ใครที่ทำงานตามองค์กรต่าง ๆ อาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของวัฒนธรรมองค์กรแบบหนึ่ง
วัฒนธรรมองค์กร คือ แนวปฏิบัติที่เป็นวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันของคนในองค์กร ระบุถึงความสัมพันธ์ของคนต่าง ๆ ในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้การทำงานในองค์กรนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น
วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรมองค์กรใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1) วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว และ 2) วัฒนธรรมองค์กรแบบทีมกีฬา
วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว (family) คืออะไร ?
องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้จะเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีผู้นำทำตัวเหมือนเป็นพ่อแม่หรือพี่ใหญ่ให้คำปรึกษาสนับสนุนพนักงานที่เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว
องค์กรจะมีแบบแผนค่านิยมของครอบครัวที่ทุกคนเคารพเชื่อฟัง มีการสื่อสารที่ดีและมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่แน่นแฟ้นเป็นกันเอง ทุกคนมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมกันตัดสินใจและช่วยกันทำงานเพื่อดูแลลูกค้าอย่างเอื้ออาทร มีการทำงานแบบเป็นทีมสูง การมีส่วนร่วมของทุกคนคือจุดแข็งของวัฒนธรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่มักพบในองค์กรขนาดเล็ก
ข้อดี
- อยู่กันแบบอบอุ่น เอื้อเฟื้อกัน เพราะดูแลกันเหมือนพี่น้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน
- มีความยืดหยุ่น มีอิสระในการทำงาน
- พูดคุยกันง่าย เป็นกันเอง
- ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสีย
- ความเกรงใจ บ่อยครั้งที่ความเกรงใจอาจนำมาซึ่งความลำบากใจของคนที่ร่วมงานด้วย ไม่กล้าปฏิเสธเวลาโดนโยนงานมาให้ หรือโดนสั่งงานนอกเวลางาน
- ความอาวุสโส แม้ว่าครอบครัวอาจจะดูแลกันดี แต่บางครั้งก็อาจเกิดกรณีที่ใช้ความอาวุสโสกว่าในการเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน หรือในการประชุมที่ต้องการความคิดเห็นของทุกคน แต่ความอาวุสโสก็ทำให้คนที่เด็กกว่าไม่กล้าเสนอความคิดเห็น หรือโต้แย้งในเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง จนอาจนำไปสู่การไม่พัฒนาขององค์กรตามที่ควรจะเป็น
- ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว บางทีการสนิทกันเกินไปก็นำมาสู่การยุ่งย่ามเรื่องส่วนตัวกันจนเกินพอดี จนหลายฝ่ายอาจจะอึดอัดใจและนำไม่สู่การผิดใจกัน จนเกิดผลเสียหายกับงานขึ้นได้
- เลือกที่รักมักที่ชัง อาจจะเกิดกรณีที่หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมเลือกปฏิบัติ เพราะความสนิทสนมกับคนใดคนหนึ่งมากกว่า เช่น การเลื่อนตำแหน่งงาน หรือการตำหนิเวลาทำผิดพลาด ซึ่งควรจะดูที่ผลงานมากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว
วัฒนธรรมองค์กรแบบทีมกีฬา (Sport team) คืออะไร ?
องค์กรที่ใช้รูปแบบทีมกีฬามืออาชีพในการบริหารองค์กร ซึ่งแตกต่างจากองค์กรแบบครอบครัวที่จะดูเรื่องของความสัมพันธ์มากกว่าผลลัพธ์ร่วมกัน ส่วนมากพบในองค์กรขนาดใหญ่
ข้อดี
- ทุกคนมีเป้าหมายชัดเจน
- ทุกคนมีบทบาทและความรับผิดชอบชัดเจน
- ทุกคนมีความแตกต่างที่เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
- ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพื่อเป้าหมายและองค์กร
ข้อเสีย
- ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์จนดูเหมือนจะละเลยความสัมพันธ์ของคนในองค์กร
- ถ้ามีคนฉายเดี่ยว ไม่ทำงานเป็นทีม งานอาจเสียหายได้
- ความเครียดจากการทำงานในสภาวะที่ต้องแข่งขันกันตลอด
แล้วจะเป็นองค์กรแบบไหนดี ?
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ใช้วัฒนธรรมแบบไหน แต่เป้าหมายคือสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข
การเหมารวมว่าวัฒนธรรมแบบ “ครอบครัว” ไม่ดีก็อาจจะไม่ใช่ หรือการบอกว่าวัฒนธรรมแบบ “ทีมกีฬา” ดีที่สุดก็ไม่ถูก
แม้ว่า “ทีมกีฬา” จะมีตัวชี้วัดผลงานชัดเจน มีรางวัลและบทลงโทษเพื่อกระตุ้นและจูงใจ แต่ขาดอารมณ์แห่งการถ้อยทีถ้อยอาศัย
องค์กรที่ดีอาจลองหาวิธีที่ทำให้อารมณ์และเหตุผลสามารถอยู่ร่วมกันได้
ทำยังไงให้คนในองค์กรมีกติกาการอยู่ร่วมกัน มีผลชี้วัดเพื่อสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม
Category: