ลองคิดเล่น ๆ ว่าหากตอนนี้โลกเรายังไม่มี Smartphone ยังไม่มี Tablet รวมทั้งระบบ Internet แต่ต้องมาติดแหงกอยู่กับบ้านในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงของโรคร้าย มันจะน่าเบื่อขนาดไหน เพราะในอดีตการเสพข่าวสารและความบันเทิงที่ไม่ต้องออกนอกบ้าน สื่อหลัก ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลมาก ก็จะมีโทรทัศน์และวิทยุ แต่วันนี้…ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อทุกคนเข้าใจสัจธรรมชีวิตที่ว่า “INTERNET OF THING”

 

OTT TV หรือ Over-The-Top TV คือ บริการที่เราสามารถรับชมภาพยนตร์, ซีรีย์, และคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ต มีทั้งรูปแบบที่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนและรายปี  รูปแบบการรับชมคอนเทนต์ลักษณะนี้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าในไทยอาจพุ่งสูงถึง 2.45 ล้านบัญชีในปี 2567 สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อได้เปลี่ยนไป

 

 

ปัจจัยหลักน่าจะมาจาก SMARTPHONE ที่ทำให้เข้าถึงความบันเทิงได้สะดวก รวดเร็วกว่าเดิม และตอนนี้ต้องยอมรับว่าอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ OTT TV เติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นเพราะสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องกักตัว ทำงานอยู่ที่บ้านจากโควิด 19  การเสพความบันเทิงภายในบ้านจึงเข้ากับสภาพความเป็นอยู่ตอนนี้มากที่สุด ยกตัวอย่างความสำเร็จของอุตสาหกรรม OTT TV ที่เติบโตและมีผู้ชมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไทย คือ LINE TV โดยเข้าถึงผู้ชมกว่า 40 ล้านคน ในแต่ละปีมีผู้ชมวีดีโอมากกว่า 6,000 ล้านวิว

 

นอกจาก OTT TV แล้ว มาทำความรู้จัก SUBSET ที่อยู่ในกลุ่มของความบันเทิงออนไลน์ ที่เรียกว่า วีดีโอสตรีมมิ่ง คือการดูวีดีโอ ดูภาพยนตร์ สารคดี ละคร ฯลฯ ผ่านแอพพลิเคชั่น ขอยกตัวอย่างผู้ให้บริการที่มีรายได้จากการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นมากที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อันดับ1 : NETFLIX  โดยในปี 2020 เป็นแบรนด์ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก (จากการจัดอันดับ The World’s Most Valuable Brands 2020 โดย Forbes) ด้วยมูลค่าแบรนด์ 26,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 แสนล้านบาท) มีมูลค่า   แบรนด์อันดับที่ 26 ของโลก เติบโตขึ้น 72% จากปี 2019 แซงหน้าแบรนด์อันดับ 1 อย่าง Apple ที่มีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้น 17% เท่านั้น

 

 

อันดับ2 : VIU เป็นแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่งที่น่าจับตามองโดยในปี 2020 มีการเติบโตเติบโตขึ้นราว 19% นำเสนอเนื้อหายอดนิยมในระดับภูมิภาค ทั้งคอนเทนต์จากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น  ไทย และจีน รวมไปถึงการสร้าง Viu Originals

 

อันดับ 3 : WeTV มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2562 ซึ่งนับตั้งแต่เปิดให้บริการด้วยเวลาแค่ปีกว่า ๆ ก็สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว วางกลยุทธ์ชัดเจน ได้แก่การสร้างสรรค์ Original Content การสร้างชุมชนหรือ Community ที่แข็งแกร่งให้กับสมาชิกของ WeTV ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานของ WeTV มีความเหนียวแน่น

 

ไม่เว้นแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง “WALT DISNEY” ยังกระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการเปิดตัว “Disney+ Hotstar” เพื่อมาเอาเงินออกจากกระเป๋าเหล่าสาวก Disney ชูจุดแข็งให้รับชมภาพยนตร์ได้กว่า 700 เรื่อง และ  ซีรี่ย์กว่า 14,000 ตอน จาก Disney, Marvel, Pixar, Star Wars, National Geographic ซึ่งแต่ละค่ายที่เกริ่นไปต่างก็มีแฟนคลับกลุ่มใหญ่ของตัวเองอยู่แล้ว

 

  

สำหรับปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจวีดีโอสตรีมมิ่งประสบความสำเร็จได้รับความนิยมและโตแบบก้าวกระโดด ตอกย้ำให้เห็นถึงความบันเทิงที่เรียกว่า Enjoy from home มากขึ้น  น่าจะมาจากการที่ค่ายหนัง ค่ายภาพยนตร์ของหลายประเทศรวมถึงไทยได้เห็นโอกาสและลงมาเล่นในธุรกิจนี้  ส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์สร้างเนื้อหาเฉพาะแบบ Exclusive ป้อนให้กับแพลตฟอร์มของแต่ละค่าย อย่างภาพยนตร์ซอมบี้เกาหลีสุดระทึกขวัญ “KINGDOM” ที่มีแฟนคลับติดตามทั่วโลกจะฉายเฉพาะช่องทางของ NETFLIX เท่านั้น หากผู้บริโภคต้องการจะรับชมก็ต้องจ่ายค่าบริการ และ NETFLIX ยังเผยอีกว่ายังมีเนื้อหาในมืออีก 500 รายการที่อยู่ในขั้นตอน Post-Production หรือเตรียมฉาย เป็นการตอกย้ำว่า NETFLIX ยังคงมีผลงานในคลังมากพอที่จะสร้างความบันเทิงให้สมาชิกต่อไป

 

ในอนาคต เราจะได้เห็นสงครามของตลาด OTT TV และธุรกิจวีดีโอสตรีมมิ่ง ที่จะแข่งขันดุเดือดเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่ละแพลตฟอร์มจะเข้ามาช่วงชิงเวลาของผู้ชมกันด้วยคอนเทนต์มากมาย ซึ่งผลดีก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่จะได้ชมคอนเทนต์ดี ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าความบันเทิงในรูปแบบนี้จะเติบโตและอยู่คู่สังคมไทยและสังคมโลกไปอีกนาน  ตราบเท่าที่ยังมีโรคร้ายที่บังคับไม่ให้เราออกไปไหนได้เหมือนเดิม

 

 

Category:

Passion in this story