PODCAST PHOTO (THE) SERIES EP.20 | มารู้จักโครงการ “Erasmus+” กับ ตูน-ชวัลวิทย์ แป้นประเสริฐ หลายคนอาจจะกำลังมองหาทุนการศึกษาดีๆ เพื่อที่จะเรียนต่อในต่างประเทศกันอยู่นะครับ หรือบางคนอาจจะกำลังคิดไม่ตกว่า เรียนจบมาแล้วควรหางานทำก่อนหรือไปเรียนต่อเลยดี แล้วในช่วงโควิดแบบนี้เราจะไปเรียนในต่างประเทศกันได้รึเปล่า
คลาสในวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับโครงการ “Erasmus+” โครงการสนับสนุนด้านการศึกษาของสหภาพยุโรปที่จะให้ทุนไปเรียนที่ยุโรปกันแบบฟรีๆ แถมยังได้ไปเรียนมากกว่า 2 มหาวิทยาลัยใน 2 ประเทศอีก วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ ตูน-ชวัลวิทย์ แป้นประเสริฐ หนี่งในผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการ Erasmus+ ในปีนี้ ทุนนี้ครอบคลุมอะไรบ้าง มีหลักเกณฑ์ในการสมัครอย่างไร ช่วงโควิดแบบนี้ยังบินไปเรียนได้อยู่หรือไม่ และตอบคำถามสำคัญว่า “เรียนจบแล้วควรทำงานก่อนหรือไปเรียนต่อเลย” แบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าพร้อมจะทำความรู้จักกับ Erasmus+ แล้ว ไปดูกันเลย
แนะนำตัวหน่อยครับ “สวัสดีครับ ชื่อชวัลวิทย์ แป้นประเสริฐ ชื่อเล่นชื่อตูน ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ ASEAN University Network Secretariat เป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใต้ ASEAN Secretariat องค์กรหนึ่ง ตั้งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เดี๋ยวปลายปีนี้จะไปเรียนต่อในโครงการ Erasmus+ โครงการ GLOBED (The Master in Education Policies for Global Development) ครับผม”
อะไรคือ Erasmus+ “Erasmus+ เป็นทุนให้เปล่าจากสหภาพยุโรป ลักษณะสำคัญของโครงการ คือ โครงการนี้จะเป็นทุนการศึกษาที่จะให้เราไปเรียน Joint Degree ในสหภาพยุโรป คำว่า Joint Degree ก็คือเป็นดีกรีที่ร่วมกันสร้างระหว่างสองมหาวิทยาลัยขึ้นไปในยุโรป แปลว่าถ้าเราได้ทุนนี้ ในโครงการนี้ เราก็จะได้ไปเรียนอย่างต่ำ 2 มหาวิทยาลัยในทวีปยุโรป จะเป็นประเทศเดียวกันหรือสองประเทศก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ”
ตูนเลือกเรียนอะไร “โครงการนี้ที่ตูนสมัครไปเรียนชื่อโครงการว่า โครงการ Erasmus in Master in Education Policies for Global Development หรือ GLOBED คร่าว ๆ ก็จะเรียนเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษา การพัฒนาในระดับโลก โลกาภิวัตน์ อันนี้คือจุดเน้น 3 จุดหลักของโครงการนี้”
ทำไมถึงเลือกโครงการนี้ “จริง ๆ แล้วเราว่าก็เหมือนคนที่มีความฝันอยากไปเรียนต่อปริญญาโทด้วยทุนการศึกษาหลาย ๆ คนเนี่ย ก็คงไม่ได้สมัครโครงการเดียวอยู่แล้ว เราเองก็เป็นคนนึงที่สมัครหลาย ๆ โครงการ แต่ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่เราอยากได้ที่สุด เพราะว่าเป็นโครงการที่มีจุดเด่นอย่างแรกเลย คือ ได้ไปเรียนในหลายประเทศ 2 ประเทศขึ้นไปในทวีปยุโรป ในระหว่างนี้เราก็จะได้ย้ายไปอยู่ประเทศนี้ประเทศนั้นด้วย แล้วก็ทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า หลังจากจบโครงการไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้นเลย เป็นทุนที่ครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ใช้ชีวิตรายเดือน ประกันสุขภาพ และอื่น ๆ”
ทุนนี้ให้อะไรบ้าง “ทุนนี้อย่างที่บอกเลยคือให้ตั้งแต่ค่าเดินทางเลย ค่าตั๋วเครื่องบินที่เราจะบินไปเรียนที่นู้น แล้วก็อย่างที่บอกว่าพอไปเรียนแล้วต้องย้ายไปเรียนมากกว่า 2 ประเทศ ก็จะมีค่าตั๋วเครื่องบินให้เวลาย้ายที่เป็นค่าย้ายถิ่นฐาน ค่าเรียน ค่าเทอม ค่าหน่วยกิต อะไรพวกนี้ก็จะรวมอยู่ในทุนนี้ด้วย แล้วก็มีค่าครองชีพรายเดือนให้ในจำนวนหนึ่งตลอดทุกเดือนจนจบโครงการ 2 ปี ยังมีประกันสุขภาพที่ให้ฟรี มีค่าโยกย้ายถิ่นฐานอีกที่ให้เป็นเงินก้อนปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเงินที่ได้ในส่วนของค่าครองชีพจะประมาณ 1,000 ยูโร ต่อเดือน รวมทุกอย่างตั้งแต่ค่าหอ ค่ากินอยู่ ค่าช็อปปิ้งต่าง ๆ ค่าเดินทาง”
ทุนนี้มีเงื่อนไขมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง “อย่างที่บอกว่าเราสมัครหลายโครงการมาก ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ไปรีเสิร์ชมาแล้วก็เจอโครงการนี้ ซึ่งขั้นตอนในการสมัครของมันง่าย ๆ เงื่อนไขก็คือต้องเป็นคนจากประเทศสมาชิกที่ร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็คือรวมประเทศเกือบทั่วโลกนั่นแหละ ก็คือถ้าเป็นสมาชิกของประเทศที่เป็นพาร์ทเนอร์ของโครงการเนี่ยก็จะสามารถสมัครได้ แล้วก็ต้องจบปริญญาตรี ต้องมีความสามารถในด้านภาษาอังกฤษมีคะแนนอังกฤษในระดับที่เขาต้องการ เงื่อนไขสุดท้ายคือต้องอ่านเขียนใบสมัครให้ครบถ้วนแล้วส่งใบสมัครในช่วงที่เขาเปิดรับสมัครประมาณนี้”
โครงการนี้ต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษอะไรบ้าง เกณฑ์เท่าไหร่ “โครงการนี้จะใช้ภาษาอังกฤษที่เขายอมรับทั่วไปนะครับไม่ว่าจะเป็น TOEFL ก็จะเป็นเกณฑ์หนึ่งหรือว่า Cambridge Professional Examination Advanced Certificate ก็อาจจะต้องอยู่ในระดับเกรดนึงที่เขากำหนดไว้ หรือว่าเป็น IELTS ไม่ต่ำกว่า 7.0 แล้วก็จะมีกำหนดบางพาร์ท เช่น Writing จะต้องไม่ต่ำกว่า 7.5 เป็นต้น แต่ว่ามันก็จะมีข้อยกเว้นนิดหน่อย เช่น ถ้าคนที่เคยจบปริญญาตรีจากหลักสูตรที่สอนภาษาอังกฤษแล้วก็จะสามารถยกเว้นข้อกำหนดข้อนี้ได้ หรือคนที่เคยทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า 2 ปีขึ้นไปก็จะสามารถยกเว้นการสอบภาษาอังกฤษตรงนี้ได้ ซึ่งเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ที่ใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลามามากกว่าสองปีแล้ว ก็เลยสามารถยกเว้นตรงนี้ได้โดยที่ใช้จดหมายรับรองจากนายจ้างของเราว่า โอเคเรามีความสามารถใน Reading Writing ภาษาอังกฤษระดับดีมากเลยนะ เราทำงานด้วยการใช้ภาษาอังกฤษตลอดสองปีเลยนะ ก็ใช้จุดนี้แทนได้ครับ”
ทุนนี้ขอยากไหม “มันก็ไม่ง่ายนะบอกตรง ๆ เพราะอย่างที่บอกไปว่าทุนนี้มันเป็นค่อนข้างครอบคลุมทุกอย่างเลย แถมเรายังได้ไปเรียนในหลาย ๆ ประเทศในยุโรปด้วย ได้ไปฝึกงาน ได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดน ในยุโรป ในหลาย ๆ ประเทศเพราะฉะนั้นค่อนข้างเป็นทุนที่มีการแข่งขันสูง”
โครงการนี้จะได้ไปเรียนกี่ประเทศ สามารถเลือกได้ไหมว่าจะไปประเทศไหนบ้าง “แล้วแต่โครงการว่าจะได้ไปกี่ประเทศ แต่โครงการเราจะได้ไปอย่างต่ำ 3 ประเทศ ซึ่งก็จะมีทั้งส่วนที่เราเลือกได้ แล้วก็ส่วนที่เขากำหนดไว้แล้ว บางเทอมเช่นเทอมแรกก็จะกำหนดมาเลยว่า เราต้องไปเริ่มที่บาร์เซโลน่าก่อนนะที่มหาวิทยาลัยนี้ พอเทอมสองก็อาจจะมีสองตัวเลือกให้เลือกว่าเราอยากไปไหน อยากไปอังกฤษหรือว่าอยากไปเยอรมันต่อ แล้วก็หลังจากนั้นก็ไปฝึกงาน การฝึกงานก็คือเขาก็จะให้ลิสต์ขององค์กรที่เข้าฝึกงานด้วยมา ซึ่งก็จะไม่ใช่ในยุโรปอย่างเดียวแล้ว ก็จะเป็นทั่วโลกเลย มีทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เอเชีย มีทั้งหมดเลย อันนี้เราก็สามารถเลือกไปได้ พอกลับจากฝึกงานปุ๊บก็จะมี Winter Semester อันหนึ่งที่เราไปเรียนอีกประเทศนึง คือไซปรัสเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ซึ่งตอนเรียนจบเราก็จะสามารถเลือกได้ว่าที่ปรึกษาของเราจะอยู่ในมหาวิทยาลัยไหนที่เราเรียนมา แล้วเราอยากไปทำธีสิสจบอยู่ที่มหาลัยไหนที่เราเรียนมา เราก็สามาเรื่องใดอีกทีนึง”
ทุนนี้ใช้เวลาเรียนกี่ปี “ทุนนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ทั้งหลักสูตร ความพิเศษของมันคือมันอาจจะเป็นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนึงด้วย แต่ที่เราจะได้อีกอย่างคือเป็นปริญญาโทที่ถูกเซ็นโดย Partner University ทั้งหมดในโครงการนี้ อย่างเช่นถ้าเลือกไปบาร์เซโลน่าแล้วมาต่อที่เยอรมันมาต่อที่ไซปรัส ทั้งสามมหาวิทยาลัยก็จะลงชื่อในใบจบของเรา ก็จะเป็นใบจบที่เรียกว่าค่อนข้างพิเศษพอสมควรเลย ไม่ค่อยมีที่ไหนทำแบบนี้สักเท่าไหร่”
ทำไมถึงเลือกเรียนในสาขานี้ “เราเรียนในโครงการ Education Policies for Global Development คือตั้งแต่เรียนปริญญาตรีแล้วเรามีความสนใจด้าน International Development มาก ๆ เรารู้สึกว่าเราอยากทำอะไรสักอย่าง เราอยากรู้อะไรสักอย่าง ที่มันทำให้สังคมดีขึ้นได้และเราค่อนข้างรู้สึกว่าถ้าสังคมมันจะดีขึ้น หลาย ๆ ประเทศก็ควรจะมาร่วมมือกัน มันควรจะเป็นอะไรที่มาจากความช่วยเหลือความร่วมมือกันระหว่างหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันหรือมันเกิดโปรเจคใหญ่อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์ได้ เรามีความสนใจเรื่อง International Development, International Collaboration
แล้วพอเรียนจบมาเนี่ยเราก็ยังได้มีโอกาสไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ก็คือองค์กรภายใต้ ASEAN Secretariat ที่ทำเรื่อง Higher Education ดูเรื่องการศึกษาดูเรื่องการสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัย มันเลยทำให้เราเริ่มมีภาพชัดขึ้นว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าเราอยากพัฒนาอะไร หรือเราอยากทำให้ชีวิตของคนรอบข้างของเราดีขึ้นมากที่สุด มันต้องเริ่มมาจากการศึกษาที่ดี ซึ่งการศึกษาที่ดีถ้ามันเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แล้วเนี่ย ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการแข่งขันสูงแค่ไหน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรเข้ามา ด้วยความรู้ที่มีทุกคนมีเริ่มต้นเท่ากันเนี่ย มันน่าจะสามารถแข่งขันได้ในระดับที่ยุติธรรมมากขึ้น ด้วยความที่เรามีแพชั่นการศึกษาด้านการพัฒนาในระดับโลก เราก็เลยรู้สึกว่าเราพยายามลองมาหาคอร์สที่เขาเปิดสอนอะไรอย่างนี้ดีกว่า ลองมาเรียนคอร์สที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาและรวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอะไร ลองหาไปหามาก็มาจบที่โครงการนี้
เราไม่ได้ดูแค่ชื่อโครงการอย่างเดียว พอเราเสิร์ชไปเรื่อย ๆ เรามาดูว่าแต่ละคอร์สที่เขาออกแบบมาให้เรียนจะมีทั้งคอร์สที่เรียนเรื่องการศึกษาโดยตรงเลย คอร์สที่จะเรียนเรื่อง International Development โดยตรงเลย รวมถึงเป็นคอร์สที่เรียนการทำรีเสิร์ชด้านสังคม เราก็เลยคิดว่าสกิลนี้เป็นสกิลที่เราอยากได้ในการทำงานต่อในอนาคตมากมันน่าจะเหมาะกับแผนที่เรามองตัวเองว่าจะไปทำงานยังไงในอนาคต เราก็เลยเลือกเรียนด้านนี้”
การเรียนต่อต่างประเทศได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไรบ้าง “เรียกว่ามันค่อนข้างได้รับผลกระทบมาก เพราะอย่างที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเดินทางระหว่างประเทศมันก็หยุดชะงักเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา จริง ๆ เราอยากเรียนต่อมาตั้งนานแล้ว รู้ตัวอยากเรียนต่อตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่ว่าด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง ด้วยจังหวะชีวิต ด้วยโควิดปีที่แล้ว ทำให้เรายังไม่สามารถที่จะไปเรียนต่อได้ พอปีนี้จังหวะมันเริ่มเอื้ออำนวย น่านฟ้าเริ่มเปิด ประเทศเริ่มเปิด เราก็เลยมาลองอีกรอบหนึ่ง ความยากของการไปเรียนต่อในช่วงนี้ก็คือเราค่อนข้างทำอะไรอยู่บนความไม่แน่นอน นโยบายการรับคนใหม่ การทำโน่นทำนี่มันเปลี่ยนไปเรียกว่าทุกวันหรือทุกสัปดาห์เลย อาทิตย์ที่แล้วเขาบอกว่าต้องการเอกสารประมาณสิบอย่าง อาทิตย์นี้เขาจะเริ่มเปิดมากขึ้นกลายเป็นต้องการเอกสารแค่สองอย่างก็พอ เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างเป็นสิ่งที่ต้องตามข่าวบ่อยนิดนึง ถ้ามีเพื่อนอยู่ที่นู่นก็จะต้องตามข่าวกับเพื่อนบ่อยนิดนึงว่าตอนนี้นโยบายเป็นยังไงบ้าง แล้วเราต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างก่อนไป ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างก่อนไป ต้องฉีดวัคซีนอะไรยังไงไหมก่อนไป เป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาต้องดูอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ”
เกณฑ์การให้ทุนเปลี่ยนไปไหม “พูดตรง ๆ ว่าเราคงตอบในฐานะกรรมการไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นแน่ ๆ ของปีนี้ก็คือผู้สมัครเยอะขึ้น ตอนแรกเราพยายามสมัครปีนี้เพราะคิดว่าช่วงโควิดคงไม่ค่อยมีคนสมัครหรอก คู่แข่งมันคงน้อย แต่ไม่ใช่ ตั้งแต่เปิดโครงการมา GLOBED ปีนี้ ปีที่โควิดเนี่ยเป็นปีที่มีคนสมัครจำนวนเยอะที่สุด จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะโครงการ GLOBED ด้วยซ้ำโครงการหลาย ๆ โครงการที่ไปเรียนต่อ ขออนุญาตไม่พูดชื่อโครงการแต่ว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ให้ทุนเรียนต่อในอังกฤษ เขาก็เปิดเผยออกมาเหมือนกันว่าเขาได้รับใบสมัครมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลย เกณฑ์คร่าว ๆ เนี่ยที่เขาประกาศของโครงการ GLOBED จะดู Academic Background ดู Qualification ต่าง ๆ ดู English Proficiency ดูประเทศที่เรามาก็คือเรามาจากประเทศไหน การแบ่งการเกลี่ยให้ทุนไปในแต่ละภูมิภาคก็สำคัญเหมือนกัน แล้วก็เขาดูประสบการณ์ของเรา มีประสบการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราไปเรียนไหม หรือมีอาจประสบการณ์ทั้งการงานแล้วก็อาสาสมัครเกี่ยวกับสาขานี้ไหม เรามีประสบการณ์ด้านการทำรีเสิร์ชมากแค่ไหน รวมถึงของโครงการ GLOBED จะมี Essay มาให้เขียนเป็นการดูความคิดเห็นของเรา ดูความสามารถในการเขียนของเรา ซึ่งหัวข้อของ Essay มันก็จะต่างกันไปทุกปี แล้วก็จะต้องมี Recommendation letter จากอาจารย์ด้วย”
เกณฑ์การประเมินก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับช่วงปกติเท่าไหร่ “ตามที่เขาประกาศก็คือใช้เกณฑ์เดิมช่วงก่อนและหลังโควิดนั่นแหละ แต่ว่าสิ่งที่มากคือการแข่งขันมากขึ้นในช่วงโควิด ที่คนสมัครเยอะขึ้นเราเข้าใจว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานอยู่หรือเรียนต่อแล้วเนี่ย เขาอาจจะคิดว่านี่อาจจะไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดในการหางานหรือทำงานให้ได้ดี ก็เลยพักมาลองเขียนใบสมัครเรียรต่อดีกว่า ก็อาจจะเป็นไปได้”
เรื่องการเดินทางมีปัญหาอะไรไหม เดินทางได้ไหมหรือว่าต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แล้วการเดินทางต้องเอกสารอะไรเพิ่มรึเปล่า “อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องอัพเดทตลอด เอกสารของยุโรปตอนนี้สำหรับประเทศไทยเขาก็ค่อนข้างเปิดทวีป เปิดประเทศแล้ว ให้คนจากไทยเข้าได้โดยที่ตอนนี้ก็ยังจะต้องฉีดวัคซีนแล้วสองเข็ม ก็คือเป็นวัคซีนที่ WHO รับรอง ซึ่ง Astrazeneca กับ Sinovac ก็สามารถนับเป็นการฉีดวัคซีนได้เหมือนกัน ฉีดวัคซีนไปแล้วสองเข็มไม่ต่ำกว่า 15 วันอะไรอย่างนี้ เราจำวันที่แน่นอนไม่ได้แต่ประมาณนี้ ก่อนเข้าไปต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนไปให้เขาดู หรือว่าเราจะมีผลตรวจโควิดไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางไปให้เขาดู ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องการกักตัว ประเทศเราค่อนข้างเรียกว่าโชคดีกว่าคนอื่นนิดนึงละกัน คือมันก็ยังมีบางประเทศอยู่เหมือนกันที่เขาไม่อนุญาตให้เข้าอย่างเด็ดขาดเลย เช่น บราซิลและอินเดีย เป็นสองประเทศที่ไม่ยังไม่อนุญาติให้เข้าเด็ดขาดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง”
วิธีการเรียนเปลี่ยนไหม ต้องเรียนออนไลน์รึเปล่า ด้วยความที่ตอนนี้สถานการณ์ในยุโรปมันค่อนข้างเรียกว่าดีขึ้นมากจนบางประเทศก็เกือบเป็นปกติแล้ว ทางมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร มหาวิทยาลัยที่เราเรียนในเทอมแรกเนี่ยเขายืนยันว่าในวันแรก คือช่วงประมาณกลางเดือนกันยายน เขายืนยันว่าเขาจะเปิดเทอมแบบ onsite ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คือให้ทุกคนไปเรียนที่แคมปัสได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน มันคงมีมาตรการบางอย่างที่ต้องทำ เช่น ใส่หน้ากากหรือเว้นระยะห่างอาจจะมี แต่ว่าอย่างที่บอกว่าบางประเทศยังไม่สามารถเข้าได้ เขาก็ยังอะลุ่มอล่วยในจุดนี้เหมือนกันว่า ถ้าสมมุติว่ามีใครที่ยังไม่สามารถเข้าได้หรือว่าติดปัญหาในการเข้าจริง เขาก็จะพยายามสนับสนุนการเรียนแบบออนไลน์ให้ด้วย”
ตูนเลือกไปเรียนที่ประเทศไหน “เทอมแรกยังเลือกไม่ได้มันต้องไปที่บาร์เซโลนาอยู่แล้ว แต่ว่าเทอมที่สองเราเลือกได้ว่าจะไปเมือง Bremen ที่เยอรมัน หรือว่า Glasgow ที่อังกฤษ ซึ่งตูนเรื่องไปเยอรมัน แล้วก็ต้องไปฝึกงานอีกที่นึงในอนาคต”
ช่วยขายของหน่อยว่าทุนนี้น่าสนใจยังไง แล้วทำไมถึงควรมาสมัครทุนนี้ “ทุนนี้เป็นทุนที่ค่อนข้างครอบคลุมมาก ทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่เราจะได้ เงินที่เราได้รับ ค่าสนับสนุนการเรียน ค่ากินอยู่ต่าง ๆ มันค่อนข้างครบ เรียกว่าเราแทบจะไม่ต้องเสียเงินด้วยตัวเองไปสักบาทนึงเลย แถมยังไม่มีข้อผูกมัดด้วยหลังจากจบแล้ว เราอยากไปทำอะไรก็ได้ อยากลับมาประเทศไทยของเราก็ได้ หรืออยากไปทำงานที่องค์กรอื่น เขาก็เปิดโอกาสให้เราเหมือนกัน
แล้วก็สิ่งที่เราชอบมากก็คือการที่เราจะได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมากกว่า 2 ประเทศในยุโรป อย่างน้อยประเทศละหนึ่งเทอม ซึ่งน่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาที่ไหนไม่ได้พอสมควรเลย การได้ไปเรียน ได้ไปใช้ชีวิต ได้ไปลองฝึกงาน ได้ไปลองมีเพื่อนใหม่ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เราว่ามันเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ค่อยได้ และก็ไม่ค่อยมีทุนไหนที่เปิดโอกาสให้เราทำได้หลากหลายขนาดนี้ เลือกที่เราอยากไปนู่นนี่นั่น คิดว่าค่อนข้างครอบคลุมแล้วก็น่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากเลยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดการสมัคร ด้วยความที่ทุนมันให้เยอะ การสมัครของมันก็ต้องใช้เอกสารเยอะพอสมควรนอกจากเอกสารส่วนตัวของเราที่กล่าวไปแล้ว พวกพาสปอร์ต CV หลักฐานภาษาอังกฤษ เราก็ยังต้องมี Motivation Letter ด้วย ซึ่งความยากของมันก็คือ ทุนนี้มันค่อนข้างมีการแข่งขันสูงมาก เราต้องเขียนให้ Motivation Letter ของเราโดดเด่นมากที่สุดในกองใบสมัครทั้งหมด และเราสามารถทำได้แค่ไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษเท่านั้น
อันนี้เราว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากมาก เขียนอย่างจำกัดแล้วต้องใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่เขาให้มา ทำยังไงขายตัวเองได้ดีที่สุด นอกจากนั้นก็ยังจะมีบทความให้เขียน อย่างปีเราเขาก็ให้เขียนบทความเกี่ยวกับ Non-state School เป็นโรงเรียนที่ไม่อยู่ในสังกัดของรัฐในทวีปเอเชียหรือแอฟริกาเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากโควิด มันก็เป็นการแสดงทัศนะของเรากับประเด็นการศึกษาร่วมสมัยหรือว่าประเด็นทางการศึกษาระหว่างประเทศ ความยากของมันเองเหมือนกันก็คือเราต้องเขียนทั้งหมดเนี่ยให้ไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษเท่านั้น ทำให้ทำยังไงให้มันดีที่สุด ให้มันโดดเด่นที่สุดภายในไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ เราว่านี่คือความยาก
นอกจากนั้นก็คือหลังจากที่ส่งเอกสารไปทั้งหมดแล้วเนี่ยพอเขารีวิวแล้ว เขาก็ยังจะเรียกไปสัมภาษณ์เพื่อดูตัวเราจริง ๆ ให้เปิดโอกาสให้เราลองมาอธิบายตัวตนของเรามากกว่าในกระดาษ อธิบายให้เขาฟังนิดนึงว่าเรามีประสบการณ์อะไรบ้าง เราอยากได้อะไรจากการไปเรียนและเราจะให้อะไรกับคลาสได้บ้าง ประสบการณ์ของเราจะสามารถมีประโยชน์ต่อการถกเถียงของคลาสได้ยังไง เป็นการสัมภาษณ์ก่อนที่จะประกาศผลออกมาว่าใครเป็นผู้ได้ทุน
และตัวโครงการน่าจะการันตีคุณภาพได้พอสมควร จากการที่มันเป็นมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรป ทุกมหาวิทยาลัยคือเป็นมหาลัยที่เรียกว่าถ้าเทียบกับในประเทศไทยก็น่าจะมีอันดับดีกว่าพอสมควร อีกสิ่งที่มันขายได้ความหลากหลาย เราไม่ได้เรียนในมหาลัยเดียวแต่เราได้ไปเรียนถึงสองมหาลัยหรือมากกว่านั้นด้วย ทำให้เราได้คำแนะนำ ได้มุมมองทัศนคติจากโปรเฟสเซอร์จากหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย”
จบมาแล้วเรียนต่อเลย หรือว่าหางานทำก่อนแล้วค่อยไปเรียนต่อ แบบไหนดีกว่ากัน? “ต้องเท้าความก่อนว่าเรารู้ตัวว่าอยากไปเรียนปริญญาโทต่อตั้งแต่เรียนอยู่ ตอนแรกเราอยากมากเลยที่จะแบบเรียนจบปุ๊บรีบไปเรียนต่อเลย เพราะว่าตอนนั้นความรู้ยังแน่น แพชั่นยังแรง ประกอบกับคนใกล้ตัวของเราคนหนึ่งก็ไปเรียนต่อในเวลาเดียวกัน ถ้าได้ไปเรียนเราอาจมีคนอยู่ด้วย ตอนแรก ๆ เลยพุ่งเป้าในการไปเรียนต่อหลังเรียนจบเลย แต่สุดท้ายด้วยสถานการณ์บางอย่าง ด้วยความล่าช้าของอะไรบางอย่าง ทำให้เราไม่สามารถยื่นเอกสารได้ทันในการเรียนต่อตอนนั้น เราก็เลยคิดว่าไม่เป็นไร ลองทำงานก่อนก็ได้ แต่พอทำงานก่อนจริง ๆ และตอนนี้กำลังจะอยู่ในช่วงที่กำลังจะได้เรียนต่อ กลับรู้สึกว่าการที่เราทำงานก่อนประมาณ 2 ปีเนี่ย มันดีกว่าไปเรียนตอนนั้นเลยมาก ๆ
คือตอนนั้นแน่นอนความรู้แน่น แพชั่นเราแน่นมาก เรารู้ว่าเราอยากเรียนอะไร เรารู้ว่าความรู้เรามีอะไร แต่เรายังไม่เคยเอาความรู้นั้นไปใช้เลย เรายังไม่เคยเอาความรู้นั้นไปช่วยในการรีเสิร์ช ไปลองทำงานจริง ไปทำโปรเจคจริง ๆ ว่าความรู้ที่เรามีมันพอหรือยังหรือมันต้องเสริมมิติอะไรขึ้นไปอีก เพื่อให้การทำงานของเรามันมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เหมือนการทำงาน 2 ปีเนี่ย ตูนว่าเราเหมือนได้เรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ว่าอะไรคือจุดเด่นของเรา แล้วก็เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราขาดแล้วตอนนี้ พอกำลังจะได้เรียนต่อจริง ๆ แล้วกลับรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วสองปีที่ผ่านมาเนี่ยมันคุ้มค่ามากเลยนะ
นอกจากเราเรียนรู้ตัวเองแล้วรู้ว่าเราขาดอะไรแล้ว เวลาไปเรียนจริงเรามีประสบการณ์ เรามีเคสจากชีวิตจริง เรามีประเด็นที่ได้จากการทำงานไปเล่าให้คนอื่นในห้องฟัง หรือไปถกเถียงกับคนอื่นในห้องเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก เราเลยคิดว่า 2 ปี กับการทำงานก่อนโดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราจะไปเรียนต่อ น่าจะทำให้เรามีโอกาสไปเรียนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วเรามั่นใจว่ามันค่อนข้างเพิ่มโอกาสในการได้ทุนการศึกษาของเรามากเลย คือเราก็สมัครทุนมาเรื่อย ๆ นะ ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ แต่เราไม่เคยได้มาก่อนแล้วพอปีนี้จังหวะชีวิตมันใช่ แล้วด้วยประสบการณ์ของเรา ด้วยความพร้อม เราก็ได้ทุนนี้มาในปีนี้”
อยากฝากอะไรถึง 1st Jobber ที่กำลังหางานเป็นครั้งแรก หรือคนที่กำลังจะเรียน “พูดตรง ๆ ว่าตอนที่เราเรียนอยู่ จำความรู้สึกได้ ตอนเรียนอยู่ปีสี่ค่อนข้างรู้สึกว่าเรามีความรู้พอสมควร และเรามีความมั่นใจมากพอสมควร เราได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยมเลยจากอาจารย์ที่แบบเก่งมากมาสี่ปีแล้ว เราค่อนข้างพร้อมแล้วกับโลกในชีวิตจริง แต่พอออกมาทำงานจริงภายในไม่กี่เดือนเราก็รู้เลยว่า สิ่งที่มหาลัยสอนจริง ๆ แล้วมันคือเสี้ยวเดียวเท่านั้นถ้าเทียบกับสิ่งที่เราต้องใช้จริงในงานปัจจุบันของเรา มันยังมีสิ่งที่เขาไม่สามารถสอนได้หรือเขาไม่ได้สอนอีกเยอะแยะมากมาย การสื่อสาร การคุยกับคนอื่น การเป็นผู้นำ นี่คือสิ่งที่ไม่มีคลาสในห้องเรียนสอน หรือแม้กระทั่งการยื่นภาษี การเก็บเงิน การอาทำประกันสุขภาพ เราจะเลือกประกันแบบไหนดี เราจะเริ่มดูแลสุขภาพยังไง เราจะต้องตรวจสุขภาพตัวเองบ่อยแค่ไหน เราจะต้องซื้ออะไรเพื่อเป็นการดูแลตัวเอง หรือเราจะต้องเสริมสร้างความรู้ตัวเองเพิ่มขึ้นได้ยังไง โดยที่เราไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว นี่มันยังมีอีกหลายสิ่งมากเลยที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เราเหมือนต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเองในชีวิตจริง” อภินัทธ์ เชงสันติสุข เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่
Recent Posts สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…
บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…
อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…
ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…
ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…
This website uses cookies.
Accept