คลาสในวันนี้เราจะมาพูดถึงการเตรียมตัวเพื่อไปสัมภาษณ์งานกัน สำหรับ first jobber การสัมภาษณ์งานดูเป็นเรื่องน่ากลัว
เราจะมาดูกันว่าการสัมภาษณ์งานเนี่ย ควรจะเตรียมตัวยังไงบ้าง ทั้งในแง่ของบุคลิกภาพ การแต่งตัว การเตรียมเนื้อหา และคำถามที่มักจะเจอบ่อย ๆ ตอนสัมภาษณ์
1. เตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์
ศึกษาข้อมูลของบริษัทสักหน่อย
ในช่วงเริ่มต้นของการสัมภาษณ์เนี่ย เป็นโอกาสทองเลยนะครับที่จะสร้างความประทับใจให้กับ HR หรือนายจ้าง แต่ถ้าเราเดินอาด ๆ เข้าไปโดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจที่เขาทำเลยเนี่ย มันอาจจะเป็นทางลัดไปสู่คำว่า “เสียใจด้วยนะครับ บริษัทนี้ไม่รับคุณ”
เพราะฉะนั้นอย่างน้อยเนี่ย เราควรจะทำการบ้าน เตรียมตัวหาข้อมูลมาสักหน่อย เตรียมตัวให้พร้อมที่จะโชว์ให้เขาเห็นว่าเรารู้ว่าเขาทำอะไร เขาทำรายได้จากธุรกิจอะไร ใครคือลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของเขา
ไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดขนาดเป็นผู้เชี่ยวชาญหรอกครับ แค่รู้ข้อมูลพื้นฐาน ให้เขาเห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะเรียนรู้และศักยภาพที่จะมาทำงานกับเขา
หาข้อมูลจากกูเกิล เว็บไซต์ขององค์กร เฟซบุ๊กของบริษัท หรือลองหาข่าวเกี่ยวกับบริษัทนี้ดูก็ได้ครับ
การแต่งตัวก็สำคัญ
การเลือกชุดให้เหมาะสมกับการสัมภาษณ์งานนี่ก็สำคัญไปแพ้กันนะครับ เพราะนอกจากมันจะบอกว่าเรามีความเหมาะกับตำแหน่งและบริษัทนี้ขนาดไหน ยังช่วยให้เกิด First Impression หรือความประทับใจให้กับกรรมการที่มาสัมภาษณ์ได้อีกต่างหาก การแต่งตัวให้เหมาะสมยังบ่งบอกว่าเราเคารพวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การแต่งตัวดูดีและเหมาะสมเนี่ย มันไม่มีรูปแบบที่ตายตัวนะครับ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละบริษัทที่เราไปสมัครด้วย นึกภาพตามง่าย ๆ ว่าถ้าเรากำลังไปสัมภาษณ์งานที่บริษัท Startup เทคโนโลยีที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบคนรุ่นใหม่ พนักงานบริษัทใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์สบาย ๆ กัน การแต่งชุดทางการใส่สูทผูกไทด์ไปก็อาจจะดูประหลาด ๆ เขิน ๆ สักหน่อย แต่ถ้าเราจะไปสัมภาษณ์งานที่สถาบันการเงินสักที่ ที่พนักงานใส่สูทผูกไทด์กันทำงาน การใส่ชุดสบาย ๆ ลุค Casual ก็อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องศึกษาวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่เราจะไปสัมภาษณ์งานให้ดีซะก่อน ว่าปกติเขาแต่งตัวกันแบบไหน มีความสบาย ๆ ขนาดไหน หรือมีความเป็นทางการที่ซีเรียสกับการแต่งกายมากน้อยเท่าไหร่
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อย่ารอกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายที่จะออกจากบ้าน ควรคิดและเตรียมชุดให้เรียบร้อยในวันก่อนที่จะไปสัมภาษณ์ เพราะเราคงไม่อยากให้ในเช้าที่จะต้องไปสัมภาษณ์เต็มไปด้วยวุ่นวายฉุกกละหุก
เตรียมทุกอย่างให้พร้อม
เตรียมตัวให้พร้อมก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า จะจัดผมทรงอะไร เตรียมปากกา กระดาษให้พร้อม ทำสำเนา Resume ไปเผื่อด้วยหลาย ๆ ชุด ที่สำคัญคือวางแผนการเดินทางดี ๆ กะเวลาออกจากบ้านให้ถูก
การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนถึงวันสัมภาษณ์เนี่ย จะช่วยซื้อเวลาให้เราได้ในตอนเช้า เพราะไม่ต้องมามัวกังวลว่าจะลืมหน้าลืมหลังอะไรไหม แถมยังช่วยลดความเครียดความประหม่า ทำให้เราสามารถใช้พลังและสมองไปกับการสัมภาษณ์ได้อย่างเต็มที่
2. ในวันสัมภาษณ์
ไปก่อนเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกและยิ่งเป็นคนตัดสินว่าจะรับเราเข้าทำงานรึเปล่า ตรงต่อเวลาเนี่ยหมายถึงไปก่อนเวลาอย่างน้อย 10-15 นาที ก่อนเวลานัด วางแผนการเดินทางให้ดี ๆ ว่าจากบ้านเราไปถึงสถานที่สัมภาษณ์ใช้เวลากี่นาที เผื่อเวลารถติดด้วยนะครับ แล้วก็เผื่อเวลาเข้าห้องน้ำ เช็กเสื้อผ้าหน้าผม และเผื่อเวลาให้ตัวเองได้สงบสติอารมณ์ก่อนสัมภาษณ์ด้วย
สงบสติอารมณ์
ในระหว่างการสัมภาษณ์ พยายามหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ รีแล็กซ์เข้าไว้ ท่องเอาไว้นะครับว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะภาษากายของเราสามารถบ่งบอกถึงอะไรได้หลาย ๆ อย่าง การตอบคำถามที่ดีต้องมาพร้อมกับความมั่นใจนะครับ คำแนะนำง่าย ๆ มีไม่กี่ข้อดังนี้
- ในระหว่างพูดคุยตอบคำถามให้มองตาคู่สนทนาไว้
- มีสมาธิ โฟกัสกับคำถามเพื่อที่เราจะไม่ได้ลืมว่าเขาถามอะไร ฟังคำถามให้ดี ๆ ก่อนที่จะตอบ
- อย่าพูดแทรกหรือตัดบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เขากำลังถามอยู่
ตอบคำถามให้ดี
และก็มาถึงส่วนที่น่าหวาดหวั่นที่สุดของการสัมภาษณ์ นั่นคือการสัมภาษณ์นั่นเอง การตอบคำถามสำคัญมาก ๆ มันแสดงให้เห็นถึงทัศนคติ ปฏิภาณไหวพริบ ตัวตน และทักษะในการนำเสนอให้คนอื่นสนใจและเห็นถึงความสำคัญของเราได้ แล้วคำถามอะไรบ้างที่เราน่าจะโดนถาม
“ไหนแนะนำตัวให้ฟังหน่อย”
คำถามนี้มักจะเป็นคำถามแรกเสมอ เป็นคำถามที่ใครได้ยินก็ต้องมีหายใจสะดุดกันบ้าง เพราะคำถามนี้จะเป็นตัวตัดสิน First Impression ของกรรมการสัมภาษณ์เลยก็ได้ คำแนะนำก็คือศึกษาตำแหน่งงานที่คุณสมัครให้ดี และแนะนำตัวให้คนฟังรู้สึกว่าเรามีดี มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ คือฟังปุ๊บแล้วรู้สึกว่า เออ ต้องจ้างไอคนนี้ ข้อสำคัญคืออย่าท่องจำมา พยายามทำให้ฟังดูเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ฟังแล้วเหมือนกับว่าท่องสคริปต์มา
ควร เล่าประสบการณ์พิเศษที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานและตำแหน่ง และพูดให้รวบรัด
ไม่ควร แนะนำตัวตามที่เขียนไว้ใน Resume ทุกบรรทัด เพราะเขาอ่านเอาได้ เขาอยากฟังอะไรที่มันว้าว
“คิดว่าอะไรคือจุดอ่อนของคุณ”
คำถามนี้อาจจะดูเป็นคำถามดาษดื่นทั่ว ๆ ไป แต่เราอย่าตอบด้วยคำตอบที่ทั่ว ๆ ไปเหมือนคำถาม เช่น ผมเป็นคนเพอร์เฟกต์ไม่มีจุดอ่อน หรือดิฉันเป็นพวกทำงานหนักเกินไป อะไรแบบนี้นะครับ ที่คนสัมภาษณ์ถามเช่นนี้เพราะต้องการวัดว่าเรารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ควร แสดงให้เขาเห็นว่ารู้จักตัวเอง ประเมินตัวเองเป็นว่าอะไรคือจุดอ่อนของเรา เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองได้ถูกจุด ทางที่ดีคือนอกจากบอกว่าจุดอ่อนของเราคืออะไรแล้ว ให้บอกไปด้วยว่าแล้วเราจะแก้ไขจุดอ่อนนี้ยังไงบ้าง
ไม่ควร พูดถึงจุดอ่อนที่เป็นทักษะจำเป็นของงาน เช่น สมัครในตำแหน่งเกี่ยวกับการสื่อสาร แต่ไปบอกว่าจุดอ่อนเราคือสื่อสารไม่รู้เรื่องงี้ หรือสมัครเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่จุดอ่อนคือเขียนโค้ดไม่เป็น กรรมการฟังจบปุ๊บคือกากบาททิ้งเลย
“ทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ”
คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญมากนะครับ เพราะคำตอบนี้คือโอกาสที่จะทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ และเราไม่ควรตอบคำถามนี้ด้วยการพูดถึงสิ่งที่เราเขียนลงไปใน Resume อีก และจะต้องแตกต่างจากการแนะนำตัวของเรา หรือจุดแข็งที่เรามี
ควร ระบุถึงความพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ และเชื่อมโยงให้เห็นถึงสิ่งที่เราจะช่วยให้บริษัทนี้พัฒนาไปได้ตามเป้าหมาย
ไม่ควร พูดถึงเรื่องเดิม ๆ ที่เราพูดไปแล้ว กระทั่งเรื่องเดิมในมุมมองใหม่
“ต้องการเงินเดือนเท่าไหร่”
เข้าใจว่าหลายคนอาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนเวลาต้องตอบคำถามนี้ แต่อย่าถามกลับว่าแล้วบริษัทจะให้ได้เท่าไหร่นะครับ และเรื่องเงินก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดเลยแหละ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือ
ควร ศึกษาฐานเงินเดือนของสายอาชีพที่เรากำลังจะทำ และดูว่ารายจ่ายของเรา ต้นทุนค่าเดินทาง ค่าครองชีพต่าง ๆ เมื่อหักลบแล้ว เงินเดือนเท่าไหร่เราถึงจะอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ช่วงแรก ๆ ของชีวิตการทำงานอาจจะไม่ได้เงินเดือนสูงเหมือนที่เราคาดหวัง แต่พยายามกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำให้กับตัวเอง ยื่นตัวเลขไปเป็นช่วงเงินดีกว่า เช่น 20,000 ถึง 22,000 และอย่าลืมดูเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับด้วย
ไม่ควร ลงในรายละเอียดเงินเดือนก่อนที่จะได้รับเสนองานจริง ๆ เพราะเขาอาจจะเอาไปเปรียบกับผู้สมัครคนอื่น ๆ เราค่อยมาคุยในรายละเอียดเรื่องเงินเดือน เมื่อจะเซ็นสัญญาหรือได้ข้อเสนองานดีกว่า
การสัมภาษณ์ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สิ่งที่เขาต้องการจากการสัมภาษณ์ คือ เราเป็นคนยังไง เหมาะกับงาน กับบริษัทเขารึเปล่า เพราะฉะนั้นเป็นตัวของตัวเองเข้าไว้ แสดงให้เขาเห็นถึงศักยภาพและความโดดเด่นที่เรามี แสดงให้เห็นว่าเราต้องการงานนี้ เราอยากจะทำงานนี้ และเราจะเป็นประโยชน์กับบริษัทนี้ได้ ทำตัวให้น่าเข้าหา น่าร่วมงาน จำเอาไว้ว่าทำให้ดีที่สุด ตั้งใจ และจริงจัง มันไม่ยากเกินความสามารถเราที่จะได้งาน และถึงไม่ได้ก็จะได้ไม่ต้องมาเสียดายทีหลังว่า รู้อย่างนี้ฉันทำให้เต็มที่กว่านี้ดีกว่า
Category: