ในยุคที่เทคโนโลยีสามารถเนรมิตทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้
คนจำนวนไม่น้อยมีฝัน ที่จะใช้ไอเดียธุรกิจดีๆ สร้างโครงการสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง แล้วผลักดันให้โตติดตลาด สร้างเงินมหาศาล เป็นธุรกิจทำเงิน
ว่ากันตามตรงแล้ว การเป็นรายแรกที่ในอุตสาหกรรมนั้นมีข้อดีหลายข้อ
แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะทำธุรกิจนั้นได้ประสบความสำเร็จ และเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมได้เสมอไป
ลองคิดดูเล่นๆครับ
ของกินหรือของใช้หลายอย่างที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้ มีหลายแบรนด์ที่ไม่ใช่เจ้าแรกที่วางขาย แต่ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้
เพราะเป็นแค่ “คนแรก” นั้นไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จ แต่จำเป็นต้องปัจจัยอื่นๆที่คอยผลักดันธุรกิจด้วย
ซึ่งมีแนวคิดของ Loretta Lynn นักคิดและนักร้อง เคยกล่าวเอาไว้
การทำธุรกิจให้อยู่รอดได้นั้นจะต้องมีปัจจัย 3 ปัจจัยนี้ ไม่ปัจจัยใด ก็ปัจจัยหนึ่ง ได้แก่
- เป็นเจ้าแรกที่ลงมือทำ(The First)
- ทำได้ดีที่สุดในท้องตลาด(The Best)
- แตกต่างจากที่มีอยู่แล้ว(The Different)
และหากลองวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ไม่ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด มันกลับมีความสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมกันและกันอยู่ เป็นเจ้าแรก หากทำไม่ดี ก็พัง
แต่หากลงมือทำคนแรก มุ่งมั่นทำให้ดี และยังรู้จักสร้างจุดยืนที่แตกต่างให้ตัวเองได้ รับรองว่าปัง
ในวันนี้ เรื่องราวที่ PassionGen นำมาเล่าให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น คือเรื่องของธุรกิจอาหารทานเล่น ที่คนไทยรับประทานกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไปเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาของ “Hiso – แมลงอบกรอบไฮโซ” กันครับ
Hiso เป็นแบรนด์สินค้าแมลงอบกรอบภายใต้บริษัท สไมล์ บูล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ก่อตั้งโดย คุณทัดณัฐ ฉันทธรรม์
โดยเป็นรายแรกที่เปิดธุรกิจ นำแมลงอบกรอบบรรจุห่อเข้ามาขายในร้านค้าปลีกเบอร์หนึ่งของประเทศอย่าง 7-11 ได้สำเร็จ
แล้วตอนนี้ก็ติดลมบน ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ได้รับเชิญไปร่วมงานใหญ่ ในแวดวงอาหารของโลกอยู่บ่อยครั้ง
แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จของการเป็น “รายแรก” นั้นไม่ง่าย และมีโจทย์ให้ต้องแก้ไขอยู่เหมือนกัน
โจทย์แรก: เพราะไม่เคยมีสินค้าประเภทนี้มาก่อน จึงคาดเดาปริมาณลูกค้าได้ยาก
ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่คนไทยคุ้นชิน แต่มีแมลงอบกรอบขายในร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย
ฝ่ายการตลาดจจึงวิเคราะห์ได้ยาก ว่าจะมีลูกค้าประเภทใดบ้างที่เข้ามาซื้อแมลงในร้านสะดวกซื้อ และจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีใครการันตีได้ว่าจะมีลูกค้ามากพอที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้
โจทย์ที่สอง: เพราะเปลี่ยนแปลง จึงถูกเปรียบเทียบกับแบบดั้งเดิม
การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปอย่างสิ้นเชิง จากที่คนคุ้นเคยเห็นพ่อค้าทำสดๆที่รถเข็น เปลี่ยนมาใช้โรงงานขนาดใหญ่ผลิตบรรจุห่อ หนีไม่พ้นที่จะเจอคนนำมาเปรียบเทียบ ว่ารสชาตินั้นไม่อร่อยเท่าวิธีทำแบบดั้งเดิม
ในฐานะเป็นผู้ลงมือทำก่อนก็ไม่สามารถแก้โจทย์ 2 ข้อนี้ได้ Hiso จึงมุ่งหน้าปรับปรุงตัวเอง จนเป็นที่มาของการพยายามเป็น The Best พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นลงทุนกว่า 15 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโรงงาน วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรในการผลิต
(เงิน 15 ล้านบาทในขณะนั้น ใกล้เคียงกับรายได้ตลอดทั้งปีของบริษัท)
แม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่า Hiso อร่อยกว่าแมลงทอดแบบรถเข็นหรือไม่
แต่สิ่งที่แน่นอนคือ Hiso ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
ความแตกต่างก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ Hiso กล้าเอามาเล่นในการทำการตลาดและโฆษณา
Hiso เลือกโฆษณาในที่คนสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมากเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่แตกต่างด้วยสารที่นำเสนอ
“ขายต่อ พื้นที่โฆษณา เพราะอร่อย จนผลิตไม่ทันแล้ว”
ครับ กล้ามาก
ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์เครื่องดื่มน้ำอัดลม คงไม่สามารถโฆษณาในลักษณะนี้ได้
แต่ Hiso เป็นธุรกิจเล็กๆ รู้ว่าตัวเองนั้นมีความยืดหยุ่นกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ มีโอกาสให้ทดลองได้ จึงอาศัยข้อได้เปรียบนี้มาเล่นกับโฆษณา จนได้กระแสตอบรับดีเกินคาด ทั้งได้ลูกค้าบอกต่อ และสื่อนำไปลงข่าว กลายเป็นกระแสปากต่อปากอย่างรวดเร็ว
เมื่อสินค้ามีมาตราฐาน และสร้างความแตกต่างให้ตัวเองจนคนจำได้
โจทย์ที่เคยถูกตั้งเอาไว้ 2 ข้อก่อนหน้านี้ก็ได้รับคำตอบ
Hiso ใช้ช้เวลาเพียง 2 ปี จากยอดขายประมาณ 3 แสนบาทในปี 2557 กลายเป็น 20 ล้านบาท ในปี 2559
และในปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีตัวเลขเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า เป็นธุรกิจทำเงิน สร้างรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทไปแล้วเป็นแน่
Key Learning
Hiso เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ยืนยันว่า การลงมือทำก่อนคนอื่นอย่างเดียวนั้น อาจไม่พอที่จะสำเร็จ
ความพิถีพิถันในคุณภาพ และความกล้าที่จะวางแผนธุรกิจแหวกออกจากกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ นั้นเป็นเหมือนลมใต้ปีก ให้ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มบิน สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
อย่าลืมนะครับ
เป็นธุรกิจเจ้าแรกยังไม่พอ
อย่าลืมที่จะพัฒนาคุณภาพ และสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจ