน Compliance and Internal control แล้วตอนนี้ผมก็ลาออกจากงานเพื่อมาเรียนด้าน Software Development หรือ DEV นะครับ หลังจากเรียนจบผมมีโอกาสได้ไป Work & Travel ที่สหรัฐอเมริกา มาประมาณ 6 เดือนก่อน แล้วค่อยกลับมาเริ่มทำงาน ทำงานมาได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก็ลาออกมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม”

 

“สวัสดีค่ะ ชื่อเอิงเอยนะคะ รมิดา จิตติมิตร ตอนนี้เรียนปริญญาโทอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่เอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง ตำแหน่ง AE หรือ Account Executive ประมาณ 1 ปี จริง ๆ ก่อนหน้านั้นเคยทำคอนเทนต์อยู่แป๊ปนึง แต่ว่าก็ย้ายมาทำ AE”

 

 

ภาพในหัวตอนที่ยังเรียนอยู่กับชีวิตการทำงานจริง ๆ เหมือนกันไหม

วิน – “สำหรับผมมุมมองก่อนเรียนจบกับหลังเรียนจบค่อนข้างจะแตกต่างกัน เพราะว่าช่วงก่อนเรียนจบผมมีความคิดว่า เห้ย เราเรียนมาตั้งนานเราน่าจะได้เอาความรู้ความสามารถที่เรียนมาใช้ในการทำงาน มาใช้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลักดันชิ้นงานหรือผลงานให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ

 

แต่ว่าหลังจากที่เราเริ่มทำงานในฐานะ 1st Jobber เป็นน้องใหม่ในองค์กร ก็จะมีข้อจำกัดต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ ระเบียบข้อกำหนดที่บางครั้งก็อาจจะเป็นเหมือนกรอบความคิด ที่ทำให้เราต้องเดินไปตามเส้นทางต่าง ๆ โดยเราอาจจะไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ หรือความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่เหมือนที่เคยคิด

 

อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเป็นสังคมไทยบางทีก็อาจจะมีเรื่องความแตกต่างของวัย ทำให้มันยากต่อการที่เด็กใหม่อย่างเรา จะเข้าไปผลักดันถกเถียง ไปใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ บางทีก็มีข้อจำกัดของคำว่าเด็กอยู่”

 

 

เอิงเอย – “จริง ๆ ตอนจบใหม่เราเตรียมใจเอาไว้แล้วแหละ ว่าชีวิตการทำงานจริง ๆ มันจะไม่เหมือนกับภาพในหัวที่เราคิดแน่นอนอยู่แล้ว คือเตรียมใจมาสักพัก ก็เลยคิดว่ายังไงไม่ว่าเราจะเจออะไรก็ต้องอดทนไปให้ได้ คิดไว้อย่างนี้ก่อนจะจบ คือเราคิดแย่ไว้ก่อน เป็นคนนึงที่คิดแย่เอาไว้ก่อน

 

แต่ว่าพอมาทำงานจริง ๆ อาจจะต่างกับวินนิดนึง คือมันแล้วแต่บริษัท วัฒนาธรรมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อย่างของเราทำเอเจนซี่ เพราะฉะนั้นลักษณะการทำงานมันจะไม่มีคำว่าอาวุโส มันจะมีความรู้สึกว่าต่อให้คุณอยู่ในตำแหน่งไหน ก็ควรจะออกความคิดเห็น กลายเป็นว่าเราจะต้องแอคทีฟตลอดเวลา อันนี้คือธรรมชาติของเอเจนซี่ที่เราทำ แล้วเราก็ต้องคอยคิดคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ใครยิงคำถามอะไรมาเราก็จะต้องตอบ เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ตอนที่เราทำงานที่นี่

 

ฉะนั้นเราต้องแอคทีฟกว่าตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แล้วก็สิ่งที่เราไม่เคยเจอในมหาวิทยาลัย มันมีเยอะแยะเต็มไปหมด แรก ๆ เราก็แถ แล้วเขาก็รู้ว่าเราแถ ส่วนหนึ่งคือเราไม่ได้จบตรงสาย เราก็ต้องใช้วิชามารของเราในการพูดออกความคิดเห็น แค่ภาพจริง ๆ คือไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดอาจจะต่างกับวินตรงนี้ อาจจะเป็นความโชคดี”

 

 

อาจจะเป็นเพราะวินทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ก็เลยติดเรื่องกรอบ เรื่องความต่างของวัย ทำให้ไม่ได้ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วนเอิงเอยด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของวัยเท่าไหร่

เอิงเอย – “จริง ๆ เรื่องวัยก็ต่างกัน แต่ว่าเราสามารถโยนไอเดียกันได้ ไม่ถึงกับว่าเราต้องเป็นฝ่ายตอบรับอย่างเดียว”

 

 

วิน – “คือวิธีการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ก็ต่างกัน มีวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้เจอก็แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม”

 

 

พอเริ่มทำงานจริง ๆ แต่ละคนเจอเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานแบบไหนกันบ้าง

เอิงเอย – “ตอนที่เราทำงาน 1 ปี เราทำมา 2 งาน ซึ่งทำให้เรามีตัวเปรียบเทียบว่าเพื่อนร่วมงาน รวมถึงหัวหน้างาน เป็นยังไง ถ้าที่แรกเนี่ย เพื่อนร่วมงานดีมากเพราะอายุเท่ากัน มีอะไรแชร์กันได้ ผิดพลาดอะไรคือผิดพลาดคล้าย ๆ กัน ก้อนความคิดมันยังอยู่ในที่เดียวกัน ความคิดก็คล้าย ๆ กัน

 

แต่เจ้านายคือคนละโยชน์กับเราเลย เราคิดว่าสมมติเจ้านายดีมาก ๆ เนี่ย เราจะไม่ถูกกับเพื่อนร่วมงาน ส่วนถ้าเจ้านายไม่ดี เพื่อนร่วมงานจะรักกัน เพราะว่าเหมือนเรามีศัตรูคนเดียวกัน (หัวเราะ) ฉะนั้นบทสนทนาเวลาเลิกงานเราก็จะนินทาเจ้านาย (หัวเราะ)

 

ถามว่าเจ้านายที่เจอร้ายไหมหรอ เราว่า toxic มากกว่า คือมันเป็นความบั่นทอนในการทำงานเรามาก ถึงแม้ว่าชั้นจะชอบเนื้องานชั้นมาก แต่ว่าถ้าเจ้านาย toxic มาก ๆ หมายความว่าความผิดบางอย่างที่เราไม่ได้ทำแต่มันกลายเป็นของเรา มันก็จะมีเจ้านายแบบนี้ที่โทษเอาไว้ก่อน

 

อย่างที่บอกว่าบริษัทที่เราเคยทำเป็นเอเจนซี่เล็ก ๆ เพราะฉะนั้นเจ้านายจะมีหน้าที่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานมันยากขึ้นเพราะเจ้านายมาอยู่ในกระบวนการทำงานของเราด้วย ความเกร็ง ความอิหลักอิเหลื่อมันมีอยู่แล้ว

 

ส่วนที่ทำงานที่ 2 ก็เป็นภาพที่ดีขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องไปที่ที่ดีขึ้น ที่นี่ไม่ร้ายนะแต่เป็นความนิ่งดูดาย เขาไม่ร้าย ไม่ได้ทำให้เราบั่นทอน เขาไม่ได้ว่าอะไรเราเลย แต่ว่าเหมือนเป็นความนิ่งเฉย คือเราเป็นเด็กจบใหม่ เราต้องการอะไรที่ช่วยผลักดันเรา โอเค เขาอาจจะให้เสรีในการทำงาน อาจจะให้เราแสดงตัวตน ให้เราได้ปล่อยของ แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือความรู้ ยอมรับว่าการทำงานไม่ใช่การมาหาความรู้ แต่ว่าถ้าเขารับเราเข้ามาในฐานะเด็กจบใหม่ มันจะต้องมีการสอนงาน เราควรจะรู้อะไรบ้าง เขาควรจะบอกอะไรเราสักอย่างก่อนที่เราจะไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า

 

เช่น อย่างเราเป็น AE ที่ต้องเจอลูกค้าโดยตรง แล้วเราเป็นเด็กจบใหม่ มันอาจจะฟังดูเหมือนข้ออ้าง แต่มันก็คือความจริงว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์ขนาดนั้น ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้มันออกมาดี ยอมรับว่าต้องช่วยตัวเองด้วย แต่อยากให้เขาเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

 

ฉะนั้นเรารู้สึกว่าหัวหน้าที่ดี คือ สอนงาน ไม่ต้องเยอะมากแต่ว่าช่วยเหลือเราในแง่มุมหลาย ๆ อย่างให้เราได้ ให้เรารู้สึกสบายใจ สามารถพึ่งพาได้มากกว่า”

 

 

วิน – “สำหรับเรา เราไปทำงานในองค์กรที่ค่อนข้างจะใหญ่แล้วก็มีลำดับขั้นที่ชัดเจน อีกอย่างคือวัยในการทำงาน พอเราเข้าไปเป็นน้องใหม่ เราจะมีเพื่อนที่วัยพอ ๆ กับเราแค่คนเดียว แล้วพอถัดจากเราอายุก็จะขึ้นไป 30 35 40 ปี ขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีชุดความคิดที่ค่อนข้างต่างกัน เหมือนเราเป็นเด็กจบใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ เราก็อยากทำอะไรที่รวดเร็ว ทันควัน คิดปุ๊ป ทำปั๊ป ทดลองทำ ผิดก็ทำใหม่

 

แต่ว่าแนวคิดส่วนใหญ่ที่เป็นกรอบในการทำงาน มันจะมีขั้นตอนรายละเอียดต่าง ๆ ในการตรวจสอบ ในการวางแผนที่ค่อนข้างนาน มันเลยทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานบ้าง แต่ในสภาพแวดล้อมโดยรวม เพื่อนร่วมงานค่อนข้างดี ถึงเขาจะมีวัยที่แตกต่างกับเราค่อนข้างมาก มีความคิดแตกต่างกัน แต่เขาพร้อมที่ช่วยเหลือเราเสมอ มีอะไรติดขัด ขัดข้อง สามารถถามได้

 

ปัญหาหลัก ๆ ที่เจอ คือ หัวหน้างานที่มีหน้าที่รับผิดชอบค่อนข้างเยอะ เขาเลยอาจจะไม่ค่อยมีเวลามาสอนงานเราเท่าไหร่ มันเลยทำให้เราต้องลุยเอง เหมือนเวลาเล่นเกมที่เราเพิ่งเลเวล 1 แล้วเราไปเจอมอนสเตอร์เลเวล 15 เลเวล 30 โดยที่เขาให้มีดเรามาแค่หนึ่งเล่ม มันก็ค่อนข้างยากในการทำงาน

 

แล้วก็เนื่องจากองค์กรที่เราทำมีระบบตรวจสอบที่ค่อนข้างแน่นหนา มันเลยทำให้ยากต่อเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้ามา แล้วจะเข้าใจระบบการทำงานต่าง ๆ ขององค์กรได้ โดยที่ไม่ได้มีการไกด์อย่างชัดเจนและแน่นอน ซึ่งก็ทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารบ้าง”

 

 

มีวิธีการรับมือกับปัญหาที่เจอยังไง

เอิงเอย – “วิธีการจัดการกับปัญหาหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน มันขึ้นอยู่ที่ตัวเราอย่างเดียวแล้วแหละ อย่างคำถามว่าเราเจอปัญหาอะไรกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายพอมามองจริง ๆ คืออยู่ที่ตัวเรา เพราะเรามองว่าเขาซัพพอร์ตเราไม่ได้ หรือเขาสอนงานเราแล้วเราไม่เข้าใจ มันคือตัวเราทั้งนั้นเลย

 

ดังนั้นสิ่งหนึ่งคือ เราต้องกลับมานั่งคิดแล้วลิสต์กับตัวเองก่อนว่า เราไม่ได้อะไร เราไม่เข้าใจอะไรที่เขาพูด และเราต้องกลับมานั่งแก้ไขปรับปรุงเองทุกอย่างในแต่ละวัน ว่าเราไม่ได้หรือพลาดอะไรเองมากกว่า อันนี้คือพาร์ทของการทำงาน ที่เราคิดว่าวิธีการแก้ไขที่ได้ผลที่สุด คือ ดูตัวเอง

 

แต่ว่าในแง่หนึ่ง เรื่องการเมืองในที่ทำงาน หรือความ toxic ในที่ทำงาน ซึ่งมีอยู่แล้วในแต่ละบริษัท ความแก่งแย่งชิงดีที่อาจจะไม่ได้เห็นชัด แต่ว่ามันมีอยู่ เราก็แค่อย่าแหย่ขาเข้าไป (หัวเราะ) อยู่นิ่ง ๆ ถ้ารู้ว่ามีความขัดแย้งบาดหมางตรงไหน หรือคนไหนทะเลาะกัน ก็แค่อย่าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ พยายามหลีกเลี่ยงไว้ก่อนสำหรับเด็กใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการอ่านคน ดีที่สุดคืออย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน

 

แน่นอนว่าการหาเพื่อน การสร้างมิตรภาพ ก็ต้องทำ แต่ว่าคอยดูระยะไว้เพราะว่าเราก็เพิ่งเจอเขา ในโลกของการทำงานมีผลประโยชน์ ไม่เหมือนกับตอนเรียนที่ไม่มีผลประโยชน์อะไร ฉะนั้นคำว่า make friend มันไม่เหมือนกับที่มหาวิทยาลัย”

 

 

วิน – “เรามีอยู่ 2 วิธี ที่จะแก้ไขในการทำงาน 1. คือในเชิงการทำงาน องค์กรที่เราทำจะมีไดร์ฟกลาง เป็นเหมือนคลังความรู้ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ กระบวนการในการทำงาน กฎระเบียบต่าง ๆ พอเราเข้าไปทำงานแล้วไม่เข้าใจกฎระเบียบ ไม่เข้าใจการทำงานตรงนี้ ก็เข้าไปในไดร์ฟกลางนี้เพื่อที่จะหาข้อมูล กฎระเบียบ มานั่งอ่าน นั่งทำความเข้าใจ ให้การทำงานมันง่ายขึ้น

 

2. เชิงสังคม พอเราเข้าไปเป็นเด็กใหม่ สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือพี่เลี้ยงที่จะคอยดูแล คอยให้คำปรึกษาเราได้ ซึ่งบางองค์กรจะกำหนดไว้ว่าพอเด็กใหม่มา ใครจะเป็นพี่เลี้ยง แต่ว่าองค์กรที่เราไปทำงาน ไม่ได้กำหนดว่าใครจะคอยดูแลเรา สิ่งที่เราต้องทำคือหากลุ่ม หาว่าใครที่เราจะเชื่อใจเขาได้ หรือเราสามารถไปปรึกษาแล้วเขาพอจะมีเวลาให้ เราก็พยายามไปคุย ไปสร้างความสัมพันธ์กับเขาแล้วเขาก็จะได้ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำดี ๆ ที่เราจะเอาไปใช้ได้

 

เราว่าการที่เรามีเพื่อนหรือมีพี่ในที่ทำงาน มันช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย

 

อีกเรื่องคือ เราจะมีความคาดหวังว่าเรียนจบมาต้องเจออย่างนู้นอย่างนี้ เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี เจอพี่ที่คอยซัพพอร์ต ซึ่งอยากจะให้มองย้อนกลับไปว่าในบางครั้ง เราอยากทำอย่างงั้นอย่างงี้ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราคาดหวังกับตัวได้ขนาดนั้นเหมือนกัน แล้วเราดันไปคาดหวังกับคนอื่นให้คนอื่นทำตามที่เราคาดหวัง บางทีเราก็ต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เราคาดหวังกับคนอื่นมากเกินไปรึเปล่า เราต้องทำความเข้าใจกับเขาด้วย ว่าเขาก็มีงานที่เขาต้องทำเหมือนกัน”

 

 

เอิงเอย – “ความคาดหวังคือตัวเรา การทำงานมันคือการที่เรากลับมาโฟกัสตัวเองมากที่สุด ความทุกข์ ความสุข ความกลัว ความตื่นเต้น มันคือการจัดการตัวเอง เรารู้สึกว่าสำหรับ 1st Jobber ถ้ายังมีเวลาก่อนจะเข้าสู่สังคมการทำงาน ควรฝึกอยู่กับตัวเอง พยายามมองตัวเองให้เยอะ ๆ รู้จักตัวเองให้มาก ๆ ก่อนที่จะไปสังคมอีกระดับนึง มันอาจฟังดูเป็นปรัชญาหน่อย (หัวเราะ) มหาวิทยาลัยกระตุ้นให้เรารู้จักตัวมากขึ้นกว่าโรงเรียน การอยู่มหาวิทยาลัยมันแค่ได้รู้จักตัวเองระดับนึง แต่การที่ไปสังคมการทำงานแล้ว มันทำให้เราเป็นตัวเองไม่ได้ 100% แต่เราจำเป็นต้องคงความเป็นตัวเองไว้ให้ได้ มันเป็นความยากอีกระดับ”

 

 

ถ้าเราเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี เราควรมีวิธีรับมือยังไง

วิน – “เราต้องแยกให้ชัดระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว บางครั้งที่เราโดนนินทา ก็อาจจะต้องกลับมามองตัวเองก่อนว่าเราเป็นอย่างที่เขาพูดจริงไหม อาจจะมีอะไรที่เราทำผิดจริง ๆ เราบกพร่องจริง ๆ แต่เราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราลองเอาคำพูดคำนินทาของเขามาคิด มาวิเคราะห์ดูก่อนว่าเราผิดจริง ๆ รึเปล่า

 

แต่ว่าสุดท้ายแล้วสังคมทำงานก็คือสังคม ๆ นึง เราจะให้ทุกคนมาชอบเราคงเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับในความคิดที่มันแตกต่าง และเอาความคิดที่แตกต่างมาปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ปิดจุดผิดพลาดตรงนั้น ถึงที่สุดเราต้องแบ่งแยกให้ชัดว่าเรื่องงานคือเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวคือเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะโดนนินทา โดนเกลียดขี้หน้ายังไง พอถึงหน้างานเราก็ต้องทำงานให้ดีเหมือนเดิม

 

เสริมเอิงเอยว่า ความเป็นตัวเราคือสิ่งสำคัญ อย่างหนึ่งที่อยากบอก 1st Jobber คือเราอย่าเป็น Yes man เราต้องหัดที่จะ Say no บ้าง บางครั้งบางทีเราเป็นเด็ก มีผู้ใหญ่มาบอกว่าทำอันนี้ให้หน่อย ทำอันนั้นให้หน่อย แล้วรับงานมาก็ต้องดูลิมิตของตัวเองด้วยว่า ปัจจุบันงานที่เรารับมามันเกินศักยภาพของเรารึเปล่า ถ้ามันถึงขีดจำกัดแล้วก็ต้องปฏิเสธบ้าง

 

ต้องมีวิธีการพูดว่าตอนนี้เราทำงานนี้อยู่ ถ้าอยากให้เราทำงานเพิ่ม อาจจะต้องลำดับความสำคัญ งานที่เอามาให้รีบไหม มันเร่งด่วนขนาดไหน ถ้ารีบมากมันอาจจะผลักงานอื่น ๆ ให้เลยกำหนดเวลาไปนะ หรือว่าถ้างานที่ให้มาไม่รีบมาก เราทำให้ได้ แต่ต้องมาตกลงกันนะว่าจะกำหนดส่งเมื่อไหร่ คือเราว่ามันต้องหัดพูดตรง ๆ กับคนที่แก่กว่า กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่จะสำเร็จไปด้วยกันทั้งทีม”

 

 

เอิงเอย – “จริง ๆ เราไม่ใช่คนดีเนอะ เราก็เป็นหนึ่งในคนที่นินทาคนอื่นเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะว่าบางทีก็มีอะไรที่ไม่ถูกใจเรา แล้วเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องระบาย ถามว่ามีคนนินทาเราไหม มี แต่ว่าสิ่งสำคัญ คือ แก่นของการอยู่กับคนอื่น ไม่ว่าจะเรื่องนินทาหรือเรื่องการทำงานที่เรารู้สึกไม่พอใจเพื่อนร่วมงาน หรือการที่เขาด่าเรา วิธีจัดการของเรามีอย่างดียว คือ อย่าเก็บไว้นาน (หัวเราะ)

 

เมื่อเรารู้ เรารับมา เราเป็นอย่างนั้น แล้วรีบปล่อย อันนี้มันต้องฝึกหนัก ๆ เลยกับการปล่อยให้เร็วที่สุด รับมาแล้วปล่อยทิ้งไป ไม่งั้นวันรุ่งขึ้นเราจะไม่มีแรงทำงาน แต่ละวันมันเหนื่อยมันหนัก เพราะฉะนั้นเราพยายามจะผ่อนปรนน้ำหนักลงในแต่ละวันให้ได้ เพื่อเราจะได้ก้าวต่อในวันรุ่งขึ้นได้อีก ซึ่งมันยากเราเข้าใจ มันพูดง่ายมากเลยกับการปล่อยนู่นปล่อยนี่ แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราปล่อยได้จริง ๆ อันนี้คือจุดสูงสุดของการทำงานแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น

 

อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราปล่อยไม่ได้เลย จะกลายเป็นว่าในวันนึงมันจะระเบิด จะเหมือนทุกอย่างยำรวมกันแล้วมันจะระเบิด ซึ่งจะนำไปสู่การลาออก (หัวเราะ)

 

อย่างที่บอกไปว่าเราก็ไม่ใช่คนดี (หัวเราะ) เราก็เป็นคนที่นินทาคนอื่นเหมือนกัน แต่การนินทามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ อยากจะให้เข้าใจตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราร่วมนินทากับคนอื่นก็สงวนตัวเอาไว้ด้วย อย่าปล่อยหมด (หัวเราะ) จริง ๆ เราว่าหลายคนก็น่าจะเป็นเหมือนกัน เรื่องที่คุยกับเพื่อนร่วมงานก็มีอยู่ไม่กี่เรื่อง นอกจากเรื่องงานกับเรื่องคนอื่น ฉะนั้นตอนนินทาก็อยากด่าเขาเยอะ เพราะพอถึงตาเราแล้วมันจะไม่สวย (หัวเราะ)”

 

 

อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber ที่กำลังเข้าสู่โลกของการทำงานบ้าง

วิน – “อยากบอกทุกคนว่า อย่าคาดหวังว่าโลกความจริงจะเป็นไปตามที่เราคิดไว้ คาดหวังไว้ เมื่อตอนเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ อยากให้ยอมรับ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย จะหนักหรือจะเหนื่อย ก็อยากให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปกับมัน เพราะว่าทุก ๆ อย่างที่เข้ามาสู่ชีวิตเรา มันคือสิ่งประกอบสร้างจากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้มา ซึ่งทำให้เราเป็นเราในตอนนี้ มันจะดีหรือแย่ยังไง มันก็คือเราเนี่ยแหละ อยากให้กำลังใจ 1st Jobber ทุกคน สู้ ๆ อดทนและเรียนรู้ไปกับชีวิต ถ้ายิ่งเจออะไรที่หนัก ยิ่งต้องพยายามเรียนรู้ไปกับมันให้คุ้มกับความเหนื่อย เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ให้ได้มากที่สุด สู้ ๆ ครับ”

 

 

เอิงเอย – “เรารู้สึกว่า 1st Jobber พอเข้าสู่โลกการทำงาน มันเหมือนปลาน็อคน้ำ อะไรก็ใหม่ไปหมด หยิบจับอะไรก็ไม่เป็นไปดั่งใจคิดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ 1st Jobber ถูกสอนมาให้ต้องทำอย่างแรกเลย คือ อดทน แต่พออยู่ไปนาน ๆ เราเริ่มรู้สึกว่าความอดทนไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง คนเจเนเรชั่นก่อนหน้าเราชอบบอกว่าต้องอดทน แต่เรารู้สึกว่าทำไมต้องมาอดทนกับอะไรแบบนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเราว่าก่อนจะเริ่มหางานอะไร อย่าคิดว่าแค่มีงานก็พอ เรารู้สึกว่าควรจะชอบมาก ๆ ถึงจะเลือก ต่อให้หางาน 6 เดือน 1 ปี หรือกี่ปี

 

โอเค หลายคนอาจจะเร่งรีบ ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่อย่างน้อย ๆ ปัจจัยในการเลือกงานแรกควรจะมาจากความชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบ แพชั่นไม่มี ความสุขไม่มา แล้วหางานปุ๊ปต้องศึกษาก่อนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เราจะทำเป็นยังไง ก่อนที่เราจะตกลงกับเขา เพื่อนร่วมงานเป็นยังไง การทำงานเป็นยังไง ฝากทุกคนว่าวันนี้ทุกอย่างมันยากขึ้น ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องกดดันตัวเอง หรือรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ว่าใครจะกดดันเราก็ตาม แต่เราอย่ากดดันตัวเอง ในเมื่อวันนี้ไม่ได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็มา ใจเย็น ๆ สุดท้ายคือรู้จักฟัง ซึมซับให้มาก ๆ แล้วค่อยตัดสินใจ การตัดสินใจไม่ต้องรีบ ดูดี ๆ ดูช้า ๆ ค่อย ๆ อย่ารีบ อย่าเร่งตัวเอง”

Category:

Passion in this story