ว่ากันว่าโลกในอนาคต ข้อมูล หรือ Data จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ใครที่ถือครองข้อมูลจำนวนมาก จะยิ่งมีศักยภาพในการแข่งขันและสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “Data is the new oil” จึงไม่น่าแปลกใจนะครับที่เราจะเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เช่น Facebook, Google, หรือธนาคารต่าง ๆ มีการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคจำนวนมากเอาไว้ ไล่ตั้งแต่ข้อมูลส่วนตัวไปจนพฤติกรรมในการใช้งานโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมในการบริโภค หรือกิจวัตรประจำวัน
และถ้าถามต่อไปอีกว่า Data นั้นสำคัญอย่างไร ก็อย่าลืมนะครับว่า มนุษย์เรานั้นตัดสินใจจะทำอะไรก็วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เราได้รับมานั่นแหละ ข้อมูลจะทำให้มนุษย์สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจดึงดูดให้คนเราสนใจได้หรอกนะครับ ลองนึกภาพว่าชุดข้อมูลที่เราได้มามีแต่ตัวเลข เราก็คงรู้สึกไม่อยากอ่าน ถึงอ่านก็คงจะงง ๆ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “Data Visualization” ขึ้น เพื่อผสมผสานข้อมูลเข้ากับการเล่าเรื่อง ให้ข้อมูลนั้นน่าสนใจและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
คลาสในวันนี้ เราจะไปพูดคุยกับ “ออมสิน-วรุตม์ อุดมรัตน์” Project Manager แห่ง Punch Up Studio ผู้คลุกคลีอยู่กับ Data และการเล่าเรื่องผ่านข้อมูล เพื่อชวนกันไปทำความรู้จัก Data Visualization กันให้มากขึ้น
ถ้าใครสนใจ Data และการเล่าเรื่องล่ะก็ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ
“ชื่อออมสินครับ วรุตม์ อุดมรัตน์ ตอนนี้เป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์อยู่ที่ Punch Up”
Punch Up คืออะไร
“Punch UP คือ บริษัท ๆ นึงครับ ที่เราตั้งใจมุ่งมั่นทำเกี่ยวกับการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล หรือว่า Data Storytelling ส่วนมากงานที่เราทำจะออกมาเป็นรูปแบบของไมโครไซต์หรือเว็บไซต์ ที่ใช้หลักการของ Web Developer/Web Development แล้วก็การทำ Web Design เข้ามาจับกับการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วก็เล่าเรื่องด้วยข้อมูล ซึ่งก็จะออกมาในรูปแบบของงานที่มีความผสมผสานระหว่างสกิลหลายรูปแบบ พยายามสร้างรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ ให้กับวงการการสื่อสารของประเทศไทยดู
จะว่าเราเป็นการสื่อสารรูปแบบใหม่ไหม ก็อาจจะเป็นรูปแบบใหม่ในเชิงที่ว่าทำเป็นไมโครไซต์ อาจจะไม่เคยมีใครทำขึ้นมาในประเทศขนาดนั้น แต่ว่าถ้าพูดถึงคำว่าการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลจริงอาจจะบอกไม่ได้เป็นคนใหม่แบบคนแรก จริง ๆ สื่อหรือว่าหน่วยงานเอกชน หน่วยงานภาครัฐเองก็ใช้ข้อมูลเล่าเรื่องกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว แต่ว่าเราแค่พยายามจะสร้างวิธีการเล่าเรื่องที่มันน่าสนใจ สร้างบทสนทนาใหม่ ๆ ให้กับสังคมผ่านสิ่งหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยี หรือว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้สกิลที่มากกว่าแค่การสื่อสารปกติที่เราเห็นกันทั่วไป”
Data Storytelling คืออะไร
“จริง ๆ คนน่าจะรู้จักสองคำนี้ดีอยู่แล้ว มันเกิดจากคำสองคำมาชนกันเนอะ คือคำว่า Data ซึ่งยุคนี้คนพูดถึงกันบ่อยมาก กับอีกคำนึงคือ Storytelling ซึ่งรู้สึกว่าช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่เริ่มมีการฟัง Ted Talk เริ่มมีการอ่านคอนเทนต์บนโลกโซเชียลมีเดีย เราจะเริ่มชินกับคำว่า Storytelling มากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือสองคำนี้มันคือเทรนด์ใหม่ที่เพิ่งมาเกิดยุคหลัง ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องของการสื่อสารโดยเฉพาะ แล้วพอจับมารวมกันก็เลยกลายเป็นเหมือนกับองค์ความรู้หรือไอเดียใหม่ ๆ ที่เราใช้ในการนิยามตัวเอง
ตัวงานที่เราทำอยู่ คือ Data Storytelling หลักการคือเราสื่อสารด้วยข้อมูล ซึ่งในรายละเอียดข้างในมันมีความแตกต่างจากการสื่อสารปกติหลายแบบเหมือนกัน ซึ่งอันนี้กระบวนการที่เราทำงาน เวลาเราจะใช้ จะมีกระบวนการเพิ่มเติมขึ้นมาจากการสื่อสารทั่วไป ปกติสมมติเวลาเราคิดถึงการเล่าเรื่อง ๆ นึง เราคิดถึงอะไรก่อน เราเก็บข้อมูล เราเอามาเริ่มเขียนเอามาเริ่มลงรายละเอียด หลังจากนั้นเราก็จัดวางจัดเรียงเสร็จแล้วปล่อยขึ้นไปไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ บทความออนไลน์ เว็บไซต์ หรือว่าที่ใด ๆ ก็ตาม มันก็คือการสื่อสารแบบ Storytelling อย่างนึงแล้ว
แต่พอมันมีคำว่า Data เข้ามาตกข้างหน้าปุ๊บ ไอ้กระบวนการที่เราพูดมา มันเลยมีอะไรต้องยัดเข้าไปเพิ่มนิดหน่อยเพื่อให้ข้อมูลมันทำหน้าที่ของมัน เสริมสร้างความน่าสนใจ เสริมสร้างองค์ความรู้ที่มีการเล่าเรื่องอย่างเดียวมันทำไม่ได้ สองสิ่งนี้ Data กับ Storytelling มันคือสองสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ ถ้าพูดตรง ๆ Story อย่างเดียวอาจจะอยู่ได้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามพอมี Data ปุ๊ป Data อย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ มันต้องมีข้อมูลต้องเรื่องราวอะไรมาอธิบาย พอ Data เข้าไปมันก็เลยกลายเป็นกระบวนการใหม่ ๆ”
Data Storytelling กับ Infographic เหมือนกันไหม
“เหมือนนะ จริง ๆ พูดได้เลยว่า Infographic เป็นสับเซต เป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งของ Data Storytelling นี่แหละ คือคำว่า Data Storytelling เป็นคำใหญ่ รูปแบบที่ใช้เล่าเรื่องด้วยข้อมูลมันเป็นไปได้ตั้งแต่โปสเตอร์ หนังสือพิมพ์ ที่ปรินต์ลงไปแปะให้คนเห็น เว็บไซต์ที่เราเห็น อย่าง Punch Up เอง ใช้เว็บไซต์เล่าเรื่อง หรือว่าเป็น Infographic เป็นงานเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมภาพอัลบั้มที่เห็นตามเฟซบุ๊ก ที่สำนักข่าวออนไลน์สมัยนี้ชอบทำ ก็เป็นหนึ่งใน Infographic เหมือนกัน
