เด็กจบใหม่หลายคนที่ไฟในการทำงานกำลังแรง หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานมาหลายปีเอง อาจจะเคยเจอปัญหาคล้าย ๆ กันคือ ชีวิตไม่มี Work-life Balance กันสักเท่าไหร่ เวลาทำงานก็ทำกันหามรุ่งหามค่ำ กว่าจะเลิกงานก็ 3-4 ทุ่ม ทำจนปวดหลังกันไปหมด โดยในยุคนี้ที่ต้อง WFH กัน ซึ่งทำให้เวลางานกับเวลาส่วนตัวมันไม่ชัดเจน เพื่อนผมบางคนตีหนึ่งตีสองแล้วยังโดนตามงานอยู่เลยก็มี

คลาสในวันนี้เราเลยจะมาพูดถึงการสร้าง Work-life Balance ด้วยการกำหนดขอบเขตในการทำงานให้ชัดเจน

ผมไปเจอบทความหนึ่งในเว็บ ted.com ของคุณ Jayne Hardy ซึ่งได้มาพอเล่าถึงวิธีลากเส้นแบ่งขอบเขตในการทำงานให้ชัดเจน และผมจะนำมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังกัน

เธอบอกว่าอย่างงี้ครับว่า งานเนี่ยไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรานะครับ แม้ว่าคุณอาจจะเป็นคนที่รักงาน บ้างานแค่ไหนก็ตาม ชีวิตเรายังมีครอบครัว มีเพื่อนฝูง มีหนัง มีซีรีส์ มีอาหารอร่อย ๆ รอเราอยู่ ซึ่งการกำหนดขอบเขตในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อแบ่งเวลางานออกจากชีวิตของเราเนี่ย จะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ไปทำตามเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตและเติมความต้องการด้านอื่น ๆ ของเราได้อีก เช่น ถ้าตอนนี้เราง่วงมาก ๆ ขอบเขตที่ชัดเจนเนี่ยแหละ จะช่วยให้เรานอนหลับสบายโดยไม่ต้องกังวลเรื่องงาน เพราะเรากำหนดขอบเขตไว้และงานมันจบไปแล้ว และถ้างานยังไม่เสร็จ นั่นก็อยู่ขอบเขตงานในอนาคตที่เราจะทำวันพรุ่งนี้

และต่อไปนี้คือ 6 วิธีที่เราจะเริ่มสร้างขอบเขตในการทำงาน

1. เข้าใจคุณค่าของตัวเอง

การทำความเข้าใจคุณค่าของตัวเราเองหมายความว่า เรารู้และพอใจในความสำเร็จของเราและรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะให้คนอื่นได้ รวมไปถึงรู้ว่าเราต้องการอะไร รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะพูดเมื่อมีคนล้ำเส้น

เมื่อเรา value ตัวเอง เรา value เวลาของเรา ความสามารถของเรา รู้ว่าเรามีคุณค่าขนาดไหน อะไรทำให้เรามีความสุข เราให้คนอื่นได้แค่ไหน เราก็ไม่ยอมให้อื่นมากดเราง่าย ๆ มาพรากเวลาอันมีค่าของเราไป นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นจุดแรกที่เราจะลากเส้นขอบเขตระหว่างงานและชีวิตออกจากกันได้

2. พูดคุยให้ชัดเจนและรัดกุม

ในการสื่อสารเนี่ย ถ้าเราสื่อสารอย่างจริงใจ จริงจัง และชัดเจน เพื่อไม่ให้มีอะไรคลุมเครือและเกิดความเข้าใจผิดกันได้ ส่วนหนึ่งจะทำให้คนอื่นได้รู้ด้วยว่าควรจะพูดตรง ๆ ให้เคลียร์ไปเลยเหมือนกัน

บอกไปเลยว่าเราต้องการอะไร มันไม่ใช่เรื่องผิด หากเราต้องการจะยืนยันว่า เห้ย ขอบเขตของเราอยู่ตรงนี้นะ หลังเวลางานเราจะไม่ทำงานนะ อย่ามาตามงานหลัง 6 โมงเย็น หรือกระทั่งการทวงงานจากคนอื่นในเวลางาน เพื่อให้เสร็จตามแผนจะได้ไม่กระทบกับตารางงานอื่นของเรา

3. จัดการกับความคาดหวัง

ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วนะครับ เมื่อความคาดหวังไม่ได้กําหนดไว้อย่างชัดเจนให้เข้าใจตรงกัน มันทําให้เกิดความเครียดมากมายสําหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง มันเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งที่ความคาดหวังควรได้รับการจัดการ เพราะมักจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อความคาดหวังไม่ตรงตามที่คุยกันไว้ตั้งแต่ต้น

เช่น คุย JD ไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายว่าเรามาทำหน้าที่อะไร ถ้าเกิดถูกขอร้องให้ทำงานนอกเหนือจากที่ตกลง เราจะได้ปฏิเสธได้ว่าเราไม่ได้มาทำหน้าที่นั้น หรือถ้าเราสะดวกใจจะทำให้ ก็พูดคุยกันให้เคลียร์ เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงานซะใหม่

4. หัดปฏิเสธซะบ้าง

จะช่วยสร้าง Work-Life Balance ได้มากเลยนะ ถ้าเรามีลิสต์รายการที่จะไม่ยอมให้ใครมาต่อรองหรือล้ำเส้นได้ พูดง่าย ๆ ว่ารู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรจะปฏิเสธภาระงานที่จะทำให้ Work-Life Balance เราต้องเสียไป เช่น จะตอบข้อความของเพื่อนร่วมที่ทักมาคุยเรื่องงาน หรือจะเลิกงานให้ตรงเวลา เพราะต้องไปกินข้าวกับครอบครัว การปฏิเสธคนบ้างเนี่ย จะช่วยให้คนอื่นรู้ด้วยนะครับ ไม่ควรจะมาเอาเปรียบเราในเรื่องที่ไม่สมควร

5. ทำงานออนไลน์ก็ต้องมีขอบเขต

หลายคนอาจจะรู้นะครับว่าการ WFH มันคือหายนะของ Work-Life Balance ดี ๆ นี่เอง หลายบริษัทคงนึกว่า WFH = ทำงานได้ทั้งวี่ทั้งวัน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่

การ WFH ก็ต้องมีขอบเขตเหมือนกันนะครับ สำหรับใครที่บ้างาน ยิ่งต้องระวังเลย เพราะการ WFH มันทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับชีวิตส่วนตัวมันพร่าเลือนไปหมด สิ่งที่ควรทำและจำเป็นต้องทำ คือ แบ่งเวลาและกำหนดขอบเขตในการทำงานไปเลยว่า เราจะทำงานเวลานี้ถึงเวลาเท่านั้น หลังจากนี้ฉันจะพักผ่อน เพื่อรักษา Work-Life Balance ไม่ให้เราเครียดกับงานจนเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต

6. ระวังความเหนื่อยหน่าย

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำจำกัดความของความเหนื่อยหน่าย หรือที่เราเรียกกันว่าอาการ Burnout ว่าอาการที่เป็นผลมาจากความเครียดจากการทำงานเรื้อรังที่ไม่สามารถจะจัดการให้สำเร็จได้ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นภาระที่เยอะเกินไปหรือต้องแก้แล้วแก้อีกไม่จบไม่สิ้นสักที ซึ่งอาการนี้จะทำให้เรารู้สึกหมดแรง อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานเพราะรู้สึกล้า ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะกลายเป็นความรู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่มีความสุข และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตลดลงได้

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะสำหรับบางคนที่รักการทำงาน รู้สึกว่าการทำงานคือความสุข Work-Life Balance ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน ลองพักจิบกาแฟบ้าง ไปกินของอร่อย ๆ สักหน่อย หาเวลาให้ร่างกายและสมองได้พัก เพราะถึงแม้ว่าคุณจะมีความสุขกับการทำงานขนาดไหน หรือคิดว่าการพักผ่อนมันไม่ productive เลย แต่การทำงานนาน ๆ เนี่ยก็ทำให้ประสิทธิภาพทำงานลดลงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำงานให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องหาเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างนะครับ

การมีขอบเขตงานที่ชัดเจนเนี่ย ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่คิดถึงเรื่องงานนอกเวลางาน หรือจะไม่คิดถึงเรื่องส่วนตัวในเวลาทำงานนะฮะ เราไปห้ามตัวเองแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะไม่ได้มีสวิตช์เปิด-ปิดในหัวที่จะห้ามไม่ให้เราคิดถึงเรื่องต่าง ๆ

แต่ขอบเขตงานที่ชัดเจน จะช่วยทำให้เรารู้ว่าเราจะทุ่มเทเวลานี้เพื่องานนะ และรู้ว่านอกเหนือเวลางานเราจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อรีชาร์จพลัง เพื่อจะเอ็นจอยกับการใช้ชีวิต เพื่อหาความสุขให้ตัวเองบ้าง

คือเราควรที่จะมี Work-life balance จัดสรรระหว่างความรู้สึกอันหนักอึ้งที่มีอะไรก็ไม่รู้วุ่นวายไปหมดในหัวเพราะเรื่องงาน แล้วพอพ้นเวลางานก็ต้องสามารถยกไอ้ก้อนหนัก ๆ นี้ออกจากหัวได้ และขอบเขตงานที่ชัดเจนจะสามารถแบ่งระหว่างงานกับชีวิตให้แยกออกจากกันอย่างชัดเจนได้


Category:

Passion in this story