ทิช คอซ  (Tish Cox) แบรนด์เสื้อผ้าสตรี จากเมืองแดลลัส รัฐแท็กซัส  ก่อตั้งโดยดีไซน์เนอร์สาวชาวอเมริกันชื่อเดียวกับแบรนด์  (ทิช คอซ ) ซึ่งเสื้อผ้าของ ทิช คอซ  นอกจากจะมีจุดเด่นเรื่องความหรูหรา และสีสันที่สดใสแล้ว ทราบหรือไม่ว่าเสื้อผ้าส่วนหนึ่งของแบรนด์ยังถูกผลิตขึ้นมาจากโรงงานของ Dallas Lighthouse for the Blind  ซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

Dallas Lighthouse for the Blind** หรือ  “Lighthouse”  เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมุ่งฝึกอาชีพ และจัดหางานให้แก่ผู้บกพร่องทางสายตา ณ โรงงานขององค์กรซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของรัฐแท็กซัส  ซึ่งงานที่มอบหมายให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาทำภายในโรงงานก็มีอยู่หลายประเภท อย่างเช่น  งานติดฉลาก งานเชื่อมโลหะ งานกรอกของเหลวสาขวด งานตัดเย็บเสื้อผ้า และการรับโทรศัพท์ตอบคำถามลูกค้า เป็นต้น

credit www.envisionus.com

 

นายฮัคค์ แมคแอลรอย (Hugg McElroy) ผู้บริหารของ  “Lighthouse”   บอกว่า ในสหรัฐอเมริกามีผู้บกพร่องทางสายตาจำนวนมากมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะหางานทำได้ยาก และไม่ทราบถึงศักยภาพของตนเองว่า สามารถทำอะไรบ้างแม้ว่าจะสายตาจะบกพร่อง ด้วยเหตุนี้ทาง “Lighthouse”  จึงยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้

นางทิช คอซ  ได้มารู้จักกับ  “Lighthouse” เมื่อตอนเธอที่กำลังมองหาโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ภายในเมืองแดลลัส เพื่อเพิ่มกำลังผลิตสินค้าของเธอสำหรับการขยายกิจการแบรนด์ของเธอไปยังระดับประเทศ หลังจากที่เธอได้ปลุกปั้นแบนรด์ของเธออยู่ภายในรัฐเท็กซัสมาหลายปี  โดยเธอได้รับคำแนะนำจากสามีของเธอให้ลองเข้าไปคุยกับโรงงานของ  “Lighthouse” ดู

ตอนแรก เธอสงสัยว่า การที่คนที่ตามองไม่เห็นจะมาทำงานตัดเย็บเสื้อผ้านี่มันเป็นไปได้ด้วยเหรอ  โดยเฉพาะชุดของเธอที่มีดีไซน์ที่ซับซ้อน และมีราคาวางขายในท้องตลาดมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเธอได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน และได้เห็นระดับคุณภาพของสินค้าต่างที่คนงานผู้บกพร่องทางสายตาของ Lighthouse ทำขึ้นมา ความสงสัยทั้งหมดก็เปลี่ยนเป็นความมั่นใจ

นางคอซ จึงได้สอบถามนายแมคแอลรอยว่า โรงงานของเขาจะสามารถผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นของดีไซน์เนอร์ได้หรือไม่  ซึ่งนายแมคแอลรอยก็ตอบกลับไปตรงๆ ว่าโรงงานของเขาไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อน แต่เขาก็จะลองดู เพราะการที่ไม่เคยทำ ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้

credit cabanacanary.com

 

หลังจากได้ที่ Lighthouse ได้ทำสัญญากับทาง ทิช คอซ   นายแมคแอลรอย ก็จัดการซื้อเครื่องจักรเย็บผ้าใหม่ๆ เข้ามา และจ้างช่างมาดัดแปลงให้ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับการใช้งานโดยผู้บกพร่องทางสายตา เช่น การติดตั้งเครื่องป้องกันนิ้วมือ และติดแถบสัญลักษณ์เพื่อช่วยให้สามารถเย็บผ้าเป็นเส้นตรงได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาเทคนิคการตัดเย็บให้กับคนงาน นายแมคแอลรอย ได้ว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย โดยพวกเขาได้ออกแบบโปรแกรมฝึกอบรม เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ให้แก่พนักงานของโรงงาน เพื่อฝึกให้พวกเขาสามารถผลิตเสื้อผ้าของ ทิช คอซ ได้ โดยใช้งานเครื่องจักร รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกแก้ผู้บกพร่องทางสายตา ในการตัดเย็บเสื้อผ้า

นอกจากนี้ นายแมคแอลรอย ยังจ้างผู้ที่สายตาปกติเข้ามาทำงานร่วมกับผู้บกพร่องทางสายตาด้วย เพื่อช่วยทำงานในจุดจำเป็นต้องใช้สายตาจริงๆ

credit cabanacanary.com

 

ในช่วงที่โรงงานเริ่มดำเนินการผลิตเสื้อผ้าของ ทิช คอซ ใหม่ๆ การทำงานเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะทุกคนยังไม่คุ้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่พอหลายสัปดาห์ผ่านไป โรงงานแห่งนี้ก็สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าคุณภาพสูง ที่คู่ควรแก่การนำไปวางจำหน่ายในร้านเสื้อผ้าชั้นนำ และสามารถใส่ไปร่วมงานเลี้ยงหรูๆ  ออกมาได้เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือ ทางโรงงานยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงขึ้นได้หากทาง ทิช คอซ  ต้องการ

นางทิช คอซ  กล่าวว่า การทำงานร่วมกับ “Lighthouse” สร้างความแปลกใจให้กับเธอหลายอย่าง อย่างแรก คือคุณภาพของสินค้าที่เรียกได้ว่า “ไร้ที่ติ” และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เธอเข้าไปเยี่ยมโรงงาน เธอจะเห็นเหล่าพนักงานทำงานกันอย่างมีความสุขอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับเธอแล้วเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หากผู้พิการทางสายตาได้รับการศึกษา การฝึกงานอย่างเหมาะสม และมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) ที่จำเป็นช่วยในการปฏิบัติงาน พวกเขาก็จะสามารถปฏิบัติงานได้ดีไม่ต่างจากคนปกติ

 

**ปัจจุบัน Dallas Lighthouse for the Blind ได้ควบรวมเข้ากับ Envision, Inc. และเปลี่ยนชื่อเป็น Envision Dallas

 

ข้อมูลจาก
https://www.fastcompany.com/40426236/the-blind-seamstresses-who-make-designer-gowns
https://www.dmagazine.com/publication/d-magazine/2017/february/how-tish-cx-found-a-new-perspective-dallas-lighthouse-for-the-blind
https://www.envisionus.com/Envision-Dallas/History

Category:

Passion in this story