บางครั้งเขาเอาไอเดียของคำพวกนี้ไปใส่เป็นนิทรรศการ ทำเป็นเหมือนกับว่าเสาต้นนี้เปรียบเสมือนข้อมูลของบริษัทนี้ ที่หมายถึงสมาชิกของบริษัททั้งหมดรวมกันมีน้ำหนักสองพันกิโลกรัม หมายความถึงพนักงานสองพันคน เนี่ยมันคือการเอา Data เข้าไปเล่าเรื่องหมดเลย ปัญหาคือไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาใช้ Infographic กันจนเกร่อหรอก จริง ๆ เป็นเรื่องที่ดีมากเลยที่คนใช้ข้อมูลมาเล่าเรื่อง
แต่ปัญหามันคือการรับรู้ของคนนี่แหละ ความคิดของคนที่ตีความคำว่า infographic ตอนนี้ที่เราคิดสำหรับเราเองกับสังคมปัจจุบันอยู่ในกรอบที่เล็กเกินไป แล้วมันทำให้ผลงานที่มันอยู่ในหัวคน เวลาคนพูดว่าให้ทำงาน Infographic เลยออกมาแบบเดิม ๆ เราไม่ติดปัญหาเรื่องการที่ว่าคนไทยชอบทำ Infographic แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับ Infographic ได้ว่ามันคืออะไรกันแน่ ความ Open-minded และคำเหล่านี้ มันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งจะบอกว่าเวลาสอนตอนที่ออฟฟิศไปสอนหนังสือในหน่วยงานต่าง ๆ จะพยายามพูดตลอดว่า มีคำหนึ่งที่คนชอบรู้สึกว้าวมาก ๆ คือคำว่า Data Visualization ฟังแล้วดูอลังการเป็นเรื่องชาร์ตแบบสวย ๆ งาม ๆ แต่ว่าจริง ๆ พอมาดูรากศัพท์หรือว่าไอเดียของคำ คำว่า Data มันก็คือ Info นั่นแหละ ข้อมูลถูกไหม แปลเป็นไทยได้คำเดียวกันด้วยซ้ำ Info คือข้อมูล graphic ก็คือภาพ Visualization ก็คือการแสดงให้เห็น มันก็คือภาพเหมือนกัน ดังนั้น Data Visualization จึงแทบจะเท่ากับ Infographic เลยนั่นแหละ คำว่า Infographic และ Data Visualization จริง ๆ แล้วความหมายเหมือนกัน คือการเอาข้อมูลต่าง ๆ มาทำใหม่ให้เป็นภาพ ให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้คนมองเห็นปุ๊บแล้วเราสามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลชุดนั้น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น”
ทำไม Data ถึงสำคัญในยุคนี้
“จริง ๆ ต้องทำให้คำว่า Data เข้าใจง่ายขึ้นอีกครั้งเหมือนกัน เรารู้สึกว่าเวลาคนเห็นคำว่า Data จะคิดถึงความยาก ต้องมาใช้เครื่องมืออะไรยาก ๆ หรือนึกถึง AI อะไรตลอด แต่ว่าจริง ๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน คำว่า Data แปลว่าข้อมูล คำว่าข้อมูลไม่ใช่คำใหม่ มันเป็นคำเก่าแล้วก็ถูกใช้มาตลอดอยู่แล้ว ทุกคนเก็บข้อมูล ทุกคนค้นหาข้อมูลก่อนทำงานวิจัย ค้นหาข้อมูลก่อนเขียนหนังสือ ทุกคนหาข้อมูลก่อนสอบ ทุกคนอ่านหนังสือ ทุกอย่างคือข้อมูลหมด อะไรที่เราเขียนลงไปในกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นไดอารีไปจนถึงวิทยานิพนธ์ ก็คือข้อมูลทั้งนั้น
ดังนั้น เราไม่อยากให้คนกลัวคำว่า Data จนเกินไป Data ที่บอกว่าใหม่ มันไม่ใช่ Data ที่แปลว่าข้อมูลอย่างเดียว Data ที่ใหม่ มันคือ Data ที่เกิดจากการที่เราใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้นในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นออกมาเป็นอะไรใหม่ ๆ ออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือว่าการตัดสินใจแบบใหม่ ๆ ที่ปกติสมองมนุษย์อย่างเดียวทำไม่ได้ แล้วอันนี้คือสิ่งที่ทำให้ Data is the new oil คือ Data ในตัวมันเองไม่ใช่แค่ Data อย่างเดียว แต่คือกระบวนการของมัน ไม่ว่าจะการเก็บ การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ กระบวนการนี่แหละที่ทำให้ Data กลายเป็นน้ำมัน
ที่คนกลัวกันว่าฉันจะโดนเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ชอบรึเปล่า อยู่ ๆ ดีมีข้อมูลของหนึ่งล้านคนออกสู่สาธารณะ จริง ๆ ข้อมูลก็เป็นข้อมูลที่เรารู้กันอยู่แล้ว ข้อมูลบัตรประชาชน ข้อมูลชื่อ-นามสกุล แต่ว่าปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้มันมีค่า มีค่าในทางการตลาด มีค่าในทางของการเอาไปใช้เพื่อเอาไปเทรนด์ AI ให้มันฉลาดขึ้นในการมายิงโฆษณากับเราในอนาคต ให้เราอยากซื้อของคนใดคนหนึ่ง นี่แหละคือปัญหาที่ทำให้ Data is the new oil มันทำให้เราต้องคุ้มครองสิทธิในข้อมูล ในขณะเดียวกันก็จะต้องพัฒนาการใช้ข้อมูลให้หลากหลายขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เราใช้สำหรับบริษัทเรา คือ การเอามาเล่าเรื่อง
เราเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการดึงข้อมูลเหล่านี้ ที่ไม่ได้สามารถเล่าได้ด้วยสมองของมนุษย์อย่างเดียว เราเอาเทคโนโลยีมาช่วย เอาการดีไซน์มาช่วย เอาการใช้โค้ดดิ้งเข้ามาช่วย เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นที่อาจจะมีจำนวนมาก มานำเสนอในรูปแบบที่เรารู้สึกว่ามันย่อยง่าย มีความน่าสนใจ สิ่งสำคัญ คือ มันใหม่ มันไม่เคยเกิดขึ้นได้จากเพียงแค่สมองคนอย่างเดียว แต่เกิดจากการสังเคราะห์โดยเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง ซึ่งก็คิดว่ามีข้อดีของมันอยู่ เป็นเหตุผลที่ Data is the new oil สำหรับเรา เพราะมันทำได้หลายอย่างมาก”
ทำไมการเล่าเรื่องถึงสำคัญ
“การเล่าเรื่องสำคัญเสมอ เรารู้สึกว่าการสื่อสารไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่าย ๆ เหมือนกันนะ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลเข้ามาเกี่ยว เรารู้สึกว่าข้อมูลมันสร้างความสับสน หลาย ๆ ครั้งที่ข้อมูลที่มีจำนวนมากจนเกินไปแล้วถูกนำเสนอย่างไม่ถูกวิธีนัก มันทำให้เกิดความสับสน หรือความงง หรือความซับซ้อนที่ไม่จำเป็นได้ในสมองของมนุษย์ คือเรารู้สึกว่าเวลาคนเห็นข้อมูลเยอะมาก ๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกที่เรากลัวมันทันที เหมือนแต่ก่อนที่เราเรียนเลขแล้วเรากลัวเลข
Data ก็ไม่ต่างกับตัวเลข มันคือข้อมูลเยอะ ๆ ที่พอวิเคราะห์ออกมาก็ต้องเป็นตัวเลข ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพก็เถอะ แต่ว่ายังไงก็ตามพอคุณต้องการจะวิเคราะห์ คุณไม่สามารถนำข้อมูลเชิงคุณภาพอย่างเดียวมาวิเคราะห์ได้ ข้อมูลเชิงคุณภาพเองก็ต้องเอามาแปลงออกมาเป็นปริมาณอยู่ดี เช่น คนที่นับถือศาสนาพุทธกี่คน คนที่นับถือศาสนาคริสต์กี่คนในประเทศไทย แล้วค่อยมาดูว่าคนพุทธเยอะที่สุดนะ คือสุดท้ายแล้วทุกอย่างมันต้องแปลงเป็นข้อมูลที่ต้องเอามาวิเคราะห์ในเชิงสถิติ
ซึ่งวิธีการสื่อสารในแบบที่เราเห็นตามงานวิจัย ก็ถูกนำไปใช้ด้วยข้อมูลแบบนี้อยู่แล้วแหละ แต่ว่าอย่างไรก็ตามพอมาถึงการสื่อสารมวลชน หรือวงการการสื่อสารสู่สาธารณชน มันต้องการความเรียบง่ายและความน่าตื่นเต้นในเนื้อหาพอสมควร ปัญหาของการสื่อสาร คือ ถ้าไม่มีคนอ่าน มันไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีคนเสพถือว่ามันไม่ไปถึง ดังนั้น วิธีที่เราในฐานะคนที่เห็นความสำคัญข้อมูล วิธีที่เราทำได้คือเราจะทำยังไงให้ข้อมูลไปถึงคนที่ต้องการจะสื่อสารออกไป ดังนั้น ถามว่าทำไมต้องสื่อสาร ก็เพราะเราต้องการทำให้ข้อมูลไปถึงคน คนที่เราต้องการให้เขาอ่านจริง ๆ
เวลาเราทำงาน เราจะไม่เคยคิดว่าผู้เสพคอนเทนต์ของเราคือคนทั่วไป เราพยายามตีกรอบคำว่าคนทั่วไปให้มันลึกและเจาะจงขึ้นเสมอว่า ใครคือคนนั้นของคุณ คนทั่วไปเหล่านั้นคือใคร เขาคือคนแก่ไหม เขาคือคนรุ่นใหม่รึเปล่า เขาสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แล้วพอเรากำหนดสิ่งเหล่านี้จนชัดเจนมากขึ้น กำหนดการสื่อสารหรือคีย์แมสเสจที่เราอยากจะสื่อสารก็จะชัดเจนขึ้น แล้วก็จะไปถึงเขาได้ง่ายขึ้น
อีกอย่างนึง เรารู้สึกว่ามันมีมิติใหม่ของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลที่เพิ่งเกิดมา ทำไมคำว่า Data Storytelling เพิ่งมาเกิดหลัง ๆ เพราะว่าเริ่มมีการเอาหลักการในการออกแบบ เอาไอเดียของการออกแบบมาจับกับการออกแบบข้อมูล จากเดิมที่เราเห็นชาร์ตหรือกราฟที่เราเรียนกัน มันน่าเบื่อสำหรับคนหลายคน ปัญหาคือมันไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น เขาก็เริ่มคิดไอเดียว่า หรือจริง ๆ แล้วกราฟเหล่านี้สามารถเอามาตกแต่ง เอามาเสริมพลังผ่านการดีไซน์ได้ ซึ่งอันนี้เป็นอีกอย่างที่ทำให้ Punch up มีดีไซเนอร์อยู่ในทีมด้วย เราเอาดีไซเนอร์กลุ่มนี้มาออกแบบเนื้อหาที่ข้อมูล หรือว่าเนื้อหาแบบข้อความอย่างเดียว มาแปลงให้เป็นการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลจริง ๆ
คือเราพยายามทำให้ชาร์ตไม่น่าเบื่อจนเกินไป ใส่องค์ประกอบในการออกแบบเข้าไปเสริมด้วย เพื่อให้คนรู้สึกว่าไม่เคยเห็นชาร์ตนี้มาก่อน จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นชาร์ตที่รู้จักอยู่แล้วก็ได้ แต่มันถูกเอาไปดีไซน์ใหม่ เข้าไปเพิ่มให้น่าสนใจ ซึ่งก็สร้างมูลค่าด้วยตัวมันเองได้ด้วย ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดให้คนอยากอ่านเนื้อหาที่เราจะนำเสนอ เราว่ามันพิเศษอย่างหนึ่ง คือ นอกจากจะให้ความรู้คนได้ด้วยแล้ว ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนเข้าใจประเด็นข้อมูลที่ซับซ้อนกว่าเดิม”
“เรารู้สึกว่าการสื่อสารแบบเดิมที่สังคมเรามี ในภาพรวมเราไม่ได้เสพข้อมูลจำนวนมากขนาดนั้น เราอ่านหรือดูภาพเป็นหลัก แต่ว่าเรายังไม่ได้เอาข้อมูลเชิงสถิติ หรือข้อมูลการวิเคราะห์จากเครื่องมือบางอย่าง มาทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ยากเกินไปจะเข้าใจ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ได้ใหม่ขนาดนั้นในเชิงการรับรู้ของสื่อทั่ว ๆ ไป แต่ส่วนมากจะอยู่ในเอกสารเชิงวิชาการ ชาร์ตพวกนี้จะอยู่ในเอกสารเชิงวิชาการ หรืองานวิจัยทางสถิติ หรือรายงานของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ว่ามันยังไม่เคยถูกเอามาเล่าในประเด็นธรรมดา
เช่น Punch Up เคยทำงานเกี่ยวกับปลาทู เราไม่เคยคิดว่าการเล่าเรื่องปลาทูต้องใช้ Data แต่ว่าเรา Data ของปลาทูมาเล่า เอาขนาดของอวนลากที่จับปลาทูมาเปรียบเทียบกับเครื่องบินเจ็ตได้ว่า ขนาดของอวนลากที่จับปลาทูมันใหญ่ขนาดเครื่องบินเจ็ท มันยาวกี่เมตร ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลว่า จริง ๆ ข้อมูลความยาวเนี่ยมันถูกเปรียบเทียบให้รู้สึกใกล้ตัวขึ้นได้ จากเดิมทีเราเข้าใจว่าแค่คำว่าใหญ่ แต่ไม่เคยคิดว่ามันใหญ่ขนาดไหน ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราจะต้องการ เหมือนมากกว่าแค่รีแพ็กเกจจิ้ง แต่เราเสริมให้คนได้เรียนรู้วิธีการเสพสื่อแบบใหม่ ที่มันสร้างข้อถกเถียงได้มากขึ้น มันสร้างองค์ความรู้ที่คิดต่อได้มากขึ้น ตั้งคำถามได้มากยิ่งขึ้น ไม่ได้อ่านแล้วเชื่อแล้วจำอย่างเดียว
ออฟฟิศเราพยายามทดลอง ทดสอบความเป็นไปได้ของการใช้ชาร์ตใหม่ ๆ ของการใช้การเล่าเรื่องด้วยข้อมูลแบบใหม่ ๆ วิธีการเล่าเรื่องใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของวิธีการเล่าด้วย เราลองเล่าเรื่องในแบบแชตไลน์ ลองเล่าในแบบฟีดเฟซบุ๊ก ทำยังไงให้มันน่าสนใจขึ้น การสื่อสารที่ดี คือ เราต้องรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำในช่วงเวลาไหนบ้าง อะไรเหมาะสมกับผู้ฟังแบบนี้ อันนี้ไม่เหมาะกับผู้ฟังแบบนั้น
ดังนั้น ทุกครั้งที่ทำโปรเจกต์มันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างที่เราสื่อสารออกไป เราไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ได้ด้วยซ้ำ เพราะว่าเราพยายาม Reach to the next limit สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่การสื่อสารในสังคมเราทั่วไปยังทำอยู่น้อยมาก
นอกจากนี้ ข้อมูลที่เราพูดกันไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสังคมเสมอไป มันคืออะไรก็ได้ ไดอารีก็ได้ เราจดบันทึกวันที่เราร้องไห้ วันที่เราทะเลาะกับแฟน ทุกอย่างมันเป็นข้อมูลได้หมด มันคือการบันทึกการกระทำบางอย่างของเราอย่างสม่ำเสมอ แล้วมันก็จะถูกเอามาวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะเปลี่ยนมุมมองแนวคิดของข้อมูลใหม่ ให้คนรู้สึกไม่กลัวมัน แล้วในขณะเดียวกันพอไม่กลัวมัน ก็อยากให้เห็นว่ามันออกมาเล่าเรื่องได้นะ
ซึ่งสุดท้ายแล้วบางเรื่องที่อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นก็ได้ เช่น เราเคยลองทำแบบนี้แล้วมันสำเร็จ ฉันลองกินกาแฟตอนสิบโมงทุกวัน ลองดูหนึ่งเดือนเต็ม ๆ อีกหนึ่งเดือนมาลองดูอีกทีว่าร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น พวกนี้มันก็คือข้อมูล คล้าย ๆ กับการทำวิจัยที่ก็ใช้วิธีเดียวกัน แค่ต้องปรับความเข้าใจของเราเองเกี่ยวกับคำว่าข้อมูลใหม่ ทุกคนทำได้อยู่แล้วการเป็น Data Storyteller แทบจะอยู่ในอณูชีวิตของทุกคน
มีตัวอย่างคู่เพื่อนสนิทสองคน คนหนึ่งอยู่ที่อเมริกา อีกคนอยู่ที่อังกฤษ เขาเหมือนว่างไม่รู้จะทำอะไรก็เลยบอกว่าเราจะเก็บข้อมูลของตัวเองในทุกหนึ่งอาทิตย์ทำอะไรก็ได้ แล้วก็ส่งโปสการ์ดให้กันสลับกัน คนที่อยู่อังกฤษส่งให้อเมริกา คนที่อเมริกาส่งให้อังกฤษ แล้วก็เอามารวมกันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “Dear Data” ไปลองหาอ่านได้ คือเป็นผู้หญิงสองคนที่เก็บข้อมูลของตัวเองแล้วก็ส่งให้กันและกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาก็ใช้ดินสอสี กระดาษ ปากกา แค่นี้ ทำ Data ออกมารูปแบบแปลก ๆ ด้วย บางอันดูไม่ออกเลยแต่ว่าเขาเขียนอธิบายแล้วก็ค่อยเข้าใจ
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ตอนจบแล้วมันกลายเป็นองค์ความรู้ คือ 1. เป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ 2. มันช่วยเก็บข้อมูลชีวิตของคนเหล่านั้นด้วย เขาก็รู้สึกดีที่เขาเก็บข้อมูลไดอารีของเขา ซึ่งทุกคนเป็น Data Storyteller ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ยากหรืออะไรเลย”
ถ้าสนใจอยากจะทำงานเกี่ยวกับ Data Storytelling ควรเริ่มต้นยังไง
“ถ้ามองในเชิงอาชีพก็อาจจะต้องจริงจังขึ้นมานิดนึง รู้สึกว่าจริงถ้ามองในภาพใหญ่ การเป็น Data Storytelling ปกติไม่จำเป็นต้องเรียนสายวิทย์ คือพอมีคำว่า Data ตามมาหลายคนจะคิดว่าต้องเรียนสายวิทย์ แต่ว่าอย่างเราจบรัฐศาสตร์มา มันไม่จำเป็นต้องเรียนสายวิทย์หรือว่าเรียนสายสถิติมาก่อน แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความเชื่อมั่นแล้วก็ศรัทธาในตัวเลขนิดนึง ตัวเลขเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก มันทำให้เกิดองค์ความรู้เยอะจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องของการวิจัย ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากตัวเลขหมดเลย
ดังนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ตลอด มันคือการเอาตัวเลขมาเล่าเรื่องในไอเดียของเรื่องเชิงสังคม อย่าง Punch Up เอง ธีมที่เราทำเป็นธีมสังคมเป็นหลัก เพราะประเด็นที่ถูกเล่าผ่านสังคมไม่ค่อยถูกเล่าผ่านข้อมูลมากนัก มันก็เลยเป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่เราพยายามทำกันอยู่ ก็เลยรู้สึกว่าจริง ๆ เราอยากให้มีความเชื่อมั่นในตัวเลขก่อน แล้วในขณะเดียวกันก็มีความรักในการเล่าเรื่อง เขียนบล็อกได้ ชอบการเขียนคอนเทนต์ ถ้ามีสองสิ่งนี้ก็พอจะสามารถมาลองสมัครได้แล้วนะ
แต่ว่าถ้าให้ถามว่าอยากให้มีสกิลอะไรก่อนทำงาน หรือว่าถ้ามีแล้วจะดีมาก ๆ คือ สกิลการทำ Data Analytic คือการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจริง ๆ มันเป็นสกิลที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ยากมาก ไม่ต้องใช้โค้ดดิ้งขนาดนั้นเลย มันสามารถใช้กระบวนการง่าย ๆ เช่น Excel ใช้เครื่องมือง่าย ๆ เช่น ใช้ภาษาโค้ดดิ้งง่าย ๆ บางภาษา อย่าง Excel สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้หลาย ๆ มิติมาก ๆ คืออยากให้เรียนรู้การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมืออะไรบางอย่าง การใช้เทคโนโลยีสำคัญมาก แล้วการเป็น Storyteller ยุคใหม่ ไม่มีเทคโนโลยีก็เหมือนไม่มีอาวุธ”
อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber บ้าง
“เราว่ายุคปัจจุบันความหลากหลายของอาชีพไม่ได้เชื่อมโยงกับคณะที่เราเรียนมาอีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันอาชีพที่เราเห็นโดยเฉพาะในวงการสตาร์ตอัป หรือเทคโนโลยีไม่ได้ถูกยึดติดกับบางคณะอย่างที่เราเคยเข้าใจแล้ว มันถูกบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากมาย อย่างองค์กรเพื่อสังคมหลายองค์กรเกิดจากคนทำงานสายเทคโนโลยีหลายคนเหมือนกัน องค์กรเพื่อเทคโนโลยีหลายที่ก็มีคนที่จบสายสังคมอยู่ในนั้นเยอะมากเหมือนกัน
ดังนั้น จะบอกว่าอยากทำอะไรลองเข้าไปศึกษาองค์กรเหล่านั้นก่อนแล้วดูว่าเขาใช้สกิลอะไร หลังจากนั้นอย่ากลัวที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากที่เราเรียนมาจากคณะ มันแทบจะเป็นเหมือนประตูบานใหญ่มาก ๆ เลยที่จะช่วยให้เราเข้าไปสู่งานที่เราต้องการจะทำจริง ๆ คือไม่ได้บอกว่าคณะที่เรียนมาไม่ดีหรืออะไรอย่างนั้น ทุกคณะมันเหมือนเป็นการปูพื้นฐานให้เรารู้ว่ามีความรู้ในหัวเราอย่างนึงแล้ว แต่ว่าอย่างไรก็ตาม โลกความเป็นจริงความรู้อย่างเดียวมันเริ่มใช้ไม่ได้ มันต้องทำงานกับคนที่มีความรู้อื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อผลผลิตที่มันทันกับสมัยมากขึ้น ทันวัตกรรมที่มันไปไวมาก ๆ ในปัจจุบัน
อย่ากลัวที่จะเรียนรู้แล้วก็อย่ากลัวที่จะสมัคร หรือว่าทำงานในที่ที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้ ปัจจุบันโลกนี้มันเปลี่ยนไปเยอะแล้วก็อย่าไปฟังค่านิยมเก่า ๆ ในเรื่องของการทำงานมาก เรารู้สึกว่าบรรยากาศของการทำงานมันเปลี่ยนทุก 5 ปี แค่ย้อนกลับไปสองปีตอนที่ตัวเองสมัครงานครั้งแรกก็ไม่เหมือนตอนนี้แล้ว คนละเรื่องเลย มันเปลี่ยนไปเยอะมากจริง ๆ
แนะนำว่าให้ทำอะไรแบบเจาะจงไม่ได้แล้ว คือต้องบอกเลยว่าให้เลือกในสิ่งที่อยากเลือก แล้วก็ไปเรียนให้ดี เดี๋ยวนี้คอร์สออนไลน์หรือสกิลที่สามารถเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้มีเพียบเลย อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคก็คือรัฐบาลที่อาจจะยังมีปัญหาอยู่ ประเทศที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่านิยม เราคงแก้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่บอก พยายามไปสู้เพื่อมันให้มาก ๆ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ไม่ต้องอยู่ประเทศนี้ ไปทำงานประเทศอื่นเลย ไม่ต้องซีเรียสเลย ชีวิตมีไว้หางานที่มีความสุขแล้วก็แฮปปี้ได้เงินดี”
Category: