สำหรับบางคน อาจจะชอบให้ใครต่อใครมองว่า ตัวเอง “ยุ่ง” ตลอดเวลา และมองว่า สิ่งนี้ คือเกียรติบัตรในการทำงาน เป็นเรื่องควรค่าแก่การโอ่อวด……. ใครๆ ก็มาขอให้ช่วยทำงานให้ มีงานทำจนล้นมือ และสามารถทำให้ได้ในเวลาที่จำกัดแบบนี้

แต่….. บางที การที่เรารับทำงานให้คนอื่นมากเกินไป ไม่ว่าจะด้วยความเป็นซีเนียร์ในที่ทำงานที่มาพูดขอร้องแบบที่เราไม่อาจปฎิเสธได้ หรือการที่เราอยากจะถนอมน้ำใจ รักษาสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ไม่อยากถูกเมาธ์ว่าไร้น้ำใจ (แต่ถูกคนอื่น “เอาเปรียบ” เนี่ยนะ!!!) กลับทำให้เรา เสียสมดุล การใช้ชีวิตไปง่ายๆ งานของตัวก็ทำไม่เสร็จ ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็กระทบ วันๆ มีแต่เรื่องงาน แล้วหลายครั้งก็เป็นงานประเภท “เร่งด่วน” แต่ “ไม่สำคัญ” ที่สลัดทิ้งไม่ได้สักที เพียงเพราะไม่กล้าจะพูดว่า “ไม่” แต่กลับหลุดปากออกไปง่ายๆ ว่า “ได้ครับ ไม่มีปัญหาครับ” / “ได้ค่ะ ไม่ลำบากอะไรเลยค่ะ”

ไม่ต้องอึดอัดใจกับภาวะแบบนี้อีกแล้ว ผู้เขียนเพิ่งไปอ่านเจอเทคนิคดีๆ จากคุณ Scott Mautz ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Make it Matter เลยอยากเอามาแบ่งปันกัน แค่ลองตอบตัวเองด้วย 5 คำถามต่อไปนี้ เราก็จะมีสติ และเหตุผลมากขึ้น ไม่ต้องรู้สึกผิด กับการเซย์ “โน” ต่อสิ่งที่ผู้ยื่นข้อเสนอบอกว่ามันคือ โอกาสใหม่ในชีวิต / ความรับผิดชอบใหม่ๆ / ความท้าทายใหม่ๆ / หรือแม้แต่สิ่งที่เราเองก็รู้สึกในใจว่า มันดูดกลืนเวลาในชีวิตของเราไปไม่น้อยเลย ออกไปได้ ^___^

1. อะไรคือขอบเขตของการตกปากรับคำครั้งนี้ ?

บ่อยครั้งเราก็ประเมินต่ำไป กับการตกปากรับคำทำตามคำขอของใครบางคน เพราะคิดว่า “ไม่ยุ่งยากอะไร”  “จิ๊บๆ เดี๋ยวก็เสร็จ”แต่แท้จริงแล้ว มันมีอะไร “ซ่อน” อยู่ในนั้น  ความทุ่มเทที่เราต้องมีให้ รวมถึงเวลาที่ต้องเสียไป ซึ่งไม่ว่าเราจะคาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร มันมักจะใช้เวลามากกว่านั้นเสมอ (อ้างอิงตามกฎของ Holstadter)

นอกจากนี้ คำที่เรามักปลอบใจตัวเองว่า “ไม่เป็นไร ก็แค่เพิ่มงานมาอีกหนึ่งชิ้นเท่านั้น” นี่แหละ ตัวดีเลย เพราะเรามักเผลอ “ไม่เป็นไร” ไปหลายครั้ง จนต้องมาระทมทุกข์เองในที่สุด

ฉะนั้น ระวัง อย่าเผลอตกปากรับคำใครง่ายๆ

2. ราคาของการตอบรับ คืออะไร ?

ทุกครั้งที่เราตอบรับอะไรที่เพิ่มเข้ามา ก็มีสิ่งที่เราต้องจ่ายออกไปเสมอ  มันอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล หรืออาจจะก็ได้ แต่ก็ขอให้เป็นข้อมูลไว้  พึงระลึกไว้ว่า เราต้องจ่ายอะไรไปบ้างกับการตอบรับสิ่งใหม่นี้ อาจจะเป็นทักษะใหม่ๆ การจัดหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ หรือ การต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ความทุ่มเทและพลังงานที่เราต้องอุทิศให้กับสิ่งนี้ หรือมีอะไรสำคัญกว่านี้อีกหรือไม่ที่เราต้องเสียไปกับสิ่งนี้ เมื่อเราตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้ และคำตอบสะท้อนออกมาว่า มีสิ่งที่เราต้องจ่ายเพื่อรับสิ่งนี้เข้ามาที่ “มากเกินไป” เราก็จะรู้เองว่า ควรจะตอบออกไปว่า “ไม่” แทนที่จะบอกว่า “ไม่มีปัญหา” แล้วรับภาระนั้นมา อย่างที่เราทำเสมอก่อนอ่านบทความนี้ ^__^

3. ที่ตกปากรับคำทำให้นี้ ส่งเสริมกับพันธกิจของเราอย่างไร ?

ยังมีงานสำคัญอื่นๆ ที่คุณกำลังทำอยู่หรือไม่ แล้วจุดประสงค์ หรือพันธกิจในการทำเรื่องนั้นคืออะไร  ขณะที่แต่ละเรื่องที่คุณรับทำควรส่งเสริมหรือสนับสนุนพันธกิจหลักของคุณด้วย ฉะนั้น งานในมือของคุณเป็นไปในทิศทางนี้หรือไม่

สำคัญมากเลยที่เราต้องกรองเรื่องที่หาสาระไม่ได้ออกไป เรื่องประเภท เร่งด่วน แต่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร แบบนั้น หากชั่งน้ำหนักแล้ว การรับปากทำเรื่องเหล่านี้ ถ้าทำให้งานหลักเราเสียหาย คุณก็ควรกลับมาโฟกัสงานหลักของคุณมากกว่า เมื่อคิดได้แบบนี้ เราจะไม่หนักใจที่ต้องตอบปฎิเสธ

4. สิ่งที่จะรับทำนี้ อยู่ในรายการ “สิ่งที่ฉันจะไม่มีวันทำเด็ดขาด” หรือไม่ ?

สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า การรับ “ทำงาน” ที่ไม่ส่งเสริมพันธกิจหลักของคุณ คือ การยอมทำงานที่คุณเคยบอกกับตัวเองว่า จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแบบหัวเด็ดตีนขาด เราคงจะรู้สึกแบบ “อะไรว้า……รับปากทำไปได้ไงเนี่ย ?” เพราะโดยปกติแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงมาตลอด ฉะนั้น อย่าเผลอเรอ

หากจะรับทำงานอะไร ก็ไม่ควรจบลงด้วยความลำบากใจ หรือผิดไปจากปณิธานในใจ เพราะราคาของความเจ็บปวดนั้น ยากจะประเมินค่า

5. หาวิธี “ตอบรับ” ในหนทางที่ “แตกต่างจากเดิม” ได้หรือไม่ ?

ส่วนใหญ่แล้ว ที่เรารับปาก รับทำงานที่ใครมาไหว้วาน เพราะมันพูดง่ายกว่า “การปฎิเสธ” และนี่ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น ใช้ประโยชน์จากความโน้มเอียงที่เรามักตอบรับนี้ มาถามตัวเองว่า เราจะตอบรับ ในแบบที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาอย่างไร และเป็นการตอบรับที่ยังคงจิตวิญญาณของการมุ่งมั่นตั้งใจได้

เช่น เราอาจจะแสดงความเห็นใจกับคำขอนั้น แต่แล้วในเวลาเดียวกันเราก็ยื่นข้อเสนอใหม่ หรือตัวเลือกใหม่ในการทำงาน ที่ไม่ใช่ตัวเรา โดยที่เราต้องให้เหตุผลประกอบด้วย ว่า เพราะเหตุใดจึงควรเป็นคนที่เรา เสนอชื่อขึ้นมา เพื่อที่จะไม่ถูกมองว่า เราแค่ปัดงานให้พ้นตัว แต่เราตั้งใจช่วยและยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งยังสะท้อนว่า เราให้การสนับสนุนผู้ร้องขอ และสิ่งที่เราเสนอไป เป็นผลดีกับทุกคน เราเองก็ได้จัดการงานที่อยู่ในมือได้ต่อไป โดยไม่ต้องถูกโหลดงานเกินควร และผลที่ได้รับจากการนำเสนอทางเลือกของเราก็เป็นผลดีกับองค์กรในที่สุดด้วย

ดังนั้น ถ้าครั้งหน้ามีใครมาขอให้คุณช่วยเหลือ ก็ลองนำเทคนิค ถามตัวเอง ตาม 5 ข้อนี้ มาคิดใคร่ครวญก่อนจะตอบรับหรือปฎิเสธออกไป


- Source - 
Before you say "yes" and over commit again, ask yourself 5 questions By Scott Mautz : inc.com
23 Nov 2019

Passion in this story