คนไทยสมัยนี้พิถีพิถันเรื่องการรับประทานอาหารมากขึ้น แต่ชื่อเสียงและรสชาติความอร่อยของอาหารแต่ละจาน อาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้เราเลือกรับประทาน คนส่วนใหญ่ยังพิจารณากันถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับในแต่ละมื้อ รวมถึงรูปลักษณ์ของอาหารและการจัดจานอาหารที่ต้องสะดุดสายตาอีกด้วย เพราะการถ่ายรูปอาหารเพื่ออวดกันทางโลกโซเชียล ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว

อาชีพ  Food Stylist หรือ Food Designer หรือ Food Creative จึงเป็นอาชีพที่ได้รับการพูดถึงกันมากในปัจจุบัน จนคนรุ่นใหม่หลายคนใฝ่ฝันที่จะก้าวมาสู่อาชีพนี้

อาหารฝีมือคุณยาย แรงบันดาลใจสู่เส้นทางการเป็น Food Stylist

อักขราทร ศิลปี ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ครูป๊อบ เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านอาหาร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และเป็น Food Stylist ระดับแนวหน้าของไทย เส้นทางการเป็น Food Stylist  ของเขาอาจแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง เพราะไม่ได้ร่ำเรียนด้านการทำอาหารมาโดยตรง แต่อาศัยว่าตอนเด็กๆ อยู่กับคุณยายซึ่งเป็นคนชอบทำอาหาร จึงได้ไปเป็นลูกมือในครัวบ่อยครั้ง กระทั่งซึมซับความรู้และรักการทำอาหารจริงจัง

“ผมเรียนจบด้านศิลปะ และจบโทด้านการบริหารการจัดการ ทำงานมาหลายหน้าที่ พิธีกรรายการโทรทัศน์ด้านอาหารก็เคยเป็น แต่ในที่สุดก็พบว่าสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุด และเหมาะกับตัวเองมากที่สุดก็คือการทำอาหารนั่นเอง”

เส้นทางเข้าสู่อาชีพ Food Stylist อย่างเต็มตัวของครูป๊อบเปิดขึ้น เมื่อเขาได้มาช่วยน้องชายแท้ๆ อักขเรนทร ศิลปี ศิลปินนักจัดดอกไม้ จัดเตรียมสถานที่และตกแต่งดอกไม้ เพื่อรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และได้พบกับเภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้บุกเบิกและพัฒนาวงการสมุนไพรไทย ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเมื่อทราบว่าครูป๊อบชอบทำอาหาร ก็ชวนมาร่วมงานกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในตำแหน่งนักสร้างสรรค์เมนูอาหารทันที

ครูป๊อบเล่าว่า ตอนเข้ามารับหน้าที่ใหม่ๆ ได้รับโจทย์เยอะมาก แต่ก็รู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่จะได้สร้างสรรค์เมนูอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ โดยเลือกหยิบสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายๆ คนมองข้าม มาทำเป็นอาหารจานเด่น แทนการทำอาหารด้วยพืชผักที่หาได้ทั่วไป

“ผมสนใจเรื่องสมุนไพร ตั้งแต่ตอนทำรายการโทรทัศน์ ผมลองเอาเมนูอาหารของคุณยาย กับเมนูอาหารชาววังมาผสมผสานสมุนไพรพื้นบ้านลงไป ก็ได้เมนูอาหารใหม่ๆ ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นยาป้องกันโรคด้วย”

สมุนไพรพื้นบ้านสู่เมนูอาหารว่าง ครม.

ใครมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี แล้วได้แวะไปทานอาหารที่ “อภัยภูเบศร สปา ควิซีน” ในบริเวณโรงพยาบาลฯ จะสังเกตว่าเมนูอาหารของที่นี่ ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งบางชนิดเป็นสมุนไพรที่หลายคนอาจได้ยินชื่อเป็นครั้งแรก เช่น ใบหูเสือ

 

ครูป๊อบใช้ใบหูเสือเป็นสมุนไพรตัวหลัก ในการสร้างสรรค์อาหารหลากหลาย เช่น ต้มจืดหมูบะช่อใบหูเสือ ปอเปี๊ยะใบหูเสือ พิซซ่าใบหูเสือ และเครื่องดื่มแก้วพิเศษที่ต้องไม่พลาดชิม คือ สมูทตี้ใบหูเสือ ที่มีรสชาติอร่อย หอมชื่นใจ

 

“จริงๆ แล้วใบหูเสือ มีอยู่ในตำรับอาหารของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมานานแล้ว ท่านชอบรับประทานใบหูเสือมาก เล่ากันว่าวันไหนไม่มีขึ้นโต๊ะจะอารมณ์เสีย สรรพคุณของใบหูเสือ คือ ช่วยบำรุงปอด ช่วยระบบการหายใจ ทำให้ระบบการหายใจสดชื่น นำไปทานกับลาบจะอร่อยมาก แต่ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะกลิ่นค่อนข้างฉุน”

นอกจากใบหูเสือแล้ว ครูป๊อบยังนำสมุนไพรพื้นบ้านอีกหลายชนิดมาพัฒนาเป็นเมนูใหม่ๆ แม้ชื่อ กลิ่นและหน้าตาของมันจะไม่ชวนพิสมัยเอาเสียเลย เช่น “ใบตดหมูตดหมา” ซึ่งครูป๊อปสร้างสรรค์จนกลายเป็นขนมไทย รสชาติอร่อยกลมกล่อม แถมยังมีหน้าตาสวยงามในชื่อ “ขนมอินทนิลใบตดหมูตดหมา” หรือ “ขนมอินทนิลกระพังโหม”หลังจากครูป๊อบเปิดตัวขนมชนิดนี้ในงานคลองผดุงกรุงเกษม 2558  ซึ่งทำให้เลขาฯ นายกรัฐมนตรีที่เดินชมงานสะดุดชื่อ จนต้องขอชิมรสชาติ ขนมอินทนิลใบตดหมูตดหมา ก็ได้กลายเป็นเมนูอาหารว่างในการประชุมคณะรัฐมนตรีนับแต่นั้น

ขนมอินทนิลใบตดหมูตดหมา

 

ปัจจุบัน ครูป๊อปจะทำขนมอินทนิลใบตดหมูตดหมาเฉพาะในโอกาสพิเศษสุดๆ ซึ่งนอกจากเมนูอาหารว่างดังกล่าวแล้ว ก็จะทำในวาระรับแขกผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยาก

สำหรับไอเดียของขนมชนิดนี้ ครูป๊อบได้มาจาก “ขนมลิ้นหมา” ของชาวลาวเวียง ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวดำ มะพร้าว น้ำตาล คลุกเคล้าใบตดหมูตดหมาแล้วเอาไปนึ่งจนมีกลิ่นหอม เมื่อครูป๊อบทดลองนำขนมชาววังอย่าง “ขนมอินทนิล” มาผสมใบตดหมูตดหมาบ้าง ก็ปรากฏว่าได้ขนมรสชาติอร่อย หอมและยังมีสรรพคุณเป็นยา

“ใบตดหมูตดหมา เป็นวัชพืชที่มีฤทธิ์เป็นยา มีสรรพคุณสำคัญคือ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง และช่วยระบายลม เด็กชนบทจะรู้กันดีว่าถ้านำใบตดหมูตดหมามาขยี้ จะมีกลิ่นเหม็นคล้ายตด คนภาคกลางมักจะเรียกใบตดหมา ภาคเหนือเรียกใบตดหมู  ส่วนชื่อเพราะๆ อย่างเป็นอย่างการก็มี คือ “ต้นกระพังโหม หรือ พาโหม” แต่คนมักจะเรียกกันติดปากว่า “ใบตดหมูตดหมา” มากกว่า”

นอกจากใบหูเสือกับใบตดหมูตดหมาแล้ว ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านอีกหลายชนิดที่ได้รับการสร้างสรรค์ให้เป็นเมนูจานอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งผู้สนใจสามารถแวะมาชิมและเรียนรู้เรื่องประโยชน์ของสมุนไพรกันได้

เส้นทางสู่มืออาชีพ Food Stylist : หมั่นหาข้อมูลและขยันตั้งคำถาม

ครูป๊อบ บอกว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่อาชีพ Food Stylist มากขึ้น แต่ Food Stylist ที่ลงลึกด้านสมุนไพรเช่นเดียวกับครูป๊อบยังมีน้อย และสำหรับผู้กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อก้าวเข้าสู่อาชีพนี้อย่างจริงจัง ครูป๊อบแนะนำว่า ต้องมีหูตากว้างไกล ต้องหมั่นศึกษาหาข้อมูล และฝึกฝนฝีมืออยู่เสมอ หยุดนิ่งไม่ได้ ส่วนใครที่อยากลงลึกเรื่องสมุนไพรเช่นเดียวกับครูป๊อบ ก็ต้องศึกษาให้รู้อย่างถ่องแท้ เช่น ไปหาความรู้จากแพทย์แผนไทย ถ้าไม่เข้าใจต้องตั้งคำถาม ต้องถามจนกว่าจะรู้และเข้าใจ

“ตอนนี้น้องๆ เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้การเป็น Food Stylist ด้านสมุนไพรเพิ่มขึ้น หลายคนมาขอความรู้กับผม ผมก็ยินดีถ่ายทอดประสบการณ์ให้ ยินดีเป็นครูให้กับคนรุ่นใหม่ๆ”

 

 

ครูป๊อบกล่าวทิ้งท้ายว่า การนำสมุนไพรมาทำเป็นอาหารยังมีอนาคตไกล เพราะคนทุกวันนี้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ จึงนิยมทานสมุนไพรทั้งเพื่อเป็นอาหารและเพื่อป้องกันหรือรักษาโรค ที่สำคัญ ประเทศไทยยังมีสมุนไพรอีกมากมายรอการสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ แต่สมุนไพรนั้น แม้มีประโยชน์ ก็เกิดโทษได้เช่นกันหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ผู้ใช้สมุนไพรจึงต้องเรียนรู้การใช้สมุนไพรให้ถูกต้องและพอดีกับโรคที่เป็นอยู่

Category:

Passion in this story