ในยุคนี้เราจะเห็นปัญหาเรื่องช่องว่างของวัย ความต่างของ Generation กันมากขึ้น และเห็นได้อยู่บ่อย ๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการทำงาน หรือกระทั่งในสังคมปัจจุบันก็ตาม ซึ่งความต่างของอายุตรงนี้ ก็ทำให้เกิดความไม่ลงรอย ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนสองรุ่น ที่สุดท้ายแล้วก็อาจจะส่งผลต่อด้านต่าง ๆ เช่น การทำงาน การใช้ชีวิต การพูดคุย ทำให้คนในสองช่วงวัยนี้ต่อกันไม่ค่อยติด

 

คลาสในวันนี้เราจะไปพูดคุยกับ เกรป-เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ คนรุ่นใหม่ที่เคยสัมผัสกับความคิดของคนรุ่นเก่า และเคยเขียนบทความถึงความกลัวของคนรุ่นใหม่กันว่า อะไรคือความต้องการ ความคาดหวัง หรือความกลัว ของคนทั้งสองรุ่น แล้วเราจะปรับตัวกันอย่างไรดี เพื่อให้ความต่างของวัยไม่กลายเป็นปัญหา เพื่อให้คนทั้งสองรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้ และเข้าใจกันมากขึ้น

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

 

 

“สวัสดีค่ะ ชื่อ เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ นะคะ ชื่อเล่นชื่อ เกรป ค่ะ ตอนนี้ทำงานเป็น Project Coordinator ควบไปกับ Content ค่ะ ในบริษัทแห่งหนึ่ง อยู่ในกระบวนการหารือเชิงนโยบาย หรือที่เรียกว่า Policy Dialogue” ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ก็จะเป็นงานที่ค่อนข้างเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหรือการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ”

 

 

ทราบมาว่าเกรปเขียนบทความชื่อ “ถ้าพลาดพลั้งจะยังเป็นที่ภูมิใจอยู่มั้ย? สำรวจความกลัวและชีวิตของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล” แสดงว่าเคยทำงานเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่มาบ้างใช่ไหม?

“ใช่ค่ะ ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ ก็เลยทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยกับอาจารย์ ในช่วงต้น ๆ ของงานวิจัยได้ลงลึกไปถึงการสัมภาษณ์ผู้คนในช่วงวัยที่แตกต่างกัน ก็ทำให้ออกมาเป็นบทความนี้”

 

 

อะไรคือสาเหตุของความไม่เข้าใจกัน ความแตกต่างของวัย ระหว่างคนสองรุ่นแบบในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

“ก่อนที่จะไปตอบคำถาม ขอพูดนิดนึงว่าเกรปอาจจะพูดตามความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานประสบการณ์จากงานวิจัยและสิ่งที่เคยเรียนรู้มาในมุมมองของมานุษยวิทยา เกรปคิดว่าความขัดแย้งตรงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเฉพาะในยุคสมัยนี้เท่านั้นนะ ย้อนกลับไปในยุคพ่อของเรา พ่อของเราก็อาจจะรุ่นปู่ของเขา แต่อาจจะเป็นบริบทหรือหัวข้อที่แตกต่างกัน เช่น พ่ออยากเป็นนักดนตรี แต่ปู่อยากให้เป็นข้าราชการมากกว่า ความคิดแบบนี้มันก็ขัดแย้งกันมาเสมอ ๆ เพียงแต่บริบทของบ้านเมือง ข่าวสาร เครื่องมือที่เราใช้มันพัฒนาไปไกล และการเข้าถึงมันแตกต่างกัน ฉะนั้นมันจึงนำมาสู่การเห็นร่องรอยของความขัดแย้งกันมากขึ้น

 

ในสมัยก่อนมีแต่สื่อสิ่งพิมพ์เนอะ แล้วก็สื่อสารมวลชนที่ค่อนข้างจำกัด การเห็นว่าเราขัดแย้งกัน มันอาจจะยาก หรืออาจจะไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ นอกจากมันจะกลายเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่บนสื่อโซเชียล ซึ่งในบริบทสมัยนี้จะเห็นได้ชัดมากขึ้น เห็นร่องรอยของการปริร้าวแตกแยกของครอบครัว ของเจนเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การทำงาน หรือเรื่องของครูกับนักเรียน ที่มันแสดงออกมาให้เห็นได้หมดเลย เช่น ผ่านไลน์ที่เราเห็นแชทสนทนากัน ผ่านเฟซบุ๊กที่เราคอมเมนต์กัน ผ่านทวิตเตอร์ที่เราโต้ตอบกัน”

 

 

เป็นไปได้ไหมว่าความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วกว่าสมัยก่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเห็นชัดขึ้น นอกจากเรื่องเครื่องมือการสื่อสาร

“ไม่แน่ใจว่าคนยุคสมัยก่อนเขาจะสุดขั้วเหมือนกันรึเปล่าด้วยซ้ำ แต่เราอาจจะแค่ไม่เห็นว่าเขาสุดขั้ว อันนี้พูดไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ดูเป็นการโจมตีคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งไป อยากย้อนกลับไปเหมือนเดิมว่า ด้วยบริบทของสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไป ความเร็วมันแตกต่างกัน ตอนรุ่นของปู่ย่าจนมาถึงพ่อแม่บริบทมันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างช้า แต่พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามา บริบทของสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนอาจจะส่งผลมาถึงชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างมาก มากกว่าที่คนรุ่นเก่าแตกต่างกัน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยความที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงชุดความคิดใหม่ ๆ ได้ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือการเปิดรับข่าวสารใหม่ ๆ ผ่านทางความเป็นโลกาภิวัตน์ คือเขาไม่ได้ยึดโยงตัวตนอยู่กับแค่ขอบเขตของประเทศไทย หรือแค่ตัวเขาอีกแล้ว ตัวตนของเขาถูกซึมซับข้อมูลข่าวสารทุกอย่างที่ได้รับ ผ่านบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เขารู้สึกว่าเขากลายเป็นพลเมืองโลก รู้สึกว่าตัวตนของเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีความเข้าอกเข้าใจ มีความรับรู้รับผิดชอบต่อสังคม และเราควรที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มันดีกว่านี้ได้ หรือว่าตัวตนของเขาควรจะได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ได้

 

ในขณะที่คนรุ่นเก่าอาจจะคิดว่า สิ่งที่เขาดำเนินมาผ่านบริบทที่เปลี่ยนแปลงช้ามาก ๆ เนี่ย อาจจะเป็นสิ่งที่ดีงามอยู่แล้ว ผ่านความคิด ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เขาได้รับมา ซึ่งไอความดีงามนั้นเนี่ย ใครจะอยากให้สูญหายไป เพราะฉะนั้นแล้วชุดความคิดชุดใหม่ที่เด็กรุ่นพวกเรา หรือรุ่นหลังจากเราอีกเนี่ย ก็อาจจะดูขัดแย้งและค่อนข้างแตกต่างอย่างมากกับคนรุ่นก่อน”

 

 

“เคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ แล้วเด็กก็ตอบว่า ‘จะอาบน้ำร้อนทำไมก็อาบน้ำอุ่นสิ’ ไหม เกรปว่าประโยคนี้มันตอบคำถามว่า ชุดความคิดระหว่างคนสองรุ่นมันแตกต่างกันอย่างสุดขั้วใช่ไหม อย่างไร ซึ่งประโยคนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าบริบทของสังคมในสองยุคมันแตกต่างกัน และนำมาซึ่งชุดความคิดที่แตกต่างกัน”

 

 

อะไรคือความคาดหวัง หรือความต้องการของคนรุ่นใหม่

“เราค่อนข้างเชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะคิดแบบนี้เหมือนกัน จากการสัมภาษณ์ หรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือคนที่ไปพูดคุยมาก็ตาม คือ มันน่าจะเป็นการคาดหวังว่าอยากจะเห็นสิ่งที่ดีขึ้น โอเค คนรุ่นก่อนอาจจะบอกว่าแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่คนรุ่นใหม่มักจะคิดว่าแต่มันดีได้มากกว่านี้นะ หลาย ๆ อย่างเราไม่ต้องทำเองด้วยซ้ำ หลาย ๆ อย่างถ้าไม่ได้อยู่ในสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ผู้นำ หรือความขัดแย้งที่คนรุ่นเก่ามองเราแบบนี้ มันอาจจะทำให้เรา (คนรุ่นใหม่) มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้นะ

 

