Categories: INSPIRE

PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.23 | แล้วการศึกษาไทยควรสอนอะไร?

เรามักจะบอกกันว่า การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ แต่ในทุกวันนี้ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าการศึกษาไทยกำลังมีปัญหาและจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยด่วน แล้วปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบันคืออะไรกันล่ะ?

 

คลาสในวันนี้เรามาร่วมพูดคุยกับคนที่ทำงานด้านการศึกษาอย่าง “กัน-กัญณัฐ กองรอด” และ “อาร์ม-ทรงธรรม นนท์ภัทรสกุล” ถึงการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ควรจะไปทางไหน ผลกระทบจากโควิดมันส่งผลต่อการศึกษาไทยหนักหนาสาหัสแค่ไหน และการศึกษาไทยควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจหรือไม่

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย

 

 

แนะนำตัวหน่อย

“สวัสดีค่ะ ชื่อ กัน-กัญณัฐ กองรอด ทำงาน NGO ด้านการศึกษาที่หน่วยงานแห่งหนึ่งค่ะ”

 

“สวัสดีครับ ชื่อ อาร์ม-ทรงธรรม ทำงานที่เดียวกับกัน เป็น NGO ด้านการศึกษาเหมือนกัน”

 

 

คิดว่าอะไรบ้างที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

กัน – “โหย ถ้าพูดถึงว่าในชีวิตการทำงานแล้วไปเจอการทำงานจริง ๆ แล้วมองย้อนกลับไปมันมีอะไรบ้างที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน อันนี้จากประสบการณ์ตรง คือ หลายสิ่งมาก การทำงานขั้นพื้นฐาน เราควรที่จะต้องรู้เรื่องของสัญญา รวมถึงเรื่องกฎหมายการจ้างงาน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้เลยตอนเรียนมหาวิทยาลัย เหมือนพอเราเข้าสู่โลกการทำงาน เราต้องมาศึกษาเอง ถามพี่ที่ทำงานเองว่ามันเป็นยังไง อะไรยังไง

 

คือเราไม่เคยมีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้มาก่อนเลย อย่างเช่น 1 ปี เราสามารถลากิจได้กี่วัน หรือมีสวัสดิการอะไรที่แรงงานควรได้รับบ้าง แต่เราไม่เคยรู้เรื่อง (หัวเราะ) ซึ่งเพื่อนบางคนอาจจะทำงานไปทั้งปี โดยที่ไม่รู้ว่ามีวันพักร้อนให้กี่วัน (หัวเราะ) สมมติว่ามันมี 15-30 วัน เราก็ยังไม่รู้เลย บางคนอาจจะทำงานไปโดยที่ไม่เคยหยุดลา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิทธิ์ของเรานะ หรือว่าการทำงานนอกเวลาที่มันควรไม่เกินเท่าไหร่ต่อสัปดาห์ มันควรต้องได้รับค่าจ้างนะ หรืออะไรอย่างนี้ เราไม่กล้าไปเรียกร้องหรือต่อรองอะไร เพราะไม่มีความรู้ตรงนี้เลย”

 

 

อาร์ม – “เดี๋ยวขอเสริมนิดนึง เราว่าในเรื่องของประเด็นกฎหมายแรงงานด้วยส่วนหนึ่ง ที่ความจริงมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงาน แล้วเวลาที่เราจบมหาวิทยาลัยไปมันก็ต้องไปทำงานต่อ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีความรู้ตรงนี้เลย คือบางคณะก็คงสอน แต่โดยส่วนมากไม่ได้สอน หรือว่าไม่ได้เห็นว่าจำเป็นต้องรู้ตอนนี้ แต่เรารู้สึกว่าถ้าอย่างน้อยเรารู้ในเบื้องต้น ว่ามันเป็นสิทธิที่เราควรจะได้รับในการทำงาน เราคิดว่าเรื่องนี้ก็ควรรู้

 

อีกอย่างที่เรารู้สึกว่าอาจจะเป็นเรื่องตลกร้ายนะ คือ ในโลกมหาวิทยาลัยกับโลกการทำงาน มันเหมือนคนละโลกกัน เวลาที่เราอยู่ในมหาวิทยาลัยเราจะมีภาพฝันว่าจบไป ฉันจะต้องได้งานที่ดี มีเงินเดือนที่ดี เจอเพื่อนร่วมงานที่เป็นไปตามที่ฉันฝัน แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นไง ไม่ได้เหมือนเพื่อนเราที่เราไม่ได้เข้าคลาส มันก็เก็บชีทให้เรา มันไม่มี เพราะฉะนั้นมันก็เป็นประสบการณ์ที่เราต้องไปเผชิญข้างนอกแหละ แต่เราคิดว่ามันมีความสำคัญที่ตรงที่ มันคือความคาดหวังของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็น 1st Jobber ก็จะรู้สึกว่าจบไปฉันจะเจอสังคมแบบนี้แน่นอน ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียว

 

แล้วพอเหมือนชีวิตในมหาวิทยาลัย เราไม่เคยเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ มันก็เหมือนกับพอเราเข้าไป เราก็จะฝ่อ เราไม่รู้จักคำว่าฝ่อนะในมหาวิทยาลัย มันต้องเข้าใจนิดนึงว่าเราอาจจะไม่ได้ทุกอย่างที่เราต้องการ ซึ่งอันนี้เรารู้สึกว่าถ้าใครบางคนที่เขาผ่านเรื่องนี้มาแล้ว เขาจะมีภูมิต้านทานสูง อาจจะเป็นเหมือนทักษะ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นวิชา แต่เป็นทักษะที่จะอยู่กับโลกอีกใบนึงที่เราไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนั้น แต่มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ”

 

 

กัน – “อันนี้เห็นด้วยนะ เรารู้สึกว่าชีวิตการทำงาน สิ่งที่สำคัญ คือ ความรู้ แต่เราว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า คือ ทักษะกับสกิลอะไรบางอย่างที่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีวิชาหรือมีอะไรมาสอนเราโดยตรง เราจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการทำกิจกรรม หรือไปทำงานอะไรบางอย่างของมหาวิทยาลัย”

 

 

อาร์ม – “มันอาจจะมีสักคลาสนึงไหม ที่พูดถึงกฎหมายแรงงาน อาจจะไม่ได้ลงลึก แต่ควรจะต้องรู้ว่าตามกฎหมายแรงงานเนี่ย วันนึงเราไม่ควรทำงานเกินกี่ชั่วโมง ถ้าจำไม่ผิดของไทยน่าจะไม่เกิน 8 ชั่วโมงเนอะ หรือว่ารวมแล้วทั้งอาทิตย์ไม่ควรเกินกี่ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็เหมือนกับการเรียนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ถามว่ามันต้องถึงขั้นที่ทุกคณะ ทุกที่ต้องสอนไหม เราว่าอาจจะยังไม่ถึงจุดนั้น เพียงแต่ว่าอาจจะมีสักคลาสไหมที่พูดถึงเรื่องนี้ เพื่อให้อย่างน้อยนักศึกษาปัจจุบันจะได้รู้ว่าฉันได้กำสิ่งเหล่านี้ไว้ เวลาที่ฉันถูกละเมิดสิทธิเนี่ย ฉันจะได้รู้นะว่ากำลังถูกละเมิด”

 

 

ตอนนี้การศึกษาไทยเป็นอย่างไร และควรจะไปทางไหนกันแน่

อาร์ม – “คือ ถ้ามองสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั่วโลก รวมถึงโลกในอนาคต เรารู้สึกว่ามันเหมือนมีธงอันยาวไกล มีเป้าหมายของการศึกษาบางอย่างที่เรากำลังเรียกร้องให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีทักษะอันมหาศาลเลย เช่น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ชื่อ “ทักษะในศตวรรษที่ 21” พูดถึงทักษะต่าง ๆ ที่คนในศตวรรษที่ 21 ควรจะเติบโตมาเป็นลักษณะแบบไหน ซึ่งถ้าไปอ่านจริง ๆ เราจะเห็นว่า โห เอาแค่พวกเราที่อายุ 25-26 เรายังรู้สึกเลยว่าเรายังยากเลยกับการโตมาแล้วต้องมีทักษะอันมหาศาลขนาดนั้น

 

ทีนี้มันมีเป้าหมายนี้เนอะ เอาง่าย ๆ คือ รู้เท่าทันดิจิตอล มีเรื่องของการเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) แล้วเราลองมองกลับมาที่การศึกษาไทย มันแทบไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย เหมือนกับว่าเราใช้วิธีการสอนแบบเดิม เรามีนโยบายการศึกษาแบบเดิม เราแค่เปลี่ยนจุดมุ่งเน้นในการสอน แต่วิธีการสอนหรือการมองนักเรียนยังเป็นภาพเดิมอยู่ ยังเป็นการสอนแบบท่องจำ เป็นการสอนแบบเชิงดาวน์โหลดข้อมูล ถ้าพูดให้ถึงที่สุด มันเหมือนระบบอุตสาหกรรมเก่าที่ก็จะผลิตคนออกมาแบบเดียวกัน

 

แต่ว่าพอเราไปมองโลกในอนาคต หรือแค่ปัจจุบันที่เราเห็นว่าต้องมีทักษะอะไร โอ้โห มันหลากหลายมาก แล้ววิธีการเอาแม่พิมพ์มาปั้มไปเรื่อย ๆ แบบนี้ มันไม่เวิร์คนะ อันนี้คือปัญหาหนึ่ง อีกอย่างก็คือปัญหาเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของการศึกษา เราจะเห็นเลยว่าพอเวลาที่เกิดสถานการณ์ที่ต้องปรับตัวกะทันหัน อย่างเช่นโควิด เราเห็นเลยว่าการศึกษามันไปไม่ได้ ไม่มีเน็ต ไม่มีคอม ไม่มีโน้ตบุ๊ก บางบ้านไม่มีทีวีด้วยซ้ำที่จะเรียนช่องดาวเทียมของรัฐบาล

 

เราเห็นเลยว่ามันมีความไม่พร้อมเยอะมากในระบบการศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีการคิดเผื่อเรื่องเหล่านี้เลย กระทั่งมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นมาแล้วเราก็มองเห็นปัญหาว่ามีหลายจุดที่เราต้องแก้ รวมถึงต้นตอตั้งแต่การผลิตครูออกมา ชุดความคิดที่เขามีต่อเด็ก เขายังมองเด็กเป็นเหมือนคนที่เขาต้องเข้าไปสั่งสอน เข้าไปทุบตีรึเปล่า

 

ขอยกตัวอย่างคำพูดของไอน์สไตน์ว่า ถ้าคุณหวังผลแบบใหม่ แต่ยังทำวิธีการแบบเดิม ๆ คือคุณไม่ปกติแล้วแหละ เพราะสุดท้ายถ้าคุณทำแบบเดิม คุณก็ได้ผลแบบเดิม คุณจะไปคาดหวังอะไรใหม่ ๆ ได้ยังไง”

 

 

กัน – “เราคิดว่ามีอีกปัญหานึงที่อาจจะเป็นปัญหามานานแล้วก็ยังติดหล่มอยู่ เรื่องการเอามาตรฐานบางอย่างมาเป็นเกณฑ์หรือมาตรวัด กับนักเรียน กับการศึกษา เด็กคนนี้จะเก่ง จะต้องได้เกรดเฉลี่ยเท่านี้ หรือจะต้องเก่งวิชาวิทย์ คณิต ถึงจะดูเป็น the best ในขณะที่เราละเลยทักษะด้านอื่น ๆ ของเขาไป นอกจากเรื่องของความรู้รึเปล่า ซึ่งเรารู้สึกว่าโลกในอนาคตมันไม่เรียกร้องให้ปั้นเด็กออกมาหน้าตาเหมือนกันทุกคน แต่มันเรียกร้องให้สร้างเด็กคนนึงมาให้เขาเป็นเขาในแบบที่เขาเป็น เก่งในแบบที่เขาเป็น หรือว่ามีความพิเศษอะไรบางอย่างในแบบที่เขาเป็น ซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นระบบการศึกษาบ้านเราที่จะพาเด็กไปถึงทางนั้นเท่าไหร่

 

อีกอันที่เมื่อกี้อาร์มได้พูดถึงเรื่องของทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จะเรียกร้องทักษะอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันก็จะมีการถกเถียงกันนะ ว่าจริง ๆ แล้วคำว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นมายาคติหนึ่งรึเปล่า ที่คนผลักดันเป็นนายทุนหรือเอกชนที่ต้องการแรงงานที่มีสกิลแบบนี้ ก็เลยเอาสกิลพวกนี้มาโปรโมทผ่านระบบการศึกษาให้เป็นทักษะที่เด็กในอนาคตจะต้องมี อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ประเด็นทางการศึกษาจะมีการดีเบทกันเยอะมาก ถ้าใครสนใจก็ลองไปหาอ่านกันดูได้”

 

 

คิดว่าการให้เด็กมานั่งเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดมันเวิร์คไหม แล้วถ้าไม่เราควรทำอย่างไร

อาร์ม – “ตรงนี้เรามองว่ามันเป็นปัญหาที่มากกว่าแค่ปัญหาการศึกษา มันมีหลายเลเยอร์ของการมองมาก อันนี้อาจจะซับซ้อนนิดนึง อย่างแรกเลยคือตอบคำถามก่อนว่าเวิร์คไหม เราเห็นกันอยู่แล้วว่าไม่เวิร์ค ไม่เวิร์คในฐานที่ว่าวิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน แต่ละช่วงวัย มันค่อนข้างเฉพาะ อย่างระดับมหาวิทยาลัยการเรียนออนไลน์ก็อาจจะไม่ได้ทุกข์ทรมานเท่าเด็กประถม เรื่องของศักยภาพในการมีสมาธิจดจ่ออันนี้ก็เรื่องนึง เรื่องของการใช้เทคโนโลยีก็เรื่องนึง อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เวิร์ค คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเครื่องมือในการเรียน เด็กทุกคนไม่ได้มีโทรศัพท์ ต่อให้มีโทรศัพท์ก็ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีอินเตอร์เน็ต

 

เพราะฉะนั้นมันจะเป็นปัญหาทับซ้อนกันเรื่องของความยากจน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เยอะมาก เอาง่าย ๆ แค่เราทำงานออนไลน์เวลาเน็ตช้าเรายังรู้สึกหงุดหงิดเลย แต่ลองนึกถึงนักเรียนที่ต้องเรียน 3 ชั่วโมงแล้วเน็ตมันไม่เสถียรดูสิ โอ้โห ยากมาก ดังนั้นเรามองว่าในช่วงโควิด มุมนึงก็ต้องแฟร์กับรัฐบาลว่าเขาคงไม่ได้มีเครื่องมือ หรือองค์ความรู้ที่จะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเฉียบขาด เพราะมันก็ไม่เคยเจอปรากฏการณ์นี้ ไม่เคยเจอที่ต้องปิดเรียนเป็นปี ๆ ขนาดนี้ อย่างมากก็ระยะเวลาสั้น ๆ พอมันสั้นก็แค่หยุดเรียนก็จบ แต่พอมันยาวขนาดนี้ ก็เหมือนกับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

 

ในอีกมุม เราคิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมองถึงเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว 1 ตำบล 1 อินเตอร์เน็ต อาจจะจำเป็นแล้ว โรงเรียนต้องมีอินเตอร์เน็ตที่ดี ไม่ใช่ 1 ตำบลรวมกันความเร็ว 1 GB ก็ไม่ไหวนะ (หัวเราะ) อาจจะไม่ใช่แค่ต้องมี แต่อาจจะต้องมีแล้วดีด้วย อุปกรณ์การสื่อสารของเด็ก แท็บเล็ทต่าง ๆ อาจจะจำเป็นต้องเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของเด็กแล้ว เราเชื่อว่าหลังจากหมดโควิดไปมันก็ยังคงจะต้องมีระบบแบบนี้อยู่ดีกับการเรียนออนไลน์ การเรียนทางไกล หรือมันอาจจะไม่สามารถเข้ามาเรียน on site ได้แบบ 100% ภายในระยะอันใกล้นี้แน่นอน

 

อีกส่วนหนึ่งที่เราคิดว่ามันควรจะต้องกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ คือ เรื่องของเกณฑ์การวัดประเมินผล ทั้งตัวครูและตัวนักเรียนเอง คุณต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อน ณ ตอนนี้คุณจะคาดหวังให้ผลการเรียนรู้ของเด็กมันเท่าเดิมคงเป็นไปไม่ได้ เรากำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต คุณครูเนี่ยรู้ดีที่สุดว่าเด็กที่เขาสอนมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ดังนั้นมันต้องยืดหยุ่น ครูเองก็ต้องยืดหยุ่นกับการเรียนการสอนของเด็กเช่นกัน

 

ในขณะเดียวกัน ในระดับโรงเรียน ผอ. หรือสำนักงานเขต ที่มีหน้าที่ไปดูการเรียนการสอนของเด็ก ไปประเมินผลก็ต้องยืดหยุ่นด้วย ไม่ใช่ว่าให้ครูยืดหยุ่น แต่เกณฑ์การประเมินยังเท่าเดิม มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องกลับไปทำความเข้าใจว่า สิ่งไหนกันแน่ที่มันจำเป็นจริง ๆ เพราะฉะนั้นทางแก้ในเบื้องต้น คือ พยายามทำให้มันง่ายที่สุด ทำให้การศึกษาของเด็กมันง่ายที่สุด ส่วนทางแก้ไขทางเดียวที่เร็วที่สุดคือการหาวัคซีนแล้วจะได้เปิดเรียนได้แบบปกติ

 

แล้วเด็กบางพื้นที่คุณต้องประเมินสถานการณ์แล้วว่า พื้นที่ของคุณมันพอจัดการเรียนได้แบบกลุ่มเล็กไหม ซอยย่อยสอนกลุ่มเล็ก ๆ ไปก่อนไหม นัดเจอกันอาจจะไม่ทุกวัน แล้วก็ให้เด็กไปทำเหมือนเป็น Home based project ก็ได้ ลองนึกถึงสมัยก่อนที่เราปลูกถั่วงอก แล้วเอาวิชาหลาย ๆ วิชามาบูรณาการกัน พยายามให้มันอยู่รอบตัวเด็ก พยายามพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ แต่สุดท้ายแล้วเราจะบอกว่ามันไม่ได้ยาก แค่คุณสามารถรู้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคุณมันมีประโยชน์ต่อการศึกษาของเด็กแค่ไหน”

 

 

กัน – “เราขอเสริมประเด็นจากของอาร์มนิดนึง คือ เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือตัวของรัฐเอง ในกระทรวงศึกษาธิการเอง ควรจะสามารถปลดล็อคอะไรบางอย่างให้กับคุณครู หรือโรงเรียนได้ขยับ หรือว่าจัดการหน้างานของตัวเองได้มากขึ้น เพราะว่าจากที่พบเจอเรารู้สึกว่า ครูที่โรงเรียนเองยังติดกรอบบางอย่าง ที่เขตไม่ให้ทำเหลือ ซึ่งบางทีมันไปเป็นตัวตีกรอบการเรียนรู้บางอย่าง ทำให้ความคิดหรือการเรียนรู้ที่เขาคิดออกมาเพื่อที่จะแหวกแนวหรือว่าสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ มันถูกจำกัด”

 

 

อาร์ม – “อันนี้เสริมของกันเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องนี้มันจะมีโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องมานั่งคิดแล้ว ว่ามันมีปัญหาเชิงลึกอย่างไร เช่น มีข่าวที่คุณครูทำโทษเด็กในช่วงของการเรียนออนไลน์ที่เด็กไม่ยอมส่งการบ้าน แล้วครูก็ลงโทษเด็กค่อนข้างถึงขั้นใช้ความรุนแรง บางทีอาจจะต้องมาพูดถึงเรื่องคุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างที่คุณครูควรยึดถือ หรือปฏิบัติกับเด็ก การลงโทษเป็นหนึ่งในกระบวนการควบคุมพฤติกรรม แต่มันควรจะเป็นวิธีสุดท้าย ที่ปีนึงอาจจะใช้สักครั้งเดียว หรือไม่ควรใช้เลยด้วยซ้ำ มันมีภาพความมีข่าวหลายอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าตัวครูเองก็ต้องปรับตัวเองด้วย เด็กผิดได้แล้วครูเองในสถานการณ์แบบนี้ก็ผิดได้

 

มันเป็นช่วงเวลาที่เราเราต้องเห็นแล้วว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่ปกติอยู่ในความเชื่อ ความคิดของคนในสังคม เช่นการลงโทษคือการมอบความรัก ถ้าคุณรักจริงทำไมคุณต้องทำร้ายเขาด้วยล่ะ มันมีหลายอย่างมากที่สะท้อนให้เห็นว่ามีอำนาจบางอย่างที่ที่คุณครูแสดง อาจจะเป็นคำพูดหรือวิธีการใช้ในการควบคุมเด็ก อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ข้อหนึ่ง คือเรื่องนี้มันเกิดขึ้นอยู่ในสังคมเรามาต่อเนื่อง แล้วยิ่งในช่วงนี้ที่แค่เขาเข้าเรียนยังลำบากเลย ทำไมคุณต้องลงโทษด้วยล่ะ ทำให้เราเห็นว่ามันมีความคิดบางอย่างที่ไม่ปกติฝังรากลึกในสังคมของเรา มันถึงเวลาที่เราต้องมานั่งทบทวนแล้วว่าเราจะไปอย่างนี้จริง ๆ เหรอ หรือเราต้องเปลี่ยนมุมมองว่าเด็กควรจะต้องเป็นใครในสายตาของครู”

 

 

คิดอย่างไรกับคนที่บอกว่าให้การงดการเรียนการสอนไปก่อน 1 ปี

กัน – “เป็นคำถามที่ยากมาก เมื่อกี้เราสนใจคำว่าเด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาถ้าเราจะทำการหยุดเรียนไปหนึ่งปี แต่ต้องบอกว่าตอนนี้ถึงจะไม่ได้หยุดเรียน ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งทางกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษาจะมีงานวิจัยพวกนี้อยู่ สำหรับเรา เรารู้สึกว่าโรงเรียนะมันไม่ได้เป็นแค่ที่ให้เขาได้ไปความรู้ แต่มันเป็นที่ใช้ชีวิตของเขาด้วยซ้ำ มันเป็นสังคม มันเป็นการสร้างทักษะชีวิตอะไรบางอย่าง สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบางหรือครอบครัวยากจน โรงเรียนเป็นเสมือนโรงอาหารของเขาด้วยซ้ำ

 

คือเขาไปโรงเรียน เขาถึงจะมีข้าวกิน เพราะฉะนั้นพอโรงเรียนหยุด การเข้าสังคมตรงนั้น การฝึกสกิลอื่นที่ไม่ใช่ความรู้หรือการได้ไปทานอาหารที่โรงเรียน เด็ก ๆ ก็จะไม่ได้รับตรงนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าการที่จะหยุดเรียนหรือเรียนต่อ มันจะช่วยให้จำนวนหรือเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่จะเสี่ยงหลุดออกไปเพิ่มขึ้นหรือลดลงแบบมีนัยยะสำคัญไหม เพราะว่าตอนนี้ยังไม่หยุดมันก็มันก็ออกไปเยอะแล้วไง

 

แต่ปัญหาหนึ่งที่พบในเรื่องของการเรียนออนไลน์ปัจจุบัน คือเด็กแต่ละคนมีทักษะหรือการได้รับความรู้ที่ต่างกัน หมายความว่าบางคนอาจจะเรียนได้ดีกับการเรียนออนไลน์ที่ต้องอยู่หน้าจอ โฟกัสได้ แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่รู้สึกว่าเขาอยู่ไม่ได้ เขาต้องเจอบรรยากาศ ต้องเจอเพื่อน ต้องได้เรียนในห้อง ซึ่งเด็กเหล่าช่วงเรียนออนไลน์เขาแทบจะไม่เข้าเรียนเลยนะ อันนี้เท่าที่ฟังมาก็คือทำงานตามส่ง แต่เวลาเข้าเรียนจริงเนี่ย ก็คือปฏิเสธการเข้า

 

ถ้าเรามองในเรื่องของการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ เราคิดว่าดันทุรังเรียนออนไลน์ตอนนี้ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับเด็กกลุ่มนั้น ที่เขาไม่ได้ชอบหรือมีความสามารถในการโฟกัสกับหน้าจออย่างนั้นได้ จะดีกว่าไหมถ้าเราจะมีทางเลือกอื่นในการเรียนรู้นอกจากเรียนออนไลน์ มี on site บ้างมั้ย หรือว่าให้เด็กเรียนรู้สิ่งรอบตัวอย่างที่อาร์มได้พูดไปก่อนหน้านี้ มันสามารถบูรณาการบางอย่างได้มั้ย การเรียนออนไลน์มันเป็นคำตอบเดียวเหรอ การเรียนกับการไปเรียนเหมือนให้เลือกขาวกับดำ แล้วมันจะมีสีเทามีสีอื่นไหมที่จะผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน”

 

 

อาร์ม – “เราอาจจะไม่มีคำตอบเนอะว่ามันจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้าโดยความเชื่อของเรา เรารู้สึกว่าการหยุดเรียนไป 1 ปีเลย มันจะเกิดผลกระทบกับคนสองกลุ่มมาก ๆ การหยุดเรียนเท่ากับเขาต้องอยู่บ้าน แต่มันมีต้นทุนในการอยู่บ้านนะ ค่าน้ำค่าไฟค่าข้าวอย่างที่กันบอกเลยว่า เด็กบางคนมีโอกาสได้กินข้าวกลางวันตอนอยู่โรงเรียนเท่านั้นนะ ซึ่งถ้าสมมุติว่าหยุดเรียนหนึ่งปีเด็กออกจากระบบแน่นอน เป็นจำนวนที่เยอะด้วย แต่ปัญหาคือเด็กที่หลุดออกจากระบบมีสองกลุ่ม

 

คือหนึ่ง กลุ่มที่เขามีต้นทุนสามารถใช้ชีวิต กลุ่มนี้เขาาอาจจะไม่ต้องการอะไรจากระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันคือ ณ วันนี้เรียนเพื่อวุฒิ เรียนเพื่อเอาวุฒิม.6 เพื่อไปต่อปริญญาตรี เพราะเขารู้ตัวอยู่แล้วว่าระบบการศึกษาเป็นแค่ทางผ่านของเขา ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตขนาดนั้น

 

สอง คือ กลุ่มที่หลุดแล้วไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะมีปัญหาเรื่องการกดทับความยากจน  ครอบครัวไม่พร้อม คือถ้าหยุดหนึ่งปีแล้วทากระทรวงหรือทางโรงเรียนบอกว่าให้พ่อแม่สอน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสอนหนังสือได้นะ ครูยังมีครูที่สอนดีและสอนไม่ดีเลยขนาดเรียนครูมา แล้วพ่อแม่บางคนที่ป็นเกษตรกร หรือพ่อแม่ทำงานรับจ้างทั่วไป เขาไม่มีเวลาทั้งวันที่จะต้องมานั่งดูแลลูก คือเขาต้องเหนื่อยกับเรื่องของปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง

 

เพราะฉะนั้นถ้าเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไป สำหรับเรามองว่ามันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในระยะยาวที่มหาศาลมาก คนที่มีต้นทุนชีวิตสูงก็จะไปในแบบที่เขาสามารถไปได้ โดยที่เราคาดไม่ถึงเลย หนึ่งปีนี้อาจจะไปเรียนเรียนออนไลน์ของต่างประเทศ หรือหนึ่งปีนี้สามารถไปค้นหาโลก มีองค์ความรู้ต่าง ๆ เยอะมากเลย ปีทำอะไรได้เยอะมาก แต่ขณะเดียวกัน เด็กที่อาจจะไม่สามารถทำอะไรกับชีวิตตัวเองได้มากนัก เขาก็ต้องอยู่อย่างงั้น ไม่ได้มีวิธีการที่จะเอาทักษะอะไรใหม่ ๆ เข้ามาในตัวเขาได้ หรืออาจจะต้องไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงาน สุดท้ายแล้วมันจะยิ่งห่างออกไปเยอะมาก

 

เราคิดว่ามันควรจะต้องมีเส้นทางตรงกลาง คือ มันคงไม่ใช่แบบหยุดเรียนหนึ่งปีไปเลย แต่ควรจะต้องคิด ต้องมองให้เห็นปัญหาเยอะ ๆ ละเอียดหน่อย เราเชื่อว่าวิธีการเดียวมันแก้ปัญหากับคนทุกกลุ่มไม่ได้ คนกลุ่มนี้หยุดเรียนได้เขาดูแลตัวเองได้ แต่คนบางกลุ่มที่เขาไม่มีต้นทุนในการดูแลตัวเองได้ โรงเรียนในพื้นที่ต้องอุ้มเขา ช่วยเขา อย่าพยายามไปมองว่าที่กรุงเทพเป็นยังไง ภาคกลางเป็นยังไง ทุกที่ก็คงเป็นแบบนั้น ไม่ได้แล้ว”

 

 

แล้วการศึกษาไทยควรเป็นอย่างไร เราควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ หรือให้เขาเรียนตามโจทย์ที่กำหนดเพื่อจบมาแล้วช่วยพัฒนาประเทศ

กัน – “เราต้องกลับมาคุยกันก่อนว่าจริง ๆ แล้ว การศึกษามีเพื่ออะไร อย่างที่เต้บอกเลยว่าการที่รัฐต้องการบุคลากรกลุ่มนึงเพื่อไปตอบโจทย์นโยบายหรือความต้องการบางอย่างของรัฐ มันเป็นความคิดแบบเก่า ใช่ แนวคิดแบบนี้มันปรากฏมาตั้งแต่สมัยเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยแผนแรกมีตั้งแต่ยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ มาจนแผนที่สามมันเริ่มเด่นชัดแล้วว่าการศึกษาถูกระบุไว้เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ว่าเราจะขับเคลื่อนการศึกษาไปทิศทางไหน

 

เราขอขอใช้คำว่าเป็นเศรษฐกิจนำการศึกษา ก็คือจากที่เราเคยรีวิวมาตลอดตั้งแต่แผนที่สามสี่ห้าหกเป็นต้นมา เราพบว่าทิศทางการศึกษาจะไปในลู่ทางเดียวกับระบบเศรษฐกิจของรัฐในขณะนั้น เช่น เรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องวิศวกรรมที่กำลังโด่งดัง แล้วก็จะพบโรงเรียนช่างจำนวนมากที่ขึ้นมาตามภูมิภาคต่าง ๆ หรือการขยายตัวของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ เอง มันก็มาเพราะเหตุผลพวกนี้

 

บางยุคคณะเกษตรฯ บูมมาก บางยุคคณะครุศาสตร์บูมมาก หรือว่าต้องการผลิตครู เพื่อไปเป็นครูให้กับโรงเรียนเพาะช่างต่าง ๆ เป็นต้น อันนี้ก็ทำให้เห็นว่า การศึกษาของบ้านเรา รัฐนำการศึกษามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย ส่วนสำหรับ New S-Curve ก็ยังไม่พ้นทางด้านเศรษฐกิจอีก เพราะเท่าที่ไปดูข้อมูลมา ก็จะมีอยู่ประมาณ 5 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นความคาดหวังว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือที่เราจะได้ยินชื่อย่อว่า EEC ซึ่งมันก็ยังดูเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะเกิดขึ้นจริงไหม แล้วมันจะยังไง เพราะเราก็เห็นว่าแบบมันถูกพูดถึงกันมาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้แบบเป็นรูปเป็นร่างอะไรขนาดนั้น

 

ทีนี้กลับมาพูดถึงกระแสดีเบต ที่ก็เริ่มมาสักพักใหญ่ คือสังคมเราเริ่มพูดถึงเรื่องของแพชชั่น เรื่องการสร้างตัวตนของตัวเราหรือตัวผู้เรียน ก็เลยอาจจะมีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาว่า การศึกษาควรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียน กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีคำถามตามาอีกว่าแล้วมนุษย์ที่สมบูรณ์คืออะไร อันนี้เราว่ามันน่าสนใจนะ เพราะว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ของแต่ละคนอาจจะมีความหมายไม่เหมือนกัน

 

อย่างน้อยการศึกษาที่ดีในความคิดเรา เราคิดว่าควรเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้รู้จักตัวเอง เขาได้รู้ว่าความต้องการของเขาคืออะไร เขาอยากไปทางไหน คือมันเป็นเหมือนการจุดประกายเพื่อให้เขาไปตะกุยทางเดินต่อไปของเขา ซึ่งการศึกษาบ้านเราไม่ได้สร้างความฝัน หรือแบบจุดประกายแพชชั่น หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเท่าไหร่จากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ไม่น้อยที่เด็กโตขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าว่าจริง ๆ แล้วชอบอะไรหรืออยากเป็นอะไร

 

สำหรับคำถามที่ว่าเราควรเปิดโอกาสและสนับสนุนให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจไหม อันนี้เราโคตรเห็นด้วยเลย  แต่ว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบการศึกษาไม่รองรับเรื่องเหล่านี้ เช่น เราอยากเป็นนักดนตรี ความสามารถเรามี แต่แบบระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราสามารถเดินตามความฝัน หรือว่าฝึกฝนทักษะบางอย่าง เพื่อตอบโจทย์ความฝันของเรา สิ่งเหล่านี้มันเลยกลายเป็นได้แค่งานอดิเรกที่เราต้องไปทำนอกเวลา ทั้งที่ถ้าได้รับการฝึกฝน การสนับสนุน เราอาจจะไปเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จก็ได้ หรืออาจจะไปเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จก็ได้ โดยที่เราสามารถใช้เวลาการฝึกฝนในสิ่งที่สนใจ หรือว่าความฝันเราได้จากชั่วโมงการเรียน”

 

 

อาร์ม – “ถ้าถามเรื่อง New S-Curve เรามองว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐ คือส่วนหนึ่งต้องพยายามทำให้มันเกิดการพัฒนา เด็กยุคใหม่โตมาต้องตอบโจทย์ต่อระบบเศรษฐกิจ คือมันเลี่ยงประโยคนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันเราอยู่ในสังคมทุนนิยม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทำออกมาก็เพื่อจะไปตอบรับกับระบบทุนนิยมอยู่แล้ว

 

แต่เรามองว่ามันมีบางอย่างที่ต้องมาทำความเข้าใจกัน คือถ้าคุณจะสนับสนุนว่าเด็กยุคใหม่ควรจะต้องเป็นอุตสาหกรรม ควรจะต้องไปเรียนโลจิสติกส์ ดิจิตอล เมดิคอลอะไรต่าง ๆ หรือสนับสนุนไปในแนวทางที่เขาสนใจ สุดท้ายแล้วเด็กเขาต้องสนใจนะ ไม่ใช่ว่าคุณจะบอกว่าต่อไปนี้ไม่เอาแล้วสังคมศึกษาศาสนา ไม่เรียนแล้วธรรมะ ไม่เรียนแล้ว เปลี่ยนคาบสังคมเป็นคาบอุตสาหกรรมดิจิตอล (หัวเราะ)เรารู้สึกว่าอันนั้นมันไม่ใช่

 

เพราะว่าการศึกษาควรจะต้องพาคนไปสำรวจด้านข้างในของเขาด้วย สำรวจความเป็นมนุษยชนของเขา เขาต้องการอะไรในชีวิต เขาเกิดมาทำไม หรือเขาเกิดมาเพื่อทำงานให้กับระบบเศรษฐกิจอันนึงแล้วก็ตายจากโลกนี้ไป แค่นั้นจริง ๆ เหรอ หรือนี่คือสิ่งที่เราเกิดมามีหน้าที่แค่นี้จริง ๆ หรือ เราทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหมหรือ ทำไมอะ ชั้นจะอยากโตมาแล้วเปิดช่องยูทูปรีวิวน้ำเปล่าแล้วก็ดัง ฉันจะเป็นนักรีวิวไม่ได้เหรอ

 

คือสุดท้ายแล้วเนี่ยเราคิดว่า มันต้องมีพื้นที่ที่จะยอมรับคนที่เขาไม่ได้เอากับภาครัฐ กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย ต้องมีพื้นที่รองรับให้คนที่เขาไม่อยากจะไปในแนวทาง New S-Curve หรือ First S-Curve ต่าง ๆ ก็ได้ ฉันอยากจะโตมาแค่ดีดกีตาร์แล้วก็ลงยูทูป แล้วก็มีคนดูของฉันแล้วฉันก็ได้เงินพอจะเลี้ยงชีพของฉัน ฉันมีความสุขที่จะทำแบบนี้ ก็ต้องปล่อยเขา คุณต้องยอมรับในความฝันของทุกคน

 

ถ้าคุณไปถามเด็ก เอาตอนเรายังเด็กก็ได้ อย่างเต้เชงตอนอายุ 12 ปี อยากเป็นอะไรล่ะ คำตอบก็จะไม่พ้นตำรวจ ทหาร วิศวะ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วความฝันของเด็กแต่ละคนตอนอายุ 12-13 มันไม่ใช่ว่าเขาโตมาเพื่อที่จะเป็นหมอ เป็นวิศวะ เป็นตำรวจกันทุกคนนะเว้ย บางทีความฝันของคนแต่ละคนต้องเรียนรู้ไปยาวมาก บางคนคิดว่าตัวเองชอบทำงานศิลปะ ก็เลยโอเคทำงานศิลปะไปจนอายุ 30 แต่เพิ่งมารู้ว่าจริง ๆ ว่าอยากเล่นดนตรี คือความฝันมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แล้วกลายเป็นว่าคนเหล่านี้โดนดูถูกเป็น loser เพราะแกไม่ได้ผลิตอะไรให้กับประเทศชาติเลย ซึ่งมันควรจะต้องยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไปได้แล้ว ทำไมฉันอยากขายไก่ย่างที่รวยที่สุดในย่านนี้ไม่ได้เหรอ”

 

 

กัน – “อันหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญ คือ การให้สปอร์ตไลท์กับบางอาชีพมากเกินไป เราเคยดูโฆษณาสั้นตัวนึงที่ถามเด็กในห้องว่าเด็กอยากเป็นอะไร คำตอบมันมีไม่ถึง 5 คำตอบเลยเว้ย มันก็จะมีคำตอบว่า อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นทหาร อยากเป็นหมอ อยากเป็นวิศวะ อยากเป็นพยาบาล แล้วอาชีพอื่น ๆ ล่ะ คือเด็กจะไม่มีคลังคำศัพท์อาชีพในหัวเลย อย่างเช่น Content Creator หรือนักวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาด หรือว่า NGO

 

เราไม่เคยได้รับคำศัพท์ทางอาชีพพวกนี้ในตอนเด็กเลย นอกจากบางอาชีพที่เป็นเชิงวิชาชีพจริง ๆ เท่านั้น ก็เลยคิดว่าเราควรที่จะสร้างคลังคำศัพท์ด้านอาชีพบางอย่างให้กับเด็ก ๆ ด้วยไหมในวิชาแนะแนว ให้เขาได้เห็นดาวดวงอื่นด้วย แล้วเขาก็จะได้ดูว่าชีวิตฉันอยากมุ่งไปสู่ดาวดวงไหน”

 

 

อาร์ม – “สำหรับเราเสริมอีกนิดหนึ่งว่า ความจริงแล้วถ้าถามเด็กในช่วงประถมว่าฝันอยากเป็นอะไร เราว่ามันเป็นคำถามที่โคตรจะตีกรอบความคิดเด็กเลยนะ เพราะว่าอย่างที่กันบอก เขาจะตอบได้อยู่ไม่กี่คำตอบ เพราะโลกที่เขาเจอมามีเท่านั้น เขายังไม่รู้หรอกว่า Digital Marketing คืออะไร น้าเป็นตำรวจ แม่เป็นพยาบาล พ่อเป็นทหาร แล้วอาชีพในฝันเขาก็จะอยู่ประมาณนี้ไม่ไกลมาก หรือต่อให้พ่อแม่ค้าขาย แต่ว่าได้ยินพ่อพูดทุกวันเลยว่าให้เป็นราชการ โตมาก็เป็นราชการแล้วกัน ผู้ใหญ่ถามอะไรก็อยากเป็นข้าราชการครับ มันก็จะวนอยู่แค่นี้

 

ซึ่งสิ่งสำคัญคือมันต้องทำให้เด็กเขาได้สำรวจโลกอะ สิ่งที่คุณครูควรทำ คือ ไม่ควรจะไปบอกว่าอาชีพนี้ไม่ดี อาชีพนี้ไม่มั่นคง อาชีพนี้เต้นกินรำกิน แต่สิ่งที่คุณครูควรจะบอกเด็กคือ ถ้าเธออยากเป็นนักวอลเลย์บอล คุณครูจะต้องโค้ชเขาได้ พาเขาไปสู่สิ่งนั้นได้ ครูไม่จำเป็นต้องเล่นวอลเลย์บอลเก่ง แต่ว่าคุณครูควรรู้ว่าจะซัพพอร์ตเด็กคนนี้อย่างไร มีทักษะอะไรบ้าง แล้วต้องหมั่นถามเด็กด้วยนะว่าความฝันเธอยังเหมือนเดิมไหม เปลี่ยนได้นะ มันต้องเลือกแล้วเลือกใหม่ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นวิศวะกันหมดยกชั้น คือเรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วสนับสนุนได้ แต่ไม่ควรจะเป็นค่านิยมทางอาชีพเดียว”

 

 

อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber

อาร์ม – “คงไม่อาจหาญหรอกที่จะไปฝากอะไรให้กับ 1st Jobber เพราะเราก็เพิ่งจะผ่านช่วงที่เรียกว่า 1st Jobber มาไม่กี่ปี แต่ว่าจากประสบการณ์สั้น ๆ ที่เราทำงานมาสามปีสี่ปี เรามีความรู้สึกว่ามันต้องเข้าใจตัวเองนิดนึง คือ หยุดคาดหวังกับโลกภายนอกหรือโลกการทำงานที่มันเยอะเกินไป อย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่าเราจะไม่ได้ทุกอย่างที่เราต้องการ ถ้าทำงานดีนะความสัมพันธ์บางอย่างจะไม่ดี ถ้าความสัมพันธ์ดีนะ หัวหน้างานเราก็จะมีปัญหา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ทีนี้สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังหางานหรือว่ากำลังทำงานในช่วงแรก ๆ เราอยากให้มองงานแบบเข้าใจ เข้าใจการทำงานแบบมองเป็นความรักก็ งานแรกในชีวิตเหมือนแฟนคนแรก แฟนคนแรกจะทำตัวไม่ถูกหรอก เราไม่รู้หรอกว่าต้องทำตัวยังไง ฉันอ่านพันทิปมาผู้ชายมันต้องเป็นแบบนี้สิ ทำไมไอ้นี่มันหยาบคายกับฉันจังเลยวะ เหมือนกันเวลาเราไปนั่งฟังรีวิวรุ่นพี่พูดเรื่องงาน โอ้โห โลกมันควรจะเป็นอย่างนั้นแน่เลย พอไปทำงานจริง อ้าว ไม่ใช่นี่ เหมือนความรักครั้งแรก

 

แต่ประเด็น คือ เราต้องเรียนรู้กับมัน ความรักครั้งแรกน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ งานแรกก็เหมือนกัน น้อยมากที่มันจะเป็นอย่างที่เราฝัน บางทีมันต้องเปลี่ยนอะ (หัวเราะ) เปลี่ยนคนรัก เปลี่ยนงาน ต้องเข้าใจว่าเราเลือกใหม่ได้ เราเลือกผิดได้แล้วเราก็เลือกใหม่ได้ บางองค์กรที่เราฟังจากรุ่นพี่ว่าโคตรดีเลย พอเข้าไปเสร็จปุ๊บ โห มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด ต้องทำงานแทนคนอื่นเยอะแยะมากมาย มีระบบอาวุโสเยอะแยะที่เราไม่ไหว เราก็ต้องเข้าใจตัวเองว่ากูพลาดว่ะ แล้วก็ไป มันเหมือนกันหาประสบการณ์การหาไปเรื่อย ๆ

 

ดังนั้นถามว่างานแรกสำคัญไหม สำคัญ แต่ไม่ใช่งานสุดท้ายในชีวิตคุณแน่ ๆ เพราะฉะนั้นพยายามให้ตัวเองมีพื้นที่ได้รู้สึกว่า เออฉันต้องไปที่อื่น ที่นี่ไม่เหมาะกับฉัน ฉันรักงานนี้มากเลยนะ ฉันสิ่งที่ทำมากเลย แต่สังคมรอบข้างดูเหมือนเขาจะไม่รักฉันเลย (หัวเราะ) ก็ต้องไป เเหมือนความรักนั้นแหละ ผู้ชายคนนี้ไม่ดีกับฉัน ผู้หญิงคนนี้ไม่เหมาะสมกับเรา Move on สิ่งสำคัญคือต้อง Move on ให้ได้จากความผิดหวัง ท่องเอาไว้เลยนะว่าเราไม่มีทางได้ทุกอย่างที่เราต้องการบนโลกใบนี้”

 

 

กัน – “จะบออย่ารีบเว้ย อย่ารีบกระโจนเข้าหามัน คือเราต้องค่อย ๆ เลือกสิ่งที่เราคิดว่าเราอยากทำจริง ๆ เราอยากเข้าไปเรียนรู้ตรงนี้จริง ๆ พอเข้าไปแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ลงล็อคอย่างที่อาร์มว่า ก็ Move on ต่อ ไม่ต้องไป เสียใจหรือเสียดาย หรือว่าฉันทำไม่ถึงสามเดือนเลย ลาออกไปจะดีไหม ซึ่งแบบมึง มึงไปลาออกเลยเว้ย คือบางที HR เขาไม่ได้อะไร เขาอาจจะเคยชินด้วยซ้ำ ว่าเข้ามาออกไป เข้ามาออกไป คือเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หรือสำคัญกับเขาขนาดนั้น

 

เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวเลย ที่จะเดินออกมาจากที่ที่เราคิดว่ามันไม่โอเคกับสุขภาพจิตเรา แล้วก็อีกอันนึงที่เราคิดว่ามันโคตรสำคัญ คือ เรื่องการแบ่งเวลา หรือการเยียวยาจิตใจตัวเอง เวลาเราทำงานบางคนอาจจะคิดว่าการทำงานตลอดเวลา หรือการทำงานหนัก หรือต้องให้คนอื่นเห็นว่าฉันยุ่งตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ดี หรือว่าฉันเป็นคนขยันนะ องค์กรจะต้องรักฉัน จะต้องตอบแทนฉันมากขึ้น เรารู้สึกว่าไม่เสมอไปเว้ย เราควรมีเวลาบางอย่างให้กับตัวเอง เราควรที่จะเปลี่ยนระหว่างโลกการทำงานกับโลกส่วนตัวของเราได้ ซึ่งอันนี้เป็นสำคัญเป็นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากแล้วก็อยากฝาก 1st Jobber ทั้งหลายไว้นะว่า อย่าให้งานมันกลืนกินตัวเราเข้าไป เราต้องหยัดยืนตัวของเราไว้ค่ะ”

.

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

9 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

1 year ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

1 year ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

1 year ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

2 years ago

This website uses cookies.