กลายเป็นกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ถึงกรณีการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า และการนำข้อมูลลูกค้าไปใช้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ประการใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่… จะไม่ให้ข้อมูลได้หรือไม่ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด หากแต่มีการพูดถึงกันมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว  passion gen จะเล่าให้ฟัง

 

 

อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 34 ปีที่แล้ว จากการเริ่มต้นรับส่งอีเมล์ จนปัจจุบันคนไทยแทบทุกคนมีอินเทอร์เน็ตใช้ ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.18 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 46.3 ล้านคนหรือ 70% ของประชากร ในจำนวนนี้เกือบทุกคนใช้งาน Google มีผู้ใช้งาน Facebook ประมาณ 50 ล้าน User Lin 40 ล้าน User นั่นคือประเทศไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลมาได้พักใหญ่แล้ว ในโลกของดิจิทัลนั้นสิ่งที่มีค่ามีราคาที่สุดคือ “ข้อมูล” ดังที่ Charles Herisson ซีอีโอของ Betadvisor กล่าวไว้ว่า Data is King

 

ปัจจุบันแทบทุกแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ต่างต้องการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลที่มีค่าเช่น พฤติกรรม ความชอบ การบริโภค การเดินทาง และการจับจ่ายใช้สอย เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต้องการ และมักจะยื่นเงื่อนไขมาแลกเปลี่ยนเสมอ ยกตัวอย่าง ผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่น Facebook และ Google ที่จะขออนุญาตการเข้าถึงข้อมูลก่อนให้เราใช้บริการ นั่นคือ เราทุกคนกำลังถูกล้วงความลับ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

 

การเข้าถึงข้อมูลของเรา อาจจะมองในแง่ร้ายว่า เราได้สูญเสียอธิปไตยบนโลกไซเบอร์ เพราะทุกสิ่งที่คุณทำบนออนไลน์ไม่มีความลับเสียแล้ว… แต่กลับกันด้วยข้อมูลเหล่านั้นทำให้ผู้ให้บริการหลายรายเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงและหยิบยื่นสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ มาให้ได้ เพียงคุณพิมพ์คำว่า “รถยนต์” จะมีรถหลากหลายยี่ห้อ หลายรุ่น หลายแบบ หลายสี ทั้งมือหนึ่งและมือสอง รวมไปถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟแนนซ์ ประกัน บริการเรียกรถ ซ่อมรถ ฯลฯ เรียกว่าเสียไปอย่างแต่ได้มาอีกสิบอย่าง 

 

อย่างไรก็ตาม การจะอนุญาตให้ข้อมูลกับใครนั้นเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีๆ หากเป็นหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงเชื่อถือได้ ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า ข้อมูลของเราจะถูกใช้ไปในทางที่ถูกที่ควร…แต่หากเป็นเว็บไซต์หรือแอปที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนจะให้ข้อมูลอันมีค่านั้นไป ซึ่งปัจจุบันมีแอปและเว็บไซต์จำนวนมากที่ออกแบบมาเพื่อล้วงข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะไม่บอกตรงๆ หรือถามหาการอนุมัติแต่อย่างใด

 

 

ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่มีค่า และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย องค์กรที่เอาไปใช้จำเป็นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนเสมอ  และถึงแม้จะได้รับการอนุญาตแล้ว แต่หากนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือนำไปขายต่อ ผู้บริโภคก็มีสิทธิในการร้องเรียนเรียกค่าเสียหายได้ครับ 

 

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลของทุกคนเป็นสิ่งมีค่าที่ควรหวงแหนไว้ และควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนจะอนุมัติให้ใครนำไปใช้ได้ หลักการพิจารณาก็เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์และแอปฯ นั้นๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และถึงที่สุดแล้ว ถ้ามีธุรกิจที่นำข้อมูลเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไปใช้ผิดๆ ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

 

Category:

Passion in this story