กวิตา วัฒนะชยางกูร ศิลปิน Performance Art สัญชาติไทยแต่เติบโตในเวทีโลก ผู้หญิงตัวเล็กกับแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียม กับวลีเด็ด “Are we Machine?” และผลงานของเธอที่สะท้อน เสียดสีระบบทุนนิยมกับการเอาเปรียบเพศหญิง

 

เพราะภาพหนึ่งภาพบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าคำพูดนับพันคำ การสื่อสารด้วยภาพจึงสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ดีว่า นั่นคือ สิ่งที่ศิลปะของ แพรว – กวิตา วัฒนะชยางกูร ศิลปินด้าน Performance Art พยายามบอกเล่าหลายสิ่งหลายอย่างในความคิดของเธอ ออกมาเป็นผลงานที่ทั้งสร้างสรรค์ สะท้อน เสียดสี บาดลึก แต่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันเล็กๆ ที่ทำให้ที่ชื่นชมแล้วอดที่จะซ่อนรอยยิ้มที่มุมปากไม่ได้

 

 

“ศิลปะเป็นภาษาภาพ เป็นเสียงที่สื่อเข้าไปถึงจิตใจของคนแต่ละคน การที่คนเราเปลี่ยนจะเริ่มจากจิตใจของแต่ละคน เมื่อจิตใจหลายๆ คนเปลี่ยนก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง Mindset เปลี่ยน Culture เมื่อ Culture เปลี่ยนก็จะมีผลให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วย ในประวัติศาสตร์กฎหมายที่ถูกร่างขึ้นเพื่อให้สิทธิที่เท่าเทียมก็ล้วนแล้วเกิดจาก mindset ใหม่ๆ เหล่านี้ ศิลปะจึงเป็นตัวที่ทำให้ mindset เปลี่ยน จากเฉพาะตัวบุคคล เพื่อเปลี่ยน Culture ในที่สุด”

 

กวิตา บอกเล่าถึงมุมมองศิลปะของเธอที่ทะลุไปถึงจิตใจได้อย่างชัดเจน 

 

 

 

กวิตา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัย RMIT University ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เมื่อปี ค.ศ. 2011 ซึ่งกวิตา มีแววด้านศิลปะตั้งแต่สมัยเรียน โดยผลงานของเธอได้จัดแสดงอยู่ในแกลลอรี่ จากนั้นจึงถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ในออสเตรเลีย

 

ผลงานของกวิตาได้ถูกจัดแสดงในสถาบันและสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ Saatchi Gallery (ลอนดอน), Bangkok Arts and Culture Centre (กรุงเทพมหานคร), National Museum (Szczecin), Shepparton Art Museum (เมลเบิร์น), Centre for Contemporary Photography (เมลเบิร์น), Federation Square Big Screen (เมลเบิร์น), Campbelltown Arts Centre (แคมป์เบลทาวน์), Biblioteca Municipal de Barranco (ไลมา), งาน Bangkok Arts and Cultures’ Proximity exhibition, และที่งานนิทรรศการ Melbourne Now exhibition ซึ่งจัดขึ้นโดยหอศิลป์แห่งชาติในรัฐวิคตอเรีย

 

Passion gen ได้มีโอกาสพบและสัมภาษณ์ แพรว – กวิตา จึงนำส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์มาเรียบเรียงให้ทุกคนได้ทราบถึง แนวคิด และความมหัศจรรย์ของสาวน้อยคนนี้

 

 

เป็นมาอย่างไรถึงมาทำงานอาร์ต?

ครอบครัวแพรวเป็นครอบครัวของนักกฎหมาย แพรวมีความเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น นอกเหนือขากการเปลี่ยแปลงกฎหมาย คือการเปลี่ยนแปลง Culture เปลี่ยน Mindset เปลี่ยนความคิดของมนุษย์ไปสู่รูปแบบที่เป็นการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน แพรวเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันมีสิทธิเท่าเทียมกัน และมนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค

 

ดังนั้นงานศิลปะของแพรว คือ เสียงในการพูดแทนกลุ่มคนที่พูดไม่ได้หรือเสียงเขาถูกดปิดไป ได้แก่คนที่เป็นแรงงานในโรงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาอุตสาหกรรม Fast Fashion ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานอย่างมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานผู้หญิงถึง 85%

 

Fast Fashion ครอบคลุมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เราทุกคนใส่ เราจะสังเกตว่าเสื้อผ้าปัจจุบันราคาถูกมาก ทั้งที่มีขั้นตอนผลิตมาก ใช้น้ำ ไฟ เครื่องจักร และมนุษย์ แต่ราคาของเสื้อผ้าอยู่ที่ 200-300 บาท หรือ 500 บาท นั่นคือ การที่แบรนด์พยายามลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น จึงเรียกว่า Fast Fashion เหมือนซื้อเร็ว ใช้เร็ว ซื้อทีละมากๆ แต่ผลจากการกดราคาขายให้ถูกนั้น ทำให้ต้องลดต้นทุน ซึ่งหนึ่งในวิธีการลดต้นทุนที่ง่ายที่สุด คือ การลดค่าแรงงานมนุษย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเกิดการประท้วงเกิดขึ้นในกัมพูชา การเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงการใช้ความรุนแรง

 

มีภาพหนึ่งที่แรงงานผู้หญิงชูป้ายเรียกร้องว่า “Are We Machine?” หมายถึงว่าเราเป็นเครื่องจักรเหรอ ทำไมถึงมองมนุษย์เป็นเครื่องจักร ซึ่งนั่นเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่แพรวเอามาใช้ในผลงานศิลปะ คือ มุมมองที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักร 

 

หลายสิ่งที่เราเห็นเป็นความปกติของโลก แต่แท้จริงแล้วเป็นความปกติที่ไม่ปกติ เพรามีเบื้องหลังที่เราไม่รู้ว่าเขามีความลำบากยากแค้นขนาดไหน ดังนั้นเราจึงนำคำพูดที่ว่า “เขาเป็นแค่เครื่องจักร” ไม่ใช่มนุษย์ที่ทัดเทียมกับมนุษย์คนอื่นทั้งการปฏิบัติและค่าแรง เลยเอามาทำเป็นศิลปะเพื่อสร้างการรับรู้

 

 

สิ่งที่ต้องการสะท้อนในผลงาน คือ แรงงานสตรีควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เสมอภาคใช่ไหม?

สิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจคือ ความเท่าเทียม ที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม นอกจากนั้น มนุษย์ควรได้รับความเคารพและให้เกียรติในฐานะของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน จริงๆแล้ว มีเรื่องเยอะมาก เช่น การแบ่งชนชั้น การที่เราไม่เห็นค่าของคนในชนชั้นล่าง เพราะเราเองก็อาจจะมองว่าเขาเป็นเครื่องมือเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าต่างๆให้เราโดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนกัน นั่นทำให้เขาถูกมองค่าว่าไม่ใช่มนุษย์ไปโดยปริยาย

 

 

ทำไมคอนเซ็ปต์งานศิลปะของแพรวจึงมาทางสิทธิสตรี และความเท่าเทียม?

ศิลปะเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราว เหมือนกับการเขียนหนังสือ เพราเราสนใจในเรื่องนี้ เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัยในเรื่องนี้ ได้ฟังจากที่บ้านที่ทำงานด้านกฎหมายในกรณีเหล่านี้มาหลายครั้ง แพรวเห็นว่าเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ เลยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านผลงานศิลปะเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างกับสังคม

 

ศิลปะจะเปลี่ยนแปลงไมน์เซ็ทของแต่ละบุคคล ภาษาภาพจะเข้าไปอยู่ในใจ จำได้และเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวตนของแต่ละคนทีละน้อย เมื่อหลายๆคนเปลี่ยน ก็จะเกิดการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมในที่สุด เรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญสำคัญโลกใบนี้ และสำหรับทุกคน ความไม่เสมอภาคในสังคมยังคงอยู่และน่าจะต้องถูกเปลี่ยนจากใจของแต่ละคน

 

 

สิทธิสตรีในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

ขอพูดในมุมศิลปิน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเขียนกฎหมายขึ้นมามากโดยมีแรงกดดันจากนาชาติในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสตรีและเด็ก กฎหมายแรงงาน กฎหมายการค้ามนุษย์ กฎหมายการค้าประเวณี ฯลฯ กฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และไม่ถูกจำกัดด้วยสิ่งที่คนอื่นเชื่อ เช่น ธรรมชาติบอกว่าเราควรจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร กฎหมายเหล่านี้จะเปลี่ยนความคิดของทุกคน แต่ไม่ว่ากฎหมายจะเขียนให้ดีอย่างไร

 

แต่ถ้าไมน์เซ็ทของมนุษย์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยก็ไม่มีผล ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่อเมริกา นั่นคือ hate crime พฤติกรรมที่ต่อต้านรังเกียจคนเอเชีย ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง เรื่องเหล่านี้กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่ว่าความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น เพราะไมน์เซ็ทของคนไม่ถูกเปลี่ยน สิ่งที่ควรทำคือ ไมน์เซ็ท ความคิด ความเข้าใจ ความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาและมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และการเชื่อแบบนั้นก่อความรุนแรงและสร้างความรุนแรงให้กับโลกเพียงใด

 

 

ฝากถึงคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง?

ในเชิงผลงาน แน่นอนว่า เมื่อมีการรับรู้ในความคิดของเขา ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดจากตัวเขา การเปลี่ยนแปลงจากคนจำนวนมาก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไมน์เซ็ทและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงของไมน์เซ็ทและวัฒนธรรม จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติในกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไร ถ้า Culture ไม่เปลี่ยน คนก็จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรม กฎหมายก็จะไม่มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์

 

 

ความฝันและเป้าหมายของคุณแพรว 

แพรวอยากเห็นสังคมที่อยู่อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมกับทุกคน ระบบทุนนิยมที่เลวร้ายทำให้มนุษย์มีความต้องการอย่างเกินพอดีไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่แพรวอยากเห็นคือความเท่าเทียม การสร้างความสมดุลให้กับโลกใบนี้ มนุษย์ไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม และไม่เอาเปรียบมนุษย์ด้วยกัน

 

 

ปลายปีนี้ แพรวมีแผนจะออกผลงานศิลป์ชิ้นใหม่ที่ยังคงเนื้อหาและความเข้มข้นในเรื่องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันในสังคม แต่จะเปลี่ยนรูปแบบสื่อนำเสนอ จากงานแสดงและสื่อวีดิโออาร์ทไปสู่ผลงานการเผยแพร่งานศิลปะผ่าน  VR (Virtual Reality) ที่สามารถจะสื่อมุมมองความคิดของศิลปะออกมาในผลงานได้อย่างโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น  ซึ่งมุมมองอาร์ทผ่าน VR นี้เป็นมิติใหม่ และความน่าสนใจในวงการว่า การบอกเล่าเรื่องราวผ่าน VR จะถ่ายทอดความสร้างสรรค์ สะท้อน เสียดสี ออกมาได้อย่างไร….ต้องติดตาม

 

 

Category:

Passion in this story