ในโลกของการแข่งขันอย่างทุกวันนี้ การหาคนดีมีความสามารถมาทำงานว่ายากแล้ว การรักษาคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรนานๆ ยิ่งยากกว่า
ปัญหาหนึ่งที่องค์กรส่วนใหญ่เผชิญคือ การทำงานร่วมกันของคนต่างเจเนเรชั่น
ทัศนคติ วิธีคิดและการมองโลก และแรงบันดาลใจในการทำงานที่แตกต่างกันของคนต่างรุ่น ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเกิดความตึงเครียดได้
ล่าสุด รายงานภาพรวมการจ้างงานประจำปี 2019 ซึ่งจัดทำโดย The ExecuSearch Group บริษัทจัดหางานในนิวยอร์ก ระบุว่า ประมาณ 66 เปอร์เซนต์ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถาม ในหัวข้อ The Employee Experience: Four Ways to Attract, Engage & Retain Employees in Today’s Competitive Market มีแนวโน้มจะไม่อยู่กับองค์กรในระยะยาวด้วยสาเหตุข้างต้น
ฉะนั้น เพื่อรักษาคนดีๆ มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรต่อไป แรกสุดเลย ผู้นำขององค์กรต้องจูงใจให้พนักงานที่อยู่ “อยากอยู่” กับองค์กรต่อไป แล้วหาทางทำให้คนต่างเจเนเรชั่นทำงานร่วมกันอย่างดีมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมสร้างทีม หรือกิจกรรมสร้างความผูกพันของทีม คือ สิ่งที่หลายๆ องค์กรเลือกใช้เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทำงาน
ดร. Greg Story ประธาน Dale Carnegie Training Japan ให้ความเห็นว่า กิจกรรมสร้างทีม ที่ทำให้คนเรารู้สึกเป็นพวกเดียวกัน และเพิ่มโอกาสสื่อสารต่อกัน ซึ่งอาจมาในรูปของเกมส์ การท่องเที่ยวนอกสถานที่ และการทำกิจกรรมอาสาสมัครนั้น ส่งผลดีอย่างน้อยสามประการคือ
– ประการแรก ตระหนักรู้ในบทบาทของตนเองต่อทีมอย่างลึกซึ้ง
– ประการที่สอง เข้าใจและเห็นถึงพลังของการทำงานเป็นทีม แต่ละคนจะรับรู้ในสิ่งที่ตนมี และยังตระหนักว่า ความสำเร็จของทีมไม่ได้เกิดจากความสามารถของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
– ประการที่สาม การสร้างความรู้สึกเป็นทีมเดียวกัน เสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพราะสมาชิกในทีมจะตระหนัก และมองเห็นจุดแข็ง – จุดอ่อนของคนร่วมทีม
Story ยังสังเกตด้วยว่า หากเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์การทำงานเป็นทีม การสร้างความแปลกใหม่ เช่น จัดกลุ่มคนที่ปกติไม่ได้ทำงานด้วยกันให้ร่วมทีมทำกิจกรรมด้วยกัน จะช่วยให้องค์กรเห็นมุมมองและวิธีการจัดการแก้ปัญหาหลากหลายจากคนหน้าใหม่ๆ ที่เข้าร่วมทีม อีกทั้งสมาชิกแต่ละคนจะมีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจกันและกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นและทำให้แต่ละคนตระหนักว่า ทุกคนในองค์กรล้วนมีคุณค่า ซึ่งสำหรับ Story แล้ว มันคือ การนำไปสู่ความภาคภูมิใจในองค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่
ส่วน Andrew Silberman ประธานและ chief enthusiast แห่ง Advanced Management Training Group, K.K. และประธานร่วมคณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์หอการค้าอเมริกันในญี่ปุ่น (American Chamber of Commerce in Japan Membership Relations Committee) มองว่า “การสร้างทีม” และ “การสร้างความผูกพันกันของคนในทีม” ไม่ใช่การสร้างทีมใหม่แต่เป็น การสร้างความรู้สึกผูกพันกันของคนในทีม
นั่นคือ อะไรก็ตามที่ทีมงานออกไปทำร่วมกันนอกเวลางาน ไม่ว่าจะเป็นการกินดื่ม เล่นโบว์ลิ่ง เชียร์กีฬาเบสบอล จะทำให้สมาชิกในทีมใกล้ชิดกันมากขึ้น
สำหรับ Silberman กิจกรรมสร้างทีมเน้นที่การให้คนในทีมมาอยู่ร่วมกัน เพื่อปลดปล่อยความว้าวุ่นใจ เพื่อให้แต่ละคนได้วิพากษ์เป้าหมายของตนและขององค์กร โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ไหลลื่น แจ่มชัด จะทำให้มองเห็นคำตอบของอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร มองเห็นความสำเร็จขององค์กรและสร้างความเชื่อถือในกลุ่มผู้นำ
สำหรับเขาแล้ว ผลสัมฤทธิ์ของการสร้างทีม วัดได้จากสิ่งที่เปลี่ยนไปในองค์กรหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลง
เขายังบอกอีกว่า หากต้องการได้ประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมการสร้างทีม บริษัทต้องมีความชัดเจนในวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมก่อน นั่นคือ ความต้องการผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และเราต่างรู้กันดีว่า พนักงานที่สนุกกับงานมีแนวโน้มจะสร้างผลงานที่ดีได้ แต่อีกสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้แน่ชัดคือ ความชัดเจนและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน คือสิ่งที่นำไปสู่ผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดีขึ้น
ฉะนั้น บริษัทต้องทำให้ทุกคนเห็นความชัดเจนตรงนี้ ทั้งเป้าหมายของตนเอง เป้าหมายของทีม และเป้าหมายขององค์กร
ปัจจุบัน มีบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นริเริ่มให้บริการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นทีมแก่องค์กรต่างๆ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้
Super Fantastic
สิ่งที่ The Super Fantastic นำเสนอ คือการเปิดโอกาสให้พนักงานออกไปใช้เวลานอกสถานที่ทำงานด้วยกัน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดีๆ ต่อกันและในบางครั้งยังสร้างสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคมและชุมชนด้วย
Gabriel DeNicola แห่งบริษัท The Super Fantastic กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งบริษัทว่า เพราะเขาเห็น
คนส่วนใหญ่รอบตัวไม่สามารถเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีที่สุดจากชีวิตการทำงานของตนเอง
คนเหล่านี้ ไม่พอใจชีวิตการทำงานของตนเองอย่างแรง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยกิจกรรมสนุกๆ และมีความชัดเจนในเป้าหมายการทำกิจกรรม เขาเชื่อว่ามีตลาดนี้และจะได้รับการตอบรับที่ดี
เกมส์ที่ The Super Fantastic นำแสนอและเป็นที่จดจำของตลาดคือ The Go Game เกมส์ล่าสมบัติที่ผสมผสานองค์ประกอบบางประการจากเกมส์โชว์ทางทีวี อย่าง The Amazing Race และ America’s Funniest Home Videos บวกกับการเก็บสิ่งของสะสมจากเกมส์บนมือถือที่สุดแสนจะฮิตอย่าง Pokemon Go
เกมส์ของ The Super Fantastic กำหนดให้ผู้เล่นต้องทำพันธกิจเป็นทีม มีตั้งแต่ไขปริศนาเกี่ยวกับพื้นที่ที่ทำกิจกรรมนั้นจนถึงสร้างภาพหรือทำวีดีโอน่ารักๆ ซึ่งทีมผู้เล่นจะได้รับแต้มตามพันธกิจที่ทำสำเร็จโดยแต้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนพันธกิจทีมที่ได้แต้มสูงสุด จะเป็นทีมชนะ ได้รับรางวัล
เกมส์ดังกล่าว ถูกนำไปใช้สร้างกิจกรรมนับหมื่นครั้งทั่วโลก สำหรับการจัดกิจกรรมสร้างทีมจากเกมส์นี้ในญี่ปุ่น เป็นธีมจารกรรม และธีมกีฬาสีในโรงเรียน ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของ The Super Fantastic ในญี่ปุ่น ได้แก่ Nike Inc., Nissan Motor Co., Ltd., และ Bloomberg L.P.
บริษัทที่นิยามตนเองว่า เชี่ยวชาญด้านการสร้างทีมและการฝึกอบรมให้องค์กรยังมองเห็นแนวทางที่จะสร้างการเติบโตและช่วยให้ผู้คนได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำงาน ตามคำอธิบายของ DeNicola ว่า
“เราต้องการช่วยให้คนทำงานสนุกกับบรรยากาศในที่ทำงานเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานมากที่สุด เราหวังให้คนเข้าใจว่า ชีวิตสนุกได้ แม้จะเป็นชีวิตการทำงาน”
Hidden Secrets
อีกหนึ่งบริษัทที่นำเสนอความสนุกในกิจกรรมสร้างทีม คือ Invite Japan ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2015 ด้วยการสร้างสถานที่เล่นเกมส์ Nazobako หรือ กล่องปริศนา (Puzzle Box) ใน Asakusa, Tokyo, โดยออกแบบ ผลิต และพัฒนา เกมปริศนา และสร้างสรรค์กิจกรรมตามความต้องการของลูกค้า
Lee Sorkin ฝ่ายกลยุทธ์การสื่อสารของ Invite Japan อธิบายว่า บริษัทก่อตั้งด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ทีมงานมีโอกาสผูกพันกันด้วยวิธีที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมนอกสถานที่ของบริษัททั่วไปที่มักเน้นการออกไปดื่มกินกันที่ร้านเหล้า และการจัดงานเลี้ยงประจำปี
บริษัทนำเสนอสิ่งใหม่ เพื่อให้ทีมงานได้รับโอกาสทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับคนร่วมทีม
ที่สำนักงานใหญ่ของ Invite Japan ณ Asakusa มีการจัดสร้างห้องเกมส์ล่าสมบัติพร้อมโปรแกรม Hidden Secrets Journey (HSJ)
โปรแกรม HSJ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ เป็นเกมล่าสมบัติกลางแจ้ง โดยมีปริศนาที่ต้องขบคิดเป็นชิ้นส่วนงานก่อสร้าง อนุสาวรีย์ หรือแม้แต่สัญลักษณ์ต่างๆ และส่วนใหญ่แล้ว จะมีมิชชั่นส่งท้ายที่ออกแบบให้เกี่ยวข้องกับคำขวัญหรือข้อความที่องค์กรต้องการสื่อสารเข้าไปด้วย
สำหรับพื้นที่จัดกิจกรรม HSJ นั้น นอกจากที่ Asakusa ยังมีในสถานที่อื่นๆ เช่น Yokohama, Sendai, Miyagi Prefecture และTochigi Prefecture ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมให้พนักงานของ Honda Motor Company, Ltd. นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ Karuizawa, Nagano Prefecture, และที่ Nihonbashi
แค่ให้พนักงานได้ออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่พบเจออยู่ทุกวันก็ส่งผลดีแล้ว
Sorkin กล่าว ซึ่งแม้แต่กิจกรรมที่ใช้เวลาทำเพียง 1 ชั่วโมงก็สร้างสิ่งดีๆ แบบนี้ได้ ยิ่งทำให้พนักงานใส่ใจกับความท้าทายของปริศนาภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ยิ่งทำให้พวกเขาตื่นเต้นกับกิจกรรมและกระตุ้นให้พวกเขาเกิดการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ที่แตกต่างกันได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญ การออกไปนอกสถานที่ ยังทำให้พนักงานได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนทุกวันนี้โหยหาก็ว่าได้ และรูปแบบการจัดกิจกรรมที่บริษัทนำเสนอก็สามารถจัดได้ทุกฤดูกาลโดยการจัดกิจกรรมทุกครั้ง จะได้เห็นรอยยิ้มและความสุขบนใบหน้าของพนักงาน
Invite Japan ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำหลายแห่งเลือกใช้บริการ เช่น Google LLC / Rakuten, Inc / Japan Tobacco Inc / Facebook, Inc และ Amazon.com, Inc ซึ่งกลับมาใช้บริการซ้ำๆหลายครั้งบริษัทจึงตั้งใจพัฒนาเกมส์ HSC ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงวางแผนพัฒนาเวอร์ชั่นสองของกิจกรรมด้วย
Build for A Cause
Playground of Hope เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่นำเสนอกิจกรรมเพื่อการสร้างทีมที่แตกต่าง โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นหนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.2011
Michael Anop ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อส่งมอบชุดเครื่องเล่นสนามแก่เด็กๆ ด้อยโอกาสทั่วญี่ปุ่น บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Playground of Hope เมื่อได้ไปร่วมกิจกรรมอาสาสมัครหลายครั้งหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ Tohoku
เขาบอกว่า มีองค์กรมากมายยื่นมือให้ความช่วยเหลือเจ้าของกิจการให้กลับมายืนหยัดได้ หรือไม่ก็เน้นไปที่การสร้างโรงเรียนและสำนักงานใหม่ แต่ไม่มีกิจกรรมใดเลยที่จัดทำขึ้นเพื่อเด็กๆ เป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราว เขาจึงเกิดความคิดสร้างสนามเด็กเล่นในพื้นที่จอดรถของชุมชนชั่วคราวนั้น ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในแนวคิดการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อชุมชน
เมื่อชุดเครื่องเล่นสนามชุดแรกๆ ของ Playground of Hope ได้รับการติดตั้งในหลายๆ พื้นที่ของ Tohoku เขาค้นพบว่า ยังมีความต้องการในลักษณะนี้อีกมาก จนถึงปัจจุบัน Playground of Hope จึงติดตั้งชุดเครื่องเล่นสนามให้เด็กๆ แล้วกว่า 70 แห่งในพื้นที่ Tohoku และอีก 30 แห่งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น
หากเพราะค่าใช้จ่ายในการติดตั้งชุดเครื่องเล่นสนามค่อนข้างสูง ประมาณ 5 แสน ถึง 5 ล้านเยนต่อชุด องค์กรที่ให้การสนับสนุนจึงมักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ “ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท” ไว้สูงพอประมาณ
ดังนั้น นอกจากให้การสนับสนุนด้านการเงิน องค์กรเหล่านั้นมักจะส่งพนักงานอาสาสมัครมาร่วมติดตั้งอุปกรณ์ด้วย ซึ่งจำนวนคนที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่เคยเกิดขึ้นมีตั้งแต่ 10 – 170 คน ต่อครั้ง และที่สำคัญ สมาชิกในทีมอาสาสมัครประกอบด้วยคนจากทุกระดับในองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงพนักงานฝ่ายสนับสนุน
กิจกรรมเช่นนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้สร้างสัมพันธ์ต่อกัน ได้เรียนรู้และรู้จักกันดีขึ้น
ตามโครงการของ Anop การติดตั้งเครื่องเล่นสนามซึ่งเป็นพันธกิจให้ทีมอาสาสมัครทำร่วมกันนั้น มีกำหนดเวลาให้ทำเสร็จภายใน 1 วัน แต่การติดตั้งจริงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายกว่า 50 รายการ พร้อมคู่มือคำอธิบายการติดตั้ง 1 เล่ม กับทีมผู้เชี่ยวชาญตัวจริง 1 ทีมที่คอยให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ
นี่จึงเป็นกิจกรรมที่สามารถสลายตัวตน ทำให้ทุกคนที่ร่วมทีมต้องช่วยกันขบคิด วางแผน ลงมือทำ ลองผิดลองถูก จนกว่าจะสร้างชิ้นงานได้สำเร็จ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากๆ
ทำให้แต่ละคนจากต่างแผนกและต่างสถานะในองค์กรได้มีโอกาสสื่อสารกันและกันอย่างใกล้ชิด และยังเป็นโอกาสพิเศษที่ทำให้ผู้บริหารขององค์กรได้ค้นพบคุณสมบัติโดดเด่นต่างๆ ในตัวพนักงานโดยเฉพาะภาวะผู้นำ ซึ่งในการทำงานปกติตามตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ อาจไม่เคยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพออกมา
กิจกรรมนี้ ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินหลายแห่งในญี่ปุ่น เช่น Morgan Stanley, JP Morgan Chase & Co และ Deutsche Bank AG
นอกจากนั้น สถาบันการเงิน Hilton Worldwide Holdings Inc. และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ยังก้าวเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของ Playground of Hope ซึ่งตลอดช่วง 5 ปีย้อนหลังมานี้ ได้ดำเนินโครงการPlayground of Hope ไปแล้ว 5 – 6 โครงการต่อปี
Anop เชื่อว่า ด้วยตัวกิจกรรมที่ให้ประโยชน์มากมายแก่องค์กรและผู้ร่วมกิจกรรม จึงน่าจะมีองค์กรที่ยินดีสนับสนุนโครงการนี้อีกไม่น้อย
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทุกกิจกรรมข้างต้นก็คือ ทุกกิจกรรมที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ช่วยเก็บรักษาพนักงานไว้กับองค์กร และส่งมอบแนวคิดดีๆ สู่องค์กร
แปลและเรียบเรียงจาก Team play : Get out of the office to boost dialogue https://japantoday.com ภาพประกอบจาก https://japantoday.com
Category: