ภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์เช่นนี้จะมีอะไรดีไปกว่าการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี นั่นทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ…แต่ในจำนวนคู่แข่งที่มากมายนั้น มีหนึ่งเดียวที่เป็นฟู้ดเดลิเวอรีของคนไทยภายใต้ชื่อ Robinhood  ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์ลงทุน 100%

  

วันนี้ Robinhood ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่มีเป้าหมายและความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต และลืมตาอ้าปากได้…

 

Passion Talk  ติดต่อสัมภาษณ์ คุณบิ๊ก – สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี แบรนด์ Robinhood ว่าจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม และช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กได้อย่างไร

 

 

 

เป็นมาอย่างไรถึงเข้ามาสู่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี

ย้อนกลับไปช่วงที่เกิดโควิด-19 รอบแรกขึ้น ประมาณกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 รัฐบาลมีนโยบายล็อกดาวน์ เราเห็นทุกคนทำงานที่บ้าน กิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนทำ คือ สั่งอาหาร เพราะเราไม่สามารถเดินไปหน้าปากซอยสั่งอาหารได้เหมือนปกติได้ สิ่งหนึ่งที่ร้านอาหารต่อยอดตัวเขาเองได้ก็คือ การขายอาหารแบบออนไลน์ สมัยนั้นมีหลายเจ้ามาก Grab, Foodpanda, Gojek, Lineman

 

แต่ไอเดียหนึ่งที่เราที่เป็นธนาคาร แล้วเปลี่ยนตัวเองมาเป็นฟู้ดเดลิเวอรี ต้องยกเครคิตให้ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์  ที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ และคณะกรรมการบริหารก็เห็นชอบด้วย จึงเกิดเป็นเพอร์เพิล เวนเจอร์สขึ้นมา

 

แอปพลิเคชัน Robinhood นี้ทีมงานคิดและตกผลึกในเวลาแค่เดือนเดียว จากนั้นใช้เวลาอีก 3 เดือนกับทีมงานกว่า 200 ชีวิตในการพัฒนา เราทำ Food Delivery Platform ในมุมของการช่วยเหลือร้านอาหารขนาดเล็กและคนตัวเล็ก

 

แอปพลิเคชัน Robinhood เป็น Digital CSR Platform ที่เน้นการช่วยเหลือคน ดังนั้น เราไม่มีมุมมองที่ว่า ทำแล้วจะคุ้มค่าเงินที่ลงทุนไหม ทำแล้วจะกำไรเมื่อไร แต่ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า วันนี้เราจะไปช่วยกลุ่มร้านอาหารอย่างไร

 

ในขณะที่ร้านอาหารเผชิญปัญหาทำให้เขาขายไม่ได้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้ให้ แต่ปัญหาพื้นฐานยังไม่ถูกแก้ไข นั่นคือ เขาไม่มีรายได้ ทางรอดเดียวของเขาคือ ขายอาหารผ่านออนไลน์ แต่สิ่งที่ร้านค้าขนาดเล็กต้องเผชิญคือ ค่าธรรมเนียมหรือค่าส่วนแบ่งการขาย ที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากร้านค้าขนาดเล็กที่ 30% บางเจ้าถูกเรียกเก็บถึง 45% เรียกว่า “หนีเสือปะจระเข้” ผู้ประกอบการหลายรายจึงยอมแพ้ ไม่เข้าสู่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี

 

นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงาน SCB ทุกคนในองค์กรทุ่มเทช่วยกันทำแอป Robinhood

 

ฉะนั้น จุดประสงค์หลักที่ Robinhood กำเนิดขึ้นเพื่อช่วยคนตัวเล็กที่ไม่มีโอกาส ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีหลาย ๆ เจ้าเขาพยายามจะเอา GP จากร้านเล็ก ๆ ไปเป็นโปรโมชันให้ร้านใหญ่ ๆ เพื่อให้ลูกค้าสนใจมาซื้อของจากร้านใหญ่ ด้วยโมเดลลักษณะนี้ทำให้ตลาดผิดรูปผิดร่าง เราจึงเข้ามาสร้างฟู้ดเดลิเวอรี เพื่อ Setup New Standard ของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีออนไลน์ขึ้นใหม่

 

 

ประกาศทำ Robinhood แล้วเป็นอย่างไร

เราเข้าไปในตลาดที่ไม่มีความรู้เลย แต่พอเราประกาศเปิดตัวไปและเปิดฟังความเห็นจากร้านอาหาร หลายคนโดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก เขาไม่มีความสามารถในการขึ้นระบบออนไลน์เลย เขายังหวังพึ่งการขายผ่านหน้าร้านจากการบอกปากต่อปาก กลุ่มนี้พอเข้าระบบฟู้ดเดลิเวอรีออนไลน์มักจะถูกเก็บ GP 30% ซึ่งหลายรายแบกรับต้นทุนอาหาร ผลกระทบจากธุรกิจแล้ว ยังต้องถูกเก็บ GP เพิ่มอีกทำให้อยู่ไม่ได้ แตกต่างจากรายใหญ่ที่มีสาขามากกว่ามีอำนาจต่อรองมากกว่า แต่ร้านขนาดเล็กก็ไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ยอมเสีย GP เขาอาจจะขายไม่ได้เลย ไม่มีออเดอร์เลย สุดท้ายเขาก็ต้องยอม

 

 

ภาพรวมธุรกิจของ Robinhood ปัจจุบันเป็นอย่างไร

เราเปิดตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 ยังไม่ครบ 1 ปี ปัจจุบันเรามีลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 1.2 ล้านราย มีร้านอาหารขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก อยู่ในระบบ 96,000 ร้านค้า มีคนขับรถส่งอาหารหรือไรเดอร์  15,000 ราย ในแต่ละวันมียอดสั่งอาหารประมาณ 20,000 รายการ ซึ่งเทียบกับเบอร์หนึ่ง หรือรายใหญ่จริง ๆ เรายังห่างไกลเยอะ แต่เราก็ไม่ได้รีบเติบโตเราอยากจะพยุงและรักษาสมดุลของ Eco System ในสัดส่วนประมาณนี้ไว้

 

ถ้ามีจำนวนไรเดอร์มา แต่ไม่มีออเดอร์ ไรเดอร์ก็จะไม่มีงานทำ ถ้ามีลูกค้าเยอะร้านค้าน้อยลูกค้าก็ไม่รู้จะสั่งอะไร แต่ถ้ามีร้านค้าเยอะคนสั่งน้อย ร้านค้าก็ไม่มีรายได้ สิ่งที่ Robinhood  ทำในวันนี้คือ การรักษาความสมดุลของ Eco System ถามว่าพอใจไหม ตอบว่าพอใจเพราะเสียงตอบรับตั้งแต่วันแรกที่เราให้บริการสะท้อนว่าเราได้ใจร้านอาหาร เพราะเราไม่เก็บ GP  ลูกค้าบอกว่าเสียเงินเท่า ๆ กับไปทานที่ร้านและได้ปริมาณอาหารเท่าเดิม ฉะนั้น ทุกฝ่ายค่อนข้างพึงพอใจกับบริการของเรา

 

จุดแข็งอันหนึ่งของเราคือ เราเป็นคนเทรนไรเดอร์แบบเห็นหน้าเห็นตา โดยเชิญมาเทรนที่หอประชุมมหิศร SCB Park โดยเราไม่ใช่แค่เทรนวิธีการใช้แอปพลิเคชัน แต่เราเทรนถึงจิตใจของการให้บริการ การสื่อความให้ลูกค้า  ถ้าเคยสั่ง Robinhood จะเห็นว่าไรเดอร์จะมีมารยาท กราบลามาไหว้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราอยากมอบให้กับทางลูกค้า

 

ดิจิทัลคือออนไลน์ แต่ฟู้ดเดลิเวอรีมีจุดที่สัมผัสกับลูกค้า นั่นคือ ไรเดอร์ ดังนั้น บริการของ Robinhood อาหารต้องสดใหม่อยู่ในสภาพที่ดี สะอาด และร้อนอยู่เสมอ จุดประทับใจอีกประการ คือ มารยาทในการส่งอาหารของไรเดอร์ การแต่งตัวต้องดูสะอาดเรียบร้อย อันนี้เป็นจุดขายที่ชัดเจนของเรา ที่ทำให้ได้รับเสียงตอบรับดีมาก

 

 

นอกจากปล่อยสินเชื่อ ทำไม SCB ถึงทำฟู้ดเดลิเวอรี 

ทุกธนาคารทำโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking)  รู้ไหมว่าลูกค้าที่ใช้งานโมบายแบงกิ้ง ส่วนใหญ่ใช้เพียงเดือนละครั้งในวันเงินเดือนออก เงินออกแล้วจ่ายค่าบัตรเครดิต ค่าบ้าน ค่ารถ โอนเงินกลับบ้านให้แม่ ทั้งหมดแล้วใช้เวลาประมาณ 10 นาที ลูกค้าสื่อสารกับธนาคารเพียง 10 นาทีต่อเดือน ทีนี้ ธนาคารอยากจะเข้ามามีส่วนเป็นไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกไมโครโมเมนต์ เราจึงหาแพลตฟอร์มที่เป็น Digital Engagement Platform ที่คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ทุก 4 ขั่วโมง เช่น หาอะไรทานเป็นมื้อเช้า กลางวัน เย็น และดึก ๆ อาจจะหิวอีกรอบ ฉะนั้น ธนาคารสามารถที่จะทำให้เกิดการโต้ตอบกับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มนี้อย่างต่ำ 5 ครั้งต่อวัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม SCB ถึงมาทำฟู้ดเดลิเวอรี

 

ช่วงที่ตัดสินใจทำฟู้ดเดลิเวอรี เราก็รู้ว่าธุรกิจนี้กรีดเลือดตัวเองอย่างเดียว เป็นเรดโอเชียน (Red Ocean) แต่ในมุมแรกเราให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนก่อน ที่ต้องแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่อันหนึ่ง ไม่อยู่ในกรอบของ SCB ทำให้มีความยืดหยุ่นในการคิดหรือประกอบธุรกิจ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ถือหุ้น 100% โดย SCB 10X ซึ่งก็ถือหุ้น 100% โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ดังนั้น เราเป็นหลานของ SCB เวลาจะทำอะไรใหม่ขึ้นมา จึงต้องแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

 มุมหนึ่งที่ผมประทับใจความเป็นพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นความร่วมมือร่วมใจเรื่องนี้เลย เราเอาคนสาขา 12,000 คนมาให้ความรู้เรื่องการถ่ายภาพออนไลน์ แล้วให้พนักงานสาขาทุกคนลงพื้นที่  เพราะพนักงานในแต่ละสาขาย่อมรู้ว่า ร้านเล็ก ๆ ของเขาที่กินประจำทุกวัน ร้านไหนอร่อย พนักงานก็จะเข้าไปคุย “อากง อากงขึ้นแพลตฟอร์มขายออนไลน์ไหม อางกงบอกไม่เป็น ไม่เป็นเหรอ เดี๋ยวผมถ่ายรูปให้ ขึ้นให้หมดเลย จากคน 50% ที่ไม่ใช้ดิจิทัล วันนี้เขาสามารถขายอาหารอยู่บนฟู้ดเดลิเวอรีของ Robinhood ได้

 

 

Data Behavior ของร้านค้าจะนำไปสู่บริการอะไร

สตาร์ตอัปทั่วไปจะให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี แล้วจึงมาให้บริการด้านการเงินและสินเชื่อ ให้สินเชื่อไรเดอร์ สินเชื่อแท็กซี่ สินเชื่อร้านอาหาร วันนี้ Robinhood เราทำสลับกัน เราเริ่มจากแพลตฟอร์มขึ้นมา โดยที่หลังบ้านจะเป็นการให้บริการธนาคาร เมื่อให้บริการไปสักระยะหนึ่ง เราจะมีข้อมูลการซื้อขายของร้านค้ามากเพียงพอที่จะเห็นพฤติกรรมการเงิน เพื่อประเมินสถานะการเงินของแต่ละร้านค้าได้  เพื่อที่ธนาคารจะนำเสนอบริการอื่นให้กับร้านค้าและไรเดอร์ต่อไป

 

วันนี้ 50-70% ของร้านค้าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่ถูกต้องได้เลย เพราะไม่มีสเตตเมนต์ แต่อนาคตข้างหน้ายอดการสั่งซื้อออนไลน์เดลิเวอรีจะถูกสร้างเป็น Behavior Scoring ให้กับร้านค้า ร้านค้าจะสามารถขอสินเชื่อในการขยายธุรกิจ ต่อยอดธุรกิจของเขาได้ วันนี้ที่เราช่วยร้านเล็ก ๆ ให้ลืมตาอ้าปากได้  เราก็คาดหวังเล็ก ๆ ว่า วันหนึ่งในอนาคตที่เขาต้องการสินเชื่อเขาจะเดินมาหาธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะวันนั้นเราอยู่กับเขาไม่ทอดทิ้งเขาในวันที่มีปัญหา และเรายังเดินร่วมกับเขาในวันที่เขาลืมตาอ้าปากได้ ในอนาคตเขาก็อาจจะช่วยเรากลับคืน

 

 

เรามีแผนสร้างธุรกิจใหม่ที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

วันนี้ฟู้ดเดลิเวอรีเดินหน้าแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งเรากำลังพัฒนาไรเดอร์แอปพลิเคชันขึ้นมา ไรเดอร์เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอาจจะตกงานหรือออกจากงาน วันนี้ถ้าตามข่าวจะทราบว่า ไรเดอร์แย่งงานกับบ้าง โดนลดค่าตัวบ้าง โดนลดค่าเบี้ยจ่าย อะไรต่าง ๆ นานา เราจึงคิดว่า เราควรจะพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือไรเดอร์มากขึ้น เราจึงทำ Express และ Mart ให้มีการส่งเอกสารและรับซื้อสินค้าช่วงกลางวัน ไรเดอร์ส่งอาหารเสร็จ อาจจะมีเวลาว่างอาจจะรับบริการในการส่งเอกสาร  หรือบริการช่วยซื้อสินค้า เช่น อยากได้น้ำปลา แชมพู นม กระดาษชำระ ก็จะเป็นอีกบริการหนึ่งที่ช่วยให้ไรเดอร์มีรายได้เพิ่มขึ้น

 

อีกด้านหนึ่ง เรากำลังศึกษาจะเข้าไปทำแอปพลิเคชัน Online Travel Agency (OTA) วันนี้ธุรกิจโรงแรมใช้บริการผ่าน OTA Platform ที่กว่า 90% เป็นของต่างประเทศ ซึ่งก็เหมือนกับธุรกิจร้านอาหาร ทุกรายถูกเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Commission 30% ซึ่งอย่างไรก็ไม่มีทางคุ้มค่าอยู่ดี อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่เรามองเห็นว่า คนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เราพยายามจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งธุรกิจนี้จะครอบคลุมทั้งกลุ่มโรงแรม กลุ่มทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน โดยเราจะเน้นคนไทยช่วยคนไทยกันเองก่อน  ขั้นต่อไปจึงค่อยขยายบริการเพิ่มขึ้น

 

มุมมองธุรกิจของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จะเป็นอะไรที่ยั่งยืน เศรษฐกิจจะยั่งยืนได้คนตัวเล็กต้องอยู่ได้ก่อน เซกเมนต์ของคนตัวเล็กแรก ๆ คือกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มต่อมาคือผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ต้องเข้าใจว่า 2 ธุรกิจนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย นักธุรกิจต่างประเทศอยากมาเที่ยวไทย เพราะเรื่องอาหารและการท่องเที่ยว ในอนาคตอาจจะมีบริการใหม่ ๆ ช่วยอีกเซกเตอร์ เซกเตอร์ต่อมาก็ได้

 

 

เป้าหมายในปีนี้ของ Robinhood

เป้าหมายของเราอันแรกคือ ความพึงพอใจของลูกค้า ร้านค้า ไรเดอร์ จะต้องได้ประโยชน์และเที่ยงธรรมที่สุด ส่วนที่สองเราตั้งว่า สิ้นปีนี้อยากได้ฐานลูกค้า 1.5 ล้านราย และมีร้านอาหารอยู่ในแพลตฟอร์มประมาณ 150,000 ร้าน ไรเดอร์เรามองประมาณ 20,000 ไรเดอร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราพยายามรักษาสมดุลของทั้งสามส่วนดังที่กล่าวไว้ในตอนแรก

 

อีกโครงการหนึ่งที่เราเปิดตัวไปเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ คือ โครงการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ต้นทุนของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าถูกกว่ามอเตอร์ไซค์ปกติประมาณ 10 เท่า เพราะไม่ต้องเติมน้ำมัน โครงการของเราเน้นเพื่อช่วยคนที่ประสบภาวะเศรษฐกิจ ออกจากงาน ไม่มีงานทำ ถ้าเขาเห็นว่าอาชีพไรเดอร์สามารถเลี้ยงเขาได้ เขาสามารถเข้ามาสมัครเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) กับ Robinhood ได้ โดยเราคิดค่าเช่าขับวันละ 120 บาท  โดย 120 บาทนี้เราจะรับผิดชอบเรื่องประกันภัย  การซ่อมบำรุง และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เรียกว่า Worry Free ไรเดอร์เดินมาตัวเปล่าได้เลย เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นสปริงบอร์ดที่ช่วยให้เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

 

คาดหวังว่าจะทำกำไรบ้างไหม

Robinhood เป็น CSR อย่างเดียว ผลตอบแทนเราไม่ได้วัดเป็นกำไร หรือทรัพย์สินแบบที่จับต้องได้ แต่วัดเป็นความพึงพอใจ เสียงตอบรับจากลูกค้า เสียงตอบรับจากคนส่วนรวมของสังคม เมื่อเราเข้ามาทำ GP 0% สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ภาครัฐก็เริ่มตื่นตัวพูดคุยเรื่องการกำหนดมาตรฐานของ GP ที่เหมาะสม สมาคมหลายสมาคม เช่น สมาคมร้านอาหารก็ลุกขึ้นพูดคุยว่าอยากจะหา GP ค่าหนึ่งที่เป็นธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่เก็บเลย เพราะคนที่ทำแพลตฟอร์มก็ต้องการกำไร แต่หาระดับ GP ที่เหมาะสมที่ร้านอาหารรับได้และแพลตฟอร์มรับได้

 

 

ก้าวมาถึงจุดนี้ คุณบิ๊กมีแรงบันดาลใจ วิธีคิด แง่คิดอย่างไร ถึงจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ที่คุณปู่คุณย่าสอนมาคือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แม้ไม่ใช่คำที่ฟังดูสวยหรู แต่คำนี้จะฟ้องและจารึกได้จากงานที่เราทำ  ข้อแรก อย่ายอมแพ้เร็ว มีความอดทน ในฐานะที่เราผ่านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ยุคอีเมลจนถึงสมาร์ตโฟน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ ทำให้เราอดทน ข้อสอง ต้องใฝ่รู้มาก ๆ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ โมเดลใหม่ จากการอ่านหรือฟังคนที่รู้เยอะกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า ข้อสาม จะทำอะไรต้องมี passion อย่างฟู้ดเดลิเวอรีหรือนวัตกรรมที่ทำ เกิดจากใจผมเป็นคนรักมือถือมา เราชอบมือถือมาก เราชอบเล่นเกม เรามี passion กับมันก่อน “รักในสิ่งที่ชอบ และทำในสิ่งที่เรารัก” ข้อสุดท้าย มีต้นแบบที่ดี ที่เราก้าวมาถึงวันนี้ได้เพราะเรามีต้นแบบที่ดี  พี่ ๆ  เพื่อน ๆ ทีมงานเรา ทุกคนมีความรับผิดชอบ ทุกคนผลักดันให้เรายืนได้ในปัจจุบัน

 

 

เด็กยุคใหม่ที่กำลังเผชิญโลกที่หมุนเร็วและท้าทาย เขาควรจะวางแนวทางชีวิตอย่างไร

อันดับแรก น้อง ๆ ที่จบมาใหม่ ต้องตั้งหลักก่อน น้องทุกคนที่จบ มี passion อยากจะทำหลายอย่าง อยากจะเป็นอะไรตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่วันนี้โลกเปลี่ยนเร็ว เราก็ไม่เคยคิดว่าอยู่ดี ๆ ธนาคารจะมาทำฟู้ดเดลิเวอรี นั่นคือ ธนาคารก็ทรานฟอร์ม 100% เหมือนกัน แต่ก่อนเราคุยกันว่าอีก 4-5 ปีถึงทรานฟอร์ม  แต่วันนี้สิ่งที่พูดนั้นคือทำเลยแล้วมันต่อยอดธุรกิจได้

 

ตั้งหลักให้ดี ตั้งสติ สิ่งที่เกิดขึ้น ดูว่า Pain Point หรือปัญหาของโลกปัจจุบันเขาต้องการหรืออยากได้อะไร แม้จะไม่ตรงตามสาขาที่เรียนมาแต่พยายามหาจุดนั้นให้เจอก่อน อย่างวันนี้คนถูกล็อกดาวน์ ไปไหนไม่ได้ กินข้าวไมได้ การขนส่งถึงบ้านได้ ส่งอาหาร ส่งสินค้า ส่งบริการ เวิร์กทั้งหมด ดังนั้น หา Pain Point ให้เจอ แล้วเมื่อคิดได้ว่าจะทำอะไร ต้องได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคน สนับสนุนให้ลองไปทำก่อนไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่ทำมันจะใช่ ไม่ใช่ ทำไป

 

Robinhood ทำครั้งแรก ทดสอบวันแรก ไม่มีไรเดอร์มารับอาหารเลย นั่นคือความผิดพลาด เราต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำก่อนและเรียนรู้ระหว่างทางไปเรื่อย ๆ และแก้ไขไปเรื่อย ๆ แต่ที่สำคัญที่สุด อย่าละ ล้ม เลิก ง่าย  ถ้าไม่ใช่อันนี้รีบไปทำอันใหม่ ถ้าไม่ใช่อันใหม่ รีบไปทำอันโน้นต่อ

 

ท้ายที่สุดเราอยากให้ประเทศไทยอย่างน้อยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นของไทย อยู่ในประเทศไทยสัก 1 หรือ 2 แอป ที่เราสามารถช่วยเหลือกันได้ วันที่เรามีปัญหา Robinhood ก็มาช่วยเหลือ วันที่ Robinhood  มีปัญหาร้านค้าก็เดินเข้ามาช่วยเรา ฉะนั้น เราเป็นเหมือนสะพานเชื่อม เชื่อมความสุขให้ลูกค้า ร้านค้า ไรเดอร์ เรามอง Robinhood เหมือนตู้กับข้าวปันสุข คือถ้าพี่มีก็เอาอาหารไปวางไว้ คนที่ไม่มีก็ไปรับมา วันหน้าเขาฟื้นตัวได้ก็เอากับข้าวไปไว้ที่ตู้ปันสุข ฉะนั้น เรามองแพลตฟอร์มเราทั้ง Give และ Take แพลตฟอร์ม

 

 

เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของยุคดิจิทัลทรานฟอเมชันที่น่าสนใจ วันนี้คำว่า “ธุรกิจหลัก” กลายเป็นมุมมองของธุรกิจเก่า ขณะที่ธุรกิจใหม่ไม่ยึดสินค้าเป็นศูนย์กลาง แต่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เมื่อเราเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภค สินค้าและบริการต่าง ๆ ก็ขายได้ และทุกอย่างเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงเป็นสายโซ่เดียวกัน เมื่อฟู้ดเดลิเวอรียังปล่อยเงินกู้ได้ ทำไมเจ้าของผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น SCB จะข้ามไปทำฟู้ดเดลิเวอรีไม่ได้ เห็นไหมครับว่าเส้นแบ่งของธุรกิจเลือนรางลงทุกที และโอกาสกลายเป็นสิ่งที่อยู่ทุกที่ ถ้ามีความรู้ มีความพร้อมที่จะไขว่คว้าโอกาสนั้น

Category:

Passion in this story