ย่างเข้าสู่ช่วง “เทศกาลกินเจ” เทศกาลแห่งการละเว้น ตามคติความเชื่อของชาวจีนว่า ให้ดำเนินประเพณีถือศีลกินผัก ละเว้นการทำร้ายชีวิตสัตว์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่มหาโพธิสัตว์กวนอิม หรือตามความเชื่อในตำนานต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตำนานใด ก็ยังมุ่งให้คนลดละเลิกทำลายชีวิตสัตว์เพื่อเป็นกุศลผลบุญกับตัวเอง
แต่กระนั้นคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็ยังไม่อินกับรากเหง้าของความเชื่ออันนี้ และยึดถือปฏิบัติตามที่เห็นเหมาะสม บางส่วนก็ยังมีความเข้าใจสับสนระหว่างการทานเจ มังสวิรัติ และวีแกน หนำซ้ำยังนำมาผสมปนเปกันแบบเหมารวมกันเสียอีก….และแม้การทานเจ มังสวิรัติ และวีแกน จะมีรากของการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันคือ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาทานผักผลไม้ แต่ทั้ง 3 แบบนี้ก็มีที่มาแตกต่างกันและเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
มังสวิรัติ = สังสะ+วิรัติ
มังสวิรัติ ชื่อก็อธิบายได้ชัดเจน มังสะ คือ เนื้อสัตว์ วิรัติ คือ การงดเว้น…
มังสวิรัติ จึงเป็นรูปแบบการบริโภคอาหารโดยการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ตรงกับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า Vegetarianism ซึ่งหมายถึง ผู้ซึ่งละเว้นจากการบริโภคสัตว์ทุกชนิดเป็นอาหาร มังสวิรัตินี้ นอกจากเป็นวัฒนธรรมการบริโภคแล้ว ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ยึดมั่นของศาสนาต่างๆ มาช้านาน โดยเฉพาะศาสนาพุทธในบางนิกาย และอีกหลายศาสนาในตะวันออกกลาง เช่น ศาสนาเชน ศาสนาฮินดู ศาสนาโซโรแอสเตอร์ ศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นๆ โดยยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน บางศาสนายึดถือธรรมเนียมปฏิบัตินี้มาแล้วหลายพันปี
มังสวิรัติ มีข้อแตกต่างกับการทานเจ และวีแกนอยู่หลายประการ อาทิ มังสวิรัติอาจจะทานผลิตภัณฑ์จากไข่และผลิตภัณฑ์จากนมได้ และไม่งดเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน เหมือนการทานเจ และมังสวิรัติยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในแนวทางการปฏิบัติตามแต่ธรรมเนียมและวัฒนธรรม เช่น บางแห่งทานนมได้ บางแห่งทานไข่ได้ บางแห่งไม่ทานทั้งนมทั้งไข่ เป็นต้น
วีแกน (Vegan)
วีแกน ไม่ใช่แค่การบริโภคอาหารและเป็นวิถีชีวิตที่เลือกจะไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น และวีแกน ไม่ได้ย่อมาจาก Vegetarian เหมือนที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจ แนวคิดของวีถีแบบวีแกน จึงต้องคำนึงจุดประสงค์ที่ว่า จะเป็นวิถีชีวิตที่ไม่รบกวนสิ่งมีชีวิต ซึ่งมองยาวไปถึงการงดทานเนื้อสัตว์และงดการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ที่มากกว่านั้นคือรวมไปถึงการทดลองที่ใช้สัตว์เป็นส่วนทดสอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของใช้ในห้องน้ำ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่เราคาดไม่ถึง
ในต่างประเทศ จึงเกิดการตระหนักรู้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองสินค้าและบริการ คือ Vegan Trademark (เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยสมาคมวีแกนของอังกฤษ ” The Vegan Society ” ปัจจุบันมีการใช้ตราสินค้านี้กว่า 22,000 รายการ)
ดังนั้นวีแกนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ไม่บริโภคและใช้ทุกอย่างที่มาจากสัตว์ หรือได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ ซึ่งบางกลุ่มอาจจะซีเรียสไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการทดลองในสัตว์ เช่น ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ ดังนั้นชาววีแกน ต้องเข้าใจถึงเป้าหมาย มีความรู้ และมีทักษะในการดำเนินการชีวิตอย่างเหมาะสม
ทานเจ
“หนึ่งชีวิตทานเจ หมื่นชีวิตรอดตาย” เป็นนิยามที่ถ่ายทอดถึงเรื่องราวของการทานเจได้เป็นอย่างดี เทศกาลกินเจ หรือประเพณีการถือศีลกินผัก เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวจีนในแบบลัทธิเต๋า ที่จะบริโภคแบบเจตลอดระยะเวลา 9 วันตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี
การทานเจเป็นประเพณีปฏิบัติทุกปื ที่ชาวจีนจะงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุนอาทิ ต้นหอม หัวหอม กระเทียม กุยช่าย ผักชี เป็นต้น ชาวจีนทานอาหารเจด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันแต่โดยหลักแล้วสามารถแบ่งเหตุผลออกได้เป็น 3 ประการได้แก่
1.ทานเพื่อสุขภาพ การทานเจในช่วงเวลาหนึ่งจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ขับพิษของเสียต่างๆ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารดีขึ้น
2.ทานด้วยจิตเมตตา การเบียดเบียนผู้อื่นก่อให้เกิดกรรมไม่สิ้นสุดการงดเว้นจึงเป็นการเมตตาไม่กอ่กรรมต่อกัน
3.ทานเพื่อเว้นกรรม เป็นคติความเชื่อว่า การงดเว้นเนื้อสัตว์จะทำให้ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะได้ไม่เป็นการสร้างกรรม
แม้จะละเว้นการทานเนื้อสัตว์หันมาทานผักเหมือนกันแต่จะเห็นว่า ทั้ง 3 แนวทางมีที่มาและรากความคิดแตกต่างกัน เป้าหมายและจุดมุ่งหมายก็แตกต่างกันด้วย… สำหรับคนยุคใหม่แล้ว การเลือกปฏิบัติอย่างเหมาะสม งดการทานเนื้อสัตว์ และหันมาทานผักบ้าง ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่างน้อยก็ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วสุขภาพกายที่ดี เป็นสิ่งที่ซื้อหาไมได้ อย่างแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ได้ติดโควิด-19 ก็ต้องทำให้สุขภาพร่างกายเราสมบูรณ์แข็งแรง
Category: