เรียนออนไลน์ ปัญหาการเรียนออนไลน์-การศึกษาไทยไม่มีคุณภาพจริงหรือ ไม่เรียนออนไลน์ได้ไหม ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร เป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม… passion gen อาสาไปหาคำตอบในเรื่องนี้ ว่าทางออกของการศึกษาคืออะไร ก่อนที่เด็กวัยนี้จะเป็น Lost Generation
เป็นหนึ่งกระแสที่ร้อนแรงที่สุดในโลกการศึกษา เมื่อกลุ่ม “นักเรียนเลว” จัดกิจกรรมแขวนคอ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนปัญหาการเรียนออนไลน์ ว่าเด็ก 1.8 ล้านคนกำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก…
ต่อเรื่องนี้จึงเกิดคำถามตามมามากมายว่า การเรียนออนไลน์ทุกวันนี้แย่จริงหรือ แล้วหากแย่จริงควรจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร…
กระแสดังกล่าวยิ่งร้อนแรงมากขึ้นเมื่อโลก Twitter ติดแฮชแท็ก #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของไทยอย่างร้อนแรงบนโลกออนไลน์ ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้ผล การเช็กชื่อลงเวลา จนถึงปัญหาที่เด็กเครียด โดดเรียนเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีนักวิชาการเสนอให้พักเรียน 1 ปี พร้อม ๆ กับสถิติข้อมูลที่น่าสนใจเช่น เด็กนักเรียนโดดเรียน 20% เป็นต้น
ต่อคำถามเรื่องนี้ passion gen อาสาไปหาคำตอบ โดยพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นักวิชาการการศึกษาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่านหนึ่ง…
ทำไปแบบไม่พร้อม ทำไปแบบไม่เข้าใจ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. ภาวิช ให้ข้อมูลว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเรียนผ่านระบบออนไลน์ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาผ่านออนไลน์ที่ทำกันอยู่นั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่และปัญหา เพราะขาดความพร้อมความเข้าใจในหลายด้าน
ด้านผู้เรียน ก็มีความพร้อมไม่เท่ากัน ทั้งในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียน และโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เด็กบางคนมีโน้ตบุ๊ก พีซี บางบ้านมีโฮมเธียเตอร์ ขณะที่เด็กบางคนมีมือถือสเปกต่ำ จอขนาดเล็กเพียงเครื่องเดียว อันนี้เป็นความเหลื่อมล้ำ
ผู้สอน ก็มีความแตกต่างเช่นกัน ครูในบางโรงเรียนมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม แต่บางโรงเรียนก็ขาดแคลนทั้งเครื่องมือและอินเทอร์เน็ต เฉพาะ 2 ประเด็นนี้ก็เป็นอุปสรรค
แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ วิธีการการเรียนการสอนออนไลน์ ไม่ได้มีวิธีการและการเตรียมความพร้อม อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในการสอนออนไลน์ ยังสอนแบบแลกเชอร์ปกติ เนื้อหาเหมือนเดิมทุกอย่าง แค่เปลี่ยนจากการเรียนที่โรงเรียนมาเรียนที่บ้าน การจัดการสอนภายใต้วิธีคิดนี้ ทำให้การเรียนด้อยคุณภาพมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการสอบวัดผลที่ยังไม่รู้ว่าจะวัดผลการเรียนได้อย่างไร…
ปรับหลักสูตร ปรับสื่อการสอนเป็นทางออก
สิ่งที่ต้องทำวันนี้คือการปรับหลักสูตร ปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนผ่านออนไลน์มากขึ้น…
ในด้านหลักสูตร ต้องมีการสังคายนาหลักสูตรกันใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ จัดการสาระการเรียนรู้ที่เหมาะสม บางวิชาที่ไม่จำเป็นต้องลดไปก่อน บางวิชาสามารถรวมกันได้ก็นำมารวมกัน แล้วออกแบบวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับออนไลน์
ต้องเข้าใจว่า การเรียนออนไลน์ที่บ้านนั้น ขาดการสร้างบรรยากาศในการเรียนแบบในห้องเรียน ขาดกลุ่มเพื่อนที่ช่วยกระตุ้น ปัญหาที่เกิดคือ เด็กที่แต่เดิมมีสมาธิสั้นอยู่แล้ว ไม่สามารถประคองตัวให้สนใจบทเรียนได้ ดังนั้นการเรียนการสอนต้องน่าสนใจ สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้
“การปรับปรุงเนื้อหาให้มีความกระชับเป็นสิ่งสำคัญ แทนที่เนื้อหาจะเป็นพรืดยาว ๆ 1 ชั่วโมง อาจจะแบ่งเนื้อหาเป็นคลิปสั้น ๆ ความยาว 5-10 นาทีเพื่อให้เด็กมีสมาธิกับแต่ละช่วง และไม่ใช่ให้ครูสอนอย่างเดียว ควรจะมีการทำคลิป ทำวีดิโอแอนิเมชัน ทำสื่อการสอนแบบเชิงตอบโต้ (Interactive)”
ในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการควรมีบทบาทสำคัญ ในการผลิตคอนเทนต์สื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ให้เด็กเรียนรู้ โดยเอาเนื้อหาในแต่ละวิชาต่าง ๆ มาย่อยให้เป็นเรื่อง ๆ ให้ง่ายต่อความเข้าใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ เกิดจินตนาการ สามารถไปต่อภาพ สร้างองค์ความรู้ในสมองได้
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าในภาพรวมที่เกิดขึ้น การเรียนออนไลน์สร้างความเหลื่อมล้ำมาก ขาดการเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ที่ดี ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาต่ำมาก จนน่าเป็นห่วงว่าเด็กรุ่นนี้จะเป็น Lost Generation นี่ยังไม่พูดถึงการสอบออนไลน์ ที่ยังไม่รู้ว่าจะวัดผลได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้ต้องคิด ต้องเตรียมการแก้ไข แต่ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม
Category: