Categories: INSPIRE

ปี 2020 งานอะไรที่อนาคตยังสดใส ?

อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ปีค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 และเรายังคงอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลกระทบต่อเราในทุกด้าน ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำมาหากินในแทบทุกสาขาอาชีพ

มีหลายอาชีพเกิดใหม่ที่เราคนไทยอาจนึกไม่ถึงว่าอยู่ใกล้ตัวเพราะปกติเคยเห็นแต่ในหนัง เช่น ธุรกิจเว็บไซต์สื่อกลางเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้ลงประกาศเปิด หรือ แลกห้องพัก/บ้านพักของตัวเองให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเช่าอยู่ชั่วคราว เช่น เว็บไซต์ Airbnb และเว็บไซต์ VRBO

เว็บไซต์เพียงทำหน้าที่โบรกเกอร์ เก็บค่าธรรมเนียมเข้าพักประมาณ  6-12 % จากเจ้าของห้องหรือบ้านพักที่ลงโฆษณา ก็สามารถทำรายได้มหาศาลแล้ว

เฉพาะ Airbnb ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกด้านนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 มีรายงานข่าวว่า เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2019  จำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ใช้บริการห้องพักผ่านระบบ Airbnb  มีถึงคืนละ 2 ล้านคน และรายได้รวมขั้นต้นในปีนี้ของ Airbnb ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 4.3 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้คนสนใจอะไรในปี 2020

ยังมีอีกหลายอาชีพที่หลากหลายหน่วยงานทั่วโลกสำรวจและได้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า “ยังมีโอกาสรุ่ง” ในปี 2020 รวมถึงรายงาน “The 2020 Topics and Trends Report From Facebook IQ” ของเฟซบุ๊ก ซึ่งแม้ไม่ได้สำรวจอาชีพโดยตรง แต่สำหรับผู้มองหาและมองเห็นโอกาส ความนิยมด้านไลฟ์สไตล์ของผู้คน ย่อมสามารถบ่งบอกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความนิยมนั้น ๆ ซึ่งน่าจะมีโอกาสรุ่งเช่นกัน

ผลการสำรวจดังกล่าวของเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจโหลดมาอ่าน https://www.facebook.com/business/news/insights/2020-topics-and-trends-report ทำนายความนิยมด้านไลฟ์สไตล์ที่จะมาแรงในปี 2020 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เช่น ออสเตรเลีย จะให้ความสนใจเรื่อง “อาหารสุขภาพ” ที่ส่งผลดีต่ออวัยวะภายในตั้งแต่ตับไตไส้พุง ไปจนถึงหัวใจและสมอง อาทิ โยเกิร์ต ที่มีจุลินทรีย์ไมโครไบโอต้า รวมถึง “กิมจิ” จากเกาหลี อินเดีย ให้ความสนใจกับอาชีพบริการนักท่องเที่ยว พานักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดียด้วยรถและเรือ อินโดนีเซียให้ความสนใจกับการพัฒนาเกมออนไลน์ ฟิลิปปินส์ให้ความสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

ฝรั่งเศส ให้ความสนใจสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคปลอดสารเคมีและการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า เยอรมนีให้ความสนใจการบริโภคเนื้อสังเคราะห์จากพืช สวีเดนให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่นลดการใช้น้ำและสารเคมีในการผลิต อังกฤษให้ความสนใจกับ “boutique firness” เฉพาะทางซึ่งเน้นรูปแบบใหม่ ๆ และ “การวิ่ง” ไปจนถึงธุรกิจ re-commerce เทรดแลกสินค้ามือสองโดยเฉพาะสินค้าวินเทจประเภทแบรนด์หรู

อาร์เจนตินาเน้นโหราศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว ใช้โหราศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาผุ้ป่วยทางจิต ใช้โหราศาสตร์ประเมินพฤติกรรมผู้คน ที่นี่อาชีพหมอดูมีแนวโน้มรุ่งเรืองสุดๆ ทั้งหมอดูที่รับดูแบบตัวเป็นๆ และหมอดูออนไลน์

บราซิลให้ความสนใจเรื่องประเภท DIY รวมถึงงานช่างต่างๆ รวมถึงการกลับมาของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ยุคทศวรรษ 80s  เม็กซิโกเน้นเรื่องการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับงานศิลปะสมัยใหม่ และอาหารญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมมาก

แคนาดาเน้นเลี้ยงผึ้งและทำสวนในร่มเพื่อลดโลกร้อนและช่วยสิ่งแวดล้อม   สหรัฐอเมริกา มีหลายเรื่องเช่น การให้ความสำคัญกับสุขภาพผิวด้วยการอาบน้ำซึ่งมีส่วนผสมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผิว เช่น น้ำนมบ้าง เกลือบ้าง หรือใช้น้ำอุ่นสลับน้ำเย็นบ้าง ไปจนถึงการบริโภคอาหารสุขภาพ ลดเนื้อสัตว์ในระดับ flexitarianism คือไม่ถึงกับงดเนื้อสัตว์แต่เน้นผักมากกว่า และขณะที่พอดแคสต์ยังแรง ผู้คนก็จะหันมาสนใจ “จอ” หรือ “screen” มากขึ้นด้วย ซึ่งมาจากการพัฒนาเนื้อหาทางพอดแคสต์ออกมาเป็น “ภาพยนตร์” หรือ “ซีรีส์”

ปัจจุบัน มีซีรีส์ทีวีอเมริกัน หนังฮอลลีวู้ด และหนัง Netflix หลายเรื่อง ที่บริษัทผลิตภาพยนตร์สร้างขึ้นจากเรื่องที่มีผู้ติดตามงอมแงมทางพอดแคสต์เช่น “Come Sunday” “Comedy Bang! Bang!” รวมถึง “Home Coming” ที่มีนักแสดงนำอย่างจูเลีย โรเบิตส์

ส่วนไทย คือ กาแฟคราฟท์สัญชาติไทย รวมไปถึงร้านกาแฟบรรยากาศเก๋ ๆ ราคาไม่มหาโหด และกาแฟขวดสวยในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

3 เซคเตอร์มาแรง: สุขภาพ, คอมพิวเตอร์/ไอที และคณิตศาสตร์

มองในแง่ภาพรวม หลาย ๆ หน่วยงานของโลกตะวันตกเช่นเครือข่ายข่าว CNBC และนิตยสารธุรกิจการเงินชื่อดังอย่าง Forbes ค่อนข้างได้ผลสรุปตรงกันจากการศึกษาว่า แนวโน้มของงานในอนาคตรวมถึงอนาคตอันใกล้อย่างปี 2020 ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที จะเป็นงานประเภทคนทำงานไม่ต้องนั่งจำเจอยู่ในออฟฟิศ

CNBC รายงานผลสำรวจล่าสุดว่า ปัจจุบันนี้ 2 ใน 3 ของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาจ้างคนทำงานประเภทไม่ต้องเข้ามานั่งออฟฟิศ และผลงานที่ปรากฎ ไม่ได้ด้อยกว่าเมื่อพนักงานนั่งประจำออฟฟิศเลย

ที่สำคัญคือบริษัทได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะสามารถจ้างคนเก่งๆ จากทุกแห่งทั่วประเทศและทั่วโลกมาทำงานให้ ไม่จำเป็นต้องจ้างเฉพาะคนที่สามารถเดินทางไปเช้า-เย็นกลับเพื่อมาทำงานเท่านั้น

FlexJobs เว็บไซต์สื่อกลางเพื่อหางานและจ้างงานออนไลน์สำหรับองค์กรและคนทำงานที่เห็นด้วยกับการนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งก่อตั้งโดย ซารา ซัตตอน (Sara Sutton) ผู้มีฉายาว่า “เจ้าแม่แห่งการทำงานทางไกล (Queen of Remote Work) เพราะเธอชูแนวคิดทำงานที่ไหนก็ได้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศมาตั้งแต่ปี 2007 ให้รายชื่อประเภทงานต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดภายใต้เงื่อนไขการทำงานยืดหยุ่นมากกว่า 50 ประเภท และยืนยันอย่างมั่นใจว่ามันเป็นเทรนด์ของโลกในปี 2020

งานที่ซัตตอนเห็นว่าเกิดแน่ อยู่ใน 3 เซคเตอร์ใหญ่ คือ สุขภาพ, คอมพิวเตอร์/ไอที และ คณิตศาสตร์ โดยงานหลักๆ เช่น ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพประจำบ้าน, นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักสถิติ, แพทย์, พยาบาล, ผู้ช่วยแพทย์, นักแก้ไขการพูดผิดปกติ, ที่ปรึกษาด้านพันธุกรรม, นักคณิตศาสตร์, นักวิเคราะห์การวิจัยเชิงปฏิบัติการ, นักพัฒนาซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชั่น, และ ครูผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เป็นต้น

งานด้านสุขภาพยังดูดีมีอนาคตมาก เพราะใคร ๆ ก็ต้องการสุขภาพดี ยิ่งปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นประชากรจำนวนมากของโลก คือพวก “เบบี้บูมเมอร์” อายุเกิน 60 ที่ยังแข็งแรง และมีแนวโน้มว่าจะหายใจอีกนานเพราะการแพทย์ปัจจุบันก้าวหน้าขึ้น

ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจของคนทุกวัย ตั้งแต่เครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไป อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ จนถึงงานบริการเพื่อความสะดวกสบายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่ต้องการแน่นอน

ที่สำคัญคือต้องมองให้ไกลว่า อาชีพด้านสุขภาพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร แต่ยังมีงานหลากหลายที่เกี่ยวข้อง เช่น “อาหารสุขภาพออนไลน์”  “ร้านอาหารสุขภาพ” “กายภาพบำบัด”  “ผู้ช่วยพยาบาลประจำบ้าน”  “งานให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์”  “งานผลิตอวัยวะเทียม” “งานผลิตอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถนะร่างกาย”  งานด้าน “บริการรถรับส่ง” แม้แต่งานด้านการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการเป็นต้น ฯลฯ

ส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์/ไอที และคณิตศาสตร์ รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์นั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิตัลที่มี data เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

คิดนอกกรอบ มองหาอาชีพ

การคิดนอกกรอบเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคที่ “โลกเก่า” เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ถูกทำลายล้าง”  ถ้าสามารถคิดนอกกรอบ นอกจากงานใน 3 เซคเตอร์ที่กล่าวมาแล้ว ย่อมแน่นอนว่างานด้านอื่น ๆ ก็มิได้หมดอนาคต

ในยุคดิจิตัลที่ “ออนไลน์” เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตนี้ แม้ “งานเก่า” ที่เหมือนตายไปแล้วก็อาจกลับมาเกิดใหม่ ถ้ารู้จักเกาะเกี่ยวโครงสร้างใหม่และมีความสามารถจริง เช่น คนในวงการสื่อที่เคยตกงานเนื่องจากหนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ปิดกิจการ ก็ยังคงสามารถทำงานอิสระประเภทก็อปปี้ไรเตอร์, งานแปลเอกสาร, งานแปลหนังสือ, งานออกแบบกราฟฟิก, งานตัดต่อวิดีโอและภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งมีรายงานว่ายังคงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก เช่นเดียวกับงานประเภท coaching หรือที่ปรึกษาด้านการศึกษา, การตลาด และธุรกิจ รวมถึงที่ปรึกษาด้าน “เนื้อหา”

ขณะที่ฝั่งคอมพิวเตอร์/ไอที ต้องการคนเก่งด้าน SEO ทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ใน search engine เพื่อดึงผู้เข้าชมให้มาเป็นลูกค้า ฝั่งผลิตภัณฑ์ก็ต้องการคุณภาพเนื้อหาที่โดดเด่นน่าสนใจ

แม้งานด้านการศึกษา ที่มีผู้ห่วงกันว่า ต่อไปจะไม่มีใครต้องการโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพราะสามารถเรียนออนไลน์ ก็มิได้หมายความว่าสถาบันการศึกษาจะต้องทยอยปิดตัว

สิ่งที่สถาบันการศึกษาอาจต้องทำ เช่น เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จากการกำหนดเวลาให้นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบมานั่งฟังผู้บรรยายในห้อง เป็นการเรียนการสอนออนไลน์ประกอบการจัดสัมมนาย่อยเฉพาะหัวข้อเป็นครั้งคราว หรือขยายวงจากนักศึกษาทั่วไป เป็นจัดอบรมความรู้สาธารณะเช่น อบรมเรื่องบุคลิกภาพแตกต่างและการปรับตัวเข้าหากันสำหรับคู่สมรส หรืออบรมความรู้ทางจิตวิทยาเด็กสำหรับคนเป็นพ่อแม่

การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาของสมองอย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนไม่มีวันตกยุค เพราะผู้คนยังคงต้องการความรู้อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อการประกอบสัมมาอาชีวะ

สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยังอาจปรับบทบาทไปเน้นงานวิเคราะห์วิจัย เก็บและศึกษาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการในสังคมยุคใหม่ ทั้งเพื่อทำความเข้าใจสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า

ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจหลายคน เห็น “งาน” จากการมองภาพทั้งห่วงโซ่ นั่นคือมองจากต้นน้ำถึงปลายน้ำว่ามีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน มีอะไรยัง “ขาด” ในห่วงโซ่ของงานที่ยังสามารถ “เติมเต็ม” ด้วย “งานใหม่” ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง  เช่น เมื่ออยู่ในยุคดิจิตัล ก็ต้องมองเห็น “งาน” และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของงานต่าง ๆ กับชีวิตมนุษย์ ด้วยสายตายุคดิจิตัล

ถ้าพร้อมจะก้าวไปกับโลก ไม่ถ่วงรั้งตัวเองไว้กับอดีต ทุกอาชีพ ทุกงาน ย่อมมีอนาคตเสมอ เพราะความต้องการพื้นฐานในชีวิตของผู้คนไม่เคยเปลี่ยน ที่เปลี่ยนเป็นเพียงรูปแบบ


อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.