มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ผนึกกำลังทีมไทย MAHIDOL BCILAB ออกแบบสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์ให้สองหนุ่มผู้พิการ ลงชิงแชมป์โลกในการแข่งขัน ไซบาธอน 2020 (Cybathlon) ในวันที่ 13 – 14 พ.ย. นี้

โดยปีนี้ประเทศไทยส่งนักแข่ง (Pilot) ที่เป็นคนพิการเข้าร่วมชิงชัน 2 คน คือ นายศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์ (ออมสิน) หนุ่มขาพิการจากอุบัติเหตุ วัย 34 ปี อาชีพครูสอนศิลปะและขับรถ Grab ลงแข่งประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นด้วยระบบไฟฟ้า และนายเกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) หนุ่มผู้พิการตั้งแต่คอลงไป นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา วัย 26 ปี ลงแข่งประเภทคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI) ขับรถแข่ง

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ปรึกษาทีม กล่าวว่า Cybathlon 2020 ครั้งนี้จัดที่เมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ มีผู้สมัครแข่งขัน 77 ทีมนานาชาติ จาก 30 ประเทศทั่วโลก กำหนดการเดิมจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา แต่ติดสถานการณ์โควิด-19 จึงเลื่อนการแข่งขัน มาเป็นวันที่ 13 – 14 เดือนพฤศจิกายน 2020 โดยแต่ละทีมประกอบด้วย ผู้แข่งขัน (Pilot) นักวิจัย นวัตกรและผู้สนับสนุน

ประโยชน์คุณค่าและความโดดเด่นของการแข่งขัน Cybathlon คือ จุดประกายการสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ใช้กับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้พิการและอุบัติเหตุบาดเจ็บทางสมองและร่างกาย ขณะที่หลายประเทศกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

1. ประเภทควบคุมสั่งการด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์

2. ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า

3. ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจ

4. ประเภทแข่งขันวิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจโดยใช้เทคโนโลยีขาเทียม

5. ประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวางโดยใช้อุปกรณ์เสริมแรงสำหรับผู้พิการไขสันหลัง

6. ประเภทแข่งขันควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก

สำหรับนายเกรียงไกร จะเป็นผู้แข่งขัน ประเภทควบคุมการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Race:BCI)  เพียงคิดก็ขับรถได้ในเกมที่กำหนดโดยใช้สัญญาณสมองควบคุมการเลี้ยวซ้าย  เลี้ยวขวา และเปิดไฟ ต้องเกิดจากการคิดเท่านั้น ห้ามใช้การกระตุ้นแบบอื่นๆ โดยเมื่อปี 2019 เคยมีประสบการณ์ลงแข่งขันย่อยก่อนฤดูกาลของ Cybathlon ในประเภทควบคุมการแข่งรถด้วยคลื่นสมอง ที่ประเทศออสเตรีย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและอัพเดทกติกาการแข่งขัน รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ

ส่วนนายศักดิ์จุติ จะเป็นผู้แข่งขันในประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (Functional Electrical Stimulation Bike Race : FES) ทำให้เขาสามารถปั่นจักรยานได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งการแข่งขันจะให้เวลา 8 นาที สำหรับภารกิจปั่นระยะทาง 1,200 เมตร เขามีส่วนร่วมกับทีมงานในการดีไซน์จักรยานซึ่งมีโช๊คและเกียร์ สามารถปรับเปลี่ยนเป็น 3 หรือ 4 ล้อได้ตามต้องการ ที่นั่งพิเศษออกแบบให้ผู้แข่งสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระและมีประสิทธิภาพ รูปทรงสวยงามทันสมัย อีกทั้งสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์ทำกายภาพฟื้นฟูระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อผู้ป่วยในอนาคตได้

สำหรับสนามแข่งปีนี้มีทั้งหมด 44 ฮับ แบ่งการแข่งขันเป็น 2 รอบ รอบแรกวันที่ 13 พ.ย. 2020 จะทำการแข่งขันทุกทีมและคัดเลือกเหลือเพียงประเภทละ 4 ทีม สำหรับเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 14 พ.ย. 2020  ทั้งนี้คณะกรรมการจัดงาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะส่งตัวแทนมาทำการตรวจเช็ค 3 อย่าง ก่อนการแข่งขัน ดังนี้

  1. Medical Check การตรวจความพร้อมทางสุขภาพของผู้แข่งขันและการเตรียมการ โดยแพทย์จาก รพ.กรุงเทพ ที่ได้รับแต่งตั้งจากประเทศเจ้าภาพ
  2. Technical Check โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางตรวจสอบความปลอดภัยและมาตรฐานของอุปกรณ์การแข่งขันที่ทีมใช้โดยผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสาขาที่เกียวข้อง
  3. Hub Check การทดสอบระบบที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินและการถ่ายทอดสด

การตัดสิน ในการแข่งขันทุกประเภทจะตัดสินจากเวลาที่ใช้ในการทำภารกิจ หากไม่สามารถทำสำเร็จก่อนหมดเวลาจะตัดสินจากคะแนนหรือระยะทางที่ทำได้ แต่ละทีมจะมีโอกาส 3 ครั้งเพื่อนำคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการจัดอันดับ ทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด 4 อันดับแรกของแต่ละประเภทการแข่งขันจะได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป

ความท้าทายของ Cybathlon คือภารกิจทั้งหมดถูกออกแบบจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การผูกเชือกรองเท้าและการเปิดขวดในการแข่งขันแขนเทียม การนั่งลงและยืนขึ้นในการแข่งขันขาเทียม หรือการขึ้นลงบันไดในการแข่งขันวีลแชร์ไฟฟ้า

โดยในปีนี้ได้มีการเพิ่มความยากของภารกิจไปอีกระดับ เช่น Haptic Box ที่จะต้องใช้แขนเทียมในการคลำเข้าไปในกล่องทึบเพื่อหาวัตถุที่มีรูปทรงตามที่กำหนดไว้  หรือในส่วนของ BCI และ FES ที่สนามแข่งขันนั้นมีความยาวมากขึ้นเป็นอย่างมากในระยะเวลาที่จำกัด หากระบบที่ใช้นั้นมีการตอบสนองที่ไม่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากพอก็อาจทำให้ไม่สามารถทำภารกิจจนจบก่อนหมดเวลาตามที่กำได้


Category:

Passion in this story