นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย ในยุคที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการก่อนอายุ 30 ปี…แต่กลับต้องพบเจอความจริงที่ว่าเส้นทางดังกล่าวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และมีเพียงหนึ่งในสิบหรือหนึ่งในร้อยเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ เมื่อมีคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในวัยไม่เกิน 30 จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า เขาทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ?

 

“สุกี้ตี๋น้อย” หนึ่งในธุรกิจบุฟเฟ่ต์สาย “ชาบู” เป็นหนึ่งในกิจการที่น่าสนใจ ทั้งในด้านรูปแบบของร้าน การตกแต่ง โลเคชัน และ All You Can Eat ในราคา 199 บาท ซึ่งมีทั้งเนื้อและซีฟู๊ดส์ ที่สำคัญเจ้าของกิจการ สุกี้ตี๋น้อย เป็นเด็กสาวที่อายุยังไม่พ้น 30 แต่ขยายกิจการของร้านไปแล้วถึง 28 สาขา และอาจจะมากกว่านั้นในสิ้นปีนี้


Passion Gen จึงรีบนัดพบกับ
เฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย เพื่อเจาะลึกความสำเร็จของสาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้ว่า ทำอย่างไรถึงสร้างธุรกิจสวนกระแสการแข่งขันที่รุนแรง และขยายสาขาได้ถึง 28 สาขาในเวลาเพียง 3 ปี

 

 

จุดกำเนิด สุกี้ตี๋น้อย เป็นมาอย่างไร

แต่ก่อนเฟิร์นก็ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศปกติ ทำงานมาประมาณ 3 ปี ก็คิดว่าเราเองมีความฝันที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง ตอนนั้นอายุ 25 ปีก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเริ่มในสิ่งที่อยากจะทำจริงๆ เพราะยิ่งเราเริ่มเร็วก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดได้เร็ว มีโอกาสในการปรับปรุง พัฒนาได้เร็ว เฟิร์นจึงไปคุยกับคุณพ่อ ปรึกษาคุณพ่อว่ามีที่ที่บ้านตรงบางเขน พื้นที่ด้านหน้าเป็นห้องว่าง น่าจะทำร้านอาหารได้ เฟิร์นมองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เริ่มต้น เพราะเรามีพื้นฐานความรู้จากครอบครัวที่ทำร้านอาหารอยู่แล้ว

 

 

คนส่วนหนึ่งทำงานประจำ เพราะความมั่นคง กลัวที่จะออกมาเริ่มต้นธุรกิจ

ตรงนี้มองได้สองด้าน ทำงานประจำ มีรายได้ประจำเป็นความมั่นคงในแบบหนึ่ง หลายๆ คนก็มีความสุขกับตรงนั้น แต่เฟิร์นเองไม่ได้อยากได้แค่ความมั่นคง แต่อยากประสบความสำเร็จ เราพร้อมที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะผ่านเดินทาง พบอุปสรรคผ่านความลำบาก

 

จากพนักงานออฟฟิศมาทำธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย แตกต่างกันมาก พอเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ต้องเหนื่อยกว่ากันเยอะมาก พนักงานออฟฟิศทำงาน 9.00-18.00 น. หมดเวลาคือจบ แต่ตอนที่เริ่มสุกี้ตี๋น้อย คือ เหนื่อยมาก!! ทำงานทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ไม่มีวันหยุดโทรศัพท์ต้องเช็คตลอดว่าตอนนี้ร้านแต่ละสาขาเป็นอย่างไร เรียกว่าชีวิตนี้ทั้งวันทั้งคืนเพื่อสุกี้ตี๋น้อยเลยค่ะ ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ล้างจาน แคชเชียร์ งานในครัว พนักงานเสิร์ฟ ไปซื้อของเองที่ตลาด เราต้องทำให้เป็นทั้งหมด เหนื่อยมากแต่มีความสุข สนุกมาก รู้สึกสนุกกับปัญหาที่เจอทุกอย่าง เพราะเฟิร์นมองว่าปัญหาคือความท้าทาย ก็แก้ไขเรื่อยๆ วันนี้ก็แก้เรื่องนี้ พรุ่งนี้ก็แก้อีกเรื่องหนึ่ง ตอนทำงานประจำเราทำหน้าที่รูทีนไม่มีปัญหาให้แก้ไข ทำงานไปวันๆ ไม่รู้สึกว่าสนุก  ไม่รู้สึกว่าตื่นมาแล้วตื่นเต้นเหมือนอย่างตอนนี้

 

 

การเริ่มธุรกิจเริ่มได้หลายอย่าง ทำไมถึงเลือกทำสุกี้ ในช่วงที่ตลาดแข่งขันสูงมาก

อย่างที่บอกว่า ครอบครัวทำร้านอาหารมาหลายแบบมากๆ เลย แต่ไม่ใช่สุกี้นะ เป็นสวนอาหาร “เรือนปั้นหยา” เป็นสวนอาหารขนาดใหญ่ จำหน่าย อาหารไทย อาหารฝรั่ง ลูกค้าที่ร้านก็เยอะไหม พอเริ่มขยายสาขา ลูกค้าก็ตามไปทานแต่ไม่มั่นคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้

 

การทำอาหารยากนะ อาหารอย่างเดียวกันแต่ละจานที่ทำต้องออกมารสชาติเดียวกัน ลูกค้าไปทานที่สาขาไหนก็ต้องหวังว่า ร้านชื่อนี้ อาหารนี้ทานแล้วต้องได้รสชาติเดียวกันกัน ดังนั้นคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก คุณภาพต้องคงที่ รสชาติต้องคงที่ แล้วเฟิร์นเองก็ไม่ได้เป็นเชฟ ไม่ได้เป็นคนทำอาหาร ดังนั้นถ้าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับอาหาร ก็ต้องสามารถควบคุมคุณภาพได้ ซึ่งพอมองในตลาดแล้ว “สุกี้” เป็นสิ่งที่ทำได้ เราสามารถทำน้ำจิ้มจากครัวกลาง เราสามารถเตรียมวัตถุดิบจากครัวกลางได้ แล้วส่งไปได้ทุกสาขาได้ ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำสุกี้

 

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากในประเทศไทย เพราะคนไทยไม่รู้จะทำอะไรก็ทำร้านอาหาร ดังนั้นเฟิร์นไม่ได้มองว่า คู่แข่งเยอะแล้วเราจะไม่ทำ เรากลับมองว่า สุกี้ยิ่งมีร้านเยอะหมายถึงก็มีลูกค้าเยอะ ดังนั้นถ้าเราทำธุรกิจนี้อย่างไรก็มีลูกค้า แต่เราต้องทำให้แตกต่างจากคนอื่น เราต้องมีอะไรที่ดึงดูดลูกค้ามาหาเรา แล้วก็โอเคเรามองว่า เทรนด์ 199 บาทบุฟเฟ่ต์มันเป็นอะไรที่จับต้องง่าย ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าได้ แต่เราไม่ทำ 199 บาทแบบทั่วไปที่ไม่มีแอร์ ไม่มีที่จอดรถ ไม่มีพนักงานบริการ ต้องบริการตัวเอง

 

สุกี้ตี๋น้อยเราก็ทำอีกแบบหนึ่งเลย ราคา 199 บาท ห้องแอร์ มีที่จอดรถกว้างขวาง มีการบริการที่ดี มีโลเคชั่นที่เดินทางสะดวกสบาย เปิดบริการเที่ยงวันถึงตีห้า เราทำสุกี้เหมือนคนอื่นแต่ก็แตกต่างกับคนอื่นอย่างมาก

 

จุดขายจุดแข็งเหล่านี้คิดขึ้นมาได้อย่างไร 

เราเริ่มจากสาขาแรกที่บ้านบางเขน ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร เราเริ่มต้นก็ไม่ได้ลงทุนเยอะ ร้านก็ยังไม่ได้เปิดเที่ยงวันถึงตีห้า เราทำไปปรับไปเรื่อยๆ เราแค่มองว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าร้าน ทำอย่างไรลูกค้าถึงเลือกมาทานที่ร้านของเรา ก็ตกแต่งโน่น ตกแต่งนี่ ทำให้มันดี มีบริการที่ดี คือเราลงทุนไปก่อน เราอยากให้ลูกค้าก่อนแล้วยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ เดือนแรกๆ จะขาดทุนยังไง ตอนนั้นช่วงเริ่มต้นก็คิดไม่ได้ เพราะถ้าคิดเราก็จะไม่กล้าไปลงทุนอะไรเลย ถ้ามัวแต่คิดว่าจะได้กำไรไหมเนี่ยเดือนแรก ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เดือนแรกจะเปิดมาแล้วมีกำไรเลย เราแค่มองว่า จุดเริ่มต้นของเราคือ ถ้าลูกค้าเข้าร้านเราก็ประสบความสำเร็จแล้ว

 

 

ราคา 199 บาท เราขาดทุนหรือกำไร

ราคา 199 บาท ถ้าโวลุ่มไม่ได้ก็ขาดทุน คือช่วงแรก ประมาณ 6 เดือนแรกร้านสุกี้ตี๋น้อยไม่ได้มีกำไรอะไร เราก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ภายหลังก็เริ่มกลับมาเบรกอีเวนท์ได้ มันก็ได้ตอนที่มีลูกค้าจำนวนมากเข้ามาทาน

ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยเรามี 28 สาขา สุกี้ตี๋น้อย 199 บาทเป็นราคาเดียว ลูกค้าสามารถทานได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว อาหารทะเล กุ้งปลาหมึก ซีฟู๊ดส์ ไม่มีราคาอื่น ลูกค้ามาที่ร้านสบายใจ ราคาเดียวทานได้ทุกอย่างเลย ไม่จำกัดเลย

 

 

กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจของสุกี้ตี๋น้อยจะเป็นอย่างไร

ส่วนมากเราจะเปิดเป็นสแตนอะโลน เพื่อที่ลูกค้าจะได้เข้ามาทานที่ร้านได้อย่างง่าย เพราะเราเปิดเที่ยงวันถึงตีห้า สี่ทุ่ม ห้าทุ่มก็มาจอดรถเดินเข้ามาในร้านสบาย แล้วการขยายของเราก็เลือกพื้นที่ ที่ขนาดใหญ่มีที่จอดรถกว้างขวาง ติดถนนใหญ่ ลูกค้าเห็นง่าย การเดินทางสะดวก เราก็มองว่าเราจะพยายามขยายไปได้ให้ครบทุกจุดของกรุงเทพ และปริมณฑลด้วย  ตอนนี้มีอยู่  28สาขา และปีนี้หวังว่าจะขยายได้อีก 10 สาขา ถ้าสถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้น 

 

 

การระบาดของโควิดกระทบกับสุกี้ตี๋น้อยมากหรือไม่อย่างไร 

กระทบมาก หนึ่งเลยคือเมื่อมีมาตรการ เคอร์ฟิวส์บ้าง ล็อกดาวน์บ้าง เราก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย แล้วในด้านความมั่นใจของลูกค้า ถ้าลูกค้าเป็นกังวลเขาก็จะไม่กล้ามาทาน อันนี้เราก็มีผลกระทบอีก แต่รวมๆแล้วลูกค้ายั่งเชื่อมั่นในมาตรการที่เรามีในร้าน เราค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องนี้ ทำให้ลูกค้ายังเข้ามาทานในร้านสม่ำเสมอ

 

 

เรามีมาตรการป้องกันโควิดอย่างไร

ประการแรกเลย ก็มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการในร้าน มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการ เมื่อลูกค้าทานอาหารเสร็จจะมีการทำความสะอาดโต๊ะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง แล้วใช้ช่วงการแพร่ระบาด เราก็มีมาตรการให้ลูกค้านั่งได้ 25%(ตามมาตรการของรัฐ) ลูกค้าจะนั่งห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรอยู่แล้วและทุก 2-3 วันจะมีการพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดทุกสาขา ซึ่งร้านเราค่อนข้างโปร่ง เพดานสูง ลูกค้าก็จะชอบ

 

 

เป้าหมายที่เราวางไว้กับธุรกิจ

ตั้งแต่ทำสุกี้ตี๋น้อยมามีเป้าหมายว่า ไม่อยากให้สุกี้ตี๋น้อยเป็นร้านอาหารธรรมดา เราอยากเห็นสุกี้ตี๋น้อยเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย อยากให้ธุรกิจเติบโตไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นอนาคตถ้าทำได้ เราก็จะไปต่างจังหวัดด้วย ก็จะพยายามเป็นแบรนด์ที่ไปทั่วประเทศไทย ใครที่ทานสุกี้ต้องนึกถึง สุกี้ตี๋น้อย

 

 

ในการทำธุรกิจที่ผ่านมาน่าจะเจอทั้งความสำเร็จ เจอทั้งอุปสรรค ความล้มเหลว ข้อผิดพลาด เล่าใฟ้ฟังนิดนึงในสิ่งที่เราได้เรียนรู้

อย่างแรกที่เรามองคือการดูแลลูกค้า ลูกค้าเป็นที่หนึ่ง แล้วเราก็พยามดึงลูกค้ามา ดูแลลูกค้าอย่างดีให้ลูกค้า แต่กลับพบความยากในช่วงแรกๆ คือเรื่อง การจัดการพนักงานเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เราก็พบว่าถ้าพนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน ก็จะให้บริการลูกค้าได้ไม่ดี การส่งมอบความสุขถึงลูกค้าก็ทำได้ไม่ดี เพราะพนักงานเป็นตัวกลางที่จะส่งมอบความสุขจากเราไปหาลูกค้า

 

ดังนั้นพอทำไปปีสองปี เราไม่สามารถพูดคุยกับพนักงานทุกคนได้ เราก็ต้องหานโยบายที่ทำให้พนักงานที่ทำงานกับเรามีความสุข เฟิร์นจัดทำเทรนนิ่งพนักงาน ให้เขาเห็นว่า เขาสามารถพัฒนาสกิล สามารถเติบโต มีแคเรียร์พาร์ทที่ดีในสุกี้ตี๋น้อยได้ เรามีอินเซ็นทีฟอะไรมากมายเพื่อให้พนักงานรู้สึกมีความสุขในการทำงานกับสุกี้ตี๋น้อย พนักงานสำคัญมาก ดังนั้นเราต้องดูแลพนักงานอย่างดี บางช่วงที่พนักงานขาดหาย หายาก เราก็ต้องพยายามปรับปรุงเรื่อยๆ ให้พนักงานรักสุกี้ตี๋น้อย

 

 

เคยทำอะไรแล้วรู้สึกผิดพลาดบ้าง

จริงๆเราลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ครั้งหนึ่งลูกค้ามีความเห็นว่า ควรจะมีเนื้อเกรดพรีเมี่ยม แล้วอาจจะคิดราคาอีกราคาหนึ่ง ตอนนั้นก็ลองทำที่สาขาหนึ่ง ผลปรากฎว่า ไม่ประสบความสำเร็จ คือลูกค้าเหมือนน้อยลงน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ พอทำไป 1 เดือนเราก็ยกเลิกเลย กลับเป็นราคาเดียว 199 บาท เราลองอะไรหลายอย่าง แต่ลองทีละหนึ่ง ไปทีละก้าว แต่เราต้องพร้อม ต้องติดตามดูผลลัพธ์ตลอดทุกวันว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ลูกค้าเยอะไหมเท่าไร ถ้าเรามองเทรนด์แล้วว่าไม่ทำให้ลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

 

 

อะไรเป็นหัวใจความสำเร็จของสุกี้ตี๋น้อย

ความมุ่งมั่น ไม่กลัวที่จะล้มเหลว ไม่ยอมแพ้ มองปัญหาเป็นความท้าทาย แล้วก็พร้อมจะสู้กับทุกอย่าง เราจะไม่อยู่เฉย ถ้ากลัวแล้วจะไม่กล้าทำอะไร… ธุรกิจร้านอาหารคู่แข่งเต็มไปหมด เราจะอยู่ในคอมฟอร์ทโซนไมได้ เราต้องกล้าที่จะเด่นแล้วก็ต้องพร้อมที่จะทำ ลองทำดูแล้วติดตามผลลัพธ์ ถ้าดีเราก็ทำต่อ ไม่ดีเราก็พร้อมจะเปลี่ยน 

 


แนะนำคนรุ่นใหม่อย่างไรที่ทำงานประจำ แล้วอยากมีธุรกิจของตัวเองอย่างไร

ต้องมั่นใจว่าตัวเองพร้อมที่จะเผชิญปัญหามากมาย พร้อมที่จะสละเวลาส่วนตัว ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำและพร้อมที่จะให้ลูกค้าก่อน พร้อมที่จะไม่มองตัวเลข แล้วก็ทำให้ดีที่สุด ถ้าเรายังกลัว ยังไม่พร้อม ธุรกิจเราอาจจะไปได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ เรียกว่าไปไม่สุด ดังนั้นต้องคิดให้ดีว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนหรือยัง เราพร้อมที่จะสู้ไหม พร้อมที่จะสละเวลาส่วนตัวทุกอย่างไหม ถ้าพร้อมแล้วก็ทำให้ดีที่สุด

 

 

จะทำธุรกิจร้านอาหารต้องมีอะไรบ้าง

การทำร้านอาหาร สิ่งที่ยากที่สุดในการทำร้านอาหารคือ ต้องทำให้ลูกค้าเข้าร้าน เราต้องมองว่า ใครคือลูกค้าเรา แล้วจะพาลูกค้ามาร้านเราได้อย่างไร ทำอย่างไรลูกค้าถึงจะมาทานร้านเราไม่ไปร้านอื่น อันนี้ต้องเป็นอย่างแรกที่คิด ถ้าเราไม่มั่นใจในสิ่งที่เราทำว่าดีที่สุด ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นตัวเรา เราจะเข้าไหม ลูกค้าเองก็อาจจะคิดเหมือนเรา และไม่เข้าร้านเราก็ได้  ดังนั้นสิ่งที่ทำจะต้องดีที่สุด จะทำอย่างไรก็ได้ จะดึงดูดด้วยราคา สถานที่ บรรยากาศ หรือรสชาติของอาหาร แต่ทั้งหมดต้องตอบโจทย์ว่าลูกค้าอยากจะมาทานที่ร้านเราซ้ำๆ

 

 

สุกี้ตี๋น้อยของ เฟิร์นนัทธมน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และไม่ประหลาดใจเลยว่า ทำไมสุกี้ตั๋น้อยในวันนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเราไม่กล้าที่จะลงมือทำเราก็ยังห่างไกลจากคำว่าสำเร็จ แต่ความกล้านั้น ต้องตอบโจทย์ที่สำคัญที่สุดให้ได้ นั่นคือ ความสุขของลูกค้า เมื่อสุกี้ตี๋น้อยเริ่มต้นจากความสุขของลูกค้า ไม่ใช่ความคิดในการทำกำไรความสำเร็จจึงเกิดขึ้น

Passion in this story