เช่น แม่เราอาจจะบอกว่าขายของตอนนี้ได้วันละ 2,000 บาท มันก็โอเคแล้วนะ แต่เราอาจจะบอกแม่กลับว่า แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในยุคผู้นำคนนี้ หรือบริบทสภาพสังคม เศรษฐกิจแบบนี้ แม่อาจจะขายได้วันละ 5,000 บาท เลยนะ เพราะคนอาจจะมีกำลังซื้อที่มากขึ้น อันนี้เป็นการยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพชัด

 

ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ อาจจะเป็นเพราะถูกคาดหวังมาอีกทีก็ได้นะ เช่น เขาอาจจะถูกคาดหวังว่าคุณต้องเรียนจบปริญญาตรี คุณต้องเรียนสูง ๆ เรียนเก่ง ๆ ผ่านการแข่งขันมากมาย จบแล้วเรียนต่อเมืองนอกนะ จบแล้วเรียนต่อราชการนะ แต่ว่าความถูกคาดหวังเหล่านี้ มันทำให้เขาตอบแทนความหวังเหล่านี้ได้ยากเหลือเกิน เพราะความที่เราอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ มันทำให้เราขยับตัวยาก

 

ดังนั้นมันเลยนำมาซึ่งความคาดหวังต่ออนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นใหม่ ว่าเขาอยากจะได้เศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ มีรัฐสวัสดิการ มีสภาพคมนาคมที่เอื้อกับการเดินทางไปทำงาน มีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น เพราะจะได้ไปตอบแทนความคาดหวังของคุณไง แล้วเราจะได้ทำชีวิตของเราให้ดีด้วย เป็นความกลัวที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากสภาพสังคมที่ไม่เอื้อให้เราประสบความสำเร็จ

 

ในขณะเดียวกัน อาจจะเป็นเพราะเรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมากขึ้น เราได้รับชุดความคิดแบบเสรีนิยม แนวคิดประชาธิปไตย หรือว่าแนวคิดรัฐสวัสดิการจากประเทศอื่น ๆ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีอินเตอร์เน็ต เราสามารถไปดูรัฐสวัสดิการ ดูการศึกษา ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันก็สามารถเข้ายูทูปแล้วเห็นได้แล้ว ก็เลยเกิดการตั้งคำถามว่าแล้วทำไมเราไม่มีแบบนั้น ทั้งที่เราจ่ายภาษีให้รัฐเหมือนกันนะ แล้วทำไมเราถึงยังไม่ได้รับกลับคืนมา

 

เกรปมองว่าคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมีความเป็นพลเมืองโลกสูงมาก ๆ แล้วก็เข้าใจในบริบทการเป็นโลกาภิวัตน์ มองเห็นความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการทำงานของรัฐมากขึ้น และทำให้เราอยากได้สิ่งที่ดีตอบกลับคืนมาสู่ชีวิตของเรา และเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมสังคมของเราบ้าง”

 

 

อะไรคือความต้องการ ความคาดหวัง ของคนรุ่นใหม่ที่เป็น 1st Jobber ต่อการทำงาน ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างคนสองรุ่นในที่ทำงาน

“ต้องบอกก่อนว่า ส่วนตัวไม่ได้พบเจอเหตุการณ์ที่มันขัดแย้งกันอย่างสุดโต่งมากนัก แต่จากที่ทำงานกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านมา หรือคนที่ทำงานหลาย ๆ คน เห็นได้ชัดเลยว่าคนรุ่นเก่า ที่อาจจะหมายถึงอายุ 30 ปีขึ้นไปก็ได้ มีประสบการณ์ในการทำงานที่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่สูง คิดรอบคอบว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดอะไรต่อไป จะวางแผนหลายอย่าง ที่ทำให้เห็นถึงวัยวุฒิและคุณวุฒิที่แตกต่างกันมาก

 

ในฐานะที่เราเป็น 1st Jobber เรื่องของการทำงาน เกรปยอมรับว่าประสบการณ์มีความสำคัญมาก และประสบการณ์ที่คนรุ่นเก่าเจอคนมาเยอะกว่าค่อนข้างสำคัญ แต่ความต่างของวัยนำมาซึ่งความคาดหวังที่แตกต่างกัน อย่างเรื่องของการทำงานและการจัดการชีวิตที่แตกต่างกัน

 

คนรุ่นเก่าอาจจะเติบโตมากับบริบทของสังคมที่ต้องขยันทำงาน อุทิศชีวิตให้กับงาน วันทั้งวันทำแต่งาน และอาจจะหอบคอมฯ กลับไปทำงานด้วย ชีวิตของคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นแบบนี้ในช่วงหนึ่งที่บ้างานมากและมีความสุขกับการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่อยากจะได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งเกรปคิดว่าต่อเนื่องมาจากความคาดหวังต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ ว่าเขาอยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น

 

แน่นอนว่าการทำงานไม่ใช่แค่ตอบสนองว่าเขาอยากทำงานอะไร แต่ต้องตอบสนองการใช้ชีวิตด้วย เช่น 1.ค่าตอบแทน 2.เวลาพักผ่อน มีเสาร์อาทิตย์แล้วเป็นเสาร์อาทิตย์ที่แท้จริงไหม หรือเป็นเสาร์อาทิตย์ที่โดนตามงานอยู่ รวมถึงพื้นที่ในการคุยงาน คนรุ่นเก่าหรือหน่วยงานบางที่อย่างราชการ ยังใช้ไลน์ในการคุยงานกัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่อยากจะแยกพื้นที่ของงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน เพื่อไม่ให้ชีวิตและการทำงานมันปะปนกันมากเกินไป จนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีอิสระในการใช้ชีวิต”

 

 

อะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่คาดหวังต่อคนรุ่นเก่าในการทำงาน

“คาดหวังในเขารับฟังเรา ไม่ว่าความคิดนั้นจะดีหรือไม่ดีอยากให้คุณบอกว่า เพราะอะไรถึงดี เพราะอะไรถึงไม่ดี เกรปคิดว่าการรับฟังเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงาน และเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างวัยที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องชีวิตหรือเรื่องการทำงาน

 

จากที่ทำงานมามีหลายครั้งที่ความคิดเห็นของเกรปโดนปัดตก แต่ผู้ใหญ่ที่ดีจะบอกว่าถูกปัดตกไปเพราะอะไร ขอแค่ฟังกันไม่ใช่พูดว่าความคิดคุณแย่มากไปทำมาใหม่ แล้วใช้ความอาวุโส ความคิดว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อนมาข่มเรา และเราคิดว่าอันนี้เป็นความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ว่า อยากให้คนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนรับฟังกันนิดนึงไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม”

 

 

อะไรคือความคาดหวัง ความต้องการของคนรุ่นเก่าต่อคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมทั่วไปหรือสังคมการทำงาน

“อันนี้ค่อนข้างยากมาก เพราะเราไม่ใช่คนรุ่นเก่า (หัวเราะ) และจากการสอบถามความคิดเห็นมาก็ไม่ได้เจาะจงไปที่ตรงนี้มากนัก แต่ว่าอย่างที่พูดไปก่อนหน้าว่า ถ้าเป็นในเชิงครอบครัวก็คงคาดหวังให้เรากลับไปดูแลเขา หรือว่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการทำงานแบบที่เขาคาดหวังในรูปแบบนั้น ๆ เช่น เป็นข้าราชการ หรือว่าต้องเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวะนะ

 

ทีนี้ความคาดหวังในการทำงานยังเห็นภาพไม่ชัด แต่เกรปรู้สึกว่าเรามักจะถูกสอนตลอดเวลาในเชิงบวกนะ ว่าคนรุ่นก่อนมีความคาดหวังว่าเขาอยากจะสอนเราได้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เขาจะอยากสอนให้เราดีไปพร้อมกับเขา แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดี เขาจะสอนเราว่าทำไมถึงทำได้ไม่ดีล่ะ ก็เป็นได้ทั้งบวกและลบในความคิดนี้

 

เกรปก็คิดว่าเขาอยากให้เรารับฟังเขาเหมือนกันนะ และคิดว่ามันเป็นจุดกลางของการทำงาน อยากจะทิ้งไว้ว่าเจนเนอเรชั่นในการทำงาน มันอาจจะมีส่วนที่แตกต่างกันก็จริง แต่ว่าในบางเรื่องเจนเนอเรชั่นที่แตกต่าง ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างเสมอไป เกรปคิดว่ามันรับฟังกันได้เสมอ”

 

 

ทำไมคนรุ่นเก่าต้องถึงคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะต้องทำได้ทุกอย่าง?

