กัญชาเป็นกระแสที่ทุกคนพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้…ทำไมต้องกัญชา ? ทำไมต้องเสรี ? ใครได้ประโยชน์ !! นักการเมือง นายทุน ? อยากให้มองไกลกว่านั้น…ทุกคนสามารถได้ประโยชน์จากกัญชา เพียงแค่คุณรู้และเข้าใจมันอย่างแท้จริง…

 

กัญชาเป็นพืชที่ปิดล็อกด้วยกฎหมายกว่า 40 ปี ว่าเป็นพืชเสพติดให้โทษ แต่แท้จริงแล้วสารเสพติดส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณช่อดอก ถึงวันนี้กฎหมายจึงผลักดันนโยบาย “กัญชาเสรี” เพื่อให้นำส่วนอื่นของกัญชานอกเหนือจากช่อดอกมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสมุนไพรได้ ภายใต้กลไกการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม 

 

Passion gen ได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์ ภก.ดร. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาที่จะมาไขข้อข้องใจของนโยบายกัญชาเสรีว่า จะให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนได้อย่างไร… 

 

 

 

 

นโยบายกัญชาเสรีเป็นอย่างไร

ถ้าพูดถึงความเสรีของนโยบายนี้ เสรีคือการเปิดโอกาสในการเข้าถึงได้ทุกคน ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงกัญชาได้ไม่ว่าเรื่องการแพทย์และเรื่องเศรษฐกิจ แต่เสรีไม่ใช่การไร้ระเบียบ ไร้วินัย ไม่ต้องขออนุญาตเลย เสรีไม่ใช่การนำไปปลูกที่บ้านหรือทำได้ทุกอย่าง ต้องมีกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม

 

 

กัญชาเสรี ให้เสรีในการปลูกระดับไหนครับ

การปลูกกัญชาทุกคนขออนุญาตได้นะครับ แต่ต้องมีรัฐกำกับ บุคคลไม่สามารถปลูกได้ ต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้รัฐสามารถเข้ามากำกับดูแลได้ อันนี้คือส่วนของกัญชา แต่ในส่วนของกัญชง บุคคลสามารถขออนุญาตปลูกได้ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ว่าจะกัญชาหรือกัญชงก็ต้องขออนุญาต แต่กัญชงไม่ต้องมีรัฐกำกับ เป็นข้อแตกต่างกัน เพราะในกัญชายังมีสารที่ทำให้มึนเมา ส่วนในกัญชงมีน้อยกว่ามาก ระดับความเสรีต้องขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและสารประกอบที่มีอยู่ภายในพืชด้วย

 

 

มาตรฐานการปลูกต้องมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง

ช่วงต้นเราคงต้องอาศัยความรู้ที่มีอยู่เดิมในการปลูก แล้วค่อยปรับปรุงพัฒนาไป คงไม่มีใครพร้อม 100%  ช่วงเริ่มต้นเราควรจะให้เกิดขึ้นได้ก่อนจากนั้นจึงปรับปรุงมาตรฐานในเข้าสู่มาตรฐานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ทำไมเริ่มจากวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดเกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นหน่วยย่อยที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันเวลาที่จะมาขออนุญาตในเรื่องกัญชา และร่วมกับรัฐให้รัฐกำกับ อันนี้เป็นหน่วยย่อยที่สุดที่เราอยากให้เข้าถึง ถามว่าถึงประชาชนทุกคนไหม ถ้าเราลองแยกวิสาหกิจชุมชนออกมา ก็คือประชาชน 7 คนนั่นเอง

 

 

สำหรับนักลงทุนเราปิดโอกาสเขาไหม

ไม่ได้ปิดโอกาสนะครับ นักลงทุนเองก็ถือเป็นเอกชน เอกชนก็สามารถมาร่วมกับรัฐได้ มาร่วมกับวิสาหกิจก็ได้ หรือรวมกลุ่มกันเองก็ได้ เราไม่ได้ปิดโอกาส แต่เราจัดระบบระเบียบให้มีกลุ่มคน แล้วมีคนดูแลที่ชัดเจน

 

 

 

วิสาหกิจชุมชนจะได้รับอะไรจากการปลูกกัญชา

ส่วนของกัญชาช่อดอกยังจัดเป็นยาเสพติด วิสาหกิจชุมชนไม่สามารถครอบครองเพื่อทำยาได้เอง ต้องมีรัฐกำกับ และส่วนช่อดอกต้องส่งมอบให้กับรัฐทั้งหมด ซึ่งรัฐก็จะนำไปสกัดทำยา รายได้ที่เกิดขึ้นครึ่งหนึ่งจะคืนให้กับวิสาหกิจชุมชน

 

 

สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนจะได้คือ การซื้อขายผลิตผลอะไรที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นช่อดอก กิ่งก้าน ใบ ลำต้น เขามีสิทธิในการที่จะได้รับรายได้ อันนี้คือเศรษฐกิจชุมชนของจริง ยกตัวอย่างเช่น ใบ ใบที่ปลดออกมาแล้ว ต้องใช้เวลาอีกนิดหนึ่งในการออกกฎกระทรวงเพื่อรับรองให้ใช้ใบในการปรุงอาหารได้ ซึ่งไม่นานเกินรอ ตอนนี้ก็มีการเตรียมการไป มีการซื้อขายใบ จนขาดตลาดแล้วเรียบร้อยในปัจจุบัน ราคาในปัจจุบันมีตั้งแต่ระดับ 100-10,000 บาท นี่เป็นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ หลังจากที่ปลดล็อกบางส่วนที่ไม่ใช่สารเสพติดออกมา

 

 

ในส่วนของการปลูก มีความต้องการมากน้อยขนาดไหน

ปัจจุบันความต้องการสูงมาก หลังจากเราปลดบางส่วนของกัญชาออกมา การเข้าถึงยาที่เราขาดแคลนก็ผลิตได้ไม่พอแล้ว พอทำอาหารได้ก็ยิ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้น จนไม่พอเพียง

 

แต่อย่าลืมว่า แม้เราจะมีความต้องการสูง แต่เราต้องไม่ลืมกำกับในเรื่องความปลอดภัย การอบรมความรู้ก็ช่วยให้นโยบายนี้นำไปสู่เศรษฐกิจได้จริง แต่ต้องไม่ลืมผลร้าย ความปลอดภัยต่อสาธารณะ ใครจะได้รับโทษอย่างไรหรือไม่ เราดูแลทั้งหมด

 

 

เหมือนรัฐกำลังสร้างมาตรฐานการนำกัญชาไปใช้

ใช่ครับ แต่รูปแบบธุรกิจเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในวันนี้ พืชเศรษฐกิจตัวนี้น่าสนใจมาก ถ้าเราย้อนกลับไปปีที่แล้วขนาดตลาดของกัญชายังไม่ใหญ่เท่าวันนี้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น ร้านอาหารมีการเอากัญชาไปปรุงเป็นอาหาร ไปทำคุกกี้ ไปทำขนมเค้ก ขายดีมาก 

 

ใครที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ คุณต้องวางแผนแล้วว่าจะหาวัตถุดิบจากไหน เอาใบจากไหน ใบก็ต้องได้จากผู้ปลูกที่มีใบอนุญาต เพราะเรามีการควบคุมมาตรฐานในการปลูกด้วย ถ้าคุณได้ใบไปจากนอกระบบ คุณอาจจะได้ของแถม เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าหญ้า หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในกระบวนการปลูกที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

 

เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ จากการปลูกและการแปรรูปได้

ใช่ครับ รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพด้วย เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือชาสมุนไพร เราก็ทำได้ สบู่ ยาหม่อง ลูกประคบ ทำได้หมด การปลดล็อกวันนี้จึงเป็นการเปิดช่องทางในการทำธุรกิจ จากนี้เราสามารถนำกัญชามาทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย

 

 

เราอบรมเกษตรกรต่อยอดอย่างไร แปรรูปอย่างไร

เราเริ่มจากการตอบสนองความต้องการเบื้องต้น คือการปลูกก่อน เราคงไม่หวังให้เกษตรกรทำยาเอง แต่รัฐจะจัดหาผู้ร่วมธุรกิจที่รับผลิตภัณฑ์มาแล้วเอาไปทำต่อได้ เช่น เอาไปสกัดทำยา หรือทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เราต้องการวิธีการจับคู่ประกันราคาให้เกษตรกรใช้พืชเศรษฐกิจตัวนี้ในการต่อยอดรายได้ของเขา เราไม่ได้อยากให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตสินค้า ไม่ต้องทำยา เราวางขั้นตอนในแต่ละภาคส่วนให้มีความชัดเจน

 

 

ในแต่ละขั้นตอนก็จะมีมาตรฐาน เช่น มาตรฐานการปลูก การทำยา หรือกระทั่งทำเครื่องสำอาง 

ก็ต้องมีมาตรฐานในแต่ละผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไหนต้องการมาตรฐานสูง เพราะเมื่อเข้าไปสู่ร่างกายแล้วต้องการหวังผลในการรักษา ผลิตภัณฑ์นี้ก็ต้องมีมาตรฐานที่สูง

 

 

การนำกัญชามาใช้ในเชิงอาหาร สรรพคุณเป็นอย่างไร

แต่ละส่วนของพืชกัญชาจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน สัดส่วนอาจจะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ด้วย เราจึงต้องเข้าใจถึงองค์ความรู้ส่วนนี้ก่อน ก่อนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในแต่ละผลิตภัณฑ์

 

 

เราสนับสนุนกัญชาสายพันธุ์ใดเป็นพิเศษไหม

อย่างที่บอกว่าเราเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่เดิมก่อน แต่มีหลายกลุ่มมากที่มีความสนใจในการปรับปรุงสายพันธุ์ คัดเลือกสายพันธุ์ แล้วทำเป็นสายพันธุ์รับรอง ซึ่งการันตีผลิตผลที่ออกมาได้ตามที่ระบุ ส่วนนี้เราเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

 

วิสาหกิจที่เริ่มขออนุญาตปลูกเรามีแผนเหล่านี้รองรับไหม

มีแล้วครับ เราเริ่มจาก 6 ต้น กับ “โนนมาลัยโมเดล” เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า เราก็ได้รับจากเกษตรฯ มาปลูกให้เรา ทำต้นกล้าให้เรา และแจกจ่ายให้วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรก็รับไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง และทำในลักษณะของเศรษฐกิจ ตอนนี้มีความต้องการสูงมาก ผมไม่เคยเห็นธุรกิจไหนที่มีความต้องการรับซื้อที่สูงขนาดนี้ โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดอะไรเลย

 

 

ในส่วนของผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปิดเสรี

กัญชาในทุกส่วนที่มีสารอยู่ก็มีสรรพคุณในเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพ ไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว ในปีแรกเราเน้นเรื่องการรักษาด้วยการใช้ยา ก็ต้องมีสารสำคัญคงที่ในแต่ละส่วนที่ใช้ เพราะเป็นยาก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจน ส่วนในการเสริมสร้างสุขภาพเหมือนเรากินสมุนไพรสักตัวหนึ่ง เราก็บอกว่าช่วยในประเด็นของการสงบ ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

 

 

ภาครัฐเองที่จะผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ โอกาสมีมากน้อยแค่ไหน

พืชเศรษฐกิจตัวนี้ไม่ใช่พืชไร่ พืชสวนเหมือนกับที่เรารู้ เพราะกัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยาหลายอย่าง ออกฤทธิ์ในหลายระบบ ปัจจุบันเราวางแผนไว้หมดตั้งแต่ระบบการปลูก การสกัด จนถึงการทำผลิตภัณฑ์ เราหวังว่าพืชนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ด้วย ไม่ใช่แค่เป็นการบริโภคโดยคนไทยอย่างเดียว

 

 แต่ในการส่งออกจะมีข้อจำกัดนิดหนึ่ง เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีนโยบายกัญชา และกัญชาก็ไม่ได้ถูกกฎหมายในทุกประเทศ จึงเป็นข้อระวังในเรื่องมาตรฐานกับประเทศปลายทาง และข้อกฎหมาย ผมฝากไว้ 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ตัวกฎหมาย มาตรการ ความรู้ และมาตรฐาน 4 อย่างนี้ต้องคิดให้ดีก่อนจะทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา

 

 

อุปสรรคในการเปิดเสรีกัญชามีด้านใดบ้าง

อุปสรรคคือ เรามี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติยาเสพติดที่ยังใช้รัฐกำกับ และรัฐเองเราไม่มีภารกิจในการทำธุรกิจ แต่ให้มาดูแลธุรกิจ เพราะกฎหมายระบุให้ภาครัฐมากำกับดูแล สิ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ใช้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่แท้จริงคือ ภาครัฐไม่ต้องลงมาทำธุรกิจเอง แต่ภาครัฐต้องสร้างระบบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจให้ได้ นี้คือสิ่งที่ต้องมาแก้ไขกัน และขอความร่วมมือกันในแต่ละภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงด้วย เพราะการผลักดันพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขแต่ต้องเชื่อมโยงหมดทุกกระทรวง

 

 

ทำไมถึงมองว่ากัญชาเป็นพืชสำคัญของไทย และเหมาะกับประเทศไทยอย่างไร

กัญชาเป็นวิถีชีวิต วิถีชาวบ้านที่ใช้กันอยู่เดิม เพียงแต่ว่าถูกออกกฎหมายว่าเป็นยาเสพติดเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ทำให้การใช้มันหายไปแต่แท้จริงก็มีคนใช้อยู่บ้าง มีคนแอบใช้บ้าง และเป็นพืชที่รักษาโรคได้หลายอวัยวะในหลายระบบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลดีในการรักษาด้วยกัญชา เพราะเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่อยู่คู่บ้านเรามานาน เป็นอาหาร เป็นผักสวนครัว แต่มีฤทธิ์เสพติดเท่านั้นเอง ทำให้เราใช้กระบวนการควบคุม แทนที่จะให้ความรู้

 

วันนี้เราจึงต้องหันกลับมามองว่าการกำกับดูแลนั้น ไม่ใช่การจับกุม การบังคับ หรือแบบเมื่อก่อนที่ทำมา แต่เราต้องให้ความรู้ให้มาก เพื่อให้เรานำกัญชาไปใช้ประโยชน์ได้ และใช้ในทางที่ถูก

 

 

ประเทศไทยเองเรามีพันธุ์กัญชาที่ดีอยู่แล้ว  มีตำรับยาโบราณ ตำรับอาหารโบราณ ที่รื้อฟื้นมาได้

เราสังคายนาตำรับเอาวิทยาการที่ทันสมัยมาตอบคำถามว่า เมื่อก่อนทำไมชาวบ้านถึงทำแบบนี้ สังคายนาว่าสิ่งที่ทำมีเหตุผลที่อธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการยอมรับที่มากขึ้นของสังคม และเตรียมความพร้อมต่อว่า เราจะต่อยอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน พื้นถิ่นให้มีมูลค่าทางด้านการรักษารวมถึงเศรษฐกิจได้อย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้ต้องดำเนินการ ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เฉพาะเศรษฐกิจ แต่ต้องยั่งยืนทั้งวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการรักษา แล้วเศรษฐกิจเป็นผลพลอยได้ของสิ่งนี้ นี่คือนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์

 

 

อยากให้สรุปความยั่งยืนของกัญชาในด้านต่าง ๆ ช่วยประเทศ ช่วยคน ช่วยชุมชน สังคม อย่างไร

ความยั่งยืนจริง ๆ ของนโยบายนี้ ปัจจุบันเราเริ่มลงหลักปักฐานระดับหนึ่ง แต่เราจะก้าวได้ข้างหน้าได้จะต้องสร้างทางสร้างระบบไว้ เน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ใช่ เรามีหน้าที่ ภารกิจในการนำกัญชาที่ถูกจองจำมายกระดับขึ้น เราจะมีความยั่งยืนได้เราต้องมีความร่วมมือ และการเตรียมความพร้อมของประชาชนคนไทยทุกคนในการมองกัญชาเป็นสมุนไพร ถึงมีฤทธิ์เสพติด แต่เราสามารถเลือกสิ่งที่ดี ส่วนที่ดี ส่วนที่ทำประโยชน์ ส่วนที่ทำรายได้ ยกระดับขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากกัญชา

ส่วนที่ไม่ดี ที่อาจจะทำให้นโยบายนี้อาจจะล้มเลิกไปหรือไม่ยั่งยืน เราต้องใช้ความรู้เข้าไปกำกับดูแล เราคงไม่ใช้กฎหมาย การจับกุม การเปรียบเทียบปรับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การปกครอง องค์ความรู้ใด ๆ ที่ช่วยรักษาสมดุลระหว่างผลดีที่เราอยากได้กับผลเสียที่เราไม่อยากได้ ทำให้นโยบายนี้ยั่งยืนต่อไปได้

 

 

หลายคนอาจมองกัญชาเป็นโอกาส  ขณะที่อีกหลายคนมองว่าเป็นการเอื้อให้กลุ่มนายทุน และนักการเมือง แน่นอนว่านโยบายทุกนโยบายล้วนเกิดประโยชน์กับคนบางกลุ่มเสมอ สิ่งสำคัญอยู่ที่เกษตรกร นักธุรกิจ และผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแง่มุมอย่างไร…แต่ไม่ว่าใครจะเลือกมองอย่างไร วันนี้ตลาดผลิตภัณฑ์กัญชาเปิดกว้าง มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากมาย เพื่อให้ทุกคนได้เลือกใช้

Category:

Passion in this story