PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.29 | ส่องออฟฟิศ “Great Wall Motor” ไปกับ “ตี๋-ศุภชัย จางลิขิตกุล” หลายคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำงานก็อาจจะสงสัยอยู่นะครับว่า เราทำงานกับบริษัทไทยหรือบริษัทต่างประเทศดี หรือหลายคนที่กำลังทำงานอยู่ในบริษัทไทยก็อาจจะมีคำถามว่า บริษัทต่างประเทศนั้นมีวิธีการทำงานและวัฒนธรรมในการทำงานเป็นอย่างไร และถ้าพูดถึงบริษัทต่างประเทศที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้าง คงหนีไม่พ้นบริษัท Great Wall Motor บริษัทค่ายรถยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ที่กำลังบุกตลาดรถไทยด้วยรถยนต์ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น Ora หรือ Haval H6
คลาสในวันนี้เราจะไปพูดคุยกับ “ตี๋ ศุภชัย จางลิขิตกุล” ผู้ที่เคยทำงานมาทั้งในบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศน้องใหม่ไฟแรงอย่าง Great Wall Motor ว่าทั้ง 2 บริษัท มีรูปแบบ วิธีการทำงาน หรือวัฒนธรรมในการทำงาน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้ว Great Wall Motor มีวิธีการทำงานอย่างไร น่าสนใจที่จะร่วมงานแค่ไหน ถ้าอยากทำงานที่นี่ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ถ้าพร้อมแล้ว ไปฟังกันเลยครับ
“สวัสดีครับ ชื่อตี๋นะครับ ศุภชัย จางลิขิตกุล จบจากคณะ SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ แล้วก็จบปริญญาโท สาขาบริหารการเงินและการลงทุนจาก University of Exeter ตอนนี้ทำงานเป็น Product Operation Specialist ที่บริษัท Great Wall Motor (GWM) ครับ”
เคยทำอะไรมาก่อน ? “ก่อนหน้านี้เคยเป็น Management trainee ที่ Shopee หรือว่า Garena Thailand ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับ Data Analyst ดูข้อมูลว่าเราควรจะจัดการกับข้อมูลเหล่านั้นยังไง แล้วก็ไปแก้ไขกับการทำงานของแอปพลิเคชันยังไงบ้าง หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อแล้วกลับมาทำงานที่ SCB ตอนนั้นทำในตำแหน่ง Product owner จะคอยดูแลระบบหลังบ้านว่า ระบบควรจะทำงานยังไง เวลาที่ลูกค้าเข้ามาในระบบ กดปุ่มนี้ควรจะขึ้นยังไง ดูแลหน้าเพจต่าง ๆ ควรจะดำเนินไปยังไง คล้าย ๆ กับ UX/UI ก็จะเป็นการดูแลระบบการทำงานของระบบมากกว่า
จะสังเกตว่าทำพวกระบบและแอปพลิเคชันมาตลอด และที่ตอนนี้ทำอยู่คือ Product Operation Specialist ที่ GWM ซึ่งโปรดักต์ที่พูดถึงคือตัวแอปพลิเคชันของบริษัท ก็ดูแลการทำงานต่าง ๆ ของแอปพลิเคชัน ดูการดำเนินการของแอปพลิเคชันว่าเราควรทำยังไง ทำให้คนที่มาใช้แอปพลิเคชันมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
Great Wall Motor ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร “GWM เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ติด 1 ใน 3 ของจีน ซึ่งก็เป็นบริษัทใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ตัวบริษัทเองถึงแม้จะชื่อ Great Wall Motor แต่จริง ๆ มีแบรนด์รถยนต์ทั้งหมด 4 แบรนด์ด้วยกัน ซึ่งในปีนี้เรานำรถเข้ามา 2 แบรนด์ คือ Haval กับ Ora ที่เพิ่งเปิดตัวไป เป็นรถยนต์แมวเหมียวที่กำลังฮิต ๆ กันช่วงนี้
สำหรับ Position ของบริษัท จะเป็นบริษัทที่นำเข้ารถยนต์ที่เน้นเทคโนโลยี อยากให้รถยนต์มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับเทคโนโลยีจากรถยนต์ค่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะฝั่งญี่ปุ่นหรือฝั่งยุโรป ด้วยราคาขนาดนี้ถือว่าเทคโนโลยีจัดเต็มมาก”
ตำแหน่ง Product Operation Specialist ทำอะไรบ้าง “คือโปรดักต์ของเราจำแนกออกเป็นได้หลายแบบ โปรดักต์ที่ผมดูแลจะเป็นตัวแอปพลิเคชันของ GWM เพราะฉะนั้นตามชื่อเลยก็จะคล้าย ๆ กับ Application Operation Specialist ก็คือคนดูแลกระบวนการการทำงานของแอปพลิเคชันของ GWM ว่าทำงานปกติไหม ฟังก์ชันต่าง ๆ จะพัฒนาทางด้านไหนเพื่อตอบโจทย์กับแบรนดิงของ GWM ที่บอกว่า เราจะนำพาเทคโนโลยีในรถยนต์มาให้คนไทยได้รู้จักกันมากขึ้น
เพราะฉะนั้นแอปพลิเคชันก็เป็นอีกจุดนึงที่เราอยากให้เป็นแอปที่มีเทคโนโลยีหรือฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่ดีกว่าของแบรนด์อื่น ๆ โดยแอปพลิเคชันของเรา ฟังก์ชันแรกที่ควรจะมีก็คือกุญแจรถในการควบคุมตัวรถว่า เราอยากจะปิด-เปิดแอร์ จะปลอดล็อก หรือแม้กระทั่งสตาร์ตเครื่อง
แต่นอกเหนือจากนี้ที่พิเศษกว่าแบรนด์อื่น ๆ ก็คือในแอปพลิเคชันเราจะมีคอมมูนิตี้คล้าย ๆ กับเฟซบุ๊ก ที่ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถ GWM หรือคนที่สนใจรถของเรา สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้ ในชุมชนของเราได้ เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น ไปทดลองขับรถของ GWM มาแล้วนะ ประสบการณ์เป็นยังไงบ้าง หรือกระทั่งซื้อแล้วมีบริการหลังการขายยังไง มีข้อติชมยังไง มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในคอมมูนิตี้ของเรา
อีกอย่างนึงในแอปฯ ของเราจะมีบทความอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับ GWM ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้า ข้อมูลสินค้า รวมไปถึงมีกิจกรรมอะไรบ้าง กิจกรรมก็จะมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์ก็จะจัดในแอปเลย เช่น มีการแจกของรางวัลสำหรับคนเข้าร่วมกิจกรรม ตอนเราเปิดตัวรถ Ora ก็มีกิจกรรมให้คนมาร่วมทายสีรถว่ามีสีอะไรบ้าง ใครที่เดาถูกก็รับ AirPods ไป ส่วนกิจกรรมออฟไลน์ก็จะคล้าย ๆ กับ Car Club คนที่ซื้อรถของ GWM ไปแล้ว ในอนาคตจะมีจัดทริปไปเที่ยวกัน ไปหัวหิน ไปเขาใหญ่ หรือแม้กระทั่งมาสัมมนากันที่ Experience Center ที่ Icon Siam เป็นบูทใหญ่ของเราที่ทุกคนจะมาแชร์ประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแบรนด์ GWM กัน
ทั้งหมดที่พูดถึงมาเป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชันที่ผมดูแลอยู่ ในภาพรวมก็คือดูทุกฟังก์ชันเลย รวมกระทั่งการไปคุยกับนักพัฒนาที่จีนว่า เราอยากให้แอปเรามีฟังก์ชันหรือฟีเจอร์ไหนเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อที่จะอัปเดตในทุก ๆ เวอร์ชันที่เราวางแผนในทุก ๆ เดือน สุดท้ายเราต้องประเมินภาพรวมทั้งหมด ทุก ๆ ฟังก์ชันว่ามีคนใช้พอใจมากน้อยแค่ไหน จำนวนคนใช้เยอะพอตามเป้าหมายของเรารึเปล่า เพื่อที่จะเอาไปเป็น Weekly report, Monthly report ให้กับผู้บริหารฟังว่าเป็นยังไงบ้าง”
การทำงานใน GWM เป็นยังไงบ้าง “เท่าที่ทราบมา บริษัทจีนส่วนใหญ่จะจ่ายหนักกระเป๋าหนักประมาณนึง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโบนัสหรือเงินเดือนจะให้ค่อนข้างสูง ไม่ค่อยกดเท่าบริษัทไทยเท่าไหร่ นอกจากเรื่องตัวเงินแล้วอย่างที่บอกว่า GWM เพิ่งจะเข้ามาเปิดตัวที่เมืองไทย ฉะนั้นด้วยความที่เป็นสตาร์ทอัพใหม่ ๆ กระบวนการทำงานต่าง ๆ ของเขายังค่อนข้างจะไม่นิ่งมากนัก และเขาเองยังขาดคนอีกหลาย ๆ คนที่จะมาช่วยพัฒนาต่อไป
ตรงนี้ผมเลยมองว่า เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ และไม่ได้หากันง่าย ๆ ในบริษัททั่วไปที่เขานิ่งแล้วเขาเติบโตเต็มที่แล้ว พอเป็นบริษัทใหม่คนที่เข้ามาจะได้ช่วยงาน จะได้ทำงานหลาย ๆ อย่างที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะทำ ฉะนั้นมันจะเป็นการเรียนรู้ เราจะได้ประสบการณ์ที่หาที่อื่นไม่ได้ง่าย ๆ
สำหรับเงินเดือน ผมไม่แน่ใจว่าค่าตอบแทนของเด็กจบใหม่เท่าไหร่ เพราะผมไม่ได้เริ่มทำงานที่บริษัทนี้เป็นที่แรก แต่คิดว่าน่าจะให้สูงกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นบริษัทไทยทั่วไประดับนึงเลย ส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำไม่ว่าจะจบจากภาคปกติหรือภาคอินเตอร์คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 บาทแน่ ๆ อันนี้เป็นแค่เงินเดือนพื้นฐาน ยังไม่รวมกับโบนัสประจำปีหรือโบนัสอื่น ๆ ที่น่าจะได้มาอีก”
จากที่เคยทำทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศมา มีข้อแตกต่างกันอย่างไร “ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมจีนไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น เพียงแค่ว่าวัฒนธรรมจีนอาจจะทำงานหนักกว่านิดหน่อย เท่าที่เจอมาเขาไม่ค่อยมีสิ่งที่เรียกว่าวันเสาร์-อาทิตย์กัน วันเสาร์หัวหน้าหรือว่าคนจีนก็จะติดต่องานเข้ามาหรือว่าทวงงาน โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกผิดเลย (หัวเราะ) ซึ่งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เราเดากันได้อยู่แล้ว ว่าคนจีนก็คงทำงานหนักประมาณนี้
แต่ในมุมอื่น ๆ ผมว่าก็ค่อนข้างคล้ายกัน วัฒนธรรมองค์กรเองอาจจะมีลำดับขั้นบ้างประมาณนึง แต่ด้วยความที่ GWM ถือว่าเป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่มาเปิดตัวในประเทศไทย ฉะนั้นองค์กรจะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างเป็นแนวราบ แปลว่าหัวหน้าหรือตัวเราเองไม่ได้รู้สึกว่ามีชนชั้นมากขนาดนั้น ขณะที่ SCB ที่เป็นธนาคารแห่งแรกของไทย ค่อนข้างจะมีลำดับขั้นที่สูงระดับนึง จะมีระดับชนชั้นของตำแหน่งที่ค่อนข้างจะเยอะกว่า เวลาที่เราคุยกับเขาก็อาจจะรู้สึกเกร็ง ๆ นิดหน่อย หรือแม้กระทั่งการที่จะผ่านกระบวนการในการอนุมัติอาจจะต้องใช้เวลานานกว่า”
ถ้าทำงานที่นี่ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ที่ GWM มองหาคนแบบไหน “ถึงแม้จะบอกว่า GWM เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ แต่ว่าในบริษัทมีหลายฝ่ายมาก ๆ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการตลาด ฝ่ายวิศวะ ฝ่ายไอที มันค่อนข้างจะกว้างมาก เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะเข้ามาทำงานใน GWM รู้สึกว่ามันไม่ได้เจาะจงหรอกว่าคุณต้องจบคณะนี้เท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่จบมาก็ไม่ได้ทำงานตรงสายสักเท่าไหร่ ฉะนั้นไม่ได้มีเงื่อนไขที่จะบอกว่าคุณต้องจบคณะนี้เท่านั้น ต้องจบคณะอินเตอร์เท่านั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทจีน แต่คุณไม่จำเป็นต้องพูดภาษาจีนก็ได้ ขอแค่สื่อสารภาษาอังกฤษพอได้บ้าง เพื่อที่จะติดต่อสื่อสารกับคนจีนในบริษัทได้ เพราะโดยอัตราส่วนคร่าว ๆ แล้วคนจีนมีประมาณเกือบ 50% เลย ในการประชุมทุก ๆ ครั้งต้องมีคนจีนมาเกี่ยวข้องแน่นอน ดังนั้น การที่คุณได้ภาษาอังกฤษบ้างในระดับที่สามารถพูดคุยในชีวิตประจำวัน หรือถ้าได้ในระดับที่สามารถทำงานได้ก็จะยิ่งดี
GWM เป็นบริษัทที่เร็วในระดับนึง แต่ก็มีแบบแผน ถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างสตาร์ตอัปกับบริษัทที่มีลำดับขั้นมีกระบวนการเยอะ ๆ เมื่ออยู่ตรงกลางคนที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องไปด้านใดด้านหนึ่งเลย คือรู้สึกว่า GWM ค่อนข้างจะเปิดกว้างให้กับคนทุกประเภท ขอแค่ตั้งใจทำงาน ขยันทำงาน มีทัศนคติที่ดีกับคนจีน เพราะที่นี่ต้องการคนที่เข้ากับคนจีนได้ประมาณนึง GWM เป็นบริษัทนึงที่ทุกคนน่ารักใส่กัน คนจีนค่อนข้างจะชอบคนไทยมาก ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะได้การต้อนรับที่ค่อนข้างดีจากคนจีนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน และคนไทยทุกคนเองก็น่ารักมากด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่ทำงานมา ที่นี่แทบจะไม่มีปัญหาเรื่องเพื่อนร่วมงานหรือสังคมภายในองค์กร ทุกคนน่ารักมากครับ
ถ้าสนใจอยากจะทำงานกับ GWM ก็สามารถสมัครได้ทุกช่องทางเลย จะทางเว็บไซต์ทางการของ GWM หรือเว็บไซต์หางานต่าง ๆ ทุกที่ แม้กระทั่งส่วนตัวผมเอง ตอนแรกไม่ได้สมัครเข้าบริษัทนี้แต่ HR เขาติดต่อมา เชื่อว่าถ้าเกิดคุณมีโปรไฟล์ที่เขาสนใจก็คงติดต่อมาเอง หรือถ้าเกิดไม่อยากจะรอให้เขาติดต่อ อยากจะสร้างโอกาสให้ตัวเองก็สามารถสมัครได้ทุกช่องทางเลย”
อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber “รู้สึกเป็นห่วง 1st Jobber นิดหน่อย เพราะเขาต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 แต่จะบอกว่าตอนที่เราเพิ่งจบมาใหม่ ๆ กำลังจะหางานแรกเนี่ย มันเป็นช่วงที่เรายังไม่มีอะไรจะเสีย อยากให้ลองเยอะ ๆ ลองผิดลองถูก สมัครงานไปเรื่อย ๆ อย่างผมเองก่อนที่จะได้งานนี้ ผมก็สมัครไปเยอะ เรียกได้ว่าเป็นร้อยที่เลย สัมภาษณ์เกือบสิบกว่าที่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง เสียใจบ้าง เราปฏิเสธเขาบ้าง เขาปฏิเสธเราบ้าง ซึ่งทุก ๆ การสัมภาษณ์ในทุก ๆ การสมัคร เราจะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ทุกครั้ง
โดยเฉพาะการสัมภาษณ์เราจะรู้ว่าแต่ละองค์กรอยากได้คนประมาณไหน เราควรจะพัฒนาการตอบคำถามของเราไปในทางไหน เพราะฉะนั้นทุก ๆ ครั้งที่เราลองสมัครงาน ถึงแม้เราอาจจะเสียใจที่ไม่ได้งาน แต่สุดท้ายมันจะกลายเป็นบทเรียนให้เราพัฒนาตัวเองขึ้น อยากให้ทุกคนลองตอนที่เรายังไม่มีอะไรจะเสีย ดีกว่าตอนที่โตแล้ว แล้วเพิ่งจะมาลองผิดลองถูก ตอนนั้นการผิดพลาดครั้งนึงมันคงจะเจ็บหนักกว่าตอนที่เราเพิ่งจะเริ่มต้น ” อภินัทธ์ เชงสันติสุข เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่
Recent Posts สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…
บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…
อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…
ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…
ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…
This website uses cookies.
Accept