อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ปีค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 และเรายังคงอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลกระทบต่อเราในทุกด้าน ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำมาหากินในแทบทุกสาขาอาชีพ

มีหลายอาชีพเกิดใหม่ที่เราคนไทยอาจนึกไม่ถึงว่าอยู่ใกล้ตัวเพราะปกติเคยเห็นแต่ในหนัง เช่น ธุรกิจเว็บไซต์สื่อกลางเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้ลงประกาศเปิด หรือ แลกห้องพัก/บ้านพักของตัวเองให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเช่าอยู่ชั่วคราว เช่น เว็บไซต์ Airbnb และเว็บไซต์ VRBO

เว็บไซต์เพียงทำหน้าที่โบรกเกอร์ เก็บค่าธรรมเนียมเข้าพักประมาณ  6-12 % จากเจ้าของห้องหรือบ้านพักที่ลงโฆษณา ก็สามารถทำรายได้มหาศาลแล้ว

เฉพาะ Airbnb ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกด้านนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 มีรายงานข่าวว่า เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2019  จำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ใช้บริการห้องพักผ่านระบบ Airbnb  มีถึงคืนละ 2 ล้านคน และรายได้รวมขั้นต้นในปีนี้ของ Airbnb ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 4.3 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้คนสนใจอะไรในปี 2020

ยังมีอีกหลายอาชีพที่หลากหลายหน่วยงานทั่วโลกสำรวจและได้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า “ยังมีโอกาสรุ่ง” ในปี 2020 รวมถึงรายงาน “The 2020 Topics and Trends Report From Facebook IQ” ของเฟซบุ๊ก ซึ่งแม้ไม่ได้สำรวจอาชีพโดยตรง แต่สำหรับผู้มองหาและมองเห็นโอกาส ความนิยมด้านไลฟ์สไตล์ของผู้คน ย่อมสามารถบ่งบอกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความนิยมนั้น ๆ ซึ่งน่าจะมีโอกาสรุ่งเช่นกัน

ผลการสำรวจดังกล่าวของเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจโหลดมาอ่าน https://www.facebook.com/business/news/insights/2020-topics-and-trends-report ทำนายความนิยมด้านไลฟ์สไตล์ที่จะมาแรงในปี 2020 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เช่น ออสเตรเลีย จะให้ความสนใจเรื่อง “อาหารสุขภาพ” ที่ส่งผลดีต่ออวัยวะภายในตั้งแต่ตับไตไส้พุง ไปจนถึงหัวใจและสมอง อาทิ โยเกิร์ต ที่มีจุลินทรีย์ไมโครไบโอต้า รวมถึง “กิมจิ” จากเกาหลี อินเดีย ให้ความสนใจกับอาชีพบริการนักท่องเที่ยว พานักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดียด้วยรถและเรือ อินโดนีเซียให้ความสนใจกับการพัฒนาเกมออนไลน์ ฟิลิปปินส์ให้ความสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

ฝรั่งเศส ให้ความสนใจสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคปลอดสารเคมีและการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า เยอรมนีให้ความสนใจการบริโภคเนื้อสังเคราะห์จากพืช สวีเดนให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่นลดการใช้น้ำและสารเคมีในการผลิต อังกฤษให้ความสนใจกับ “boutique firness” เฉพาะทางซึ่งเน้นรูปแบบใหม่ ๆ และ “การวิ่ง” ไปจนถึงธุรกิจ re-commerce เทรดแลกสินค้ามือสองโดยเฉพาะสินค้าวินเทจประเภทแบรนด์หรู

อาร์เจนตินาเน้นโหราศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว ใช้โหราศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาผุ้ป่วยทางจิต ใช้โหราศาสตร์ประเมินพฤติกรรมผู้คน ที่นี่อาชีพหมอดูมีแนวโน้มรุ่งเรืองสุดๆ ทั้งหมอดูที่รับดูแบบตัวเป็นๆ และหมอดูออนไลน์

บราซิลให้ความสนใจเรื่องประเภท DIY รวมถึงงานช่างต่างๆ รวมถึงการกลับมาของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ยุคทศวรรษ 80s  เม็กซิโกเน้นเรื่องการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับงานศิลปะสมัยใหม่ และอาหารญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมมาก

แคนาดาเน้นเลี้ยงผึ้งและทำสวนในร่มเพื่อลดโลกร้อนและช่วยสิ่งแวดล้อม   สหรัฐอเมริกา มีหลายเรื่องเช่น การให้ความสำคัญกับสุขภาพผิวด้วยการอาบน้ำซึ่งมีส่วนผสมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผิว เช่น น้ำนมบ้าง เกลือบ้าง หรือใช้น้ำอุ่นสลับน้ำเย็นบ้าง ไปจนถึงการบริโภคอาหารสุขภาพ ลดเนื้อสัตว์ในระดับ flexitarianism คือไม่ถึงกับงดเนื้อสัตว์แต่เน้นผักมากกว่า และขณะที่พอดแคสต์ยังแรง ผู้คนก็จะหันมาสนใจ “จอ” หรือ “screen” มากขึ้นด้วย ซึ่งมาจากการพัฒนาเนื้อหาทางพอดแคสต์ออกมาเป็น “ภาพยนตร์” หรือ “ซีรีส์”

ปัจจุบัน มีซีรีส์ทีวีอเมริกัน หนังฮอลลีวู้ด และหนัง Netflix หลายเรื่อง ที่บริษัทผลิตภาพยนตร์สร้างขึ้นจากเรื่องที่มีผู้ติดตามงอมแงมทางพอดแคสต์เช่น “Come Sunday” “Comedy Bang! Bang!” รวมถึง “Home Coming” ที่มีนักแสดงนำอย่างจูเลีย โรเบิตส์

ส่วนไทย คือ กาแฟคราฟท์สัญชาติไทย รวมไปถึงร้านกาแฟบรรยากาศเก๋ ๆ ราคาไม่มหาโหด และกาแฟขวดสวยในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

3 เซคเตอร์มาแรง: สุขภาพ, คอมพิวเตอร์/ไอที และคณิตศาสตร์

มองในแง่ภาพรวม หลาย ๆ หน่วยงานของโลกตะวันตกเช่นเครือข่ายข่าว CNBC และนิตยสารธุรกิจการเงินชื่อดังอย่าง Forbes ค่อนข้างได้ผลสรุปตรงกันจากการศึกษาว่า แนวโน้มของงานในอนาคตรวมถึงอนาคตอันใกล้อย่างปี 2020 ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที จะเป็นงานประเภทคนทำงานไม่ต้องนั่งจำเจอยู่ในออฟฟิศ

CNBC รายงานผลสำรวจล่าสุดว่า ปัจจุบันนี้ 2 ใน 3 ของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาจ้างคนทำงานประเภทไม่ต้องเข้ามานั่งออฟฟิศ และผลงานที่ปรากฎ ไม่ได้ด้อยกว่าเมื่อพนักงานนั่งประจำออฟฟิศเลย

ที่สำคัญคือบริษัทได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะสามารถจ้างคนเก่งๆ จากทุกแห่งทั่วประเทศและทั่วโลกมาทำงานให้ ไม่จำเป็นต้องจ้างเฉพาะคนที่สามารถเดินทางไปเช้า-เย็นกลับเพื่อมาทำงานเท่านั้น

FlexJobs เว็บไซต์สื่อกลางเพื่อหางานและจ้างงานออนไลน์สำหรับองค์กรและคนทำงานที่เห็นด้วยกับการนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งก่อตั้งโดย ซารา ซัตตอน (Sara Sutton) ผู้มีฉายาว่า “เจ้าแม่แห่งการทำงานทางไกล (Queen of Remote Work) เพราะเธอชูแนวคิดทำงานที่ไหนก็ได้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศมาตั้งแต่ปี 2007 ให้รายชื่อประเภทงานต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดภายใต้เงื่อนไขการทำงานยืดหยุ่นมากกว่า 50 ประเภท และยืนยันอย่างมั่นใจว่ามันเป็นเทรนด์ของโลกในปี 2020

งานที่ซัตตอนเห็นว่าเกิดแน่ อยู่ใน 3 เซคเตอร์ใหญ่ คือ สุขภาพ, คอมพิวเตอร์/ไอที และ คณิตศาสตร์ โดยงานหลักๆ เช่น ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพประจำบ้าน, นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักสถิติ, แพทย์, พยาบาล, ผู้ช่วยแพทย์, นักแก้ไขการพูดผิดปกติ, ที่ปรึกษาด้านพันธุกรรม, นักคณิตศาสตร์, นักวิเคราะห์การวิจัยเชิงปฏิบัติการ, นักพัฒนาซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชั่น, และ ครูผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เป็นต้น

งานด้านสุขภาพยังดูดีมีอนาคตมาก เพราะใคร ๆ ก็ต้องการสุขภาพดี ยิ่งปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นประชากรจำนวนมากของโลก คือพวก “เบบี้บูมเมอร์” อายุเกิน 60 ที่ยังแข็งแรง และมีแนวโน้มว่าจะหายใจอีกนานเพราะการแพทย์ปัจจุบันก้าวหน้าขึ้น

ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจของคนทุกวัย ตั้งแต่เครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไป อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ จนถึงงานบริการเพื่อความสะดวกสบายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่ต้องการแน่นอน

ที่สำคัญคือต้องมองให้ไกลว่า อาชีพด้านสุขภาพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร แต่ยังมีงานหลากหลายที่เกี่ยวข้อง เช่น “อาหารสุขภาพออนไลน์”  “ร้านอาหารสุขภาพ” “กายภาพบำบัด”  “ผู้ช่วยพยาบาลประจำบ้าน”  “งานให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์”  “งานผลิตอวัยวะเทียม” “งานผลิตอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถนะร่างกาย”  งานด้าน “บริการรถรับส่ง” แม้แต่งานด้านการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการเป็นต้น ฯลฯ

ส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์/ไอที และคณิตศาสตร์ รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์นั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิตัลที่มี data เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

คิดนอกกรอบ มองหาอาชีพ

การคิดนอกกรอบเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคที่ “โลกเก่า” เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ถูกทำลายล้าง”  ถ้าสามารถคิดนอกกรอบ นอกจากงานใน 3 เซคเตอร์ที่กล่าวมาแล้ว ย่อมแน่นอนว่างานด้านอื่น ๆ ก็มิได้หมดอนาคต

ในยุคดิจิตัลที่ “ออนไลน์” เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตนี้ แม้ “งานเก่า” ที่เหมือนตายไปแล้วก็อาจกลับมาเกิดใหม่ ถ้ารู้จักเกาะเกี่ยวโครงสร้างใหม่และมีความสามารถจริง เช่น คนในวงการสื่อที่เคยตกงานเนื่องจากหนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ปิดกิจการ ก็ยังคงสามารถทำงานอิสระประเภทก็อปปี้ไรเตอร์, งานแปลเอกสาร, งานแปลหนังสือ, งานออกแบบกราฟฟิก, งานตัดต่อวิดีโอและภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งมีรายงานว่ายังคงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก เช่นเดียวกับงานประเภท coaching หรือที่ปรึกษาด้านการศึกษา, การตลาด และธุรกิจ รวมถึงที่ปรึกษาด้าน “เนื้อหา”

ขณะที่ฝั่งคอมพิวเตอร์/ไอที ต้องการคนเก่งด้าน SEO ทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ใน search engine เพื่อดึงผู้เข้าชมให้มาเป็นลูกค้า ฝั่งผลิตภัณฑ์ก็ต้องการคุณภาพเนื้อหาที่โดดเด่นน่าสนใจ

แม้งานด้านการศึกษา ที่มีผู้ห่วงกันว่า ต่อไปจะไม่มีใครต้องการโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพราะสามารถเรียนออนไลน์ ก็มิได้หมายความว่าสถาบันการศึกษาจะต้องทยอยปิดตัว

สิ่งที่สถาบันการศึกษาอาจต้องทำ เช่น เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จากการกำหนดเวลาให้นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบมานั่งฟังผู้บรรยายในห้อง เป็นการเรียนการสอนออนไลน์ประกอบการจัดสัมมนาย่อยเฉพาะหัวข้อเป็นครั้งคราว หรือขยายวงจากนักศึกษาทั่วไป เป็นจัดอบรมความรู้สาธารณะเช่น อบรมเรื่องบุคลิกภาพแตกต่างและการปรับตัวเข้าหากันสำหรับคู่สมรส หรืออบรมความรู้ทางจิตวิทยาเด็กสำหรับคนเป็นพ่อแม่

การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาของสมองอย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนไม่มีวันตกยุค เพราะผู้คนยังคงต้องการความรู้อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อการประกอบสัมมาอาชีวะ

สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยังอาจปรับบทบาทไปเน้นงานวิเคราะห์วิจัย เก็บและศึกษาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการในสังคมยุคใหม่ ทั้งเพื่อทำความเข้าใจสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า

ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจหลายคน เห็น “งาน” จากการมองภาพทั้งห่วงโซ่ นั่นคือมองจากต้นน้ำถึงปลายน้ำว่ามีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน มีอะไรยัง “ขาด” ในห่วงโซ่ของงานที่ยังสามารถ “เติมเต็ม” ด้วย “งานใหม่” ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง  เช่น เมื่ออยู่ในยุคดิจิตัล ก็ต้องมองเห็น “งาน” และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของงานต่าง ๆ กับชีวิตมนุษย์ ด้วยสายตายุคดิจิตัล

ถ้าพร้อมจะก้าวไปกับโลก ไม่ถ่วงรั้งตัวเองไว้กับอดีต ทุกอาชีพ ทุกงาน ย่อมมีอนาคตเสมอ เพราะความต้องการพื้นฐานในชีวิตของผู้คนไม่เคยเปลี่ยน ที่เปลี่ยนเป็นเพียงรูปแบบ  


Category:

Passion in this story