“มันจะมีคำว่า Multitasking เกิดขึ้นมาในยุคนี้เนอะ และเพราะเขาเห็นว่าคนรุ่นใหม่ทำได้หลายอย่างจริง ๆ เช่น ทำได้ตั้งแต่ Microsoft office ไปจนถึง Photoshop Lightroom ก็ทำได้หมด แต่ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนทำได้แบบผิวเผิน เพราะว่าเราอยู่กับคอมฯ มีโปรแกรมอะไรมาเราก็ลองทำ คือมันก็ทำได้ แต่ไม่ได้เก่งในแต่ละโปรแกรม เขาอาจจะเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่น่าจะคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีสิ น่าจะทำได้หลายอย่างสิ ตอนนี้มีสื่อมากมายทำไมคุณไม่ไปหาความรู้ล่ะ ก็คิดว่าอาจจะเป็นเหตุผลนี้ก็ได้”

 

 

จะทำยังไงให้คนสองรุ่นปรับตัวเข้าหากันและเข้าใจกันมากขึ้น

“คำตอบมันอาจจะดูซ้ำซาก แต่มันคือการรับฟังกัน อย่างในการทำงานไม่ว่าเราจะเสนออะไรไป ช่วยรับฟังกันหน่อย ในฐานะคนมีประสบการณ์ก็ช่วยสอนเราหน่อย คนรุ่นเก่าก็อาจจะคาดหวังว่าให้เรารับฟังเขาบ้างเหมือนกัน ในยุคสมัยนี้อาจจะมีเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมือง หรือวัฒนธรรมในชุดความคิดบางอย่างของการใช้ชีวิตที่มันไม่ตรงกัน ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปเร็วมาก ชุดความคิดของคนสองรุ่นค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก มันจะมีปัจจัยเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องงานเยอะ จนอาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายตั้งแง่ว่าต้องเป็นแบบนี้แน่เลย ความคิดคนแก่แน่ ๆ เลย

 

ซึ่งเราคิดว่าไม่เสมอไป โอเค เจนเนอเรชั่นสำคัญ แต่การมองไปที่ตัวบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าบางทีที่เราขัดแย้งกัน ก็อาจจะมาจากคนรุ่นเดียวกันก็ได้ที่คุยงานกันไม่รู้เรื่อง

 

ก็รับฟังกันมากขึ้นหน่อย อย่างเกรปเคยผ่านความขัดแย้งกับแม่และครอบครัว ในเรื่องของการทำงานและการเมืองมาแล้ว แต่ว่าผ่านมาได้เพราะว่าเกรปแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กที่เป็นข่าวสารมาก ๆ พ่อแม่ก็กดอ่านตามและเขาก็รับความจริงอีกชุดไป เราก็ค่อย ๆ คุยกัน

 

อย่างเรื่องสอบเข้าราชการ เกรปก็บอกไปว่าไม่อยากทำแล้ว คิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำอย่างมีความสุขได้นะ คิดว่าอาชีพอื่นก็มีความมั่นคงได้เหมือนกันนะ ก็ค่อย ๆ บอกและแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เราอยากทำแบบนี้ ขอให้กันได้ไหม (หัวเราะ)

 

สิ่งสำคัญคือคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นถัดขึ้นไปจากเรา ก็ต้องรับฟังเราเหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่เรารับฟังเขาฝ่ายเดียวแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่มันก็จะมีอยู่จุดหนึ่งอยู่เหมือนกันนะที่คุยกันไม่รู้เรื่อง พูดอะไรไปก็ไม่ฟัง ปิดทุกอย่าง ฉันแก่กว่า ฉันมีประสบการณ์มากกว่า หรือเราเองก็พูดว่าเราไม่ฟัง สุดท้ายก็ปิดด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งก็จะหาจุดตรงกลางไม่ได้สักที อีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมันไม่สามารถเห็นตรงกันได้ทุกเรื่อง

 

เราอาจจะเห็นและรับฟังกันในเรื่องการทำงานได้ผ่านความแตกต่างของเจนเนอเรชั่น เราไปด้วยกันได้ แต่เรื่องการเมืองอาจจะไปด้วยกันไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรนี่ เราคิดว่าไม่เป็นไรจริง ๆ ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อย่าเอาความแตกต่างเหล่านี้มาทำให้กลายเป็นความขัดแย้ง แล้วทำให้ค่าของความขัดแย้งเยอะไปกว่าความสัมพันธ์ของคน ทำให้เยอะไปกว่าคุณค่าของความเป็นคนที่มี

 

มันเกิดขึ้นได้ยังไงกับเจ้านายที่ไล่ลูกน้องออก เพราะความเห็นต่างทางการเมือง มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น หรือว่าแม่ที่ไล่ลูกออกจากบ้านเพราะเห็นต่างกัน ทำไมเราถึงทำให้คุณค่าของเรื่องการเมือง หรือความขัดแย้งเหล่านี้ มันมีมากกว่าความเป็นมนุษย์ล่ะ

เกรปตอบแล้วอาจจะดูโลกสวยจังเลย (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ไม่อะค่ะ มันคือความคาดหวังของคนสองรุ่นที่ค่อนข้างแตกต่างกันแหละ เกรปอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ อยากมีผู้นำที่ดีกว่านี้เหมือนกัน แต่ว่าการรับฟังกันและกันภายใต้คุณค่าของความเป็นมนุษย์สำคัญมากไม่แพ้กัน”

 

 

ในเชิงของการทำงาน จะทำยังไงให้คนสองรุ่นปรับตัวเข้าหากันได้

“มีความแน่วแน่แค่ไหนที่อยากจะปรับตัวเข้าหากัน ถ้าเกิดไปตั้งแล้วว่าเราปรับตัวเข้าหากันไม่ได้แน่นอน มันก็จะทำไม่ได้ คือเกรปคิดว่าถ้าเราอยากจะปรับตัวเข้าหากัน มันก็จะมีหนทางใดหนทางหนึ่งที่ทำให้เราคุยกันได้เสมอ มันเกิดขึ้นได้ไม่มากนะที่เรายังคุยกับคนอื่นได้แม้จะมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องของการทำงาน เกรปคิดว่าความเป็นมืออาชีพสำคัญมาก เพราะเราคุยกันเรื่องงานอยู่ เรามีเป้าหมายที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ เราจะทำให้ถึงตัวชี้วัดนั้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราควรคุยกัน ไม่ใช่เอาปัจจัยอื่นที่พูดไปตอนต้นมาเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นเรื่องของวัยที่แตกต่างกันก็ตาม ต้องคุยกันแบบเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์และคนที่มีความคิดใหม่ ๆ มาจอยกัน มาเจอกัน มาหาจุดร่วมกันผ่านเป้าหมายนี้ที่เราอยากจะไปให้ถึงมากกว่า”

 

 

อยากฝากอะไรกับ 1st Jobber บ้าง

“ก็เหมือนฝากตัวเองเนอะ (หัวเราะ) เกรปค่อนข้างเข้าใจเพราะก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาด้วยความยากลำบาก แต่ว่าในช่วงเวลานี้ไม่ว่าจะโควิด สถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ผู้นำทั้งฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ที่ทำให้สถานการณ์ตรงนี้ยิ่งลดทอนความคาดหวัง ลดทอนภาพที่เราอยากเห็นในอนาคตลงไปอีก มันน่าจะต้องอยู่ด้วยความหมดสิ้นเรี่ยวแรงแน่ ๆ

 

แต่ว่าก็อยากให้คิดไว้ว่ามันจะมีวันของเราเสมอ มันจะมีวันที่เราไปสมัครงานด้วยความคาดหวังว่าเราจะได้งานนี้และมีค่าตอบแทนที่ดีกว่านี้ เราจะสามารถสร้างตัวตนได้ สร้างตัวของเราได้ผ่านการทำงานที่เรารัก การทำงานที่เราชอบ อย่าไปกดดันตัวเองมากค่ะ มันจะมีวันของเราจริง ๆ นะ

 

แล้วก็ถ้าใครที่ถูกคาดหวังจากครอบครัวมาเยอะ อยากให้ตั้งสติฟังและคุย เกรปคิดว่ามันผ่านไปได้นะ เพราะว่าถึงไม่คุยก็อาจจะดื้อแพ่งออกมา (หัวเราะ) ก็แสดงจุดยืนของตัวเองค่ะ แล้วมันก็จะผ่านไปได้ด้วยดี ถึงจะผ่านไปได้ด้วยไม่ดี แต่มันก็จะผ่านไปอยู่ดี”

Category:

Passion in this story